คลังเก็บป้ายกำกับ: SmartLaw

โจทก์ฟ้องจำเลยโดยมีคำขอบังคับให้โจทก์มีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวและให้จำเลยส่งมอบบุตรผู้เยาว์คืนโจทก์ ระหว่างพิจารณามีการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรม ผลคือจำเลยมิได้เป็นบิดา หากจำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยเคยจ่ายไป จะทำได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  
                                               
มาตรา 177 วรรคสาม วางหลักว่า จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก

มาตรา 179 วรรคท้าย วางหลักว่า แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคำฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้

โดยหลักแล้ว ฟ้องแย้งต้องเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม พอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ศาลจึงจะรับฟ้องแย้งไว้พิจารณา เมื่อจำเลยฟ้องแย้งโดยอาศัยเมื่อผลตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ในระหว่างพิจารณาคดี จึงเป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จำเลยจึงฟ้องแย้งในคดีนี้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2560 โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอบังคับให้โจทก์มีอำนาจปกครองเด็กหญิง จ. แต่เพียงผู้เดียวพร้อมทั้งให้จำเลยส่งมอบบุตรผู้เยาว์คืนโจทก์ โดยเป็นการเรียกบุตรคืนโดยอาศัยอำนาจปกครองบุตรตามที่โจทก์กับจำเลยทำบันทึกไว้ท้ายทะเบียนหย่า จำเลยฟ้องแย้งโดยขอให้ชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยต้องจ่ายไป ทั้งนี้หลังจากที่มีการทราบผลการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมว่าจำเลยไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเป็นบิดาของเด็กหญิง จ. ฟ้องแย้งในส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นฟ้องแย้งที่อาศัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ในระหว่างพิจารณาคดีโดยเป็นการบังคับแก่โจทก์ให้ชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคนละเรื่องกับคำฟ้องของโจทก์ซึ่งไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

ภริยาลูกหนี้โอนที่ดินให้แก่บุตร​โดยเสน่หา เจ้าหนี้มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์
มาตรา 237 วางหลักว่า
เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

หลักเกณฑ์การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล
1. คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องมีนิติสัมพันธ์เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กัน
2. ลูกหนี้กระทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินใดๆ ที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
3. ลูกหนี้รู้อยู่แล้วว่านิติกรรมที่ทำนั้นทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
4. ผู้รับนิติกรรมซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกที่เสียค่าตอบแทน ต้องรู้ว่านิติกรรมที่ทำนี้ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
(ถ้าผู้ได้ลาภงอกไม่รู้ว่านิติกรรมที่ทำไปนั้นทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลไม่ได้) หรือ
5. ผู้รับนิติกรรมซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกได้รับนิติกรรมการให้โดยเสน่หามาจากลูกหนี้ แม้ไม่รู้ว่านิติกรรมที่ทำลงทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
6. เจ้าหนี้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้

การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำไปโดยรู้อยู่ว่าจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ดังนั้น คู่กรณีในการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลนั้นจึงต้องเป็นเจ้าหนี้เเละลูกหนี้กันเท่านั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องเป็นเพียงภริยาของลูกหนี้ เเละไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่ผู้ถูกฟ้องจะต้องร่วมรับผิดด้วยเเล้ว ผู้ถูกฟ้องจึงไม่ได้เป็นลูกหนี้เเละไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆกับเจ้าหนี้ อันเจ้าหนี้จะมาฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 ดังนั้น เจ้าหนี้ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่ภริยาของลูกหนี้จดทะเบียนให้ที่ดินแก่บุคคลภายนอกโดยเสน่หา

คำพิพากษาฎีกาที่ 9831/2560 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา อันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ จึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมเป็นหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ซึ่งเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (1) ถึง (4) ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งจะมีผลให้จำเลยที่ 2 อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ ประกอบกับโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า หนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ร่วมที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 

ผู้กู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่ไปทำสัญญายกที่ดินให้แก่บุคคลอื่นและบุคคลนั้นนำไปทำสัญญาจำนอง ผู้ให้กู้ฟ้องเพิกถอนสัญญาจำนองได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์

มาตรา 237 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า
เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

