คลังเก็บป้ายกำกับ: นิติศาสตร์

ประเด็น การดำเนินกิจการขององค์การทางศาสนา ฟ้องศาลปกครองไม่ได้ ex คำสั่งตั้งหรือปลดเจ้าคณะตำบล, การจับสึกพระ, คำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งอิหม่าม

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 281/2548 คำสั่งแต่งตั้งเจ้าคณะตำบลเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์เป็นคำสั่งในกิจการปกครองคณะสงฆ์เป็นการใช้อำนาจทางกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ มิใช่การใช้อำนาจทางปกครองในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สวนการที่มาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 กำหนดให้เจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญานั้น เป็นการกำหนดเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอาญา ไม่ได้ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1/2545 และ 4/2545 วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เป็นกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการปกครองสงฆ์ ด้านการดำเนินกิจการขององค์กรศาสนาที่มีการวางแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมทางการปกครองไว้ต่างหากแล้ว จึงมิใช่ข้อพิพาทอันเนื่องมาจากกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิใช่การปฏิบัติราชการทางปกครอง

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 803/2547 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งอิหม่ามประจำมัสยิดเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา มิใช่เป็นการดำเนินกิจการทางปกครองในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด

ประเด็น : ผู้ซื้อแคชเชียร์เช็คไม่ใช่ผู้ทรงไม่มีสิทธิฟ้องธนาคารให้ชำระเงินตามเช็ค

คำพิพากษาฎีกาที่ 6951/2562 แคชเชียร์เช็คพิพาทระบุชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับเงิน แม้ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือตามคำสั่ง”แต่ได้มีการขีดคร่อมพร้อมกับมีข้อความว่า “A/C Payee Only” ในช่องขีดคร่อม อันมีความหมายว่าห้ามเปลี่ยนมือและต้องจ่ายเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ที่มีแก่ธนาคารเท่านั้น โจทก์ที่ 1 จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท แม้ในช่วงแรกของการเรียกร้องกันโจทก์ที่ 1 จะปฏิเสธไม่รับรู้การทำประกันชีวิตให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 “แต่ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา 70/1 บัญญัติให้บริษัทประกันชีวิตต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนประกันชีวิตต่อความเสียหายที่ตัวแทนประกันชีวิตนั้นได้ก่อขึ้นจากการกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัท โจทก์ที่ 1 จึงเป็นผู้ทรงแคชเชียร์เช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม

โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นผู้ซื้อแคซเชียร์เช็คจากธนาคารผู้ออกเช็คมิได้เป็นผู้ทรงแคชเชียร์เช็คพิพาท จึงมิใช่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1000 ที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดชดใช้เงินตามแคชเชียร์เช็คพิพาท

โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ทรงแคชเชียร์เช็ดพิพาทขีดคร่อมพร้อมกับมีข้อความว่า “A/C PayeeOnly” ในช่องขีดคร่อมซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกับ “เปลี่ยนมือไม่ได้” หรือ “ห้ามเปลี่ยนมือ”ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 995 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพประกอบการธนาคารเรียกเก็บเงินตามแคชเชียร์เช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 ทั้งที่ต้องนำเงินตามแคชเชียร์เช็คพิพาทเข้าบัญชีของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ. เป็นกระทำละเมิดต่อโจทก์

โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทขีดคร่อมและมีข้อความว่า “A/C Payee Only” มีความหมายทำนองเดียวกับ “เปลี่ยนมือไม่ได้” หรือ “ห้ามเปลี่ยนมือ” และมีอำนาจฟ้องธนาคารจำเลยที่ 1 ที่ต้องนำเช็คพิพาทเข้าบัญชีของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น แต่นำเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 และต้องถือว่าวันที่จำเลยที่ 1 สามารถเรียกเก็บเงินและนำเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 เป็นเวลาที่มีการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเริ่มคิดดอกเบี้ยเป็นต้นไป

ประเด็น : ผู้ให้กู้นำสัญญากู้ปลอมมาฟ้อง ต่อมาได้เบิกความเท็จและนำสัญญากู้ปลอมมาสืบพยานต่อศาล แม้ทำคนละวัน แต่ทำโดยมีเจตนาเดียวกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียว ศาลลงโทษฐานใช้/อ้างเอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นบทหนักที่สุดได้เพียงกระทงเดียว

