คลังเก็บป้ายกำกับ: วิแพ่ง

[ป.วิ.แพ่ง ภาค 2] คดีแพ่ง โจทก์มีสิทธิขอถอนฟ้องในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 175 วางหลักว่า ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์อาจถอนคำฟ้องได้โดยยื่นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล
ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่
(1) ห้ามไม่ให้ศาลให้อนุญาต โดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมี ก่อน
(2) ในกรณีที่โจทก์ถอนคำฟ้อง เนื่องจากมีข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความกับจำเลย ให้ศาลอนุญาตไปตามคำขอนั้น

การถอนฟ้องนั้น แม้กฎหมายมิได้บัญญัติว่าโจทก์จะขอถอนคำฟ้องได้ถึงเมื่อใด ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์ต้องขอถอนฟ้องระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา

คำพิพากษาฎีกาที่ 3996/2561 ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องได้เฉพาะก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเท่านั้น จะขอถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วไม่ได้ หากมีการตกลงกันได้ระหว่างคู่ความก็ชอบที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในชั้นฎีกา โดยจะทำที่ศาลชั้นต้นหรือศาลฎีกาก็ได้ กรณีจึงไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 6 ได้ตามคำร้องของโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 6 และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาฎีกาที่ 7887/2542 คำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ชอบที่ยื่นต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในเวลาใดก็ได้ก่อนศาลนั้นพิพากษา การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4 เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พิพากษาคดีไปแล้วย่อมเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ 

ข้อสังเกต ถ้าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีก็กลับเข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นอีกครั้งหนึ่ง โจทก์จึงขอถอนคำฟ้องได้ โดยอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะมีอำนาจสั่งคำร้องดังกล่าว

คำพิพากษาฎีกาที่ 5623/2548 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยทั้งสองต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้จำเลยทั้งสองจะยื่นฎีกาอยู่ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมผูกพันคู่ความอยู่จนกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ดังนี้ ต้องถือว่า คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นที่จะต้องสืบพยานจำเลยต่อไป ดังนั้น โจทก์ย่อมขอถอนฟ้องได้ และศาลชั้นต้นชอบที่จะมีอำนาจสั่ง เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยจำเลยทั้งสองไม่คัดค้านแล้ว การถอนฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีต่อมาภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องเลย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ดังนั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงต้องถูกลบล้างไปด้วยผลของการถอนฟ้อง ไม่อาจที่จะนำฎีกาของจำเลยทั้งสองมาพิจารณาได้อีกต่อไป

[ป.วิ.แพ่ง ภาค 2] ในคดีแพ่ง โจทก์คนเดียวกันฟ้องจำเลยคนเดียวกันไว้หลายคดี โดยคำฟ้องมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นอย่างเดียวกัน แต่มีคำขอท้ายฟ้องแตกต่างกัน หากคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใดศาลหนึ่ง คำฟ้องคดีหลังจะเป็นฟ้องซ้อนหรือไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 173 วรรคสอง (1) วางหลักว่า เมื่อศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดี และภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง ให้โจทก์ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายนั้น นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่น

หลักเกณฑ์เรื่องฟ้องซ้อน
1. คดีก่อนได้มีการยื่นฟ้องคดีไว้แล้ว
2. ขณะยื่นฟ้องคดีใหม่ คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใดศาลหนึ่ง
3. ห้ามโจทก์คนเดิมฟ้องจําเลยคนเดิม
4. ห้ามฟ้องคดีใหม่ทุกรูปแบบ
5.ไม่ว่าจะต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่น
6. ห้ามฟ้องในเรื่องเดียวกัน

การที่โจทก์คนเดียวกันฟ้องจำเลยคนเดียวกันไว้หลายคดี โดยในคำฟ้องมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นอย่างเดียวกัน แม้จะมีคำขอท้ายคำฟ้องแตกต่างกัน ก็ต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรื่องเดียวกัน และเป็นคำขอที่สามารถขอได้ในคดีก่อนอยู่แล้ว หากคดีก่อนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลใดศาลหนึ่ง คำฟ้องคดีหลังย่อมเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ถึงแม้ว่า ความเสียหายที่เรียกร้องมาในคดีใหม่จะเพิ่งปรากฏขึ้นภายหลังฟ้องคดีก่อนก็ตาม โจทก์ก็สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมในคดีก่อนได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ในป.วิ.แพ่ง มาตรา 179, 180, 181

