คลังเก็บป้ายกำกับ: ผู้เสียหายโดยนิตินัย

ถ้าผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ผู้มีอำนาจจัดการแทนตามป.วิ.อาญา มาตรา 4, 5, 6 จะมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามมาตรา 30 เเละยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 แทนได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 30 วางหลักว่า คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้

มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้

กรณีที่ผู้เสียหายที่แท้จริงมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วยย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีสิทธิดำเนินคดีอาญาด้วยตนเอง ดังนั้น มารดาของผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีอาญาเเทน รวมทั้งไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) ประกอบ มาตรา 3 (2) และมาตรา 30

อย่างไรก็ตาม มารดาของผู้เสียหายยังคงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งตามป.วิ.อาญา มาตรา 44/1 แทนได้ แม้ผู้ตายจะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เพราะประเด็นว่าค่าสินไหมทดแทนจะต้องชดใช้กันมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2561 ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายกระทำความผิดเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี บ. มารดาของผู้ตายยังคงมีสิทธิเรียกร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ บ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ แต่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อผู้ตายกับจำเลยทั้งสองมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนอันสืบเนื่องมาจากการทำงาน วันเกิดเหตุผู้ตายกวักมือมายังจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองกับผู้ตายชกต่อยกันจนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ บ. สองในสามส่วน ของค่าสินไหมทดแทนที่ บ. จะได้รับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ผู้ร้องซึ่งมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้หรือไม่ จะยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ เเละหากยื่นคำร้องเเล้ว ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องไม่ได้ฎีกา เเต่คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่

การที่ผู้ร้องมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิดด้วย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาร่วมกับพนักงานอัยการตามมาตรา 30 เเต่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนเเพ่งตามมาตรา 44/1 ได้

เมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 เเล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอผู้ร้อง แม้ผู้ร้องไม่ได้ฎีกาในเรื่องค่าสินไหมทดแทนมาด้วย เเต่คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกคดีส่วนเเพ่งขึ้นมาวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลคดีอาญาตามมาตรา 46 ได้ ดังนั้น ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ร้้องได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 ได้ เเม้ผู้ร้องไม่ได้ฎีกาขึ้นมาก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7004/2561 ผู้ร้องมีส่วนในการก่อให้จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาตามมาตรา 30 แต่มีสิทธิยื่นคำร้องส่วนแพ่งขอเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย ตามมาตรา 44/1 ได้ เมื่อการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการกระทำโดยป้องกันพอสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด แต่เป็นการทำร้ายร่างกายผู้ร้องโดยบันดาลโทสะซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด คดีในส่วนแพ่งจำต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 46 โดยฟังว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ร้องและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้อง แม้ผู้ร้องไม่ได้ฎีกาเรื่องค่าสินไหมทดแทนมาด้วย ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลคดีอาญาได้เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225