คลังเก็บป้ายกำกับ: ป.วิอาญาภาค1

กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำกัดยักยอกทรัพย์ของบริษัท (คดีความผิดต่อส่วนตัว) ผู้ถือหุ้นในฐานะกรรมการคนหนึ่งไปแจ้งความร้องทุกข์ แต่ต่อมาได้ไปถอนคำร้องทุกข์ ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของบริษัทจำกัดระงับไปหรือไม่

ฎ.115/2535 กรณีความผิดที่ได้กระทำต่อนิติบุคคลซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (3) บัญญัติให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลเป็นผู้ฟ้องคดีแทนนั้น ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ เหล่านั้นกลับเป็นผู้กระทำผิดต่อนิติบุคคลนั้นเสียเองก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าผู้กระทำผิดจะไม่ฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเพื่อกล่าวหาตนเอง เมื่อเป็นดังนี้ บรรดาผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นซึ่งมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหาย ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 ก็บัญญัติไว้ว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดี ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งฟ้องคดีได้ ดังนี้ โดยนิตินัยย่อมถือว่า ป. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ เป็นผู้เสียหายจึงมีสิทธิฟ้องคดีอาญาหรือแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (2), 123 ประกอบด้วยมาตรา 2 (4) เมื่อ ป. ในฐานะกรรมการของโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันยักยอกทรัพย์ของโจทก์แต่ต่อมา ป. ได้ถอนคำร้องทุกข์นั้นแล้ว ดังนั้นไม่ว่า ป.จะดำเนินการดังกล่าวทั้งหมดในฐานะกระทำการแทนโจทก์หรือในฐานะผู้ถือหุ้น สิทธิที่โจทก์จะนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) (คำพิพากษาฎีกาที่ 1680/2520 วินิจฉัยเช่นกัน) 

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 หากศาลพิพากษายกฟ้องเพราะคดีโจทก์ขาดอายุความ คำขอส่วนแพ่งตกไปด้วยหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 3275/2562 

โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่จำเลยไม่ยอมคืนเงินที่โจทก์ร่วมนำเข้าฝากในบัญชีธนาคารของจำเลยเพื่อนำเงินไปให้ผู้มีชื่อกู้ยืมแทนผู้เสียหาย แม้ต่อมาจำเลยจะถอนเงินออกจากบัญชีและโจทก์ร่วมเพิ่งทราบถึงการถอนเงินซึ่งเป็นเหตุการณ์ภายหลังจากที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว หาทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไปไม่ โจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเมื่อพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมเป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ทำให้คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมตกไปด้วย 

ความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน หากผู้ร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีไม่ได้รับมอบอํานาจจากผู้เสียหายที่แท้จริงให้ร้องทุกข์ หรือหนังสือมอบอํานาจให้ร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจะมีอํานาจสอบสวนและพนักงานอัยการมีอํานาจฟ้องหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 1030/2562  

ความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ เป็นความผิดที่กระทําต่อรัฐไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอํานาจสอบสวนได้แม้จะไม่มีคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนคดีนี้แล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอํานาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (1), 120 และ พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11 (1) โดยมิต้องคํานึงว่าผู้ร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีจะเป็นผู้ใด หรือร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีแก่ใครบ้าง ผู้ร้องทุกข์ได้รับมอบอํานาจจากผู้เสียหายที่แท้จริงหรือไม่ และหนังสือมอบอํานาจดังกล่าวจะปิดอากรแสตมป์กับมีตราสําคัญของผู้มอบอํานาจประทับไว้หรือไม่ โจทก์จึงมีอํานาจฟ้อง 

ทนายความโจทก์ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ทำแทนได้ (ในใบแต่งทนายความ) ยื่นต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์มา หากศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 4548/2562 

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาและกระบวนพิจารณาที่เป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความจึงต้องได้รับมอบอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง ทนายความจึงจะมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวแทนตัวความได้ ดังนั้น เมื่อตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ที่โจทก์แต่งตั้งให้ ว. เป็นทนายความ ดำเนินคดีแทนโจทก์มิได้ระบุให้ ว. มีอำนาจยื่นอุทธรณ์แทนโจทก์ ว. จึงย่อมไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้แทนโจทก์ได้ การที่ ว. ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ทำแทนได้และยื่นต่อศาลชั้นต้นนั้น เป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีข้อบกพร่อง เท่ากับคำฟ้องอุทธรณ์ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงต้องสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้องก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 การที่ศาลชั้นตันสั่งรับอุทธรณ์มาโดยไม่สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงชอบที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการแก้ไขข้อบกพร่อง โดยให้โจทก์ลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องแล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียทีเดียวนั้น เป็นการไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยความยุติธรรม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของโจทก์ดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ดี ตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 โจทก์ได้แต่งตั้ง ว. เป็นทนายความ ให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ได้ในชั้นฎีกานี้แล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องในชั้นยื่นคำฟ้องอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้อีก 

ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและประทับฟ้อง วันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี มีคําสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ แล้วพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคําพิพากษาศาลชั้นต้นย้อนสํานวนให้ศาลชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จําเลยฎีกา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฯ ดังนี้ พนักงานอัยการมีสิทธิฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนี้อีกหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 5391/2562 

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ในคดีก่อนผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและประทับฟ้อง ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีเพราะเหตุความเจ็บป่วยของโจทก์ด้วยโรคมะเร็งผิวหนัง และได้ทําการผ่าตัดในวันที่ 18 กรกฎาคม 2559 แพทย์ผู้ตรวจรักษามีความเห็นว่าให้งดการเดินทางไปในเขตร้อนจนกว่าผิวหนังจะสัมผัสกับแสงแดดได้และนัดตรวจอาการในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 โดยมีเอกสารพร้อมคําแปลมาแสดง แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี มีคําสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ เนื่องจากโจทก์ไม่มีพยานมานําสืบพิสูจน์ว่า จําเลยที่โจทก์ยังไม่ได้ถอนฟ้องไปกระทําความผิดตามฟ้อง และพิพากษายกฟ้อง ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การขอเลื่อนคดีของโจทก์มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ กรณียังมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 179 วรรคสอง พิพากษายกคําพิพากษาศาลชั้นต้นและคําสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ให้ย้อนสํานวนให้ศาลชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เมื่อจําเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ ภาค 2 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว จึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ดังนั้น คําพิพากษายกฟ้องในคดีก่อนจึงเป็นอันถูกยกเลิกเพิกถอนไป ไม่อาจถือได้ว่าศาลได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว พนักงานอัยการโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจําเลยในคดีนี้ได้โดยไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) 

พิพากษายกคําพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทกไว้แล้วดําเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีต่อไป