คลังเก็บป้ายกำกับ: มรดก

การบรรยายเนติฯ กลุ่มแพ่งและพาณิชย์ วิชามรดก ข้อ 8 ครั้งแรก ท่านอาจารย์กีรติ กาญจนรินทร์ ได้พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้

.

เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยผลของกฎหมาย กล่าวคือบุคคลนั้นศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 หากบุคคลนั้นมีคู่สมรส โดยหลักแล้วการสมรสระหว่างบุคคลนั้นกับคู่สมรสยังไม่สิ้นสุดลง แต่เป็นเพียงเหตุหย่า ตามป.พ.พ. มาตรา 1516(5) เท่านั้น ดังนั้น เมื่อการสมรสยังไม่สิ้นสุดลง หากคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ทรัพย์สินใดๆมาภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนสาบสูญ ทรัพย์สินนั้นจะเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ??

.

กรณีนี้ไม่มีกฎหมายบทบัญญัติไว้โดยชัดเจน จึงต้องนำ มาตรา 1492 ป.พ.พ. มาปรับใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ดังนั้นทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนสาบสูญแล้ว จึงต้องถือว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่

.

ป.พ.พ. มาตรา 1492 วรรคหนึ่ง เมื่อได้แยกสินสมรสตามมาตรา 1484 วรรคสอง มาตรา 1491 หรือมาตรา 1598/17 วรรคสอง แล้ว ให้ส่วนที่แยกออกตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยา และบรรดาทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาในภายหลังไม่ให้ถือเป็นสินสมรส แต่ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น และสินสมรสที่คู่สมรสได้มาโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือตามมาตรา 1474 (2) ในภายหลัง ให้ตกเป็นสินส่วนตัวของสามีและภริยาฝ่ายละครึ่ง

.

วรรคสอง ดอกผลของสินส่วนตัวที่ได้มาหลังจากที่ได้แยกสินสมรสแล้วให้เป็นสินส่วนตัว

.

มาตรา 4 วรรคหนึ่ง กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ

.

วรรคสอง เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

การตัดมิให้รับมรดก การถอนการแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดก มีหลักเกณฑ์ อย่างใด หนังสือตัดมิให้รับมรดกมีข้อความว่า มีการถอนการตัดมิให้รับมรดกแต่ไม่มีลายมือชื่อ ของเจ้ามรดก จะถือว่ามีการถอนการตัดมิให้รับมรดกแล้วหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 6284/2562 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้เจ้ามรดกมีสิทธิแสดงเจตนาตัดทายาทโดยธรรมของตนไม่ให้รับมรดกได้โดยการแสดงเจตนาตามแบบที่กําหนดไว้ในมาตรา 1608 คือ ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง (1) โดยพินัยกรรม (2) โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่และมาตรา 1609 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกนั้น จะถอนเสียก็ได้” โดยการแสดงเจตนาตามแบบที่กําหนดไว้ในมาตรา 1609 วรรคสอง คือ ถ้าการตัดมิให้รับมรดกนั้นได้ทําโดยพินัยกรรม จะถอนเสียได้ก็แต่โดยพินัยกรรมเท่านั้น แต่ถ้าการตัดมิให้รับมรดกได้ทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การถอนจะทําตามแบบใดแบบหนึ่งดังบัญญัติไว้ในมาตรา 1608 (1) หรือ (2) ก็ได้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่กําหนดแบบของการแสดงเจตนาตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกและแบบของการถอนการแสดงเจตนาดังกล่าว เจ้ามรดกได้แสดงเจตนาตัดมิให้ ท. รับมรดกไว้ตามหนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก ซึ่งมีการจัดทําเป็นไปตามแบบของการตัดมิให้รับมรดกโดยทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 1608 (2) แล้ว หากเจ้ามรดกประสงค์จะถอนการแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกก็ต้องทําให้ถูกต้องตามแบบที่มาตรา 1609 วรรคสอง กําหนดไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ปรากฏว่าเจ้ามรดกไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้และไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกได้แสดงเจตนา ถอนการตัดมิให้รับมรดกไว้เป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด คงมีเพียงข้อความที่ระบุเพิ่มเติมไว้ที่ด้านซ้ายของหนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกว่ามีการถอนการตัดมิให้ ท. รับมรดกแล้วซึ่งมีเพียงลายมือชื่อของ ป. แต่ไม่มีลายมือชื่อของเจ้ามรดก จึงไม่อาจถือว่าเป็นการแสดงเจตนาของเจ้ามรดก เมื่อ ท. ถูกตัดมิให้รับมรดกจึงไม่เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก โดยผลแห่งหนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 (2) แล้ว ย่อมมีผลให้ผู้คัดค้านไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของเจ้ามรดกที่จะพึงมีอํานาจร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกและขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 และ 1713 

