
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 59 วางหลักว่า บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่วามในคดีเดียวกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้
(1) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย
เมื่อโจทก์ฟ้องโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์และต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีและมูลความแห่งคดีนั้นจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ยื่นคำให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ จึงถือว่าการยื่นคำให้การดังกล่าวได้กระทำโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วย ศาลจึงสามารถพิพากษายกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่มิได้ยื่นคำให้การต่อสู้เรื่องอายุความได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1191/2560 ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ มูลความแห่งคดีจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1)