คลังเก็บป้ายกำกับ: อาจารย์ตูน

ประเด็น : จำเลยพูดให้สัมภาษณ์ที่พม่าหมิ่นประมาทโจทก์ ความผิดสำเร็จเมื่อนักข่าวทราบข้อความนั้น จำเลยกระทำความผิดนอกราชฯ และไม่ใช่กรณี ตามม.5 ที่ผลเกิดในราชฯ ซึ่งจะถือว่าได้กระทำความผิดในราชฯ จึงไม่ต้องรับโทษในราชฯ (ฎ.6593/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6593/2559 ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ไม่ใช่ความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ เมื่อจำเลยพูดให้สัมภาษณ์นักข่าว การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดย่อมสำเร็จ เมื่อนักข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามทราบข้อความแล้ว โดยคนที่ถูกหมิ่นประมาทไม่ต้องรู้ว่าตนเองถูกหมิ่นประมาท สำหรับข้อที่ว่าโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังนั้น เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ ไม่ใช่ผลของการกระทำ จึงไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคแรก เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนอกราชอาณาจักรและไม่ใช่กรณีกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญาถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร

ออกเช็คมอบให้แก่คู่สัญญาเพื่อนําไปชําระหนี้แก่บุคคลอื่น มีข้อตกลง ระหว่างผู้สั่งจ่ายเช็คกับคู่สัญญาว่าเมื่อผู้สั่งจ่ายเช็คได้รับโอนกรรมสิทธิ์โครงการจากคู่สัญญา แล้ว เช็คจึงจะเรียกเก็บเงินได้ ดังนี้ หากมีการผิดสัญญาซื้อขายโครงการกันผู้สั่งจ่ายจะยกเรื่อง ดังกล่าวมาเป็นข้อต่อสู้ผู้ทรงโดยสุจริต ได้หรือไม่

ค่าพิพากษาฎีกาที่ 5016/2560 จําเลยทั้งสามให้การยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทแล้ว แต่อ้างว่าเช็ค พิพาทไม่มีมูลหนี้จึงไม่ต้องรับผิดชําระเงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง ภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่ฝ่ายจําเลย  จําเลยที่ 1 ประสงค์จะซื้อห้องชุดคืนจากโจทก์ในราคาทุน กล่าวคือ โจทก์ได้รับชําระมัดจําในการซื้อห้องชุดจากบริษัท ส. ไปเท่าใด จําเลยที่ 1 จะสั่งจ่ายเช็คเงินสดเพื่อให้ บริษัท ส. นําไปชําระคืนให้แก่โจทก์เป็นจํานวนเท่ากัน เช่นนี้ การที่บริษัท ส. นําเช็คของ จําเลยที่ 1 ไปชําระหนี้คืนให้แก่โจทก์ย่อมเป็นไปตามความประสงค์ของจําเลยที่ 1 และเป็นความยินยอมของจําเลยที่ 1 ที่ให้บริษัท ส. ใช้เช็คของจําเลยที่ 1 ไปชําระหนี้ให้แก่โจทก์ หาใช่เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ไม่ การที่โจทก์ครอบครองเช็คฉบับเดิมแล้วเปลี่ยนเป็นเช็คพิพาท ก็ยังเป็นการครอบครองเช็คดังกล่าวไว้โดยสุจริต จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอํานาจฟ้องจําเลยที่ 1 ในฐานะผู้สั่งจ่าย และจําเลยที่ 3 ในฐานะผู้สลังหลังเช็คพิพาทผู้ถือซึ่งเป็นเพียงประกัน (อาวัล) ผู้สั่งจ่ายย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับจําเลยที่ 1 ซึ่งตนประกันตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921, 940 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 989 ให้รับผิดตามเช็คได้ แม้จะมีบันทึกข้อตกลงยอมความเรื่องการประนีประนอมยอมความระหว่างผู้จองซื้อห้องชุดกับบริษัท ส. ซึ่งทําให้ โจทก์มีสิทธิเลือกเอาว่าจะใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากบริษัท ส. หรือเรียกร้องเอาจากจําเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายเช็คทางใดทางหนึ่งก็ได้ หาได้ห้ามโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็น ผู้สั่งจ่ายเช็คไม่  เช็คเป็นตราสารที่สามารถโอนเปลี่ยนมือกันได้ เช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือย่อมสามารถโอนเปลี่ยนมือได้ด้วยการส่งมอบให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918 ประกอบด้วยมาตรา 989 โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนเช็คหาจําต้องมีนิติสัมพันธ์กับจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายไม่ แม้จําเลยที่ 1 และที่  3 อ้างว่าการจ่ายเงินมีเงื่อนไขว่าเมื่อจําเลยที่ 1 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์โครงการจากบริษัท ส. แล้ว เช็คจึงจะเรียกเก็บเงินได้ เมื่อบริษัท ส. ผิดสัญญาซื้อขายโครงการกับจําเลยที่ 1 เพราะไม่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโครงการให้แก่จําเลยที่ 1 ฝ่ายจําเลยชอบที่จะระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทนั้น เป็นเพียงความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างจําเลยที่ 1 กับบริษัท ส. เท่านั้น จําเลยที่ 1 ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงคนปัจจุบันตามมาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989 

ทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนสลบไป แล้วนําร่างไปไว้บนรถบรรทุกไปจอดทิ้งไว้ แต่เนื่องจากผู้ถูกทําร้ายฟื้นขึ้นจึงใช้เชือกรัดคอจนถึงแก่ความตาย ณ สถานที่นั้น โดยไม่มีการ เคลื่อนผู้ตายไปที่ใดอีก จะเป็นความผิดฐานร่วมกันเคลื่อนย้ายศพ หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 2792/2560  จําเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมทําร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตั้งแต่แรกที่จําเลยที่ 2 ได้ขอให้จําเลยที่ 3 ช่วยเหลือก่อนเกิดเหตุแล้ว จําเลยที่ 3 มีความผิดเพียงฐานร่วมกันทําร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นความผิดลักษณะหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 อันเป็นความผิดอย่างหนึ่งที่เป็นความผิดได้ในตัวเองในหลายอย่างที่รวมอยู่ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้องและมีอัตราโทษน้อยกว่า ศาลย่อมลงโทษในความผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย  จําเลยที่ 2 ใช้เชือกรัดคอผู้ตายจนถึงแก่ความตาย ณ สถานที่ที่จําเลยที่ 2 นํารถยนต์กระบะมาจอดทิ้งไว้ เนื่องจากผู้ตายฟื้นขึ้นยังไม่ตาย จากนั้นก็ไม่มีการเคลื่อนผู้ตายไปที่ใดอีก แสดงว่าระหว่างที่จําเลยที่ 2 และที่ 3 ยกผู้ตายมาไว้ในรถยนต์กระบะจนถึงเวลาที่จําเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะไปจอดทิ้งไว้ที่อื่นก่อนที่จําเลยที่ 2 จะฆ่าผู้ตายที่นั่น ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ การเคลื่อนย้ายผู้ตายไปสถานที่ดังกล่าวไม่ใช่เป็นการเคลื่อนย้ายศพตามฟ้อง การกระทําของจําเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันเคลื่อนย้ายศพเพื่อปิดบัง การเกิด การตายหรือเหตุแห่งการตายกับฐานเคลื่อนย้ายศพโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199 และมาตรา 336/3 ประกอบมาตรา 83 ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 296 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน เมื่อโทษจําคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจําคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตาม กฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จําเลยที่ 3 ต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทําความผิดบังคับแก่จําเลยที่ 3 

ลูกหนี้จดทะเบียนโอนขายที่ดินของตนให้แก่ผู้ซื้อโดยคู่สัญญารู้อยู่ว่าจะเป็น ทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ หากผู้ซื้อโอนขายที่ดินนั้นต่อไปอีก แล้วผู้ซื้อที่ดินทอดต่อมานําที่ดินไป จํานองก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ดังนี้ หากผู้ซื้อที่ดินทอดต่อมาและผู้รับจํานอง สุจริต จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 9906/2560  การจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทสองโฉนด ระหว่างจําเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ในเรื่องของการเพิกถอน การฉ้อฉล มิใช่บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 