คลังเก็บป้ายกำกับ: #ค้ำประกัน

สามีทําสัญญาค้ำประกันจะต้องได้รับความยินยอมจากภริยาหรือไม่ และการที่ภริยาให้ความยินยอมจะถือเป็นการให้สัตยาบันอันจะถือเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ ร่วมกันหรือไม่? ลูกหนี้ทําสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ มีผลให้หนี้เดิม ระงับสิ้นไปหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 8820/2561  จําเลยที่ 1 ทําสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ส. ทําสัญญาค้ำประกันและสัญญาจํานองเพื่อเป็นประกันหนี้ของจําเลยที่ 1 ซึ่งจําเลยที่  2 (ภริยา) ส. ทําหนังสือให้ความยินยอมทํานิติกรรมทุกประเภท การให้ความยินยอมดังกล่าวเป็นผลให้จําเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิด ในหนี้อันคู่สมรสได้ก่อขึ้นเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสหรือไม่  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 ที่บัญญัติว่า หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้… (4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน การให้ความยินยอมของคู่สมรสในการทํานิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสอยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 1476 ที่กําหนดให้เฉพาะการจัดการสินสมรสที่มีความสําคัญตาม มาตรา 1476 (1) ถึง (8) ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย สําหรับการทํานิติกรรมในส่วนที่ ส. ทําสัญญาจํานองต้องได้รับความยินยอมจากจําเลยที่ 2 ตามมาตรา 1476 (1) แต่การที่ ส. ทําสัญญาค้ําประกัน จําเลยที่ 1 หาได้อยู่ในบังคับมาตรา 1476 หรือเป็นการจัดการสินสมรสโดยตรงไม่ กรณีจะเป็นหนี้ร่วมต่อเมื่อจําเลยที่ 2 คู่สมรสได้ให้สัตยาบันตาม มาตรา 1490 (4) ซึ่งการที่จําเลยที่ 2 คู่สมรสให้ความยินยอมในการทํานิติกรรมตามหนังสือให้ความยินยอมเป็นการให้สัตยาบันของคู่สมรสตามมาตรา 1490 (4) หรือไม่นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ในส่วนที่ ส. สัญญาค้ำประกันจําเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จําต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจําเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไปจึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทํานิติกรรม หาใช่เป็นการให้สัตยาบันตามนัยของบทบัญญัติมาตรา 1490 (4) ไม่ เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แต่อย่างใดว่า จําเลยที่ 2 รับรองการที่ ส. ก่อหนี้ขึ้นแล้วตามมูลหนี้ที่มีการทําสัญญาค้ำประกันจําเลยที่ 1 คงปรากฏเฉพาะการที่จําเลยที่ 2 รับรู้ถึงการเข้าทําสัญญาค้ำประกันของ ส. เท่านั้น เมื่อจําเลย ที่ 2 ไม่ได้ให้สัตยาบันการก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่คู่สมรสได้กระทําไป จําเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ส่วนการที่จําเลยที่ 2 มีฐานะเป็นทายาท โดยธรรมของ ส. การที่ ส. ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย ภาระการค้ำประกันที่ ส. ผูกพันตนเพื่อ ชําระหนี้เมื่อจําเลยที่ 1 ลูกหนี้ไม่ชําระหนี้ยังไม่ระงับสิ้นไป และถึงแม้จําเลยที่ 1 ทําสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. โดยผู้ค้ำประกันหรือทายาทของผู้ค้ำประกัน ไม่ได้ร่วมลงชื่อในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก็ตาม แต่การทําสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นเพียงข้อตกลงผ่อนปรนในการชําระหนี้หาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันเป็นผลให้หนี้เดิมระงับ สิ้นไปไม่ อีกทั้งตามสัญญาค้ำประกันไม่ให้ผู้ค้ำประกันยกเอาการที่เจ้าหนี้ผ่อนเวลาหรือให้ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชําระหนี้เป็นเหตุปลดเปลื้องความรับผิดของผู้ค้ำประกัน เมื่อยังมีภาระ การค้ำประกันอยู่เช่นนี้ จําเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้ค้ำประกัน แต่จําเลยที่ 2 คู่สมรสซึ่งให้ความยินยอมในการทํานิติกรรมไม่ต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใด คําพิพากษาฎีกาที่ 7568/2562 สัญญาค้ำประกันที่จําเลยที่ 1 ที่ 3 และ ก. ทํามิใช่นิติกรรมที่ต้องได้รับความยินยอมจากภริยา ประกอบกับหนังสือยินยอมระบุข้อความ ว่ายินยอมให้ทําสัญญา/ข้อตกลงเกี่ยวกับการขอสินเชื่อ การค้ำประกัน การจํานอง การจํานํา และ/หรือนิติกรรมใด ๆ ได้ทั้งสิ้น อันมีลักษณะเป็นการให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป เป็นเพียงหนังสือแสดงว่าจําเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รับรู้และไม่คัดค้านที่จําเลยที่ 1 ที่ 3 และ ก. สามีก่อหนี้ขึ้นตามสัญญาค้ำประกัน มิใช่เป็นการให้สัตยาบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (4) จําเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในฐานะส่วนตัวจึงไม่ต้องร่วมรับผิดชําระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเพียงการผ่อนปรนเงื่อนไขในการชําระหนี้ที่โจทก์ให้โอกาสแก่บริษัท ซ. ซึ่งเป็นลูกหนี้ ไม่ได้เป็นการทําหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขเพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าไปในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขหรือเปลี่ยนเงื่อนไข ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งหนี้ หรือมีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 และมาตรา 350 เพราะลูกหนี้ยังคงเดิม ทั้ง ต. ร. และ ส. ก็เป็นผู้ค้ำประกันในมูลหนี้เดิม จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทําให้หนี้เดิมระงับ 

