คลังเก็บป้ายกำกับ: บทบรรณาธิการเนติ

ภริยาลูกหนี้โอนที่ดินให้แก่บุตร​โดยเสน่หา เจ้าหนี้มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์
มาตรา 237 วางหลักว่า
เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

หลักเกณฑ์การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล
1. คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องมีนิติสัมพันธ์เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กัน
2. ลูกหนี้กระทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินใดๆ ที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
3. ลูกหนี้รู้อยู่แล้วว่านิติกรรมที่ทำนั้นทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
4. ผู้รับนิติกรรมซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกที่เสียค่าตอบแทน ต้องรู้ว่านิติกรรมที่ทำนี้ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
(ถ้าผู้ได้ลาภงอกไม่รู้ว่านิติกรรมที่ทำไปนั้นทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลไม่ได้) หรือ
5. ผู้รับนิติกรรมซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกได้รับนิติกรรมการให้โดยเสน่หามาจากลูกหนี้ แม้ไม่รู้ว่านิติกรรมที่ทำลงทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
6. เจ้าหนี้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้

การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำไปโดยรู้อยู่ว่าจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ดังนั้น คู่กรณีในการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลนั้นจึงต้องเป็นเจ้าหนี้เเละลูกหนี้กันเท่านั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องเป็นเพียงภริยาของลูกหนี้ เเละไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่ผู้ถูกฟ้องจะต้องร่วมรับผิดด้วยเเล้ว ผู้ถูกฟ้องจึงไม่ได้เป็นลูกหนี้เเละไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆกับเจ้าหนี้ อันเจ้าหนี้จะมาฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 ดังนั้น เจ้าหนี้ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่ภริยาของลูกหนี้จดทะเบียนให้ที่ดินแก่บุคคลภายนอกโดยเสน่หา

คำพิพากษาฎีกาที่ 9831/2560 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา อันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ จึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมเป็นหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ซึ่งเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (1) ถึง (4) ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งจะมีผลให้จำเลยที่ 2 อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ ประกอบกับโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า หนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ร่วมที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 

ผู้กู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่ไปทำสัญญายกที่ดินให้แก่บุคคลอื่นและบุคคลนั้นนำไปทำสัญญาจำนอง ผู้ให้กู้ฟ้องเพิกถอนสัญญาจำนองได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์

มาตรา 237 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า
เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

มาตรา 238 วางหลักว่า การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้นไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอก อันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน

อนึ่งความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา

ลูกหนี้ทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่ผู้ได้ลาภงอกโดยเสน่หาทั้งที่รู้อยู่เเล้วว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เมื่อเป็นการให้ที่ดินโดยเสน่หาเเล้ว แม้ลูกหนี้รู้เพียงฝ่ายเดียวว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ก็ชอบที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หานั้นได้ตามมมาตรา 237 วรรคหนึ่ง เเต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้ได้ลาภงอกได้ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวภายหลังได้มีการฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลเเล้ว ผู้รับจำนองซึ่งเป็นผู้ได้รับโอนที่ดินต่อมาจากผู้่ได้ลาภงอกย่อมถือเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลนั้นไม่อาจกระทบสิทธิบุคคลดังกล่าวได้หากได้สิทธิโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 238 วรรคหนึ่ง เเต่เมื่อบุคคลภายนอกซึ่่งเป็นผู้รับจำนองได้สิทธิในทีดินพิพาทมาภายหลังฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลเเล้ว จึงไม่เข้ากรณีตามมาตรา 238 วรรคหนึ่ง เจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลอันเป็นการกระทบกระทั่งสิทธิของบุคคลภายนอกนั้นได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 5248/2560 โจทก์ได้ร้องขอบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาฎีกาซึ่งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 4,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว…ฯลฯ แล้ว  ย่อมฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการกระทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ 
การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา จำเลยที่ 2 ย่อมมีฐานะเป็นผู้ได้ลาภงอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เพราะผู้ได้ลาภงอกหมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้โดยตรง จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับจำนองทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อจากผู้ทำนิติกรรมกับลูกหนี้จึงเป็นบุคคลภายนอก ตามความในมาตรา 238 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ที่กระทำในวันที่ 9 ตุลาคม 2557 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557 การจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมจึงเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเป็นคดีนี้ เมื่อจำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ทำนิติกรรมจำนองก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอน จำเลยร่วมย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 238 ดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ทั้งที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ซึ่งเพียงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็เป็นเหตุที่จะขอให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 392/2561, 16167/2557 วินิจฉัยเเนวเดียวกัน

ในทางกลับกัน ถ้าบุคคลภายนอกได้ทำนิติกรรมกับผู้่ได้ลาภงอกเเละได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบเเทน ก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอน บุคคลภายนอกย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 238

คำพิพากษาฎีกาที่ 9906/2560 การจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทสองโฉนดระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ กรณีต้องบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 ในเรื่องของการเพิกถอนการฉ้อฉล มิใช่บังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 อันเป็นเรื่องของวัตถุประสงค์ของนิติกรรมขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรม อีกทั้งยังไม่พ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องขอเพิกถอนได้
จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทแปลงหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ทำนิติกรรมโอนขายให้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมจำนองให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งล้วนเป็นการทำนิติกรรมก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอน จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นบุคคลภายนอก อันได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอน ย่อมได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 238 ศาลไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมในที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับที่ 4 และระหว่างที่ 4 กับที่ 5 ดังนั้น ไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ตามฟ้องได้ด้วย เพราะที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