คําพิพากษาฎีกาที่ 8407/2561 การที่จำเลยที่ 1 นำหนังสือสัญญากู้เงินที่ปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายใช้หรืออ้างในการฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น อันเป็นความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอมกับการที่จำเลยที่ 1 นำหนังสือสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าวนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอันเป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จและฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นการกระทำคนละวัน แต่เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยมีเจตนาเดียวกันคือเพื่อที่จะให้ศาลพิพากษาให้ผู้เสียหายชำระเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญากู้เงินที่ทำปลอมขึ้นเป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษในความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เพียงกระทงเดียว

ประเด็น : ผู้เช่าที่ดินเพื่อนำมาบริหารจัดการเป็นที่จอดรถและจัดเก็บค่าบริการ เมื่อเข้าฤดูฝนเกิดมีพายุทำให้ต้นไม้ในบริเวณที่จอดรถหักลงมาทับรถเสียหาย ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามป.พ.พ. มาตรา 434

ป.พ.พ. มาตรา 434 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย

ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 3840/2563 จำเลยทำสัญญาเช่าพื้นที่จอดรถในโรงพยาบาลซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุเพื่อบริหารจัดการและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าบริการจอดรถไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลค้ำจุนหรือตัดแต่งต้นไม้ในลานจอดรถให้มีสภาพมั่นคงเพียงพอที่จะต้านทานพายุที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลซึ่งหาได้เป็นเหตุสุดวิสัยไม่ จำเลยในฐานะผู้ครองต้นไม้ที่หักล้มลงมาทับรถยนต์ที่ ณ. ผู้เอาประกันภัยนำไปจอดไว้ได้รับความเสียหาย จึงเป็นผู้กระทำละเมิดจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434 แก่ ณ. ผู้เอาประกันภัย เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์แทนผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันซึ่งมีต่อจำเลยตามจำนวนเงินที่ชดใช้ไปนั้น

ประเด็น : หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดและจัดการชำระบัญชีได้

   คำพิพากษาฎีกาที่ 734/2561  โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีผู้เป็นหุ้นส่วน 6 คน คือ โจทก์ทั้งสี่ อ. สามีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 บริหารกิจการห้างฯ จำเลยที่ 1 ในลักษณะก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อมามีมติเสียงข้างมากให้โจทก์ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทนจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียน จำเลยที่ 2 ใช้อำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการในการลงมติแต่งตั้ง ถอดถอนกรรมการของบริษัท ผ. และบริษัท ท. ที่ห้างฯ จำเลยที่ 1 ถือหุ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวก โจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 2 ต่างฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งและอาญาจากมูลเหตุการบริหารงานของห้างฯ จำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2556 บอกเลิกห้างฯ เป็นเวลามากกว่า 6 เดือน ก่อนสิ้นรอบปีชำระบัญชีขอให้เลิกห้างและจัดการชำระบัญชีนั้น ตามคำฟ้องจึงเป็นการบรรยายสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสี่และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ จำเลยที่ 1 ได้กระทำล่วงละเมิดบทบังคับอันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่โจทก์ทั้งสี่โดยจงใจ มีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่เมื่อบทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้กล่าวถึงว่าหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิขอเลิกห้างฯ ได้หรือไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องการเลิกห้างฯ ของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับตามที่มาตรา 1080 บัญญัติไว้ และมีผลให้หุ้นส่วนคนใดอาจร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างฯ ตามมาตรา 1057 (3) ได้ ดังนั้น โจทก์ทั้งสี่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ย่อมมีอำนาจฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ 1 และจัดการชำระบัญชีได้

ฎีกา 3908/2560 การโอนขายสิทธิการเช่าในอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะไม่ใช่การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ฎ.3908/2560 โจทก์ที่ 2 มีชื่อเป็นผู้เช่าที่ดินแปลงพิพาทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำตามที่คณะบุคคลโครงการ น. มอบหมายซึ่งอยู่ภายในวัตถุประสงค์ของคณะบุคคลดังกล่าว การที่คณะบุคคลโครงการ น. ตกลงให้อาคารและสิ่งก่อสร้างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วโดยคณะบุคคลโครงการ น. ได้รับสิทธิการเช่าเป็นค่าตอบแทนและสามารถนำสิทธิการเช่าโอนขายให้แก่บุคคลทั่วไปได้ โดยเมื่อลูกค้าชำระค่าสิทธิการเช่าดังกล่าวแล้ว ลูกค้าก็จะต้องไปทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ผู้ให้เช่าโดยตรง การประกอบกิจการของคณะบุคคลโครงการ น. ในลักษณะที่ได้รับผลตอบแทนจากการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าว นิติสัมพันธ์ระหว่างคณะบุคคลโครงการ น. กับบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นลูกค้า จึงหาได้มีลักษณะเป็นการเช่าอาคารอันได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ต) แต่เป็นการโอนขายสิทธิการเช่าให้แก่บุคคลภายนอกโดยมีค่าตอบแทน จึงย่อมเป็นการขายสินค้าที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2

