คลังเก็บป้ายกำกับ: ปกครอง

ประเด็น การดำเนินกิจการขององค์การทางศาสนา ฟ้องศาลปกครองไม่ได้ ex คำสั่งตั้งหรือปลดเจ้าคณะตำบล, การจับสึกพระ, คำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งอิหม่าม

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 281/2548 คำสั่งแต่งตั้งเจ้าคณะตำบลเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์เป็นคำสั่งในกิจการปกครองคณะสงฆ์เป็นการใช้อำนาจทางกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ มิใช่การใช้อำนาจทางปกครองในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สวนการที่มาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 กำหนดให้เจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญานั้น เป็นการกำหนดเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอาญา ไม่ได้ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1/2545 และ 4/2545 วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เป็นกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการปกครองสงฆ์ ด้านการดำเนินกิจการขององค์กรศาสนาที่มีการวางแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมทางการปกครองไว้ต่างหากแล้ว จึงมิใช่ข้อพิพาทอันเนื่องมาจากกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิใช่การปฏิบัติราชการทางปกครอง

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 803/2547 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งอิหม่ามประจำมัสยิดเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา มิใช่เป็นการดำเนินกิจการทางปกครองในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด

การบรรยายเนติฯ วิชา กม.ปกครอง ครั้งที่ 3 ท่านอาจารย์พงษ์เดช วานิชกิตติกูล ได้พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ แต่อย่างไรก็ดีบางกรณีฝ่ายปกครองได้ใช้อำนาจตามกฎหมายตรา “กฎ” ขึ้น แต่ฝ่ายปกครองไม่ได้ชื่อเรียกตามตัวอย่างของกฎ ตามมาตรา 3 แต่ใช้ชื่อเรียกต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งที่เป็น “บันทึก” หรือ “หลักเกณฑ์” หรือบางครั้งก็ใช้ว่า “คำสั่ง” แต่เนื้อแท้แล้วมีลักษณะเป็น “กฎ”

.

ตัวอย่างดังนี้

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 472/2554 บันทึกข้อความ เรื่อง การออกใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ให้กับคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง เป็นนโยบายสำคัญของรัฐเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ อันมีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้กับกรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ จึงมีลักษณะเป็นกฎตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

.

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 22/2555 (ประชุมใหญ่) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินบุคคลเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงขึ้น ในตำแหน่งสาหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ (ตำแหน่งประเภททั่วไป) ระดับ 8 ว. ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอเข้ารับการประเมินจะต้องเป็นผู้ผ่านการอบรมจากโรงเรียนนายอำเภอ (นอ.) มีลักษณะเป็นกฎ

การบรรยาย วิชากฎหมายปกครอง วันที่ 25/6/64 ท่านอาจารย์พงษ์เดช วานิชกิตติกูล

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.496/2559

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลด้วยดีตลอดมา การที่ผู้ถูกฟ้องดีที่ 1 มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอเพื่อแสดงพยานหลักฐานโต้แย้งข้อกล่าวหาและไม่ได้ระบุเหตุผลในการออกคำสั่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 30 และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบล โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าเมื่อตามกฎหมายแล้วนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีดุลพินิจที่จะแต่งตั้งบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 58/1 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ที่ตนไว้วางใจเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และให้บุคคลเช่นว่านั้นอยู่ในตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้นานตราบเท่าที่ตนยังคงไว้วางใจในตัวบุคคลนั้นอยู่ “ เป็นเรื่องอัตวิสัยของผู้ออกคำสั่งทางปกครอง”

.

ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งให้รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี

เทศบาลว่าจ้างบุคคลอื่นให้ดำเนินการเก็บขยะมูลฝอยในนามของเทศบาล หากลูกจ้างของผู้รับจ้างนั้นไปทำละเมิดในทางการที่จ้าง เทศบาลต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดหรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 
วางหลักว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 425  วางหลักว่า นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

ลูกจ้างของผู้ดำเนินการเก็บขนขยะมูลฝอย มีหน้าที่ขับรถบรรทุกเก็บขนขยะมูลฝอยของเทศบาลตามคำสั่งของเทศบาล การขับรถเก็บขนขยะของลูกจ้างจึงเป็นการทำไปตามหน้าที่ในภารกิจของเทศบาล แม้ว่าเทศบาลกับผู้ดำเนินการเก็บขนขยะมูลฝอยจะมีสัญญาหรือข้อตกลงกันอย่างไร ก็เป็นเรื่องบังคับกันในคู่สัญญาเท่านั้น ดังนี้ การที่เทศบาลว่าจ้างผู้ดำเนินการเก็บขนขยะมูลฝอย ดำเนินการเก็บขนขยะในนามของเทศบาล ย่อมถือได้ว่าเทศบาลเป็นนายจ้างของลูกจ้างด้วย เมื่อลูกจ้างขับรถบรรทุกของเทศบาลไปในทางการที่จ้างและกระทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เทศบาลจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างกระทำด้วยตามมาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2561 โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มี ช. เป็นนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช และเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุ ร. ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อปฏิบัติหน้าที่เก็บขนถ่ายขยะตามคำสั่งของจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวในคำฟ้องว่า ที่ข้างรถบรรทุกคันเกิดเหตุมีข้อความว่า เทศบาลนครนครศรีธรรมราช แต่จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการเก็บขนขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครศรีธรรมราชแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 รับว่า ร. ทำหน้าที่ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อเก็บขนขยะในนามของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เมื่อการเก็บขนขยะเป็นภารกิจของเทศบาล การขับรถเก็บขนขยะของ ร. จึงเป็นการทำไปตามหน้าที่ในภารกิจของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นการแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปว่า ร. เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และรถบรรทุกคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดำเนินการเก็บขนขยะในนามของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของ ร. ด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีสัญญาหรือข้อตกลงกับจำเลยที่ 2 อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะบังคับกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น หาได้มีผลผูกพันกับบุคคลภายนอกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสามด้วยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ร. ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสองและกระทำละเมิด จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกับ ร. รับผิดในผลแห่งละเมิดที่ ร. กระทำด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 425

อ่านเพิ่มเติม