มาตรา 238 วางหลักว่า การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้นไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอก อันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน

อนึ่งความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา

ลูกหนี้ทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่ผู้ได้ลาภงอกโดยเสน่หาทั้งที่รู้อยู่เเล้วว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เมื่อเป็นการให้ที่ดินโดยเสน่หาเเล้ว แม้ลูกหนี้รู้เพียงฝ่ายเดียวว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ก็ชอบที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หานั้นได้ตามมมาตรา 237 วรรคหนึ่ง เเต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้ได้ลาภงอกได้ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวภายหลังได้มีการฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลเเล้ว ผู้รับจำนองซึ่งเป็นผู้ได้รับโอนที่ดินต่อมาจากผู้่ได้ลาภงอกย่อมถือเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลนั้นไม่อาจกระทบสิทธิบุคคลดังกล่าวได้หากได้สิทธิโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 238 วรรคหนึ่ง เเต่เมื่อบุคคลภายนอกซึ่่งเป็นผู้รับจำนองได้สิทธิในทีดินพิพาทมาภายหลังฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลเเล้ว จึงไม่เข้ากรณีตามมาตรา 238 วรรคหนึ่ง เจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลอันเป็นการกระทบกระทั่งสิทธิของบุคคลภายนอกนั้นได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 5248/2560 โจทก์ได้ร้องขอบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาฎีกาซึ่งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 4,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว…ฯลฯ แล้ว  ย่อมฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการกระทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ 
การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา จำเลยที่ 2 ย่อมมีฐานะเป็นผู้ได้ลาภงอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เพราะผู้ได้ลาภงอกหมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้โดยตรง จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับจำนองทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อจากผู้ทำนิติกรรมกับลูกหนี้จึงเป็นบุคคลภายนอก ตามความในมาตรา 238 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ที่กระทำในวันที่ 9 ตุลาคม 2557 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557 การจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมจึงเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเป็นคดีนี้ เมื่อจำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ทำนิติกรรมจำนองก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอน จำเลยร่วมย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 238 ดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ทั้งที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ซึ่งเพียงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็เป็นเหตุที่จะขอให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 392/2561, 16167/2557 วินิจฉัยเเนวเดียวกัน

ในทางกลับกัน ถ้าบุคคลภายนอกได้ทำนิติกรรมกับผู้่ได้ลาภงอกเเละได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบเเทน ก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอน บุคคลภายนอกย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 238

คำพิพากษาฎีกาที่ 9906/2560 การจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทสองโฉนดระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ กรณีต้องบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 ในเรื่องของการเพิกถอนการฉ้อฉล มิใช่บังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 อันเป็นเรื่องของวัตถุประสงค์ของนิติกรรมขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรม อีกทั้งยังไม่พ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องขอเพิกถอนได้
จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทแปลงหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ทำนิติกรรมโอนขายให้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมจำนองให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งล้วนเป็นการทำนิติกรรมก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอน จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นบุคคลภายนอก อันได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอน ย่อมได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 238 ศาลไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมในที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับที่ 4 และระหว่างที่ 4 กับที่ 5 ดังนั้น ไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ตามฟ้องได้ด้วย เพราะที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

เจ้าหนี้นำกลุ่มผู้ชายเเต่งกายคล้ายตำรวจมาทวงถามหนี้และพูดจาข่มขู่ลูกหนี้ให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้ยืมเงิน ลูกหนี้กลัวและทำสัญญากู้ยืมเงิน เป็นโมฆียะหรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 164  วางหลักว่า การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ
การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

หลักเกณฑ์ ป.พ.พ. มาตรา 164
1.การข่มขู่ต้องเกิดขึ้นโดยคู่กรณีฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลภายนอก หรือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งร่วมกับบุคคลภายนอก
2.ผู้ข่มขู่จะต้องมีเจตนาข่มขู่ผู้ทำนิติกรรม (ถ้ามิได้มีเจตนาข่มขู่ แต่เกิดความกลัวไปเอง ย่อมมิใช่การข่มขู่)
3.ผู้ทำนิติกรรมที่ถูกข่มขู่ต้องกลัวภัยที่จะเกิดจากการข่มขู่
4.ภัยที่ข่มขู่จะต้องใกล้จะถึง
5.ต้องเป็นภัยร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว
6.ถ้าไม่มีการข่มขู่นั้นจะไม่มีการแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้น

การที่เจ้าหนี้นำกลุ่มผู้ชายหลายคนแต่งกายคล้ายตำรวจไปที่บ้านของลูกหนี้ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงาน พูดจาข่มขู่ว่าบ้านและที่ดินตกเป็นของเจ้าหนี้แล้ว หากลูกหนี้จะดำเนินงานต่อต้องให้เงินโจทก์ 3,000,000 บาท ลูกหนี้กลัวจึงต้องทำสัญญากู้ยืมเงินนั้นไม่ปรากฏว่า เจ้าหนี้ได้ข่มขู่ว่าจะทำให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆียะ

คำพิพากษาฎีกาที่ 6294/2561 ป.พ.พ. มาตรา 164 บัญญัติว่า การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้นจะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้นการนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

โจทก์นำกลุ่มผู้ชายหลายคนแต่งกายคล้ายตำรวจไปที่บ้านของจำเลยซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงาน พูดจาข่มขู่ว่าบ้านและที่ดินตกเป็นของโจทก์แล้ว หากจำเลยจะดำเนินงานต่อต้องให้เงินโจทก์ 3,000,000 บาท จำเลยกลัวจึงต้องทำสัญญากู้ยืมเงิน การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ด้วยพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น หาได้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการข่มขู่อันจะทำให้สัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆียะไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2624/2551 วินิจฉันเเนวเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม

บริษัททำสัญญาจ้างโจทก์ให้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับลูกค้าชาวต่างชาติในโครงการหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าต้องเริ่มทำงานเวลาใดถึงเวลาใด สามารถสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่โครงการอื่นได้ โจทก์หยุดงานได้ตามอำเภอใจไม่ได้ ได้รับเงินเป็นรายเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานในจำนวนเท่ากันทุกเดือน ได้รับสิทธิ สวัสดิการอื่นเหมือนลูกจ้างคนอื่นของจำเลย ถือว่าเป็นนายจ้างลูกจ้างกันตามสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่

พระราชบัญญัติคุ้มครองเเรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 5 วางหลักว่า
“นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง
(1) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง
(2) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย
“ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

“สัญญาจ้าง” หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

ประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์

มาตรา 575 วางหลักว่า อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

การที่โจทก์ได้รับมอบหมายจากจำเลยให้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับลูกค้าของจำเลยซึ่งเป็นชาวต่างชาติ เเม้ไม่ปรากฏว่าต้องเริ่มงานเวลาใดถึงเวลาใดก็ตาม เเต่จำเลยก็มีอำนาจสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่โครงการอื่นได้ ไม่เฉพาะติดต่อกับชาวต่างชาติคนนั้นเท่านั้น เเละโจทก์ยังไม่อาจหยุดงานได้ตามอำเภอใจ เเต่ต้องเเจ้งให้กรรมการจำเลยทราบก่อน ย่อมเห็นได้ว่า โจทก์ต้องทำงานอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลย ไม่ได้มีอิสระในการทำงานเเต่อย่างใด

อีกทั้งจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นรายเดือน ซึ่งเป็นเงินจำนวนเเน่นอนเท่ากันทุกเดือนเพื่อตอบการทำงาน โดยไม่ได้คำนึงถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ นอกจากนั้นโจทก์ยังมีสิทธิได้รับสิทธิเเละสวัสดิการต่างๆจากจำเลย

เห็นได้ว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้นเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์ มาตรา 575 และดังนั้น โจทก์เเละจำเลยจึงเป็นนายจ้างลูกจ้างกันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

