คลังเก็บป้ายกำกับ: ทรัพย์-ที่ดิน

ขณะซื้อที่ดินผู้ซื้อทราบในข้อสัญญาว่าไม่มีสิทธิใช้ทางพิพาท แต่หากที่ดินที่ซื้อมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ผู้ซื้อจะมีสิทธิผ่านที่ดินพิพาทซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะในฐานะทางจําเป็นได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 2642/2562 ที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกแบ่งแยกมาจากที่ดินของบริษัท ศ. ซึ่งแม้ที่ดินของบริษัท ศ. จะเคยเป็นที่แปลงเดียวกับที่ดินของจําเลยมาก่อนก็จะถือโดยอนุโลมว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แบ่งแยกมาจากที่ดินของจําเลยด้วยหาได้ไม่ กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่โจทก์ทั้งสองจะฟ้องจําเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินที่ที่ดินของบริษัท ศ. แบ่งแยกมาให้เปิดทางจําเป็น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 แต่ที่ดินของบริษัท ศ. ซึ่งเป็นที่ดินแปลงคงและที่ดินแปลงอื่นที่แบ่งแยกในคราวเดียวกันไม่ได้อยู่ติดต่อกับทางสาธารณะ ย่อมทําให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ จึงเป็นกรณีที่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ในฐานะทางจําเป็นตามมาตรา 1349 วรรคหนึ่ง  ขณะซื้อที่ดินแม้โจทก์ทั้งสองทราบในข้อสัญญาว่าไม่มีสิทธิใช้ทางพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนกลางของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจําเลย หากจะใช้ทางพิพาทต้องมาติดต่อขออนุญาตจากจําเลยก่อนก็ตามก็เป็นเพียงข้อกําหนดในสัญญาที่ผู้ขายทํากับโจทก์ทั้งสอง ไม่ใช่เงื่อนไขของกฎหมายที่บัญญัติห้ามไว้ในเรื่องขอใช้ทางจําเป็น เพราะสิทธิในการใช้ทางจําเป็นโดยผลของกฎหมายโจทก์ทั้งสองมีสิทธิผ่านที่ดินของจําเลยออกสู่ทางสาธารณะซึ่งเป็นทางจำเป็นที่สะดวกและก่อให้เกิดความเสียหายแก่จําเลยน้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม 

ข้อตกลงก่อตั้งภาระจำยอมที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก แต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากบุคคลภายนอกแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวแล้วบุคคลภายนอกจะฟ้องเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์จดทะเบียนภาระจำยอมได้หรือไม่

      คำพิพากษาฎีกาที่ 5441/2561 เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 16962 ทำบันทึกข้อตกลงให้ที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 16962 เป็นภาระจำยอมให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 9878 เป็นทางเข้าออกไปสู่ทางสาธารณะได้ หรือใช้เป็นถนนสัญจรไปมาร่วมกัน ตลอดจนยังมีสิทธิใช้เพื่อการติดตั้งเสาและการเดินสายไฟฟ้า โทรทัศน์ ท่อน้ำประปา ท่อระบายน้ำ หรือประโยชน์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่ระบุไว้ข้างต้น เพื่อพาดผ่าน หรือฝังในที่ดินภาระจำยอมดังกล่าว อันเป็นข้อตกลงก่อตั้งภาระจำยอมที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ที่ 1 รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 9878 อันเป็นที่ดินสามยทรัพย์ ส่วนโจทก์ที่ 2 รับโอนที่ดินซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 9878 ภาระจำยอมที่ก่อตั้งขึ้นตามบันทึกข้อตกลงย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้โอนมาเป็นของโจทก์ทั้งสองด้วย 

ก่อนฟ้องโจทก์ทั้งสองเคยบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 รื้อประตูเหล็กทึบ ขุดดินที่ถมทางภาระจำยอม รื้อรั้วไม้ที่ปิดกั้นทั้งหมดและเปิดทางระบายน้ำอันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงก่อตั้งภาระจำยอมตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว สิทธิของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้น อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 16962 ต้องยอมรับกรรมบางอย่างตามบันทึกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมตามบันทึกข้อตกลง 

ข้อตกลงก่อตั้งภาระจำยอมตามบันทึกข้อตกลงเป็นการก่อตั้งภาระจำยอมโดยนิติกรรม แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมนั้นไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ไม่ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าแต่อย่างใด ยังบังคับกันได้เป็นบุคคลสิทธิ ในระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 16962 ซึ่งต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกกับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ โจทก์ทั้งสองย่อมบังคับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 16962 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ 

ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์แต่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่จะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลผู้สืบสิทธิในที่ดินดังกล่าวในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรมของเจ้าของที่ดิน ได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 7790/2561 

พ. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินมาตั้งแต่ปี 2520  
และ น. มอบโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักฐานว่าได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย การที่ น. ไปแจ้งความว่าโฉนดที่ดินหายและขอออกใบแทนโฉนดที่ดินในปี 2551 เป็นเหตุผลส่วนตัวของ น.ซึ่งไม่มีผลกระทบ 
ต่อการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลย แม้การยกให้ที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์จะไม่สมบูรณ์เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่จำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ก่อนที่ น. จะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในปี 2545 จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382  
อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และแม้จำเลยยังมิได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่โจทก์จดทะเบียนได้สิทธิในที่ดินมาจากการสืบสิทธิของ พ. และ น. ในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรม โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยยกสิทธิดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ 

บุคคลที่ศาลพิพากษาว่าไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดิน (เพราะเป็นผู้ครอบครองแทน) ให้ผู้ครอบครองคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่เจ้าของบุคคลดังกล่าวจะแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือทรัพย์สินแทนมาเป็นยึดถือเพื่อตนอันจะเป็นการแย่งการครอบครองได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 5860/2562 