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2222/2562 คดีสองสำนวนก่อนกับคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายฉบับเดียวกันในคราวเดียวกัน จึงมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นเดียวกัน แม้คดีนี้จะมีคำขอที่แตกต่างกันไปโดยอ้างข้อตกลงในสัญญาตัวแทนจำหน่ายว่าภายหลังเลิกสัญญากันแล้ว จำเลยมีหน้าที่รับคืนสินค้าแต่จำเลยไม่รับคืน ทำให้โจทก์เสียหาย ก็เป็นคำขอที่สามารถขอได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว เพราะการเรียกค่าเสียหายเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุที่จำเลยเลิกสัญญาฉบับเดียวกัน และจำเลยมีหนังสือแจ้งการไม่ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายไปยังโจทก์ พร้อมกับแจ้งสิทธิหน้าที่ตามสัญญาตัวแทนจำหน่ายให้โจทก์ส่งมอบสินค้าในคลังสินค้าคืนแก่จำเลยตามราคาที่สั่งซื้อไปถึงสองครั้งแต่โจทก์เพิกเฉยและกลับไปฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นสองคดีก่อน แสดงได้ชัดเจนว่ามีข้อโต้แย้งเรื่องคืนสินค้ากันก่อนฟ้องสองคดีก่อน และค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกในคดีนี้สามารถเรียกได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว หรือหากมีความเสียหายเพิ่งปรากฏภายหลังฟ้องสองคดีก่อน โจทก์ก็สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเรียกค่าเสียหายในสองคดีก่อนได้ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันใหม่เป็นคดีนี้ ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

เจ้าพนักงานศาลวางหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ที่โต๊ะของเจ้าหน้าที่รปภ.บริเวณชั้นล่างของอาคารที่จำเลยมีสำนักงานอยู่ ถือว่าปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 27  วรรคหนึ่ง วางหลักว่า ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน และการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ศาลเห็นสมควร

มาตรา 79 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า  ถ้าการส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นไม่สามารถจะทำได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน ศาลอาจสั่งให้ส่งโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือปิดคำคู่ความหรือเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของคู่ความหรือบุคคลผู้มีชื่อระบุไว้ในคำคู่ความหรือเอกสาร หรือมอบหมายคำคู่ความหรือเอกสารไว้แก่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในท้องถิ่นหรือเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วปิดประกาศแสดงการที่ได้มอบหมายดังกล่าวแล้วนั้นไว้ดังกล่าวมาข้างต้น หรือลงโฆษณาหรือทำวิธีอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควร

หลักเกณฑ์ การปิดคำคู่ความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79
1. การส่งคำคู่ความไม่สามารถทำได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน
2. ศาลอาจสั่งให้ส่งโดยวิธีปิดคำคู่ความหรือเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย
3. วิธีปิดคำคู่ความ
3.1 ปิดคำคู่ความไว้ที่
-ภูมิลำเนาของคู่ความหรือบุคคลผู้มีชื่อระบุไว้ในคำคู่ความหรือเอกสาร หรือ
-สำนักทำการงานของคู่ความหรือบุคคลผู้มีชื่อระบุไว้ในคำคู่ความหรือเอกสาร หรือ
3.2 มอบหมายคำคู่ความหรือเอกสารไว้แก่
-เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในท้องถิ่นหรือ
-เจ้าพนักงานตำรวจ

