คลังเก็บป้ายกำกับ: อาญาภาคความผิด

ทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนสลบไป แล้วนําร่างไปไว้บนรถบรรทุกไปจอดทิ้งไว้ แต่เนื่องจากผู้ถูกทําร้ายฟื้นขึ้นจึงใช้เชือกรัดคอจนถึงแก่ความตาย ณ สถานที่นั้น โดยไม่มีการ เคลื่อนผู้ตายไปที่ใดอีก จะเป็นความผิดฐานร่วมกันเคลื่อนย้ายศพ หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 2792/2560  จําเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมทําร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตั้งแต่แรกที่จําเลยที่ 2 ได้ขอให้จําเลยที่ 3 ช่วยเหลือก่อนเกิดเหตุแล้ว จําเลยที่ 3 มีความผิดเพียงฐานร่วมกันทําร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นความผิดลักษณะหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 อันเป็นความผิดอย่างหนึ่งที่เป็นความผิดได้ในตัวเองในหลายอย่างที่รวมอยู่ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้องและมีอัตราโทษน้อยกว่า ศาลย่อมลงโทษในความผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย  จําเลยที่ 2 ใช้เชือกรัดคอผู้ตายจนถึงแก่ความตาย ณ สถานที่ที่จําเลยที่ 2 นํารถยนต์กระบะมาจอดทิ้งไว้ เนื่องจากผู้ตายฟื้นขึ้นยังไม่ตาย จากนั้นก็ไม่มีการเคลื่อนผู้ตายไปที่ใดอีก แสดงว่าระหว่างที่จําเลยที่ 2 และที่ 3 ยกผู้ตายมาไว้ในรถยนต์กระบะจนถึงเวลาที่จําเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะไปจอดทิ้งไว้ที่อื่นก่อนที่จําเลยที่ 2 จะฆ่าผู้ตายที่นั่น ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ การเคลื่อนย้ายผู้ตายไปสถานที่ดังกล่าวไม่ใช่เป็นการเคลื่อนย้ายศพตามฟ้อง การกระทําของจําเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันเคลื่อนย้ายศพเพื่อปิดบัง การเกิด การตายหรือเหตุแห่งการตายกับฐานเคลื่อนย้ายศพโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199 และมาตรา 336/3 ประกอบมาตรา 83 ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 296 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน เมื่อโทษจําคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจําคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตาม กฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จําเลยที่ 3 ต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทําความผิดบังคับแก่จําเลยที่ 3 

ผู้รับจ้างหลอกลวงผู้ว่าจ้างว่า ธนาคารได้ออกหนังสือค้ำประกันมอบให้ร้านของผู้รับจ้างแล้ว เป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างหลงเชื่อ ตกลงทําสัญญาจ้างให้ทําความสะอาดอาคารโรงพยาบาลและผู้รับจ้างได้เข้าทําความสะอาดและรับเงินค่าจ้างทําความสะอาดงวดแรกไปแล้ว ต่อมาผู้ว่าจ้างตรวจพบว่าธนาคารไม่ได้ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่ร้านของผู้รับจ้างจึงบอกเลิกสัญญา ดังนี้ จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ และผู้ว่าจ้างจะเรียกเอาเงินค่าจ้างคืนจากผู้รับจ้าง ได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 6404/2560 ตามระเบียบการทําสัญญาจ้างทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. ผู้รับจ้างจะต้องมี หนังสือค้ำประกันของธนาคารมายื่นให้ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นการค้ำประกันในกรณีที่ผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ หรือต้องชําระค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ หรือผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใด ๆ ที่กําหนดในสัญญาจ้าง หากผู้รับจ้างคนใดไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาแสดง ก็ไม่อาจทําสัญญาจ้างผู้รับจ้างคนดังกล่าวได้ การที่จําเลยทั้งสองประสงค์จะให้ร้านของจําเลยทั้งสองได้รับงานจ้างทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. จึงหลอกลวงนําหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่ว่า ธนาคารยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้ เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชําระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโรงพยาบาล ช. ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่ร้านของจําเลยทั้งสองผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ หรือต้องชําระค่าปรับหรือ ค่าใช้จ่ายใด ๆ หรือร้านของจําเลยทั้งสองผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหนี้ใด ๆ ที่กําหนดในสัญญาจ้างมาแสดง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่จําเลยทั้งสอง การหลอกลวงดังกล่าวเป็นการกระทําเพื่อแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับร้านของจําเลยทั้งสอง เพราะหากร้านของจําเลยทั้งสองไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ผู้เสียหายย่อมไม่ทําสัญญาจ้างร้านของจําเลยทั้งสอง การหลอกลวงดังกล่าวจึงเป็นการกระทําโดยทุจริต และการหลอกลวงโดยทุจริตดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหาย หลงเชื่อตกลงทําสัญญาจ้างร้านของจําเลยทั้งสองทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดสิทธิแก่จําเลยทั้งสองในการที่จะเข้าทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. อันเป็นการหลอกลวงโดยทุจริตให้ผู้เสียหายเข้าทําสัญญาจ้างอันเป็นเอกสารสิทธิ เมื่อการหลอกลวงโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทําสัญญาจ้างร้านของจําเลยทั้งสอง ทําความสะอาดกับโรงพยาบาล ช. โรงพยาบาล ช. จึงให้สิทธิจําเลยทั้งสองเข้ารับงานอันเป็นผลให้จําเลยทั้งสองมีโอกาสเข้าทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. และได้ทรัพย์สินเป็นเงินค่าจ้างจากการทํางาน 108,000 บาท จึงถือได้ว่าจําเลยทั้งสองกระทําความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าภายหลังทําสัญญาจําเลยทั้งสองเข้าทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. จริง โรงพยาบาล ช. จึงตรวจรับงานและอนุมัติค่าจ้างงวดแรกให้แก่ร้านของจําเลยทั้งสอง 108,000 บาท แต่การเข้าทํางานดังกล่าวก็เนื่องมาจากจําเลยทั้งสองโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายจนผู้เสียหายหลงเชื่อทําสัญญาจ้างร้านของจําเลยทั้งสองทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. ดังนั้น การที่จําเลยทั้งสองเข้าทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. จริงก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทําความผิดอาญาของจําเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นแล้วกลับกลายไม่เป็น ความผิด การกระทําของจําเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้องแล้ว จําเลยทั้งสองโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายว่า ธนาคาร ก. ได้ออกหนังสือค้ำประกันให้ร้านของจําเลยทั้งสอง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกัน ดังกล่าวให้แก่ร้านของจําเลยทั้งสองโดยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทําสัญญาจ้างร้านของจําเลยทั้งสองให้ทําความสะอาดอาคารโรงพยาบาล ช. หากจําเลยทั้งสองไม่มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ผู้เสียหายจะไม่เข้าทําสัญญาจ้างกับจําเลยทั้งสอง กรณีจึงถือได้ว่านิติกรรมสัญญาจ้างระหว่างผู้เสียหายกับจําเลยทั้งสองเกิดจากกลฉ้อฉลถึงขนาดสัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง เมื่อผู้เสียหายบอกเลิกสัญญาอันเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ทําให้สัญญาจ้างตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันทําสัญญา ผู้เสียหายและจําเลยทั้งสองจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แม้การที่จะให้จําเลยทั้งสองคืนเงินค่าจ้างทําความสะอาดแก่ผู้เสียหายไม่เป็นการพ้นวิสัย แต่การงานที่จําเลยทั้งสองทําให้ผู้เสียหายไปแล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้เสียหายและผู้เสียหายยอมรับเอาการงานของจําเลยทั้งสองแล้ว ตามหนังสือขออนุมัติเบิกจ่ายเงินผู้เสียหายก็ต้องกลับคืนไปยังฐานะเดิมด้วยเช่นกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อการที่จะให้การงานที่ทําไปแล้วกลับคืนยังฐานะเดิมเป็นการพ้นวิสัย ผู้เสียหายจึงต้องใช้ค่าเสียหายที่สมควรแก่หน้าที่การงานให้จําเลยทั้งสอง โดยถือว่าค่าจ้างตามฟ้องที่จําเลยทั้งสองได้รับไปแล้วเป็นค่าเสียหายจํานวนนั้น ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวคืนจากจําเลยทั้งสองอีก 

ลูกหนี้โอนขายหุ้นของตนให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ยึดหุ้นมาบังคับชําระหนี้ ตามคําพิพากษา เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ หรือไม่

ําพิพากษาฎีกาที่ 8651/2559 จําเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคําพิพากษาของศาลแพ่งซึ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2547 โจทก์ส่งคําบังคับให้จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษาดังกล่าวแต่จําเลยเพิกเฉยโจทก์ขอให้ศาลแพ่งออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดําเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของจําเลยแล้ว ช่วงระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2547 จําเลยเป็นกรรมการผู้มีอํานาจของบริษัท ป. จํากัดและเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวจํานวน 120,000 หุ้น รวมเป็นเงิน 1,200,000 บาท เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครรับจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากจําเลยเป็น ส. ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางขีดชื่อบริษัท ป. ออกจากทะเบียนและสิ้นสภาพนิติบุคคล คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จําเลยฎีกาว่า โจทก์นําสืบได้ความเพียงว่าจําเลยโอนขายหุ้นบริษัท ป. จํากัด จํานวน 1,200,000 หุ้น ให้ ส. โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจําเลยได้รับเงินจากการโอนขายหุ้นดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทําโดยมีเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชําระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 บัญญัติถึงการกระทําอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เพียงว่า ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี มิได้จํากัดว่าการโอนนั้นต้องทําโดยลักษณะใดหรือมีค่าตอบแทนหรือไม่ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่าจําเลยโอนขายหุ้นของตนจํานวน 120,000 หุ้น ไปให้แก่ ส. ย่อม ถือได้ว่าเป็นการกระทําโดยมีเจตนามิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาของจําเลยยึดหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของจําเลยมาบังคับชําระหนี้ การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ 

ปิดล็อกประตูของอาคารชั้นที่อยู่ในความครอบครองของตนทำให้บุคคลอื่นไม่สามารถเข้าไปยังชั้นที่บุคคลอื่นครอบครองใช้สอยของอาคารได้ เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 3633/2562 

โจทก์เป็นผู้ครอบครองอาคารพิพาทชั้น 3 และชั้น 4 ซึ่งจําเลยให้โจทก์ใช้สอยอาคารดังกล่าว เป็นที่เก็บสินค้าและสถานประกอบการ เพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ออกเงินทดรองให้จําเลยยืมไปชําระหนี้และไถ่ถอนจํานองจากธนาคาร ต่อมาจําเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารพิพาท โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งจําเลยว่า โจทก์ยังมีสิทธิอาศัยอยู่ในอาคารพิพาทจนกว่าจําเลยจะชําระหนี้เงินทดรองจ่ายค่าไถ่ถอนจํานอง จําเลยปิดล็อกประตูชั้น 2 ของอาคารพิพาท ซึ่งเป็นทางเชื่อมไปสู่อาคารพิพาทชั้น 3 และชั้น 4 อันเป็นทางเชื่อมระหว่างอาคารเลขที่ 58 ที่โจทก์เช่าอยู่ทั้งอาคารไปสู่อาคารพิพาทเลขที่ 56 และมีเพียงประตูชั้น 2 ที่โจทก์และพนักงานของโจทก์ใช้ผ่านไปสู่ชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารพิพาทได้ ทำให้โจทก์และพนักงานของโจทก์ ไม่สามารถเข้าไปยังชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารพิพาทได้ แม้ประตูชั้น 2 จะอยู่ในความครอบครองของจําเลยหรือไม่ก็ตาม จําเลยก็ไม่มีอํานาจโดยพลการที่จะปิดล็อกประตูชั้น 2 ซึ่งเป็นทางเข้าออกทางเดียวทำให้โจทก์และพนักงานของโจทก์ไม่สามารถเข้าไปยังชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารพิพาทได้ การกระทำของจําเลยจึงเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอํานาจการครอบครองของโจทก์ ถือได้ว่าจําเลยเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ของโจทก์โดยปกติสุขตาม ป.อ. มาตรา 362  

ปลอมลายมือชื่อของเจ้าของบัตรประจําตัวประชาชนลงในสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนที่แท้จริง เพื่อรับรองความถูกต้อง โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนให้แตกต่างไปแต่อย่างใด เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอมหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 460/2563 แม้โจทก์จะฟ้องว่าจําเลยทั้งสองปลอมสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนซึ่งเป็นเอกสารราชการ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องว่าจําเลยทั้งสองเพียงแต่ปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ลงในสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนที่แท้จริงของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อรับรองความถูกต้องโดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนให้แตกต่างไปจากสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนนี้แต่อย่างใด สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน ดังกล่าวยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายที่ 1 ลงในสําเนา บัตรประจําตัวประชาชนจึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก (เดิม) เท่านั้น เมื่อจําเลยทั้งสองใช้สําเนาบัตรประจําตัวประชาชนของ ผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม คงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม) ซึ่งจําเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม จึงต้องลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง 

ความผิดฐานลักทรัพย์เอาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และลักทรัพย์โดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินสดจากบัญชีของผู้อื่น หากพี่หรือน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกระทําต่อกัน เป็นความผิดอันยอมความได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 1304/2562  ความผิดของจําเลยฐานลักทรัพย์เอาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติหรือ เอทีเอ็ม) ของผู้เสียหายไปในเวลากลางคืนและฐานลักทรัพย์โดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินสดจากบัญชีของผู้เสียหายในเวลากลางคืน ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) วรรคหนึ่ง ปรากฎตามคําร้องขอให้ผู้พิพากษาอนุญาตให้ฎีกาและตามฎีกาของจําเลยซึ่งโจทก์ไม่ยื่นคําแก้ฎีกาโต้แย้งเป็นอื่นว่าจําเลยเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ส. ผู้เสียหาย ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 71 บัญญัติให้ความผิดนี้เป็นความผิดฐานหนึ่ง (ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 336) ที่ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ คดีนี้เมื่อในชั้นอุทธรณ์จําเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย เป็นเงินเท่าจํานวนที่จําเลยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนไป และผู้เสียหายทําหนังสือไม่ติดใจ เอาความทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาแก่จําเลยอีกต่อไป จึงเป็นการยอมความคดีอาญาก่อนคดีถึงที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคสอง ทําให้สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับ ไปตามมาตรา 39 (2) 

มีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อรถในฐานะตัวแทนบุคคลอื่น หากเอารถที่เช่าซื้อไปจากความครอบครองของตัวการเพื่อเรียกร้องให้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่จะให้กู้ยืมเงินเพื่อตอบแทนที่ทําสัญญาเช่าซื้อรถแทน เป็นความผิดฐานใด

คําพิพากษาฎีกาที่ 6117/2562 จําเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อแต่จําเลยเป็นเพียงตัวแทนเชิดของผู้เสียหายที่ 2 แล้วมอบรถที่เช่าซื้อให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ไปแล้ว ผู้เสียหาย ที่ 2 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ ส่วนจําเลยไม่มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งตกลงจะให้จําเลยกู้ยืมเงินเพื่อตอบแทนที่จําเลยทําสัญญาเช่าซื้อรถแทนผู้เสียหายที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงกับจําเลยให้ครบถ้วน ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธ ที่จําเลยจะเอารถที่เช่าซื้อคืนจากผู้เสียหายที่ 2 การที่จําเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหาย ที่ 2 เพื่อเรียกร้องให้ผู้เสียหายที่ 2 ปฏิบัติตามข้อตกลงเป็นการแย่งการครอบครอง และเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับตนเอง การกระทําของจําเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สําเร็จแล้ว แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 2 ตกลงจะชําระเงินแก่จําเลย แล้วให้จําเลยคืนรถที่เช่าซื้อแก่ผู้เสียหายที่ 2 และเมื่อถึงวันเวลานัดจําเลยขับรถที่เช่าซื้อไปรอผู้เสียหายที่ 2 ก็ไม่ทําให้การกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ที่สําเร็จแล้วกลายเป็นการกระทําที่ไม่เป็นความผิด  

นํารถบรรทุกถังพลาสติกบรรจุน้ำมาชั่งน้ำหนักเพื่อให้เห็นว่ารถมีน้ำหนัก มากกว่าปกติ จากนั้นนํารถไปถ่ายน้ำออกจากถังเพื่อนํารถไปรับน้ำนมดิบซึ่งจะได้ปริมาณ มากกว่าที่ควรจะได้เป็นความผิดฐานใด

คําพิพากษาฎีกาที่ 4251/2562 จําเลยบรรจุน้ำอยู่ในถังก่อนนํารถไปชั่งน้ำหนัก เพื่อให้เห็นว่ารถมีน้ำหนักมากกว่าปกติ ภายหลังจากนั้นจําเลยจึงนํารถไปถ่ายน้ำออกจากถัง เมื่อนํารถไปรับน้ำนมดิบก็จะได้ปริมาณมากกว่าที่ควรจะได้ การกระทําของจําเลยถึงขั้นลงมือกระทําความผิดแล้ว หาก ช. ไม่พบเห็นการกระทําของจําเลยก็จะบรรลุผลตามที่จําเลยได้กระทําลงไป จึงเป็นการลงมือกระทําความผิดแล้วแต่กระทําไปไม่ตลอด จึงเป็นเพียงการพยายามกระทําความผิดตาม ป.อ. มาตรา 80 จําเลยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาน้ำนมดิบของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้น โดยวิธีนํารถบรรทุก ถังพลาสติกบรรจุน้ำมาชั่งน้ำหนักในครั้งแรกเพื่อให้พนักงานของผู้เสียหายเห็นว่ารถมีน้ำหนักมากกว่าปกติ ภายหลังจากนั้นจึงถ่ายน้ำออกจากถังแล้วไปรับน้ำนมดิบเมื่อนํารถมาชั่งอีกครั้ง ทําให้จําเลยได้รับน้ำนมดิบในปริมาณน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเท่ากับปริมาณน้ำที่ถ่ายทิ้งไป จึงเป็นการใช้กลอุบายเพื่อให้บรรลุผลคือ การเอาน้ำนมดิบในส่วนที่เกินของผู้เสียหายไปโดยทุจริต เท่านั้น พนักงานของผู้เสียหายไม่ได้มีเจตนาส่งมอบการครอบครองน้ำนมดิบในส่วน ที่เกินแก่จําเลย การกระทําของจําเลยจึงเข้าองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ แต่การกระทําของจําเลยยังไม่บรรลุผล จึงเป็นเพียงความผิดฐานพยายามลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะตามฟ้อง 

ใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่นจนถึงแก่ความตายเพราะสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่ามีเหตุต้องป้องกัน หากความสำคัญผิดเกิดขึ้นโดยประมาท และกระทำไปเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำโดยสำคัญผิด ผู้กระทำจะมีความผิดอย่างไร

คำพิพากษาฎีกาที่ 5527/2562 ในคืนเกิดเหตุฝนตก ผู้ตายออกจากบ้านโดยเดินไปตามถนนในหมู่บ้านผ่านหน้าบ้านของจำเลยเพื่อไปจับกบที่หนองน้ำสาธารณะ ผู้ตายจึงมิใช่คนร้ายที่จะมาลักโคของจำเลย ประกอบกับในขณะนั้นก็ไม่ปรากฎว่าผู้ตายมีพฤติการณ์ใดอันจะเป็นภยันตรายร้ายแรงต่อจำเลย จำเลยย่อมสามารถใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าหรือยิงไปทางอื่นเพื่อข่มขู่ได้ ไม่มีความจำเป็นที่จำเลยจะต้องใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเกินกว่ากรณีแห่งกรณีจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 69 ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีย่อมเห็นได้ว่าความสำคัญผิดของจำเลยดังกล่าวเกิดขึ้นโดยความประมาทของจำเลย เนื่องจากจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังพิจารณาให้รอบคอบว่าผู้ตายเป็นคนร้ายจริงหรือไม่ จำเลยย่อมมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 โดยผลของมาตรา 62 วรรคสองด้วย ซึ่งแม้จะเป็นข้อแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง แต่ต่างกันระหว่างการกระทำความผิดโดยเจตนากับประมาท ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 และกรณีนี้เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำโดยสำคัญผิด ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 (จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 69 และมาตรา 62 วรรคหนึ่ง และมาตรา 291 ประกอบมาตรา 62 วรรคสอง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69 และมาตรา 62 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) 

เป็นเจ้าพนักงานแต่มิได้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการหรือรักษาเงินยืมทดรองของราชการ หากร่วมรับเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ดังกล่าวเบียดบังเงินยืมทดรองราชการมาเป็นของตนจะเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 801/2562 

ป.อ. มาตรา 147 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลที่กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานและต้องมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นเจ้าพนักงานและเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ตลอดจนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเบียดบังเงินยืมทดรองราชการเป็นของตนโดยทุจริต แต่จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวที่เป็นผู้ขอเงินยืมทดรองราชการและได้รับอนุญาตจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการหรือรักษาเงินยืมทดรองราชการ จำเลยที่ 2 หาได้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการหรือรักษาเงินยืมทดรองราชการ แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการจัดการหรือรักษาทรัพย์แล้วเบียดบังทรัพย์เป็นของตนโดยทุจริตไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225