อันเป็นเรื่องของวัตถุประสงค์ของนิติกรรมขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่ได้ทํานิติกรรม อีกทั้งยังไม่พ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องขอเพิกถอนได้  จําเลยที่ 2 ทํานิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทแปลงหนึ่งให้แก่จําเลยที่ 3 จําเลยที่ 3 ทํานิติกรรมโอนขายให้แก่จําเลยที่ 4 และจําเลยที่ 4 ทํานิติกรรมจํานองให้แก่จําเลยที่ 5 ซึ่งล้วนเป็นการทํานิติกรรมก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอน จําเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นบุคคลภายนอก อันได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอน ย่อมได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 238 ศาลไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมในที่ดินพิพากษาระหว่างจําเลยที่ 2 กับที่ 3 ระหว่างจําเลยที่ 3 กับที่ 4 และระหว่างจําเลยที่ 4 กับที่ 5 ดังนั้น ไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจําเลยที่ 1 กับที่ 2 ตามฟ้องได้ด้วย เพราะที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลยที่ 4 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว 

การตัดมิให้รับมรดก การถอนการแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดก มีหลักเกณฑ์ อย่างใด หนังสือตัดมิให้รับมรดกมีข้อความว่า มีการถอนการตัดมิให้รับมรดกแต่ไม่มีลายมือชื่อ ของเจ้ามรดก จะถือว่ามีการถอนการตัดมิให้รับมรดกแล้วหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 6284/2562 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้เจ้ามรดกมีสิทธิแสดงเจตนาตัดทายาทโดยธรรมของตนไม่ให้รับมรดกได้โดยการแสดงเจตนาตามแบบที่กําหนดไว้ในมาตรา 1608 คือ ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง (1) โดยพินัยกรรม (2) โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่และมาตรา 1609 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกนั้น จะถอนเสียก็ได้” โดยการแสดงเจตนาตามแบบที่กําหนดไว้ในมาตรา 1609 วรรคสอง คือ ถ้าการตัดมิให้รับมรดกนั้นได้ทําโดยพินัยกรรม จะถอนเสียได้ก็แต่โดยพินัยกรรมเท่านั้น แต่ถ้าการตัดมิให้รับมรดกได้ทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การถอนจะทําตามแบบใดแบบหนึ่งดังบัญญัติไว้ในมาตรา 1608 (1) หรือ (2) ก็ได้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่กําหนดแบบของการแสดงเจตนาตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกและแบบของการถอนการแสดงเจตนาดังกล่าว เจ้ามรดกได้แสดงเจตนาตัดมิให้ ท. รับมรดกไว้ตามหนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก ซึ่งมีการจัดทําเป็นไปตามแบบของการตัดมิให้รับมรดกโดยทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 1608 (2) แล้ว หากเจ้ามรดกประสงค์จะถอนการแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกก็ต้องทําให้ถูกต้องตามแบบที่มาตรา 1609 วรรคสอง กําหนดไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ปรากฏว่าเจ้ามรดกไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้และไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกได้แสดงเจตนา ถอนการตัดมิให้รับมรดกไว้เป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด คงมีเพียงข้อความที่ระบุเพิ่มเติมไว้ที่ด้านซ้ายของหนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกว่ามีการถอนการตัดมิให้ ท. รับมรดกแล้วซึ่งมีเพียงลายมือชื่อของ ป. แต่ไม่มีลายมือชื่อของเจ้ามรดก จึงไม่อาจถือว่าเป็นการแสดงเจตนาของเจ้ามรดก เมื่อ ท. ถูกตัดมิให้รับมรดกจึงไม่เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก โดยผลแห่งหนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 (2) แล้ว ย่อมมีผลให้ผู้คัดค้านไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของเจ้ามรดกที่จะพึงมีอํานาจร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกและขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 และ 1713 