คำพิพากษาฎีกาที่ 1468/2562 โจทก์ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับลูกค้าชาวต่างชาติชื่อนายดาเร็น แม้ไม่ปรากฎว่าต้องเริ่มทำงานเวลาใดถึงเวลาใด แต่ทางปฏิบัติเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์ต้องมาดูแลและอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา และจำเลยยังอาจสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่โครงการอื่นได้ ไม่เฉพาะแต่งานก่อสร้างรายนายดาเร็นเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากโจทก์เริ่มทำงานกับจำเลยในโครงการชื่ออินฟินิตี้ก่อนที่จะมีการสร้างบ้านนายดาเร็น แม้บ้านนายดาเร็นจะสร้างเสร็จแล้ว โจทก์ก็ยังคงทำงานอยู่ต่อ ส่วนการลาหยุดได้ความว่า กรณีโจทก์ป่วย โจทก์ต้องโทรศัพท์แจ้งให้กรรมการของจำเลยทราบก่อน โดยโจทก์ไม่อาจหยุดงานได้ตามอำเภอ ทั้งจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นรายเดือนมีจำนวนแน่นอนเท่ากันทุกเดือน มีลักษณะเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน ไม่ได้คำนึงถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ และจ่ายให้ตลอดระยะเวลาที่โจทก์ทำงาน ทั้งโจทก์ได้รับสิทธิ สวัสดิการต่างๆ เหมือนพนักงานลูกจ้างคนอื่นของจำเลย เท่ากับโจทก์ปฏิบัติงานไม่เป็นอิสระแต่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลย จำเลยมีอำนาจสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่โครงการอื่นของจำเลยได้ แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างเคร่งครัด แต่การที่โจทก์จะหยุดงานต้องแจ้งให้กรรมการของจำเลยทราบก่อน เช่นนี้ โจทก์จึงไม่ได้มีอิสระในการทำงาน สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

จำเลยมีเจตนาเปลี่ยนยางรถยนต์และตกลงซื้อขายยางกับผู้เสียหายเรียบร้อยแล้ว ลูกจ้างของผู้เสียหายเปลี่ยนยางให้จนเสร็จสิ้น และนำไปจอดที่หน้าร้านโดยติดเครื่องยนต์ไว้ ประมาณ 3 นาที จำเลยขับรถออกจากร้านไป โดยไม่ชำระราคาค่ายาง จำเลยผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่

หลักกฎหมาย : ป.อ. มาตรา 334 

องค์ประกอบความผิด
องค์ประกอบภายนอก
1. ผู้ใด 2.เอาไป 3.ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
องค์ประกอบภายใน
1.เจตนาธรรมดา 2.เจตนาพิเศษ : โดยทุจริต

ข้อสังเกต องค์ประกอบความผิดประการสำคัญ ของมาตรา 334 ในส่วนองค์ประกอบภายนอก เรื่องการ “เอาไป” ซึ่งจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้นั้น จะต้องเป็นการแย่งการครอบครองในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ กล่าวคือ จะต้องมีผู้ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ และผู้กระทำความผิดได้เอาทรัพย์นั้นไปโดยผู้ครอบครองทรัพย์ไม่อนุญาต แต่ตามข้อเท็จจริงนี้ ในขณะตกลงซื้อขายยางรถยนต์และมีการส่งมอบยางรถยนต์ จำเลยไม่มีเจตนาที่จะใช้กลอุบายหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งมอบยางรถยนต์ทั้งสี่เส้นเพื่อแย่งการครอบครองโดยไม่คิดจะชำระราคาแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอาญาฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 3366/2561 จำเลยขับรถกระบะไปเปลี่ยนยางรถที่ร้านผู้เสียหายโดย บ.ญาติจำเลยไปด้วย ผู้เสียหายคิดราคายางสี่เส้นเป็นเงิน 8,000 บาท จำเลยตกลงเปลี่ยนยางทั้งสี่เส้น ว. ลูกจ้างประจำร้านเป็นผู้เปลี่ยนให้ โดยใส่ยางรถชุดเก่าไว้ในกระบะรถ เมื่อเปลี่ยนยางรถเสร็จทั้งสี่เส้นแล้ว ว. ถอยรถกระบะไปจอดที่บริเวณหน้าร้านโดยติดเครื่องยนต์ไว้ จากนั้นประมาณ 3 นาที จำเลยขับรถกระบะดังกล่าวออกจากร้านไปโดยไม่ชำระราคา ขณะตกลงซื้อขายยางรถระหว่างจำเลยกับผู้เสียหาย จำเลยไม่มีเจตนาที่จะใช้กลอุบายหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งมอบยางรถทั้งสี่เส้นโดยไม่คิดจะชำระราคามาแต่ต้น ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในยางรถทั้งสี่เส้นย่อมโอนไปยังจำเลยซึ่งเป็นผู้ซื้อ ตั้งแต่เมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายและกำหนดเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 458 และมาตรา 460 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยยังมิได้ชำระราคาแก่ผู้เสียหาย ก็เป็นมูลคดีผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น หามีมูลความผิดทางอาญาฐานลักทรัพย์ไม่

โจทก์เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือให้โจทก์ได้รับงานทำป้ายโฆษณาให้ส่วนราชการเพราะเชื่อว่าจำเลยสามารถช่วยโจทก์ได้ หากจำเลยแจ้งเพียงว่าการดำเนินงานที่โจทก์ต้องการมีค่าใช้จ่าย โจทก์จึงมอบเงินให้จำเลยไป การกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

หลักกฎหมาย : ป.อ. มาตรา 341

องค์ประกอบถายนอก
1.ผู้ใด
2.หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ
2.1 เเสดงข้อความอันเป็นเท็จ
2.2 ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้เเจ้ง
3. โดยการหลอกลวงดังว่านั้น
3.1 ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
3.2 ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ

องค์ประกอบภายใน
1.เจตนาธรรมดา
2.เจตนาพิเศษ : โดยทุจริต

ข้อสังเกต
ในส่วนขององค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานฉ้อโกงนั้น การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดได้ ต้องปรากฏว่าจำเลยได้หลอกลวงผู้อื่นด้วยการเเสดงข้อความอันเป็นเท็จ แต่ตามข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า จำเลยเพียงเเจ้งแก่โจทก์ว่าการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาจะต้องมีค่าใช้จ่าย โจทก์จึงมอบเงินให้แก่จำเลยไป โดยจำเลยมิได้หลอกลวงโจทก์ด้วยการเเสดงข้อความอันเป็นเท็จเเต่อย่างใด
นอกจากนี้ ความผิดฐานฉ้อโกงนั้นยังเป็นความผิดที่ต้องการผล ดังนั้น จะต้องปรากฏว่าจำเลยต้องได้ทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวงเนื่องมาจากหลงเชื่อในการหลอกลวงดังกล่าวด้วย แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว การที่โจทก์ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่จำเลยนั้น มิได้เกิดจากกการที่โจทก์หลงเชื่อการหลอกลวงดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาฎีกาที่ 778/2560 เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มอบเงินสดให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ และจำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาในพื้นที่ของราชการจะต้องมีค่าใช้จ่าย โดยมิได้เกิดจากเหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 หลงเชื่อจากการถูกจำเลยหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทำงานเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ที่อาคารรัฐสภาและสามารถติดต่อช่วยเหลือให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับงานเกี่ยวกับการทำป้ายโฆษณาให้ส่วนราชการต่าง ๆ ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง แม้โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าจำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ก็มิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงใดอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง

ผู้รับจ้างหลอกลวงผู้ว่าจ้างว่าธนาคารได้ออกหนังสือค้ำประกันให้ร้านของผู้รับจ้างแล้ว ทำให้ผู้ว่าจ้างหลงเชื่อ ตกลงทำสัญญาจ้างให้ทำความสะอาดอาคารโรงพยาบาลและผู้รับจ้างได้ทำความสะอาดและรับเงินค่าจ้างไปแล้ว ต่อมาผู้ว่าจ้างพบว่าธนาคารไม่ได้ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่ร้านของผู้รับจ้างจึงบอกเลิกสัญญา ดังนี้ เป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ และผู้ว่าจ้างจะเรียกเอาเงินค่าจ้างคืนจากผู้รับจ้าง ได้หรือไม่

ปนะมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 

องค์ประกอบความผิด
องค์ประกอบภายนอก
1. ผู้ใด
2. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ
2.1 แสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ
2.2 ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
3. โดยการหลอกลวงดังว่านั้น
3.1 ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือ
3.2 ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
องค์ประกอบภายใน
1. เจตนาธรรมดา
2. เจตนาพิเศษ : โดยทุจริต