ลูกหนี้ตามคําพิพากษาสละมรดกโดยไม่มีทรัพย์สินอื่นที่เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา จะบังคับชําระหนี้ได้ เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาจะฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 10810/2559 ส. สละมรดกที่ดินให้แก่จําเลยที่ 2 โดยเสน่หา เมื่อ ส. สละมรดกในขณะที่เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคําพิพากษาโดย ส. ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับคดีได้ จึงเป็นการสละมรดกโดยรู้อยู่ว่าจะทําให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ กรณีมีเหตุเพิกถอนนิติกรรมสละมรดกที่ดินในส่วนของ ส. โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินระหว่าง ส. กับจําเลยที่ 2 อันหมายถึง ขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของ ส. โดยอ้างว่า ส. สละมรดกที่ดินโดยรู้อยู่ว่าการทําเช่นนั้นจะทําให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ การกระทําของ ส. จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย โดยมีจําเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง โจทก์จึงมีอํานาจฟ้องจําเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 

ผู้มีชื่อรับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมซึ่งมีฐานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกด้วย ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมจะมีผลต่อพินัยกรรมหรือไม่ และจะมีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมหรือไม่อย่างไร

คําพิพากษาฎีกาที่ 2326/2562 จําเลยที่ 2 ผู้มีชื่อรับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม เป็นพินัยกรรมที่ทําขึ้นขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653 วรรคหนึ่ง มีผลทําให้ข้อกําหนดในพินัยกรรมที่ ถ. ยกที่ดินพิพาทเนื้อที่ 10 ไร่ ให้แก่จําเลยที่ 2 เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 จําเลยที่ 2 ในฐานะทายาท ผู้รับพินัยกรรมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท มีผลให้ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรม ที่ตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ถ. เจ้ามรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1699  แม้ข้อกําหนดในพินัยกรรมที่ระบุให้จําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมเป็นผู้มีชื่อ รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1705 จําเลยที่ 2 ยังมีฐานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ของ ถ. เจ้ามรดกอีกสถานะหนึ่งเหมือนเช่นโจทก์ทั้งสอง จําเลยที่ 2 จึงเป็นทายาทโดยธรรม ของ ถ. ทั้งไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 2 เสียสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมตามกฎหมายโจทก์ทั้งสอง จะอ้างสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกจากจําเลยที่ 2 ผู้เป็นทายาทที่มี สิทธิในทรัพย์มรดกอีกคนหนึ่งไม่ได้ เพราะจําเลยที่ 2 ไม่ใช่บุคคลภายนอกที่โจทก์ทั้งสองจะอ้างสิทธิติดตามเอาคืนได้เสมอโดยไม่มีอายุความฟ้องร้อง  โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จําเลยทั้งสามไปดําเนินการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอน สิทธิครอบครองที่ดิน (น.ส.3) ให้กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของ ถ. โดยอ้างความเป็นทายาท ที่มีสิทธิในทรัพย์พิพาทและได้รับความเสียหายเพราะไม่ได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกตามสิทธิ ที่โจทก์ทั้งสองและทายาทอื่นจึงได้รับตามกฎหมาย ดังนี้เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องให้ที่ดินพิพาท กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของ ถ. เพื่อแบ่งปันแก่ทายาทตามสิทธิ เมื่อโจทก์ทั้งสอง และจําเลยที่ 2 ต่างเป็นทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดก ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็น คดีมรดก จําเลยที่ 2 มีสิทธิยกอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้ 

ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายไปก่อนลูกหนี้ผิดนัด สิทธิหน้าที่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทของผู้ค้ำประกันหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่5763/2562 

จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินยืม 40,000 บาท ไปจากโจทก์แล้วในวันทำสัญญา หนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 และ ส. ผู้ค้ำประกัน ย่อมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้นตามมาตรา 680  วรรคหนึ่ง ผู้ค้ำประกันหาได้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อเจ้าหนี้โดยอาศัยความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่างซึ่งต้องกระทำเป็นการเฉพาะตัวไม่ จึงถือได้ว่าเป็นความผูกพันต่อเจ้าหนี้ในทางทรัพย์สินเท่านั้น ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปตามมาตรา 698 แม้ภายหลังทำสัญญาค้ำประกันจะได้ความว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างไม่ถือเอากำหนดเวลาในการชำระหนี้ตามสัญญาเป็นข้อสำคัญอีกต่อไป อันมีความหมายว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดในเวลาต่อมาและโจทก์บอกเลิกสัญญา ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากวันที่ ส. ถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อหนี้กู้ยืมดังกล่าวยังคงมีอยู่อย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ก่อนวันที่ ส. จะถึงแก่ความตาย และสัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของ ส. ไม่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ ส. ทำกับโจทก์จึงเป็นกองมรดกของผู้ตายและตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600 โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. เพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนที่มีและได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของ ส. ตามมาตรา 1734 และมาตรา 1737 

ผู้มีชื่อรับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม หากพยานมีฐานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกอีกสถานะหนึ่งจะมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมด้วยหรือไม่ และทายาทโดยธรรมอื่นจะฟ้องเรียกทรัพย์ตามพินัยกรรมคืนเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทตามสิทธิ จะต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่2326/2562 

จำเลยที่ 2 ผู้มีชื่อรับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม จึงเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 วรรคหนึ่ง มีผลทำให้ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ ถ. ยกที่ดินพิพาทเนื้อที่ 10 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรมจึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรมที่ตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ถ. เจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1620 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1699 เมื่อจำเลยที่ 2  ยังมีฐานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ถ. เจ้ามรดกอีกสถานะหนึ่งเหมือนเช่นโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 จึงเป็นทายาทโดยธรรมของ ถ. ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เสียสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมตามกฎหมายแต่อย่างใด ดังนี้โจทก์ทั้งสองจะอ้างสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2ผู้เป็นทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกอีกคนหนึ่งไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ใช่บุคคลภายนอกที่โจทก์ทั้งสองจะสิทธิติดตามเอาคืนได้เสมอโดยไม่มีอายุความฟ้องร้อง เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามไปดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนสิทธิครอบครองที่ดิน (น.ส. 3) เนื้อที่ 10 ไร่ ให้กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของ ถ. โดยอ้างความเป็นทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์พิพาทและได้รับความเสียหายเพราะไม่ได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกตามสิทธิที่โจทก์ทั้งสองและทายาทอื่นพึงได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของ ถ. เพื่อแบ่งปันแก่ทายาทตามสิทธิ เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองต่างเป็นทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดก ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคดีมรดก โจทก์ทั้งสองต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ถ. เจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ถ. ถึงแก่ความตายปี 2551 หลังจากนั้นประมาณปี 2553 หรือปี 2554โจทก์ที่ 1 จึงไปตรวจสอบทรัพย์มรดกจากสำนักงานที่ดินแต่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อได้รู้ หรือความได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นอันขาดอายุความ 

ลูกหนี้ตามคำพิพากษาสละมรดกโดยไม่มีทรัพย์สินอื่นที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 10810/2559 ส.สละมรดกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เมื่อ ส.สละมรดกในขณะที่เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาโดย ส. ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับคดีได้ จึงเป็นการสละมรดกโดยรู้อยู่ว่าจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ กรณีมีเหตุเพิกถอนนิติกรรมสละมรดกที่ดินในส่วนของ ส.
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินระหว่าง ส.กับจำเลยที่ 2 อันหมายถึง ขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของ ส.โดยอ้างว่า ส. สละมรดกที่ดินโดยรู้อยู่ว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ การกระทำของ ส. จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อ ส.ถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737

ผู้จัดการมรดกมีอำนาจฟ้องทายาทที่ครอบครองที่ดินมรดกให้ส่งมอบที่ดินกลับเข้าสู่กองมรดก ได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ

การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดก ถือว่าทายาทคนนั้นเป็นเจ้าของรวมมีสิทธิใช้ทรัพย์สินนั้นได้ ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้ทายาทส่งมอบหรือให้ออกไปจากที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 423/2562 คำฟ้องของโจทก์อ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งไม่ได้ทำพินัยกรรมยกให้ผู้ใด แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายย่อมมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทและมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินมีสิทธิใช้ทรัพย์สินในฐานะเจ้าของรวมและการอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยต่อมาหลักจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะอยู่ได้ในฐานะที่เป็นทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายและในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง ซึ่งเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 เมื่อยังไม่มีการแบ่งการครอบครองเป็นสัดส่วน โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยส่งมอบหรือออกไปจากที่ดินพิพาท

อ่านเพิ่มเติม

กรณีลูกหนี้ตายก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระหรือก่อนเงื่อนไขสำเร็จ เจ้าหนี้ฟ้องทายาทของลูกหนี้ให้ชำระหนี้ทันทีได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1754 วรรคสาม วางหลักว่า  ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

มาตรา 1754 วรรคท้าย วางหลักว่า แต่ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

หลักเกณฑ์
1. ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 193/27
2. สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดก (ลูกหนี้) มีกำหนดอายุความยาวกว่า 1 ปี
3. มิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องทายาทหรือผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก (ลูกหนี้)
3.1.เมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก (ลูกหนี้) หรือ
3.2.เมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่เจ้ามรดก (ลูกหนี้) ถึงแก่ความตาย

การที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำสัญญากู้เงิน และกำหนดชำระเงินเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนสำเร็จ ต่อมาลูกหนี้ถึงแก่ความตาย โดยเงื่อนไขบังคับก่อนยังไม่เสร็จนั้น ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อทายาทของลูกหนี้ย่อมเกิดขึ้นทันทีเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย และเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ลูกหนี้ถึงแก่ความตายตามป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ โดยไม่ต้องรอให้เงื่อนไขของสัญญาสำเร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2655/2561 เจ้าหนี้ของเจ้ามรดกจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย แม้สัญญากู้เงินที่ ว. เจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์จะมีข้อตกลงว่า “ผู้กู้ตกลงชำระคืนเงินกู้ เมื่อโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนชีวมวลของบริษัท ท. เริ่มมีกำไรและสามารถจ่ายเงินปันผลได้ ผู้กู้จะนำเงินที่ได้รับจากเงินปันผลมาชำระ…” และปรากฏว่า บริษัทดังกล่าวยังไม่เคยจ่ายเงินปันผลให้แก่ ว.และว.ถึงแก่ความตายเสียก่อน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงตกอยู่ภายในบังคับมาตรา 1754 วรรคสาม โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์ได้รู้ถึงความตายของ ว. โดยไม่ต้องรอการบังคับชำระหนี้จนกว่าเงื่อนไขของสัญญากู้เงินดังกล่าวจะสำเร็จ เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นทันทีเมื่อ ว.ถึงแก่ความตาย หากรอจนเงื่อนไขสำเร็จอายุความ 1 ปี อาจล่วงพ้นไปแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของ ว.เจ้ามรดกชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3994/2540 วินิจฉัยไว้แนวเดียวกัน

ทำนองเดียวกัน กรณีลูกหนี้ตายก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้ทายาทของลูกหนี้ชำระหนี้ได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้หนี้ถึงกำหนดชำระก่อน เพราะเจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีภายในอายุความตามป.พ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3994/2540 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754วรรคสาม เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายหากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ 1 ปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจจะล่วงพ้นไปแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

บุตรของเจ้ามรดกให้ถ้อยคำต่อ จพง.ที่ดินว่า “… ไม่มีความประสงค์ขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาท ยินยอมให้ ส. เป็นผู้รับโอนมรดก ขอให้จพง.ที่ดินสั่งการโอนมรดกให้ผู้ขอ” เป็นการสละมรดกหรือไม่

ป.พ.พ. มาตรา 1613 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า  การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้

หลักเกณฑ์มาตรา 1613 วรรคหนึ่ง 1. การสละมรดกจะทำเพียงบางส่วนไม่ได้ 2. การสละมรดกจะทำโดยมีเงื่อนไขไม่ได้ 3. การสละมรดกจะทำโดยมีเงื่อนเวลาไม่ได้

การที่โจทก์และจำเลยให้ถ้อยคำต่อ จพง.ที่ดินว่า “… ไม่มีความประสงค์ขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาท ยินยอมให้ ส. เป็นผู้รับโอนมรดก ขอให้จพง.ที่ดินสั่งการโอนมรดกให้ผู้ขอ” มิใช่เป็นการสละมรดกเพราะบันทึกถ้อยคำดังกล่าวทำโดยมีเงื่อนไข ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1613 ซึ่งการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด ดังนี้ บันทึกถ้อยคำดังกล่าวจึงไม่เป็นการสละมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6948/2560 ตามบันทึกถ้อยคำไม่ขอรับมรดกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่บุตรของเจ้ามรดกมีสิทธิรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวด้วยในฐานะทายาทโดยธรรม ได้ทราบการขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทตามประกาศของสำนักงานที่ดินแล้ว ไม่มีความประสงค์ขอรับโอนมรดกดังกล่าวยินยอมให้ ส. เป็นผู้รับโอนมรดกดังกล่าว ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสั่งการโอนมรดกให้ผู้ขอ บันทึกถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นการสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 และ 1613 เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด และยังมีทรัพย์มรดกส่วนอื่นอีกที่มิได้มีการสละด้วย แต่เป็นกรณีที่ทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันโดยสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง ประกอบมาตรา 850

อ่านเพิ่มเติม