ประเด็น : นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ จ่ายเงินเดือนในต่างประเทศ ลูกจ้างต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย ป.รัษฎากร มาตรา 41 วรรคหนึ่ง

ฎ.6054/2549 จำเลยเป็นลูกจ้างของบริษัท อ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างทั้งภายในและนอกประเทศไทย การที่บริษัท อ. ส่งจำเลยไปทำงานที่บริษัท อ. รับจ้างถมทะเลนอกประเทศ ค่าจ้างที่บริษัท อ. จ่ายให้แก่จำเลยจึงเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (1) ที่จำเลยได้รับเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย จึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 41 วรรคหนึ่ง

ประเด็น : สามีภริยาขายที่ดินสินสมรสจะตกลงให้สามีเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากกว่าภริยาตาม ป.รัษฎากร มาตรา 57 ฉ ว.2 ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เงินได้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาฝ่ายละจำนวนเท่าใด ฎีกา 3292/2561

ฎ.3292/2561 ป.รัษฎากร มาตรา 57 ฉ วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง” โจทก์กับ จ. ขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสินสมรส มีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเงิน 546,000 บาท อันเป็นเงินได้จากการขายสินสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน ทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสก็ถือว่าต่างฝ่ายมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันคนละกึ่งหนึ่งเช่นกัน เมื่อโจทก์กับ จ. ไม่ได้มีสัญญาตกลงกันไว้เป็นอื่นในเรื่องการจัดการสินสมรส ก็ถือว่าโจทก์กับ จ. มีเงินได้คนละกึ่งหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นเงินได้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดแจ้งว่าเป็นของสามีและภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 57 ฉ วรรคสอง โจทก์กับ จ. จะแบ่งเงินได้พึงประเมินของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสองตอนท้ายไม่ได้ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จำนวน 414,960 บาท ส่วน จ. มีเงินได้จำนวน 131,040 บาท จึงไม่ถูกต้อง

ประเด็น : กรรมการผู้จัดการลงลายมือชื่อออกเช็คของบริษัท แต่มิได้ประทับตราบริษัทและมิได้แถลงว่ากระทำการแทนบริษัท บริษัทและกรรมการผู้จัดการต้องร่วมกันชำระเงินตามเช็คต่อผู้ทรง ฎีกา 5415/2560

ฎ.5415/2560 แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การดำเนินการใดๆ ย่อมต้องทำผ่านทางผู้แทนคือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และการสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับของจำเลยที่ 2 ถือเป็นการกระทำตามหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ขณะออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นไปตามเงื่อนไขระหว่างจำเลยที่ 1 เจ้าของเช็ค กับธนาคารตามเช็ค ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และตราสารจัดตั้งที่ได้จดทะเบียนไว้ ประกอบกับในเรื่องตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คต้องรับผิด ตามเนื้อความในเช็ค และมาตรา 901 บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ก็ต่อเมื่อกระทำแทนบุคคลอื่นและเขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอื่นเท่านั้น ดังนั้น การที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และไม่ได้เขียนข้อความให้เห็นว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำในนามส่วนตัวด้วย และต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

ประเด็น : ผู้ทรงตั๋วแลกเงินผ่อนเวลาให้แก่ผู้จ่าย ทำให้ผู้สั่งจ่ายที่มิได้ยินยอมด้วยหลุดพ้นจากความรับผิด หนังสือรับสภาพหนี้ที่ผู้สั่งจ่ายทำไว้ย่อมตกเป็นโมฆะเพราะทำโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม

ฎ.921/2501 ผู้ทรงตั๋วแลกเงินไปยอมผ่อนเวลาการจ่ายเงินให้แก่ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินโดยมิได้ตกลงกับผู้สั่งจ่ายเสียก่อน ผู้ทรงตั๋วนั้นย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ย และผู้สั่งจ่ายก็พ้นจากความรับผิดอย่างใดๆ ตามกฎหมายต่อผู้ทรง

ในกรณีดังกล่าวข้างต้น ถ้าผู้สั่งจ่ายยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่ผู้ทรง ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเพราะขณะนั้นไม่มีหนี้อะไรเหลืออยู่แล้วแม้หนี้เดิมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1005 ก็ไม่ต้องรับผิด หนังสือรับสภาพหนี้นั้นจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119