ตามระเบียบของโรงพยาบาลผู้ว่าจ้างกำหนดว่า ผู้รับจ้างทำความสะอาดของโรงพยาบาลจะต้องมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร หากผู้รับจ้างไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาแสดง ก็ไม่อาจทำสัญญาจ้างกับผู้รับจ้างได้ การที่ผู้รับจ้างไม่มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร แต่หลอกลวงผู้ว่าจ้างโดยการนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาแสดงข้อความอันเป็นเท็จกับผู้ว่าจ้างเพื่อให้ได้งานนั้น ดังนี้ การหลอกลวงของผู้รับจ้างเป็นการกระทำโดยทุจริต และการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างอันเป็นเอกสารสิทธิให้ผู้รับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้รับจ้างในการที่จะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล และได้ทรัพย์สินเป็นเงินค่าจ้างจากการทำงาน จึงถือได้ว่าผู้รับจ้างกระทำความผิดฐานฉ้อโกงผู้ว่าจ้าง ตาม ป.อ. มาตรา 341

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


มาตรา 159  วรรคหนึ่งและวรรคสอง วางหลักว่า
การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น


มาตรา 176  วรรคหนึ่ง วางหลักว่า โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน

การที่ผู้ว่าจ้างทำสัญญากับผู้รับจ้างให้ผู้รับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาลเพราะหลงเชื่อว่าผู้รับจ้างมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ซึ่งหากผู้รับจ้างไม่มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ผู้รับจ้างจะไม่เข้าทำสัญญาจ้างกับผู้รับจ้าง กรณีจึงถือได้ว่านิติกรรมสัญญาจ้างระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างเกิดจากกลฉ้อฉลถึงขนาด สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159รรคหนึ่ง และวรรคสอง เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาจึงเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ทำให้สัญญาจ้างตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันทำสัญญา ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่การที่ผู้รับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาลอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างได้ยอมรับการงานนั้นแล้ว ผู้ว่าจ้างจึงยังมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้กับผู้รับจ้างอยู่ จึงเป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ผู้ว่าจ้างจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวคืนจากผู้รับจ้างได้ 

คำพิพากษาฎีกาที่ 6404/2560  ตามระเบียบการทำสัญญาจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. ผู้รับจ้างจะต้องมีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมายื่นให้ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นการค้ำประกันในกรณีที่ผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง หากผู้รับจ้างคนใดไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาแสดง ก็ไม่อาจทำสัญญาจ้างผู้รับจ้างคนดังกล่าวได้ การที่จำเลยทั้งสองประสงค์จะให้ร้านของจำเลยทั้งสองได้รับงานจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จึงหลอกลวงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่ว่า ธนาคารยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโรงพยาบาล ช. ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่ร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหนี้ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้างมาแสดงแต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง การหลอกลวงดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับร้านของจำเลยทั้งสอง เพราะหากร้านของจำเลยทั้งสองไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ผู้เสียหายย่อมไม่ทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสอง การหลอกลวงดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยทุจริต และการหลอกลวงโดยทุจริตดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยทั้งสองในการที่จะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. อันเป็นการหลอกลวงโดยทุจริตให้ผู้เสียหายเข้าทำสัญญาจ้างอันเป็นเอกสารสิทธิ เมื่อการหลอกลวงโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดกับโรงพยาบาล ช. โรงพยาบาล ช. จึงให้สิทธิจำเลยทั้งสองเข้ารับงานอันเป็นผลให้จำเลยทั้งสองมีโอกาสเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. และได้ทรัพย์สินเป็นเงินค่าจ้างจากการทำงาน 108,000 บาท จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าภายหลังทำสัญญาจำเลยทั้งสองเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จริง โรงพยาบาล ช. จึงตรวจรับงานและอนุมัติค่าจ้างงวดแรกให้แก่ร้านของจำเลยทั้งสอง 108,000 บาท แต่การเข้าทำงานดังกล่าวก็เนื่องมาจากจำเลยทั้งสองโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายจนผู้เสียหายหลงเชื่อทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จริง ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำความผิดอาญาของจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นแล้วกลับกลายไม่เป็นความผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้องแล้ว 