การที่เจ้าพนักงานศาลผู้ส่งคำคู่ความโดยการปิดหมาย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 ทำการวางหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ที่โต๊ะของเจ้าหน้าที่รปภ.บริเวณชั้นล่างของอาคารที่จำเลยมีสำนักงานอยู่นั้น มิใช่การปิดหมายไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย การกระทำการดังกล่าวของเจ้าพนักงานศาลจึงไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2562 การปิดหมาย เจ้าพนักงานศาลผู้ส่งต้องปิดหมายไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย การที่ผู้ส่งหมายเพียงแต่วางหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ที่โต๊ะของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณชั้นล่างของอาคารที่จำเลยมีสำนักงานอยู่ที่ชั้น 5 จึงไม่ชอบ กระบวนพิจารณาตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและภายหลังแต่นั้นมาย่อมไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่

คู่ความในคดีเดิมตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้และศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว บุคคลภายนอกร้องสอดเข้ามาในคดีตามป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (1) ได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 57 วางหลักว่า บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด
(1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8385/2561 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 14 ไร่ 35 ตารางวา ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้าน

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและฟ้องแย้งว่าผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกคำร้องและพิพากษาให้ผู้ร้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของผู้คัดค้าน

ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้ายื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามอ้างว่าผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ที่ดินมีเนื้อที่เพียง 2 งานเศษ ส่วนที่เหลือผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าและชาวบ้านร่วมกันเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้พิพากษาให้ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้ากล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่เกินเนื้อที่ 2 งานเศษ ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์เป็นที่ดินที่ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ จึงมีข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านและเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าโต้แย้งกรรมสิทธิ์ทั้งกับผู้ร้องและผู้คัดค้านในที่ดินส่วนดังกล่าว ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท จำเป็นต้องเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตน ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าจึงร้องสอดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)

แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยผู้ร้องตกลงรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมทั้งบริวารออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องยอมออกจากที่ดินพิพาทแล้ว และศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอม หากศาลฎีกาจะมีคำสั่งย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าเข้ามาเป็นคู่ความในคดีแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ทั้งหมดก็จะทำให้คดีต้องล่าช้าไม่เป็นประโยชน์แก่คู่กรณี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรให้ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าไปฟ้องเป็นคดีใหม่

จำเลยให้การว่าจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืนที่ดินคืน เเละฟ้องเเย้งว่าหากจำเลยจะต้องส่งคืนที่ดินพิพาทตามฟ้องเเก่โจทก์ ขอให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินเเละค่าสินไหมทดแทนในกรณีผิดสัญญาเเก่จำเลยนั้น ฟ้องเเย้งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความเเพ่ง
มาตรา 177 วรรคสาม วางหลักว่า จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก
มาตรา 179 วรรคท้าย วางหลักว่า แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคำฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้

การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืนที่ดินจากจำเลยเเละเรียกให้จำเลยชดใช้ราคาที่ดิน เเละฟ้องเเย้งขอให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินและค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุผิดสัญญาหากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ปฏิเสธการคืนโฉนดที่ดินไม่เป็นผล ฟ้องเเย้งของจำเลยย่อมเป็นฟ้องเเย้งที่มีคำขอบังคับหากศาลมีคำพิพากษาในทางใดทางหนึ่ง จึงเป็นฟ้องเเย้งที่มีเงื่อนไขให้ศาลต้องพิจารณาเมื่อข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยรับฟังไม่ได้ ฟ้องเเย้งนั้นจึงเป็นฟ้องเเย้งที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสามประกอบมาตรา 179 วรรคท้าย ศาลไม่อาจรับฟัองเเย้งดังกล่าวไว้พิจารณาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7985-7986/2561 จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยมีสิทธิในที่ดินและโฉนดที่ดินที่พิพาท โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืนที่ดินและโฉนดที่ดินที่พิพาทและเรียกให้จำเลยชดใช้ราคาที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง และยังฟ้องแย้งด้วยว่า ไม่ว่าด้วยเหตุผลหรือด้วยข้อกฎหมายในกรณีใดก็ตามที่จำเลยจะต้องส่งคืนโฉนดที่ดินที่พิพาทตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่จำเลยได้ชำระโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนเป็นค่าที่ดินคืนให้แก่จำเลย พร้อมค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ทั้งสองผิดสัญญา อันแสดงเจตนาของจำเลยได้ว่า จำเลยขอฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินค่าที่ดินและค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุผิดสัญญาหากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ปฏิเสธการคืนโฉนดที่ดินไม่เป็นผล ซึ่งเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขให้ศาลต้องพิจารณาต่อเมื่อข้อต่อสู้ตามคำให้การรับฟังไม่ได้แล้ว จึงไม่ชอบที่จะรับฟ้องแย้งไว้พิจารณาไปพร้อมกับฟ้องโจทก์ทั้งสอง แม้ศาลชั้นต้นจะรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้ ก็เป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)

ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องเเล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องจึงพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำฟ้องไม่มีลายมือชื่อผู้เรียงเเละผู้เขียนหรือพิมพ์ จึงพิพากษายืน โจทก์จะฎีกาได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 220
วางหลักว่า ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์

หลักเกณฑ์ของมาตรา 220
1.ศาลชั้นต้นยกฟ้อง (ในความผิดฐานใด) เเละ
2.ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง (ในความผิดฐานเดียวกัน)
3.ห้ามคู่ความฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงเเละข้อกฎหมาย

การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องเเล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำฟ้องไม่มีลายมือผู้เรียนเเละผู้เขียนหรือพิมพ์ เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 158 (7) จึงพิพากษายกฟ้องยืนตามศาลชั้นต้น ย่อมเป็นกรณีที่มีการศาลชั้นต้นเเละศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองศาล เเม้ว่าจะเป็นการพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุต่างกันก็ตาม ก็ห้ามมิให้คู่ความฎีกาทั้งในปัญหาข้อกฎหมายเเละข้อเท็จจริงตามป.วิ.อาญา มาตรา 220 ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจฎีกาได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2785/2561 ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องพิพากษาให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า ฟ้องโจทก์มีเพียงลายมือชื่อโจทก์ไม่ปรากฏลายมือชื่อผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) และล่วงเลยเวลาที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องตามมาตรา 161 วรรคหนึ่งเพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้ว เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและล่วงเลยเวลาที่จะสั่งแก้ไขจึงไม่อาจพิจารณาและลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ พิพากษายืน ผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง โจทก์จึงฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามมาตรา 220

คดีก่อนศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เนื่องจากผู้ร้องไม่สืบหาทรัพย์สินของจำเลย หากคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เดิม โดยอ้างพยานหลักฐานต่างๆที่มีมาตั้งแต่ก่อนยื่นคำร้องครั้งแรก เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 144 
เมื่อศาลใดมีคำพิพากษา หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น…

หลักเกณฑ์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
1. คู่ความทั้งสองคดีเป็นคู่ความเดียวกัน
2. ประเด็นทั้งสองคดีเป็นประเด็นเดียวกัน
3. มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดอีกคดีหนึ่งแล้ว

คดีนี้กับคดีก่อนมีคู่ความเดียวกัน คือ ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 และมีประเด็นเดียวกันคือมีการขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 โดยคดีเดิมศาลชั้นตั้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์แล้ว ดังนี้ คดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 476/2562 คดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องเนื่องจากผู้ร้องไม่ขวนขวายสืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องเพื่อขอเฉลี่ยทรัพย์เดิม โดยพยานหลักฐานที่ผู้ร้องอ้างประกอบการยื่นคำขอ ทั้งการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือตรวจสอบบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 และทรัพย์สินที่ผู้ร้องอ้างว่าถูกเจ้าหนี้อื่นยึดไปก็ล้วนเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีมาตั้งแต่ก่อนผู้ร้องยื่นคำร้องครั้งแรก การตรวจสอบหาทรัพย์สินเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ร้องสามารถกระทำได้ตั้งแต่ต้นแต่ไม่ดำเนินการเอง การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้อีกจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13087/2555 ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ฉบับแรกมาแล้ว แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเพราะผู้ร้องมิได้นำสืบให้ได้ความว่า จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องจะบังคับเอาชำระหนี้ได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องแล้ว การที่ผู้ร้องมายื่นขอคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นฉบับที่สองอีก โดยมีผลการสืบทรัพย์เพิ่มเติมซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสืบทรัพย์เดิมมิใช่ข้อเท็จจริงใหม่ และผู้ร้องสามารถนำมาประกอบในการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ฉบับแรกได้อยู่แล้ว เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการสืบทรัพย์ประกอบข้ออ้างตามคำร้องเท่านั้น แต่ยังคงมีข้ออ้างและคำขอเช่นเดียวกับคำขอเฉลี่ยทรัพย์ฉบับแรกซึ่งมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเดียวกันว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องจะบังคับเอาชำระหนี้ได้หรือไม่ กรณีจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดมาแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง แม้จะเป็นขั้นตอนชั้นบังคับคดีก็ตาม