การได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ จะอ้างสิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวมาบังคับเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งซื้อที่ดินมาโดยรู้ว่าเจ้าของที่ดินเดิมได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินไว้ ได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 7210/2560 เดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 38174 เป็นของ ม. โดย ม. ยินยอมให้จําเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นมีสถานะเป็นองค์การบริหารส่วนตําบลอรัญญิกดําเนินการก่อสร้างท่อประปารางระบายน้ำและสายไฟฟ้าในที่ดินพิพาท ต่อมา ม. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทเป็นมรดกได้แก่ บ. ซึ่งเป็นทายาท บ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์บอกกล่าวให้จําเลยที่ 1 รื้อถอนเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ตลอดจนท่อประปาและท่อระบายน้ำทิ้งที่จําเลยที่ 1 ก่อสร้างไว้ ออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จําเลยที่ 1 เพิกเฉย  คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอํานาจฟ้องขอให้บังคับจําเลยที่ 1 รื้อถอนเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ท่อประปาและท่อระบายน้ำทิ้งที่อยู่ในที่ดินพิพาทได้หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิทธิในการก่อสร้างและติดตั้งเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าตลอดจน วางท่อประปาและท่อระบายน้ำทิ้งของจําเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของผู้อื่นมีลักษณะเป็นสิทธิเหนือพื้นดินอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และเป็นทรัพยสิทธิที่ก่อตั้งขึ้นตามมาตรา 1298 และมาตรา 1410 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดย ม. เจ้าของที่ดินพิพาทในขณะนั้นเป็นผู้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินแก่จําเลยที่ 1 ตามบันทึกข้อความอันเป็นนิติกรรมการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิดังกล่าวของจําเลยที่ 1 ที่ไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัยมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีความหมายว่า สิทธิของผู้ทรงสิทธิไม่บริบูรณ์ในฐานะเป็นทรัพยสิทธิที่ตกติดไปกับตัวทรัพย์หรือที่ดินโดยผลของกฎหมายไม่ว่าผู้ใดจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องยอมรับสิทธิเหนือพื้นดินอันเป็นคุณแก่ผู้ทรงสิทธิที่มีอยู่เหนือที่ดินแปลงนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินของจําเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินของจําเลยที่ 1 จึงไม่บริบูรณ์ในฐานะเป็นทรัพยสิทธิ จําเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างสิทธิเหนือพื้นดินตามนิติกรรมที่ทําไว้กับ ม. เจ้าของที่ดินพิพาทเดิม ซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิมาบังคับเอาแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ไม่ว่าโจทก์จะซื้อที่ดิน พิพาทมาโดยรู้ว่าเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินไว้หรือไม่ นิติกรรมที่ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินแก่จําเลยที่ 1 ตามบันทึกข้อความย่อมไม่ผูกพันโจทก์ เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จําเลยที่ 1 รื้อถอนเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าตลอดจนท่อประปาและท่อระบายน้ำทิ้ง อันเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โดยชอบแล้ว จําเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงมีอํานาจฟ้องขับไล่ขอให้บังคับจําเลยที่ 1 รื้อถอน ทรัพย์ดังกล่าวออกไปจากที่ดินพิพาทได้ 