จำเลยทั้งสองโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายว่า ธนาคาร ก. ได้ออกหนังสือค้ำประกันให้ร้านของจำเลยทั้งสอง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่ร้านของจำเลยทั้งสอง โดยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองให้ทำความสะอาดอาคารโรงพยาบาล ช. หากจำเลยทั้งสองไม่มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ผู้เสียหายจะไม่เข้าทำสัญญาจ้างกับจำเลยทั้งสอง กรณีจึงถือได้ว่านิติกรรมสัญญาจ้างระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองเกิดจากกลฉ้อฉลถึงขนาด สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159รรคหนึ่ง และวรรคสอง เมื่อผู้เสียหายบอกเลิกสัญญาอันเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ทำให้สัญญาจ้างตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันทำสัญญา ผู้เสียหายและจำเลยทั้งสองจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แม้การที่จะให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าจ้างทำความสะอาดแก่ผู้เสียหายไม่เป็นการพ้นวิสัย แต่การงานที่จำเลยทั้งสองทำให้ผู้เสียหายไปแล้วซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้เสียหาย และผู้เสียหายยอมรับเอาการงานของจำเลยทั้งสองแล้ว ตามหนังสือขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน ผู้เสียหายก็ต้องกลับคืนไปยังฐานะเดิมด้วยเช่นกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อการที่จะให้การงานที่ทำไปแล้วกลับคืนยังฐานะเดิมเป็นการพ้นวิสัย ผู้เสียหายจึงต้องใช้ค่าเสียหายที่สมควรแก่หน้าที่การงานให้จำเลยทั้งสอง โดยถือว่าค่าจ้างตามคำฟ้องที่จำเลยทั้งสองได้รับไปแล้วเป็นค่าเสียหายจำนวนนั้น ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยทั้งสองอีก 

กรรมการคนเดียวเรียกประชุมฯผู้ถือหุ้น โดยมิได้เรียกประชุมคณะกรรมการก่อน ต่อมามีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นและลงมติ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1161 วางหลักว่า ข้อปรึกษาซึ่งเกิดเป็นปัญหาในประชุมกรรมการนั้นให้ชี้ขาดตัดสินเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ถ้าและคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด

มาตรา 1162 วางหลักว่า กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกให้ประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้

มาตรา 1172 วางหลักว่า กรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่จะเห็นสมควร

หลักเกณฑ์ในการเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น
1. มีการประชุมกรรมการบริษัทเพื่อมีมติเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น
2. มีมติเสียงข้างมากของกรรมการบริษัทให้เรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น
3. มีการเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น

การเรียกประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1172 นั้น ต้องให้กรรมการเป็นผู้นัดเรียกประชุมและมีลำดับขั้นตอนตามมาตรา 1162 ประกอบ 1161 ก่อน ซึ่งคำว่า “กรรมการ” ตามมาตรา 1172 หมายความถึง “คณะกรรมการ” มิใช่กรรมการเพียงคนเดียวที่จะสามารถเป็นผู้เรียกประชุมฯผู้ถือหุ้นได้ ดังนี้ หากกรรมการเพียงคนเดียวนัดเรียกประชุมฯผู้ถือหุ้น และดำเนินขั้นตอนมาจนถึงการลงมติ จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2561 คำว่า กรรมการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1172 วรรคหนึ่ง หมายถึงคณะกรรมการ มิได้หมายถึงกรรมการคนหนึ่งคนใดหรือหลายคน
การจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1172 วรรคหนึ่ง หรือไม่ กรรมการคนหนึ่งคนใดชอบที่จะนัดเรียกประชุมกรรมการเพื่อพิจารณากันเสียก่อนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1162 มติของคณะกรรมการจะต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1161 การที่ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการเรียกประชุมใหญ่โดยมิได้กระทำตามขั้นตอนดังกล่าว การนัดเรียกประชุมใหญ่ตลอดจนการประชุมและการลงมติจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2518 ข้อบังคับของบริษัทจำเลยมีว่า “การประชุมวิสามัญจะเรียกประชุมเมื่อใดก็ได้ ในเมื่อคณะกรรมการบริษัทเห็นสมควร หรือผู้ถือหุ้นรวมกันนับจำนวนหุ้นได้ถึงหนึ่งในห้าของหุ้นทั้งหมด ทำหนังสือขอให้เรียกประชุมวิสามัญ” ตามข้อบังคับข้อนี้กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะเรียกประชุม มิใช่กรรมการคนใดคนหนึ่งแต่เพียงคนเดียว แม้ว่าผู้ถือหุ้นรวมกันทำหนังสือขอให้เรียกประชุมวิสามัญ ก็จะต้องทำหนังสือถึงคณะกรรมการ แล้วคณะกรรมการเป็นผู้เรียกประชุม
ปรากฏว่า ม.กรรมการเพียงคนเดียวเป็นผู้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2513 โดยไม่ได้เสนอคำร้องขอของผู้ถือหุ้นต่อคณะกรรมการบริหารของบริษัทจำเลยตามข้อบังคับ ในวันประชุม ส.ประธานกรรมการบริษัทจำเลยได้สั่งระงับการประชุม ม.ยอมรับคำสั่งแต่โดยดี แต่แล้วกลับละเมิดคำสั่งได้ดำเนินการประชุมต่อไป ที่ประชุมแต่งตั้ง ท.เป็นประธานของที่ประชุม โดยที่ ท.มิได้มีคุณสมบัติตามข้อบังคับที่จะเป็นได้การประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับ คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามมติของที่ประชุมครั้งนั้นจึงเป็นคณะกรรมการที่ไม่ชอบ ไม่มีอำนาจบริหารและไม่มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2513 มติต่าง ๆ ของที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2513 จึงไม่มีผล

เจ้าหนี้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับลูกหนี้ข้อหาฉ้อโกงแล้ว ต่อมาลูกหนี้โอนที่ดินให้แก่บุตร จะถือว่าการร้องทุกข์ของเจ้าหนี้เป็นการได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วหรือไม่ และจะทำให้ลูกหนี้มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่

หลักกฎหมาย : ป.อ. มาตรา 350

องค์ประกอบภายนอก
1. ผู้ใด
2. กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
2.1 ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด หรือ
2.2 แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใด อันไม่เป็นความจริง
3. เป็นหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ได้ใช้ หรือ จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้

องค์ประกอบภายใน
1. เจตนาธรรมดา
2. เจตนาพิเศษ : เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ของตน หรือ ผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมด หรือแต่บางส่วน

ข้อสังเกต องค์ประกอบความผิดประการสำคัญ ของมาตรา 350 ต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ต้อง “ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้” ซึ่งประเด็นว่า “การร้องทุกข์” ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์แม้ว่าจะไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้โดยตรง แต่เมื่อมีการร้องทุกข์แล้วก็ย่อมนำไปสู่การยื่นฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ซึ่งรวมถึงการเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ต้องสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดแทนโจทก์ด้วย ดังนี้ การร้องทุกข์ของผู้เสียหายจึงเป็นการจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้อีกกรณีหนึ่ง

คำพิพากษาฎีกาที่ 8905/2561 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น เจ้าหนี้ต้องใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว และลูกหนี้รู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิดังกล่าวแล้วยังโอนทรัพย์สินให้ผู้อื่น โดยมีมูลเหตุจูงใจเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน 
โจทก์ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาฉ้อโกง ก่อนวันที่จำเลยโอนที่ดินให้แก่บุตรทั้งสองของจำเลย การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ย่อมนำไปสู่การยื่นฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ซึ่งรวมถึงการเรียก ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ต้องสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดแทนโจทก์ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 อีกทั้งเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดี โจทก์จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น โดยการร้องทุกข์ของโจทก์ไม่ว่าต่อมาโจทก์จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หรือไม่ ก็มีผลเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์สูญเสียไปจากการกระทำความผิดคืนโดยพนักงานอัยการดำเนินการ แทนแล้ว โจทก์ไม่จำต้องทวงถามหรือฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับชำระหนี้อีก การร้องทุกข์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว เมื่อจำเลยมีเจตนาทุจริตยักยอกเงินโจทก์ และโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงรู้แล้วว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ การที่จำเลยโอนที่ดินให้แก่บุตรทั้งสองของจำเลยจึงเป็นไปเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 3973/2551 วินิจฉัยแนวเดียวกัน