เจ้าหนี้นำกลุ่มผู้ชายเเต่งกายคล้ายตำรวจมาทวงถามหนี้และพูดจาข่มขู่ลูกหนี้ให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้ยืมเงิน ลูกหนี้กลัวและทำสัญญากู้ยืมเงิน เป็นโมฆียะหรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 164  วางหลักว่า การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ
การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

หลักเกณฑ์ ป.พ.พ. มาตรา 164
1.การข่มขู่ต้องเกิดขึ้นโดยคู่กรณีฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลภายนอก หรือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งร่วมกับบุคคลภายนอก
2.ผู้ข่มขู่จะต้องมีเจตนาข่มขู่ผู้ทำนิติกรรม (ถ้ามิได้มีเจตนาข่มขู่ แต่เกิดความกลัวไปเอง ย่อมมิใช่การข่มขู่)
3.ผู้ทำนิติกรรมที่ถูกข่มขู่ต้องกลัวภัยที่จะเกิดจากการข่มขู่
4.ภัยที่ข่มขู่จะต้องใกล้จะถึง
5.ต้องเป็นภัยร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว
6.ถ้าไม่มีการข่มขู่นั้นจะไม่มีการแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้น

การที่เจ้าหนี้นำกลุ่มผู้ชายหลายคนแต่งกายคล้ายตำรวจไปที่บ้านของลูกหนี้ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงาน พูดจาข่มขู่ว่าบ้านและที่ดินตกเป็นของเจ้าหนี้แล้ว หากลูกหนี้จะดำเนินงานต่อต้องให้เงินโจทก์ 3,000,000 บาท ลูกหนี้กลัวจึงต้องทำสัญญากู้ยืมเงินนั้นไม่ปรากฏว่า เจ้าหนี้ได้ข่มขู่ว่าจะทำให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆียะ

คำพิพากษาฎีกาที่ 6294/2561 ป.พ.พ. มาตรา 164 บัญญัติว่า การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้นจะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้นการนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

โจทก์นำกลุ่มผู้ชายหลายคนแต่งกายคล้ายตำรวจไปที่บ้านของจำเลยซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงาน พูดจาข่มขู่ว่าบ้านและที่ดินตกเป็นของโจทก์แล้ว หากจำเลยจะดำเนินงานต่อต้องให้เงินโจทก์ 3,000,000 บาท จำเลยกลัวจึงต้องทำสัญญากู้ยืมเงิน การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ด้วยพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น หาได้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการข่มขู่อันจะทำให้สัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆียะไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2624/2551 วินิจฉันเเนวเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม

จำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 เมื่อผู้เสียหายที่ 1 วิ่งหลบหนีเข้าไปในบริษัท จำเลยยังไล่ยิงไปยังรถบัสของผู้เสียหายที่ 2 กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด แต่ถูกกระจกมองข้างรถบัสของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหาย การ กระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานใดบ้าง

หลักกฎหมาย :
ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง วางหลักว่า กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ข้อสังเกต
เจตนาตามมาตรา 59 เเบ่งเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้
1.เจตนาประสงค์ต่อผล (เจตนาโดยตรง) หมายถึง การที่ผู้กระทำมุ่งหมายจะให้เกิดผลเช่นนั้นด้วย
ตัวอย่าง นาย ก. ต้องการให้นาย ข. ตาย จึงใช้ปืนยิงที่หน้าอกของนาย ข. จนถึงแก่ความตาย การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา(ประสงค์ต่อผล)
2.เจตนาเล็งเห็นผล (เจตนาโดยอ้อม) หมายถึง ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล เเต่เมื่อพิจารณาจากการกระทำแล้ว ผู้กระทำย่อมคาดการณ์ได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างเเน่นอน เท่าที่จิตใจของบุคคลในฐานะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ เเต่ผู้กระทำก็ไม่ใยดีในผลนั้นเลย
ตัวอย่าง นาย ก. ยิงปื่นเข้าไปในรถโดยสาร แม้นาย ก. จะไม่ประสงค์ต่อผลให้ใครตาย เเต่ก็ย่อมเล็งเห็นได้ว่ากระสุนปืนอาจไปถูกคนใดคนหนึ่งในรถนั้นได้ เเละหากมีการตายเกิดขึ้น นาย ก. ย่อมต้องรับผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา(เล็งเห็นผล)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7716/2561 จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 เมื่อผู้เสียหายที่ 1 วิ่งหลบหนีไปในบริษัท จำเลยยังไล่ยิงไปยังรถบัสของผู้เสียหายที่ 2 ขณะมีพนักงานวิ่งหนีเพื่อไปหลบบนรถ กระสุนไม่ถูกผู้ใด แต่ถูกกระจกมองข้างของรถบัสของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหาย จากการกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยเล็งเห็นผลแห่งการกระทำของตนว่ากระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายที่ 1 ถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 เมื่อกระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายที่ 1 แต่ถูกกระจกมองข้างของรถบัสได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 และทำให้เสียทรัพย์ผู้เสียหายที่ 2

รวมบทบรรณาธิการเนติ by อ.เป้ อ.ตูน

อัปเดตบทบรรณาธิการ เนติฯ