บุคคลผู้ยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองและเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป อันมีผลให้บุคคลผู้ยึดถือทรัพย์สินได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ประกอบมาตรา 1367 นั้น จะต้องเป็นการยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองโดยชอบหรือมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน และแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ทรัพย์สินแทนมาเป็นการยึดถือเพื่อตน จึงจะถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง ซึ่งผู้ครอบครองต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง  

คดีก่อนโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ฟ้องขอให้จําเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จําเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ส. ไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท พิพากษาให้จําเลยคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว จําเลยมีหน้าที่ปฏิบัติตามคําพิพากษาด้วยการคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่โจทก์ แต่จําเลยไม่ปฏิบัติตามคําบังคับ คงครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ตลอดมาอันเป็นการครอบครองโดยไม่ชอบ จําเลยจึงมิใช่บุคคลผู้ยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองตามความหมายของมาตรา 1381 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จําเลยไม่มีสิทธิที่จะแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือทรัพย์สินแทนมาเป็นการยึดถือเพื่อตนอันจะเป็นการแย่งการครอบครองตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาชอบที่จะบังคับคดีให้จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษาต่อไป ซึ่งศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแก่จําเลยตามคําขอของโจทก์แล้ว การที่จําเลยยื่นคําร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ภายหลังศาลฎีกามีคําพิพากษาจําเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท ต่อมาจําเลยมีหนังสือบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแทนมาเป็นการยึดถือเพื่อตน เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อมิให้ตนต้องถูกบังคับคดีตามคําพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนนั่นเอง เมื่อจําเลยและบริวารไม่ออกจากที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมมีอํานาจฟ้องขับไล่จําเลยและบริวารให้ออกจากที่ดินพิพาทโดยไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง 

เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมซึ่งมีสิทธิผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะ หากต่อมาที่ดินซึ่งถูกล้อมมีทางออกอื่นไปถึงทางสาธารณะได้ แต่การใช้ทางจำเป็นมีความสะดวกกว่า ดังนี้ เจ้าของที่ดินที่ล้อมมีอำนาจฟ้องขอให้ยกเลิกทางจำเป็นหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่579/2562 

กรณีที่เจ้าของที่ดินแปลงใดจะขอผ่านที่ดินแปลงอื่นเพื่อเป็นทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงนั้นไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ เดิมจำเลยทั้งห้าฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามให้เปิดทางจำเป็นเพื่อใช้เป็นทางผ่านออกไปสู่ทางสาธารณะ โดยอ้างว่าที่ดินของจำเลยทั้งห้าให้ถูกที่ดินของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามและที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ดังนี้ จำเลยทั้งห้าจึงมีสิทธิผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธาณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง แต่หากต่อมาที่ดินแปลงดังกล่าวนั้น มีทางออกอื่นไปถึงทางสาธาณะได้ ความจำเป็นในการใช้ทางจำเป็นก็ไม่ต้องมีอีกต่อไป ข้อจำกัดทรัพยสิทธิเกี่ยวกับทางจำเป็นก็ย่อมหมดไปด้วย เมื่อปรากฏว่าสะพานคอนกรีตข้ามคลองตาคตที่เชื่อมต่อที่ดินของจำเลยทั้งให้กับถนนลาดยางเลียบคลองตาคตนั้นเป็นถนนสาธารณะมีความกว้างถึง 6 เมตร กรณีย่อมฟังได้ว่าปัจจุบันที่ดินของจำเลยทั้งห้ามีทางออกอื่นไปถึงทางสาธารณะแล้วจำเลยทั้งห้าย่อมไม่มีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามเป็นทางจำเป็นเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยทั้งห้านำสืบว่าทางพิพาทมีความสะดวกในการเดินทางมากกว่านั้นก็มิอาจใช้เป็นข้ออ้างเพื่อให้ทางพิพาทยังคงเป็นทางจำเป็นตลอดไป ทั้งที่เหตุแห่งการได้มาซึ่งทางจำเป็นตามกฎหมายของจำเลยทั้งหมดสิ้นไปแล้ว โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องขอให้ยกเลิกทางจำเป็นได้ 

 บุคคลซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาจะยกสิทธิของตนเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลหรือบุคคลผู้รับโอนที่ดินจากบุคคลดังกล่าวมาได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่3140/2562 

จำเลยซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นิติกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม   ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ผู้ขายได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้เข้าครอบครองปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปี จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แต่การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกรณีดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเมื่อยังมิได้จดทะเบียนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกกระทำการโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300 

ในการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทตามคำสั่งศาลชั้นต้น กองทุนรวม บ. ผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้กระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 จำเลยกล่าวอ้างว่ากองทุนรวม บ. และโจทก์ร่วมกันกระทำการโดยไม่สุจริตจึงมีภาระการพิสูจน์ 

กองทุนรวม บ. ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และโจทก์ผู้รับโอนที่ดินพิพาทต่อมา ซึ่งถือว่าเป็นผู้สืบสิทธิของกองทุนรวม บ. ได้กระทำการรับโอนไว้โดยสุจริตเช่นกัน กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของกองทุนรวม บ. และของโจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 การที่จำเลยซึ่งซื้อที่ดินพิพาทและเข้าทำประโยชน์ปลูกบ้านอยู่อาศัยจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่อาจยกขึ้นต่อสู้กองทุนรวม บ. บุคคลภายนอกผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลและต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิโดยสุจริตได้และการที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่วันที่กองทุนรวม บ. โอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ถึงวันที่จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ออกจากที่ดินพิพาทยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในช่วงหลังนี้ ดังนั้น เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยยังคงเพิกเฉยย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยและบริวารให้ออกจากที่ดินพิพาทได้ ทั้งมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาทได้ด้วย