ผู้ค้ำประกันร่วมคนหนึ่งใช้หนี้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้ จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ค้ำประกันร่วมอีกคนหนึ่งได้หรือไม่ เพียงใด

คำพิพากษาฎีกาที่ 7028/2562 โจทก์และจําเลยที่ 2 ต่างเป็นเป็นผู้ค้ำประกัน จําเลยที่ 1 ต่อธนาคาร ก. จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันจําเลยที่ 1 ในหนี้รายเดียวกัน โจทก์กับจําเลยที่ 2จึ งต้องรับผิดต่อธนาคาร ก. อย่างลูกหนี้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์เข้าใช้หนี้แก่ธนาคาร ก. แทนจําเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของธนาคาร ก. ไล่เบี้ยเอาแก่จําเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่า ๆ กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) และมาตรา 296 

เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันเกินหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้เช่าชื้อผิดนัด ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนร่วมกับผู้เช่าซื้อ หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่5372/2562 

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อนับแต่วันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับแล้ว โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา แต่ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่กรณีพระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น และมาตรา 19 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกัน ให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้” ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติไว้ว่า “เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด…และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง” สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่ง โดยผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าชื้อให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อเป็นรายงวดตามจำนวนที่ตกลงกัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งหนี้ที่เช่าชื้อให้ผู้เช่าซื้อหากไม่มีการกำหนดทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้แก่กันแล้วสัญญาเช่าซื้อย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ จึงนับว่าทรัพย์สินที่เช่าซื้อเป็นหนี้ประธานในการก่อให้เกิดสัญญาเช่าซื้อ เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้การส่งมอบรถยนต์กระบะดังกล่าวคืนหรือใช้ราคาแทนจึงเป็นหนี้ประธานแห่งสัญญามิใช่อุปกรณ์แห่งหนี้ในสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น การที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายบังคับไว้โดยมีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ผิดนัด ก็หาเป็นผลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลุดพ้นจากการต้องร่วมชำระหนี้ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนแก่โจทก์ภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ 

เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันเกินกําหนด 60 วัน นับแต่วันที่ ลูกหนี้ผิดนัดมีผลต่อความรับผิดของผู้ค้ำประกันอย่างไร

คําพิพากษาฎีกาที่ 3847/2562 

หนังสือบอกกล่าวที่โจทก์ส่งไปยังจําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกันระบุว่าจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นมียอดหนี้จํานวนเงินค้างชําระและยังมิได้ชําระหนี้ ขอให้ไปชําระหนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวซึ่งมีข้อความที่แจ้งว่าลูกหนี้ผิดชําระหนี้ เข้าลักษณะเป็นหนังสือบอกกล่าวตามความมุ่งหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ซึ่งกฎหมายไม่ได้กําหนดรูปแบบข้อความหนังสือบอกกล่าวไว้อย่างชัดเจน 

จําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้รับหนังสือบอกกล่าวที่โจทก์ส่งให้จําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จําเลยที่ 1 ผิดนัด จําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อม หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกําหนดเวลาแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคสอง โจทก์คงเรียกให้จําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชําระต้นเงินและ ดอกเบี้ยที่คิดได้เพียง 60 วัน นับแต่วันที่จําเลยที่ 1 ผิดนัด 

คําพิพากษาฎีกาที่ 3263/2562 หนังสือบอกกล่าวของโจทก์ได้ไปถึงจําเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันภายหลังเวลาที่พ้นกําหนด 60 วัน นับแต่จําเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง จําเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกําหนดเวลา 60 วัน ตามมาตรา 686 วรรคสอง จําเลยที่ 2 ต้องรับผิดในดอกเบี้ยต้นเงินจํากัดเฉพาะช่วงเวลา 60 วัน นับแต่จําเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัด 

ผู้กู้ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาตามสัญญาบ้างหรือไม่ครบบ้าง แต่ผู้ให้กู้ก็ยอมรับชำระหนี้ไว้โดยไม่ทักท้วง จะถือว่าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้เมื่อใด ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ หากผู้ให้กู้ไม่มีหนังสือบอกกล่าวกล่าวทวงถามให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ผู้ให้กู้จะมีอำนาจฟ้องผู้ค้ำประกันหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 1279/2562 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ            
สัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภค ข้อ 3 ระบุว่าตกลงผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 8,500 บาท ยกเว้นเดือนสุดท้าย มีกำหนดชำระ 180 งวด เริ่มผ่อนชำระตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 เป็นต้นไป และชำระให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2568 … ส่วนสัญญาข้อ 4 ระบุว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้เงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยงวดหนึ่งงวดใดผู้กู้ยอมถือว่าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด  ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราไม่เกินดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้พึงเรียกได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในขณะทำสัญญากู้มีอัตราเท่ากับร้อยละ 19 ต่อปี ของยอดเงินกู้คงเหลือ ณ วันที่ผิดนัด แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลบัญชีสินเชื่อปรากฏว่านับแต่ทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์เรื่อยมาจนกระทั่งในงวดเดือนกันยายน 2555 และงวดเดือนตุลาคม 2555 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ อันเป็นการผิดสัญญาข้อ 4 ย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ ต่อมาจำเลยที่ 1  ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2555 และชำระเรื่อยมาแม้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาตามสัญญาบ้างหรือไม่ครบบ้าง แต่โจทก์ก็ยอมรับชำระหนี้ไว้โดยที่ไม่ได้ทักท้วงย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ถือระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวไปยังผู้กู้ให้ชำระหนี้ที่ค้างชำระโดยกำหนดเวลาพอสมควรก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม โดยจำเลยที่ 1 ได้รับเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 จึงครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 20 เมษายน 2559 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย จำเลยที่ 1 จึงผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 และภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ไม่มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ทายาทของยนายสัญชัย ผู้ค้ำประกันชำระหนี้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง  ที่แก้ไขใหม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นผลให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์