ในคดีแพ่ง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องโจทก์ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแต่อย่างใด จะถือว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ด้วยหรือไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 59 วางหลักว่า บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่วามในคดีเดียวกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้                               
(1) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย

เมื่อโจทก์ฟ้องโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์และต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีและมูลความแห่งคดีนั้นจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ยื่นคำให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ จึงถือว่าการยื่นคำให้การดังกล่าวได้กระทำโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วย ศาลจึงสามารถพิพากษายกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่มิได้ยื่นคำให้การต่อสู้เรื่องอายุความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1191/2560 ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ มูลความแห่งคดีจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1)

โจทก์ฟ้องจำเลยโดยมีคำขอบังคับให้โจทก์มีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวและให้จำเลยส่งมอบบุตรผู้เยาว์คืนโจทก์ ระหว่างพิจารณามีการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรม ผลคือจำเลยมิได้เป็นบิดา หากจำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยเคยจ่ายไป จะทำได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  
                                               
มาตรา 177 วรรคสาม วางหลักว่า จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก

มาตรา 179 วรรคท้าย วางหลักว่า แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคำฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้

โดยหลักแล้ว ฟ้องแย้งต้องเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม พอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ศาลจึงจะรับฟ้องแย้งไว้พิจารณา เมื่อจำเลยฟ้องแย้งโดยอาศัยเมื่อผลตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ในระหว่างพิจารณาคดี จึงเป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จำเลยจึงฟ้องแย้งในคดีนี้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2560 โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอบังคับให้โจทก์มีอำนาจปกครองเด็กหญิง จ. แต่เพียงผู้เดียวพร้อมทั้งให้จำเลยส่งมอบบุตรผู้เยาว์คืนโจทก์ โดยเป็นการเรียกบุตรคืนโดยอาศัยอำนาจปกครองบุตรตามที่โจทก์กับจำเลยทำบันทึกไว้ท้ายทะเบียนหย่า จำเลยฟ้องแย้งโดยขอให้ชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยต้องจ่ายไป ทั้งนี้หลังจากที่มีการทราบผลการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมว่าจำเลยไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเป็นบิดาของเด็กหญิง จ. ฟ้องแย้งในส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นฟ้องแย้งที่อาศัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ในระหว่างพิจารณาคดีโดยเป็นการบังคับแก่โจทก์ให้ชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคนละเรื่องกับคำฟ้องของโจทก์ซึ่งไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

ผู้จัดการมรดกมีอำนาจฟ้องทายาทที่ครอบครองที่ดินมรดกให้ส่งมอบที่ดินกลับเข้าสู่กองมรดก ได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ

การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดก ถือว่าทายาทคนนั้นเป็นเจ้าของรวมมีสิทธิใช้ทรัพย์สินนั้นได้ ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้ทายาทส่งมอบหรือให้ออกไปจากที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 423/2562 คำฟ้องของโจทก์อ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งไม่ได้ทำพินัยกรรมยกให้ผู้ใด แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายย่อมมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทและมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินมีสิทธิใช้ทรัพย์สินในฐานะเจ้าของรวมและการอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยต่อมาหลักจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะอยู่ได้ในฐานะที่เป็นทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายและในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง ซึ่งเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 เมื่อยังไม่มีการแบ่งการครอบครองเป็นสัดส่วน โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยส่งมอบหรือออกไปจากที่ดินพิพาท

อ่านเพิ่มเติม