คลังเก็บป้ายกำกับ: ป.วิอาญาภาค3

ฟ้องโจทก์ไม่มีลายมือชื่อผู้เรียงและผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ ความปรากฏใน ชั้นอุทธรณ์ ดังนี้ จะย้อนสํานวนให้ศาลชั้นต้นดําเนินการแก้ไขให้โจทก์แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าว ได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 6386/2562 

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 บัญญัติว่า “ถ้าฟ้อง ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้อง” และมาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี ฯลฯ (7) ลายมือชื่อโจทก์ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง” ตามฟ้องโจทก์ปรากฏว่า โจทก์ได้ลงลายมือชื่อโจทก์แล้วโดยผู้รับ มอบอํานาจโจทก์ลงลายมือชื่อแทนโจทก์ เหตุที่ไม่ปรากฏลายมือชื่อผู้เรียงและผู้เขียน หรือพิมพ์ฟ้องน่าจะเป็นเพราะโจทก์พิมพ์คําขอท้ายฟ้องเฉพาะด้านหน้ามิได้พิมพ์แบบพิมพ์ด้านหลังซึ่งจะมีช่องลายมือชื่อผู้เรียงหรือผู้พิมพ์ไว้ จึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยซึ่งสามารถแก้ไขได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคําพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุดังกล่าวโดยไม่สั่งให้ โจทก์แก้ไขก่อนจึงไม่ถูกต้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เห็นควรให้ศาลชั้นต้นดําเนินการ ให้โจทก์แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกําหนด และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดี หลังจากที่โจทก์แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวแล้วให้ศาลชั้นต้นส่งสํานวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี 

พิพากษายกคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และให้ย้อนสํานวนให้ศาลชั้นต้น ดําเนินการให้โจทก์แก้ไขข้อผิดพลาดที่ไม่ลงชื่อผู้เรียงผู้เขียนหรือผู้พิมพ์แล้วส่งสํานวน ไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี 

หมายเหตุ กลับหลักคําพิพากษาฎีกาที่ 3439/2562 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์มีมูลในความผิดฐานยักยอก ได้หรือไม่

ฎ.13246/2555 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ฟังว่าจำเลยเอาทรัพย์สินของโจทก์ขณะที่อยู่ในความครอบครองของตนไปโดยทุจริตจึงมีมูลความผิดฐานยักยอก แม้เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้อง แต่ข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์กับฐานยักยอกทรัพย์นั้นเป็นเพียงรายละเอียดซึ่งตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์มีมูลในความผิดฐานยักยอกจึงชอบแล้ว 

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทราบเรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้วฟ้องคดีเกินกว่าสามเดือน ความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์รู้ถึงการกระทำความผิดและตัวผู้กระทำความผิดในวันที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้แทนเฉพาะคดีของโจทก์ เมื่อผู้แทนเฉพาะคดียื่นฟ้องจำเลยในวันดังกล่าว คดีจึงไม่ขาดอายุความ ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวศาลอุทธรณ์จำต้องย้อนไปวินิจฉัยว่า โจทก์รู้ถึงการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อใดจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่โจทก์อ้าง เมื่อคดีของโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ในความผิดฐานยักยอกจึงเป็นการไม่ชอบ 

คำฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์อ้างว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ถูกลักไปเป็นของบุคคลคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เสียหาย ระหว่างพิจารณามีบุคคลอีกคนหนึ่งยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์อ้างว่าตนเป็นผู้เสียหายเพราะเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกลัก พนักงานอัยการโจทก์และจำเลยไม่ค้าน ดังนี้ ศาลจะอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ ได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2979/2562 

ตามฟ้องโจทก์อ้างว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ถูกลักไปเป็นของ ร. ผู้เสียหาย ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ส. ยื่นคำร้องอ้างว่าตนเป็นผู้เสียหายเพราะเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกลักไป ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ โดยโจทก์และจำเลยทั้งสองแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า ส. เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกลักไป และไม่คัดค้านที่ ส. จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ แม้คำแถลงของโจทก์และจำเลยทั้งสองจะเป็นประโยชน์แก่ ส. แต่คำแถลงของโจทก์เกี่ยวกับตัวผู้เสียหายแตกต่างไปจากฟ้อง โดยโจทก์ไม่ได้อ้างว่ามีเหตุผลอย่างไรที่แถลงแตกต่างไปเช่นนั้น ดังนี้ กรณียังไม่อาจรับฟังว่า ส. เป็นผู้เสียหายไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีโจทก์มีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาและนัดสอบคำให้การจำเลยในวันนัดพร้อม โดยทนายโจทก์และทนายจำเลยทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อถึงวันนัด โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ ดังนี้ ศาลจะยกฟ้องโจทก์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 ได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 4452/2562 

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าโจทก็ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย ซึ่งคำว่า “กำหนดนัด” ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง กำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 166 ประการหนึ่ง กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานตามมาตรา 166 ประกอบมาตรา 173/2 วรรคหนึ่ง ประการหนึ่งและกำหนดนัดพิจารณาตามมาตรา 166 ประกอบมาตรา 181 อีกประการหนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากประทับฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้หมายเรียกจำเลยมาให้การในวันนัดพร้อม โดยมิได้กำหนดชัดแจ้งว่า นอกจากการสอบคำให้การจำเลยแล้ว จะดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดอีก จึงเป็นเพียงการัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย ดังนั้น เมื่อโจทก็ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมดังกล่าว ซึ่งมิใช่วันนัดตรวจพยานหลักฐานหรือนัดพิจารณาหรือนัสืบพยานโจทก์ กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นจะยกฟ้องเพราะโจทก็ไม่มาศาลตามประมวลฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 173/2 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181 ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกฟ้องเพราะโจทไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 วรรคหนึ่ง แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาหลังจากมีคำสั่งดังกล่าวนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ย่อมไม่อยู่ในบังคับที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้วมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไปนั้นจึงชอบแล้ว 

โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อฟังผลการเจรจาเพื่อจะทำความ ตกลงกัน จะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องหรือไม่

าพิพากษาฎีกาที่ 3192/2557 

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสี่นัดแรกโจทก์ทั้งสี่และจําเลยแถลงร่วมกันว่า โจทก์ทั้งสี่ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับจําเลย แต่โจทก์ทั้งสี่ผิดสัญญา จําเลยจึง ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ต่อศาลชั้นต้น ต่อมาโจทก์ทั้งสี่และจําเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นคดี หมายเลขแดงที่ 348/2551 และคดีอยู่ในระหว่างการบังคับคดี โจทก์ทั้งสี่และจําเลยสามารถตกลงยอดหนี้กันได้แล้ว โดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติของกรรมการจําเลย และขอความเห็นชอบจากบรรษัทประกันสินเชื่อเพื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม คาดว่าจะใช้ เวลาประมาณ 2 เดือน และโจทก์ทั้งสี่แถลงเพิ่มเติมว่า หากตกลงกันได้จะถอนฟ้อง คดีนี้ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีน่าจะมีทางตกลงกันได้ จึงให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อฟังผลการเจรจา ครั้นเมื่อถึงวันนัดโจทก์ทั้งสี่ไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง มีปัญหาว่าศาลชั้นต้น มีคําสั่งว่าโจทก์ทั้งสี่ทิ้งฟ้องและจําหน่ายคดีโจทก์ทั้งสี่ออกจากสารบบความเป็นคําสั่งที่ชอบ ด้วยกฎหมายหรือไม่ 

เห็นว่า บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ไม่ได้หมายความว่า เมื่อศาลกําหนดให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินคดีในเรื่องใดแล้ว โจทก์ทั้งสี่เพิกเฉยจะเป็นกรณีทิ้งฟ้องเสมอไป การที่จะถือว่าโจทก์ทั้งสี่ทิ้งฟ้องต้องเป็นกรณีที่ไม่ดําเนินการตามคําสั่งศาลแล้วเป็นเหตุที่ทให้ศาลไม่อาจดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอีกได้ เมื่อพิจารณาถึงการดําเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์ทั้งสี่ปรากฏว่าตั้งแต่วันนัดชี้สองสถานหรือสืบพยาน ทนายโจทก์ทั้งสี่และทนายจําเลยมาศาลและแถลงว่าคดีอยู่ระหว่างการเจรจา โดยทนายจําเลยจะนําเงื่อนไขของโจทก์ทั้งสี่เสนอผู้มีอํานาจเพื่อพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงมีคําสั่งให้กําหนดนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสี่วันที่ 8 และ 9 มิถุนายน 2554 และสืบพยานจําเลยวันที่ 10 มิถุนายน 2554 ก่อนถึงวันนัดได้มีการนัด ไกล่เกลี่ยโดยผู้ประนีประนอมของศาลชั้นต้น อีก 4 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งทนายโจทก์ทั้งสี่ และทนายจําเลยมาศาลทุกนัดและมีผลการเจรจาที่คืบหน้าตามลำดับ ครั้งสุดท้ายวันที่ 2 มิถุนายน 2554 แต่ตกลงกันยังไม่ได้ จึงต้องส่งสํานวนเข้าสู่กระบวนการสืบพยานโจทก์ทั้งสี่และจําเลย ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสี่ ทนายโจทก์ทั้งสี่และทนายจําเลย มาศาล แล้วแถลงว่าคดีอยู่ระหว่างเจรจาโดยรอผลการอนุมัติของกรรมการจําเลย และขอความเห็นชอบจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมซึ่งคาดว่าน่าจะตกลงกันได้ ศาลชั้นต้นให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อฟังผลการเจรจาวันที่ 4 กันยายน 2554 ถึงวันนัดโจทก์ที่ 2 ผู้รับมอบฉันทะทนายโจทก์ทั้งสี่ และทนายจําเลยมาศาล แล้วแถลงขอเลื่อนคดี เนื่องจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมยังพิจารณาการขอลดยอดหนี้ไม่เสร็จ ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อฟังผลการเจรจาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2554 เมื่อถึงวันนัดดังกล่าวทนายโจทก์ทั้งสี่ไม่มาศาล จะเห็นได้ว่าทนายโจทก์ทั้งสี่มาศาลทุกนัดที่มีการไกล่เกลี่ย การที่โจทก์ทั้งสี่ไม่มาศาลย่อมแสดงว่าคดีไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยังมีกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นต้องดําเนินการต่อไปคือการสืบพยานโจทก์ทั้งสี่และสืบพยานจําเลย การที่โจทก์ทั้งสี่ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อฟังผลการเจรจายังไม่ใช่กรณีที่ถือว่าโจทก์ทั้งสี่ทิ้งฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นถือว่าโจทก์ทั้งสี่ทิ้งฟ้องและมีคําสั่งจําหน่ายคดีนั้น จึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบ