คลังเก็บหมวดหมู่: อาญา ภาคทั่วไป

ประเด็น : ใช้ถุงพลาสติกไม่มีช่องอากาศครอบศีรษะแล้วใช้เทปกาวพันรอบถุงบริเวณลำคอผู้ตาย จำเลยย่อมเห็นผลได้ว่าจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจถึงแก่ความตายได้ ถือว่ามีเจตนาฆ่า จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288

คำพิพากษาฎีกาที่ 5332/2560
จำเลยใช้ถุงพลาสติกซึ่งไม่มีช่องอากาศครอบศีรษะผู้ตาย แล้วใช้เทปกาวพันรอบถุงบริเวณลำคอผู้ตาย
…..แม้จำเลยจะอ้างว่าไม่มีเจตนาฆ่า เพราะถ้าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายจริงจำเลยก็คงเอามีดแทงหรือบีบคอผู้ตายให้ถึงแก่ความตายไปแล้ว คงไม่ต้องลำบากหาถุงพลาสติกมาครอบศรีษะจำเลยนั้น
เห็นได้ว่าแม้จำเลยจะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย คงเพียงแต่จะทรมานผู้ตายเท่านั้น แต่จำเลยย่อมเห็นผลได้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้ จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายแล้ว
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288
การที่จำเลยจะอ้างว่าการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะได้นั้นต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเสียก่อน และต้องเป็นการกระทำความผิดในขณะที่ถูกผู้ตายข่มเหงด้วย
ก่อนเกิดเหตุจำเลยกับผู้ตายมีปากเสียงทะเลาะกันในขณะที่จำเลยขับรถยนต์มากับผู้ตาย แม้จำเลยอ้างว่าผู้ตายทุบตีและถีบจำเลยจนทำให้รถยนต์เสียหลักไปชนกับขอบทางด่วน แต่สาเหตุที่ผู้ตายกระทำต่อจำเลยนั้น เกิดจากการที่จำเลยหลอกลวงให้ผู้ตายไปพบเพื่อดูรถยนต์ที่จำเลยจะนำมาตีใช้หนี้ให้แก่ผู้ตาย ซึ่งถือว่าจำเลยมีส่วนผิดอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อจำเลยใช้เข็มขัดพลาสติกรัดสายไฟมัดมือมัดเท้า ใช้เทปปิดปากผู้ตายและถอดเสื้อผ้าของผู้ตายออกทิ้งไปแล้ว ผู้ตายย่อมไม่อาจกระทำการอันเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมต่อไปได้
การที่จำเลยยังคงใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะผู้ตายและใช้เทปมัดถุงพลาสติกรัดคอผู้ตายจนแน่น โดยอ้างว่ายังคงได้ยินเสียงผู้ตายด่าทอและขู่จะทำร้ายภรรยาและบุตรของจำเลย จนทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมานั้น ย่อมไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในขณะที่ถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ

ประเด็น : จำเลยพูดให้สัมภาษณ์ที่พม่าหมิ่นประมาทโจทก์ ความผิดสำเร็จเมื่อนักข่าวทราบข้อความนั้น จำเลยกระทำความผิดนอกราชฯ และไม่ใช่กรณี ตามม.5 ที่ผลเกิดในราชฯ ซึ่งจะถือว่าได้กระทำความผิดในราชฯ จึงไม่ต้องรับโทษในราชฯ (ฎ.6593/2559)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6593/2559 ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ไม่ใช่ความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ เมื่อจำเลยพูดให้สัมภาษณ์นักข่าว การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดย่อมสำเร็จ เมื่อนักข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามทราบข้อความแล้ว โดยคนที่ถูกหมิ่นประมาทไม่ต้องรู้ว่าตนเองถูกหมิ่นประมาท สำหรับข้อที่ว่าโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังนั้น เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ ไม่ใช่ผลของการกระทำ จึงไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคแรก เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนอกราชอาณาจักรและไม่ใช่กรณีกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญาถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร

 หลอกลวงเจ้าของที่ดินให้โอนที่ดิน แล้วนำที่ดินไปจำนองแก่บุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองไว้โดยสุจริต ต่อมาในคดีอาญา ศาลพิพากษาลงโทษผู้หลอกลวงฐานฉ้อโกงให้จดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้แก่เจ้าของ ดังนี้ เจ้าของที่ดินจะขอให้เพิกถอนการจำนองและผู้รับจำนองต้องคืนโฉนดที่ดินแก่เจ้าของหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 3022/2562 

จำเลยที่ 1 โดยทุจริตหลอกลวงให้โจทก์โอนที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจะใช้โฉนดที่ดินดังกล่าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อนำเงินมาลงทุนทำธุรกิจโดยจะไม่นำที่ดินดังกล่าวไปก่อภาระผูกพันใด ๆ เมื่อธนาคารอนุมัติเงินแล้วจะโอนที่ดินคืนแก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดินกับจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าทำให้โจทก์ซึ่งพักอาศัยอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวเสียหาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341 และขอให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์โดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 91 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันใด ๆ 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ต้องคืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องและคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวง การแสดงเจตนาทำนิติกรรมดังกล่าวของโจทก์เกิดขึ้นเพราะถูกกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 อันเป็นโมฆียะกรรม แต่นิติกรรมดังกล่าวซึ่งเป็นโมฆียะกรรมนั้นยัง 

มีผลสมบูรณ์ใช้ได้จนกว่าจะถูกบอกล้างโดยชอบ ขณะที่จำเลยที่ 1 จำนองที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1 ยังมีชื่อเป็นเจ้าของ จึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย แม้ที่ดินพิพาทจะได้โอนกลับไปเป็นของโจทก์ในภายหลังจากการจำนองนั้นแล้ว นิติกรรมจำนองที่จำเลยที่ 1 ก่อไว้ย่อมตกติดมาด้วย โจทก์ไม่อาจยกเอาเหตุโมฆียะที่โจทก์บอกล้างนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้นแล้วขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ตาม 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 ประกอบมาตรา 1329 โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 2 รับจำนองไว้ (จำเลยที่ 2 มีสิทธิยึดถือต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทได้จนกว่าจะมีการไถ่ถอนจำนอง) 

เคยได้รับโทษจําคุกเกินกว่า 6 เดือน ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดย ประมาทหรือความผิดลหุโทษและพ้นโทษจําคุกมายังไม่เกิน 5 ปี หากคดีหลังเป็นการกระทำผิดโดยประมาท ศาลจะรอการลงโทษให้ได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 645/2563 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ใหม่) ได้เพิ่มหลักเกณฑ์ให้ศาลสามารถใช้ ดุลพินิจรอการลงโทษให้แก่จําเลยได้มากขึ้น จากเดิมที่จํากัดเฉพาะแต่จําเลยที่ไม่เคยต้องโทษจําคุกมาก่อน หรือเคยต้องโทษจําคุกแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือ ความผิดลหุโทษ ได้เพิ่มให้จําเลยที่เคยต้องโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน และจําเลยที่เคยได้รับโทษจําคุกมาก่อน แต่พ้นโทษจําคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จากหลักเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมานั้น แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้จําเลยที่เคยต้องโทษจําคุกมาในระยะเวลาสั้นและจําเลยที่เคยได้รับโทษจําคุกระยะยาวแต่พ้นโทษมานานแล้ว มีโอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี 

จําเลยเคยได้รับโทษจําคุกเกินกว่า 6 เดือนในความผิดฐานร่วมกันประกอบกิจการให้สินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาตและเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และจําเลยพ้นโทษจําคุกมายังไม่เกินห้าปี แม้คดีนี้จะเป็นการกระทำความผิดโดยประมาทก็ตามจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะใช้ดุลพินิจรอการลงโทษให้แก่จําเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (2),(3) 

ยิงปืนใส่กลุ่มวัยรุ่นในขณะมีผู้คนกําลังเล่นน้ำสงกรานต์และมีรถยนต์แล่น ขวางทางเบื้องหน้า กระสุนปืนที่ยิงถูกผู้อื่น ดังนี้ เป็นการกระทำโดยพลาดหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 6684/2562 

ความผิดฐานกระทำโดยพลาด ตาม ป.อ. มาตรา 60 นั้น หมายความว่าผู้ใด เจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป กฎหมายย่อมถือเจตนาของผู้กระทำเป็นสำคัญว่า ไม่ได้มีเจตนากระทำต่อผู้ที่ถูกกระทำโดยพลาด แต่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ และต้องไม่ใช่กรณีที่ผู้กระทำเล็งเห็นผลของการกระทำโดยเจตนาเล็งเห็นผล 

วันเกิดเหตุเป็นวันเทศกาลสงกรานต์ การจราจรติดขัด มีรถยนต์และผู้คนกําลังเล่นน้ำ สงกรานต์ในวันเทศกาลอย่างพลุกพล่าน แต่ทิศทางที่จําเลยที่ 1 เล็งปืนไปข้างหน้าใส่กลุ่มวัยรุ่นนั้น มีรถยนต์แล่นอยู่เป็นแนวโดยตลอดและมีการยิงปืนเพียงข้างเดียวจากจําเลย ที่ 1 ไม่มีการยิงปืนจากฝ่ายตรงข้าม และนอกจากรถยนต์คันที่โจทก์ร่วมนั่งโดยสารมาแล้ว กระสุนปืนที่จําเลยที่ 1 ยิง ยังไปถูกรถกระบะอีกคันหนึ่งด้วย การที่มีผู้คนกําลังเล่นน้ำ สงกรานต์และมีรถยนต์แล่นขวางทางเบื้องหน้า แต่จําเลยที่ 1 ยังคงยิงปืนออกไป ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจําเลยที่ 1 มีเจตนาเล็งเห็นแล้วว่า กระสุนปืนอาจถูกบุคคลอื่นที่อยู่ข้างหน้านั้นได้ การกระทำของจําเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลว่ากระสุนปืนอาจถูกบุคคลอื่นถึงแก่ความตายได้ จําเลยที่ 1 จึงมีเจตนาพยายามฆ่าโจทก์ร่วม หาใช่เป็นการกระทำโดยพลาดไม่ 

จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษและพ้นโทษจำคุกมายังไม่เกิน 5 ปี หากคดีหลังเป็นการกระทำผิดโดยประมาท ศาลจะรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่645/2563 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ใหม่) ได้เพิ่มหลักเกณฑ์ให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้มากขึ้น จากเดิมที่จำกัดเฉพาะแต่จำเลยที่ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือเคยต้องโทษจำคุกแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ได้เพิ่มให้จำเลยที่เคยต้องโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และจำเลยที่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จากหลักเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมานั้น แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้จำเลยที่เคยต้องโทษจำคุกมาในระยะเวลาสั้นและจำเลยที่เคยได้รับโทษจำคุกระยะยาวแต่พ้นโทษมานานแล้ว มีโอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี 

จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน ในความผิดฐานร่วมกันประกอบกิจการให้สินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาตและเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และจำเลยพ้นโทษจำคุกมายังไม่เกินห้าปี แม้คดีนี้จะเป็นการระทำความผิดโดยประมาทก็ตามจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะใช้ดุลพินิจรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 (2), (3) 

ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงขับรถกระบะพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ที่ผู้ข่มเหงขับ โดยมีคนนั่งซ้อนท้ายซึ่งมิได้ร่วมในการข่อมเหงด้วย เป็นเหตุให้คนนั่งซ้อนท้ายถึงแก่ความตาย ดังนี้ ในส่วนคนนั่งซ้อนท้ายจะเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยพลาดหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 8882/2561 การกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ.มาตรา 72 เป็นกรณีที่ผู้กระทำถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ส่วนการกระทำโดยพลาดตาม ป.อ.มาตรา 60 เป็นกรณีที่ผู้กระทำเจตนากระทำต่อบุคคลคนหนึ่งแต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป สำหรับการกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ผู้กระทำต้องเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นแล้วว่าจะทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับผลนั้น ซึ่งเป็นผลที่เห็นได้ชัดว่า จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

            ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา โดย พ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 1 ส่วน ข. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ท. ไม่ปรากฏว่า พ.กับ ข. ผู้ตายทั้งสองได้ร่วมทำร้ายหรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาที่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกทำร้ายจำเลย แม้ผู้ตายทั้งสองจะอยู่ในที่เกิดเหตุก็ไม่ปรากฎว่ามีการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเกิดความฮึกเหิมรุมทำร้ายจำเลยกับพวก หลังเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองไปกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกก็คงเป็นเพราะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วยกันพฤติการณ์ของผู้ตายทั้งสองฟังไม่ได้ว่า ผู้ตายทั้งสองข่มเหงหรือร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยชับรถกระบะซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแรงปะทะมากกว่ารถจักรยานยนต์หลายเท่าฝ่าเข้าไปหรือพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกโดยแรง แม้กระทำเพียงครั้งเดียว ก็เห็นได้ว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกชนจะถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรงไม่ใช่ กรณีที่จำเลยเจตนาที่จะกระทำต่อกลุ่มคนที่รุมทำร้ายจำเลย แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ผู้ตายทั้งสองโดยพลาดไป เมื่อผู้ตายทั้งสองมิได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมการกระทำความผิดต่อผู้ตายทั้งสองจึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้

คดีก่อนศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกินหกเดือน อันไม่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ แต่จำเลยได้รับการปลดปล่อยก่อนกำหนดตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ดังนี้ จะถือว่าจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนอันเข้าเงื่อนไขที่อาจรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 6815/2561 พ.ร.ฎ. พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 มีผลเพียงให้จำเลยได้รับลดโทษหรือปล่อยก่อนกำหนดเท่านั้น หามีผลเป็นการลบล้างหรือทำให้จำเลยพ้นความผิดหรือถือว่าจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกในคดีนั้นมาก่อนไม่ เมื่อคดีก่อนนั้นถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการที่พิพากษาลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ จำคุก 6 ปี 8 เดือน อันไม่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และเป็นโทษจำคุกเกินหกเดือน ดังนั้น แม้จำเลยได้รับการปล่อยก่อนกำหนดเท่าใดก็ตามก็ถือว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อนและเป็นโทษจำคุกเกินหกเดือนอันไม่เข้าเงื่อนไขที่อาจรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 (1) และ (2) ได้

เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีกโดยความผิดในครั้งหลังมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ดังนี้ ความผิดในครั้งหลังศาลจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 7503/2561 จำเลยที่ 1 ซึ่งพ้นโทษในคดีก่อนนับถึงวันกระทำความผิดคดีนี้แม้จะเกินกว่า 5 ปี ก็ตาม แต่เมื่อมากระทำความผิดคดีนี้ซึ่งไม่ใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขตาม ป.อ. มาตรา 56 ที่จะรอการกำหนดโทษให้ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งพ้นโทษในคดีก่อนและกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกยังพ้นโทษมาไม่เกิน 5 ปี ทั้งความผิดในคดีก่อนและความผิดคดีนี้ต่างก็ไม่ใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ โดยโทษจำคุกในคดีก่อนเป็นโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน กรณีของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการกำหนดโทษให้ได้

เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเกินหกเดือน แต่คดีดังกล่าวเวลากระทำความผิดเป็นเวลาภายหลังเกิดเหตุคดีที่ศาลกำลังจะพิพากษาคดีเรื่องหลัง ดังนี้ จะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุก ได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 7264/2561 จำเลยเคยได้รับโทษจำคุก 3 ปี 3 เดือน และปรับ 200,000 บาท ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยพ้นโทษจำคุกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2559 คดีดังกล่าวเกิดเหตุเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ (คดีนี้เหตุเกิดระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน 2548 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2548) จำเลยฎีกาว่าคดีนี้เป็นการกระทำความผิดครั้งแรกของจำเลย จึงถือว่าขณะกระทำความผิดคดีนี้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนย่อมอยู่ในเงื่อนไขที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้
เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ที่บัญญัติว่า ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น (1) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน… ฯลฯ… ศาลจะรอการลงโทษผู้นั้นไว้ก็ได้นั้นหมายถึงว่า จำเลยไม่ได้รับโทษจำคุกมาก่อนคดีที่ศาลกำลังจะพิพากษา ซึ่งตามมาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) มิได้ระบุว่าคดีที่จำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนนั้น ต้องเป็นการกระทำความผิดมาก่อนคดีเรื่องหลัง จึงไม่อาจแปลกฎหมายดังที่จำเลยอ้างได้ เมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและเป็นโทษในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนและมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้