ลูกหนี้ตามคําพิพากษาสละมรดกโดยไม่มีทรัพย์สินอื่นที่เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา จะบังคับชําระหนี้ได้ เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาจะฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 10810/2559 ส. สละมรดกที่ดินให้แก่จําเลยที่ 2 โดยเสน่หา เมื่อ ส. สละมรดกในขณะที่เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคําพิพากษาโดย ส. ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับคดีได้ จึงเป็นการสละมรดกโดยรู้อยู่ว่าจะทําให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ กรณีมีเหตุเพิกถอนนิติกรรมสละมรดกที่ดินในส่วนของ ส. โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินระหว่าง ส. กับจําเลยที่ 2 อันหมายถึง ขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของ ส. โดยอ้างว่า ส. สละมรดกที่ดินโดยรู้อยู่ว่าการทําเช่นนั้นจะทําให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ การกระทําของ ส. จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย โดยมีจําเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง โจทก์จึงมีอํานาจฟ้องจําเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 

ภริยาปลอมลายมือชื่อผู้อื่นสั่งจ่ายเช็คไปเบิกเงินธนาคาร แล้วนำเงินที่ได้มาซื้อทรัพย์สินหรือฝากไว้ในธนาคารระบุชื่อสามีและภริยาเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยสามีไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำด้วย ดังนี้จะถือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 1137/2559  หนี้ที่จําเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นมูลหนี้ละเมิดที่จําเลยที่ 1 กระทําขึ้นแต่ฝ่ายเดียวเป็นการเฉพาะตัว โดยไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 2 ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทําละเมิดของจําเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และมูลหนี้ละเมิดไม่อาจให้สัตยาบันได้ ดังนั้น แม้จําเลยที่ 1 จะนําเงินที่ได้จากการทําละเมิดต่อโจทก์มาซื้อทรัพย์สินหรือฝากไว้ในธนาคารระบุชื่อจําเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของร่วมกัน ก็มิใช่หนี้ร่วมตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 จําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีจําเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมกับจําเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ 

ผู้รับจ้างหลอกลวงผู้ว่าจ้างว่า ธนาคารได้ออกหนังสือค้ำประกันมอบให้ร้านของผู้รับจ้างแล้ว เป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างหลงเชื่อ ตกลงทําสัญญาจ้างให้ทําความสะอาดอาคารโรงพยาบาลและผู้รับจ้างได้เข้าทําความสะอาดและรับเงินค่าจ้างทําความสะอาดงวดแรกไปแล้ว ต่อมาผู้ว่าจ้างตรวจพบว่าธนาคารไม่ได้ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่ร้านของผู้รับจ้างจึงบอกเลิกสัญญา ดังนี้ จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ และผู้ว่าจ้างจะเรียกเอาเงินค่าจ้างคืนจากผู้รับจ้าง ได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 6404/2560 ตามระเบียบการทําสัญญาจ้างทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. ผู้รับจ้างจะต้องมี หนังสือค้ำประกันของธนาคารมายื่นให้ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นการค้ำประกันในกรณีที่ผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ หรือต้องชําระค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ หรือผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใด ๆ ที่กําหนดในสัญญาจ้าง หากผู้รับจ้างคนใดไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาแสดง ก็ไม่อาจทําสัญญาจ้างผู้รับจ้างคนดังกล่าวได้ การที่จําเลยทั้งสองประสงค์จะให้ร้านของจําเลยทั้งสองได้รับงานจ้างทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. จึงหลอกลวงนําหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่ว่า ธนาคารยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้ เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชําระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโรงพยาบาล ช. ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่ร้านของจําเลยทั้งสองผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ หรือต้องชําระค่าปรับหรือ ค่าใช้จ่ายใด ๆ หรือร้านของจําเลยทั้งสองผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหนี้ใด ๆ ที่กําหนดในสัญญาจ้างมาแสดง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่จําเลยทั้งสอง การหลอกลวงดังกล่าวเป็นการกระทําเพื่อแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับร้านของจําเลยทั้งสอง เพราะหากร้านของจําเลยทั้งสองไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ผู้เสียหายย่อมไม่ทําสัญญาจ้างร้านของจําเลยทั้งสอง การหลอกลวงดังกล่าวจึงเป็นการกระทําโดยทุจริต และการหลอกลวงโดยทุจริตดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหาย หลงเชื่อตกลงทําสัญญาจ้างร้านของจําเลยทั้งสองทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดสิทธิแก่จําเลยทั้งสองในการที่จะเข้าทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. อันเป็นการหลอกลวงโดยทุจริตให้ผู้เสียหายเข้าทําสัญญาจ้างอันเป็นเอกสารสิทธิ เมื่อการหลอกลวงโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทําสัญญาจ้างร้านของจําเลยทั้งสอง ทําความสะอาดกับโรงพยาบาล ช. โรงพยาบาล ช. จึงให้สิทธิจําเลยทั้งสองเข้ารับงานอันเป็นผลให้จําเลยทั้งสองมีโอกาสเข้าทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. และได้ทรัพย์สินเป็นเงินค่าจ้างจากการทํางาน 108,000 บาท จึงถือได้ว่าจําเลยทั้งสองกระทําความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าภายหลังทําสัญญาจําเลยทั้งสองเข้าทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. จริง โรงพยาบาล ช. จึงตรวจรับงานและอนุมัติค่าจ้างงวดแรกให้แก่ร้านของจําเลยทั้งสอง 108,000 บาท แต่การเข้าทํางานดังกล่าวก็เนื่องมาจากจําเลยทั้งสองโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายจนผู้เสียหายหลงเชื่อทําสัญญาจ้างร้านของจําเลยทั้งสองทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. ดังนั้น การที่จําเลยทั้งสองเข้าทําความสะอาดโรงพยาบาล ช. จริงก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทําความผิดอาญาของจําเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นแล้วกลับกลายไม่เป็น ความผิด การกระทําของจําเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้องแล้ว จําเลยทั้งสองโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายว่า ธนาคาร ก. ได้ออกหนังสือค้ำประกันให้ร้านของจําเลยทั้งสอง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกัน ดังกล่าวให้แก่ร้านของจําเลยทั้งสองโดยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทําสัญญาจ้างร้านของจําเลยทั้งสองให้ทําความสะอาดอาคารโรงพยาบาล ช. หากจําเลยทั้งสองไม่มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ผู้เสียหายจะไม่เข้าทําสัญญาจ้างกับจําเลยทั้งสอง กรณีจึงถือได้ว่านิติกรรมสัญญาจ้างระหว่างผู้เสียหายกับจําเลยทั้งสองเกิดจากกลฉ้อฉลถึงขนาดสัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง เมื่อผู้เสียหายบอกเลิกสัญญาอันเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ทําให้สัญญาจ้างตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันทําสัญญา ผู้เสียหายและจําเลยทั้งสองจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แม้การที่จะให้จําเลยทั้งสองคืนเงินค่าจ้างทําความสะอาดแก่ผู้เสียหายไม่เป็นการพ้นวิสัย แต่การงานที่จําเลยทั้งสองทําให้ผู้เสียหายไปแล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้เสียหายและผู้เสียหายยอมรับเอาการงานของจําเลยทั้งสองแล้ว ตามหนังสือขออนุมัติเบิกจ่ายเงินผู้เสียหายก็ต้องกลับคืนไปยังฐานะเดิมด้วยเช่นกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อการที่จะให้การงานที่ทําไปแล้วกลับคืนยังฐานะเดิมเป็นการพ้นวิสัย ผู้เสียหายจึงต้องใช้ค่าเสียหายที่สมควรแก่หน้าที่การงานให้จําเลยทั้งสอง โดยถือว่าค่าจ้างตามฟ้องที่จําเลยทั้งสองได้รับไปแล้วเป็นค่าเสียหายจํานวนนั้น ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวคืนจากจําเลยทั้งสองอีก 

บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 466 คู่สัญญา จะตกลงยกเว้นไม่ให้นํามาใช้บังคับว่า ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จะไม่ยกเรื่องเนื้อที่น้อยหรือมากกว่าที่ระบุในสัญญาตั้งแต่ร้อยละห้าขึ้นไปเป็นข้ออ้างบอกปัดไม่ยอมรับได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 7983/2561 บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 466 หมายความว่า หากเนื้อที่อสังหาริมทรัพย์น้อยหรือมากกว่าที่ระบุในสัญญาไม่เกินร้อยละห้า ของเนื้อที่ทั้งหมดที่ระบุในสัญญา ผู้ซื้อจะต้องรับไว้แล้วใช้ราคาตามส่วนเว้นแต่ผู้ซื้อจะแสดง ให้เห็นว่าถ้าตนทราบก่อนแล้วคงมิได้เข้าทําสัญญานั้น แต่หากเนื้อที่น้อยหรือมากกว่าที่ระบุในสัญญาตั้งแต่ร้อยละห้า กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ซื้อว่าบอกปัดไม่ยอมรับหรือจะยอมรับไว้และใช้ ราคาตามส่วนตามแต่จะเลือก แม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 466 จะไม่ใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งคู่สัญญาสามารถตกลง ยกเว้นไม่ให้นํา ป.พ.พ. มาตรา 466 มาใช้บังคับได้ก็ตาม แต่คู่สัญญาก็ต้องแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งและระบุไว้ในสัญญา  

สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาททั้งสิบระหว่างโจทก์กับจําเลยระบุว่า ในกรณีที่อาคารชุดยังดําเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ปรากฏว่ามีเนื้อที่ห้องชุดเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากจํานวนที่ระบุในสัญญา คู่สัญญาตกลงคิดราคาห้องชุดตามส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในราคาต่อหน่วยตามที่กําหนดในข้อ 3.1 และให้นําราคาห้องชุดส่วนที่ เพิ่มขึ้นหรือลดลงไปเพิ่มหรือลดลงจากราคาห้องชุดตามข้อ 3.1 และจํานวนเงินที่ต้องชําระตาม ข้อ 4.2 ตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นการระบุไว้เป็นการทั่วไป ไม่ได้ยกเว้นบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 466 ไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ซื้อจะไม่ยกเรื่องเนื้อที่น้อยหรือมากกว่าที่ระบุ ในสัญญาตั้งแต่ร้อยละห้าขึ้นไปเป็นข้ออ้างบอกปัดไม่ยอมรับ ไม่ถือว่าข้อตกลงดังกล่าว ยกเว้นไม่ให้นํา ป.พ.พ. มาตรา 466 มาใช้บังคับ กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 466 ดังนั้น เมื่อเนื้อที่ห้องชุดพิพาททั้งสิบมีเนื้อที่มากไปกว่าที่ระบุในสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิ ที่จะเลือกว่าจะบอกปัดไม่รับเสียหรือจะรับเอาไว้ และใช้ราคาตามส่วนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคหนึ่ง ซึ่งการที่โจทก์จะใช้สิทธิในทางใดย่อมเป็นไปตามอําเภอใจของโจทก์และเป็นธรรมดาอยู่เองที่โจทก์จะเลือกในทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่โจทก์ ซึ่งไม่มี บทกฎหมายใดห้ามมิให้โจทก์กระทําเช่นนั้น ดังนั้น ที่โจทก์ซื้อห้องชุดจากจําเลย 33 ห้อง โจทก์รับโอนไปแล้ว 14 ห้อง และขายให้ผู้อื่นไปแล้ว ซึ่งทุกห้องก็มีเนื้อที่มากกว่าที่ระบุใน สัญญา เหตุที่โจทก์ไม่ยอมรับโอนห้องชุดพิพาทเพราะโจทก์ยังขายห้องชุดพิพาทให้ผู้อื่นไม่ได้นั้น ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์จะบอกปัดไม่รับห้องชุดพิพาทไม่ได้ และไม่ถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต