คลังเก็บหมวดหมู่: อาญา ภาคความผิด

ประเด็น : ใช้ถุงพลาสติกไม่มีช่องอากาศครอบศีรษะแล้วใช้เทปกาวพันรอบถุงบริเวณลำคอผู้ตาย จำเลยย่อมเห็นผลได้ว่าจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจถึงแก่ความตายได้ ถือว่ามีเจตนาฆ่า จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288

คำพิพากษาฎีกาที่ 5332/2560
จำเลยใช้ถุงพลาสติกซึ่งไม่มีช่องอากาศครอบศีรษะผู้ตาย แล้วใช้เทปกาวพันรอบถุงบริเวณลำคอผู้ตาย
…..แม้จำเลยจะอ้างว่าไม่มีเจตนาฆ่า เพราะถ้าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายจริงจำเลยก็คงเอามีดแทงหรือบีบคอผู้ตายให้ถึงแก่ความตายไปแล้ว คงไม่ต้องลำบากหาถุงพลาสติกมาครอบศรีษะจำเลยนั้น
เห็นได้ว่าแม้จำเลยจะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย คงเพียงแต่จะทรมานผู้ตายเท่านั้น แต่จำเลยย่อมเห็นผลได้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้ จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายแล้ว
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288
การที่จำเลยจะอ้างว่าการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะได้นั้นต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเสียก่อน และต้องเป็นการกระทำความผิดในขณะที่ถูกผู้ตายข่มเหงด้วย
ก่อนเกิดเหตุจำเลยกับผู้ตายมีปากเสียงทะเลาะกันในขณะที่จำเลยขับรถยนต์มากับผู้ตาย แม้จำเลยอ้างว่าผู้ตายทุบตีและถีบจำเลยจนทำให้รถยนต์เสียหลักไปชนกับขอบทางด่วน แต่สาเหตุที่ผู้ตายกระทำต่อจำเลยนั้น เกิดจากการที่จำเลยหลอกลวงให้ผู้ตายไปพบเพื่อดูรถยนต์ที่จำเลยจะนำมาตีใช้หนี้ให้แก่ผู้ตาย ซึ่งถือว่าจำเลยมีส่วนผิดอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อจำเลยใช้เข็มขัดพลาสติกรัดสายไฟมัดมือมัดเท้า ใช้เทปปิดปากผู้ตายและถอดเสื้อผ้าของผู้ตายออกทิ้งไปแล้ว ผู้ตายย่อมไม่อาจกระทำการอันเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมต่อไปได้
การที่จำเลยยังคงใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะผู้ตายและใช้เทปมัดถุงพลาสติกรัดคอผู้ตายจนแน่น โดยอ้างว่ายังคงได้ยินเสียงผู้ตายด่าทอและขู่จะทำร้ายภรรยาและบุตรของจำเลย จนทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมานั้น ย่อมไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในขณะที่ถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ

ประเด็น : ลูกหนี้ผิดนัด ผู้รับจำนำจึงเอารถยนต์ที่ลูกหนี้จำนำไว้ไปขาย โดยไม่บอกกล่าวบังคับจำนำเป็นหนังสือให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาพอสมควรก่อน ผู้รับจำนำมีความผิดฐานยักยอก ตาม ป.อ.มาตรา 352

คำพิพากษาฎีกาที่ 1997/2563 จำเลยรับจำนำรถยนต์พิพาทจาก ป. จำเลยมีเพียงสิทธิยึดถือครอบครองรถยนต์พิพาทไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนและมีสิทธิจะขายทรัพย์จำนำได้ต่อเมื่อบอกกล่าวบังคับจำนำเป็นหนังสือไปยัง ป. ให้ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาอันสมควรก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 758 และ 764 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้ ป. ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาพอสมควร จำเลยจึงไม่มีสิทธินำรถยนต์พิพาทไปขาย แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยนำไปขายให้แก่บุคคลใดก็ตาม แต่การที่จำเลยแจ้งแก่ ป. ว่าได้ขายรถยนต์พิพาทไปแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็นในการขายรถยนต์พิพาท เมื่อจำเลยยึดถือครอบครองรถยนต์พิพาทแทน ป. ผู้จำนำแล้วจำเลยนำรถยนต์พิพาทไปขายและไม่สามารถนำมาคืนให้แก่ ป. ผู้จำนำซึ่งได้ใช้สิทธิไถ่ถอนโดยนำเงินมาชำระหนี้แก่จำเลยแล้ว จึงเป็นการเบียดบังเอารถยนต์พิพาทนั้นไปเป็นของตนโดยทุจริต อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ป. ผู้จำนำ ผู้เสียหายที่ 1 ผู้ให้เช่าซื้อและผู้เสียหายที่ 2 เจ้าของรถยนต์พิพาทในขณะนั้น จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอก

ประเด็น : ผู้ให้กู้นำสัญญากู้ปลอมมาฟ้อง ต่อมาได้เบิกความเท็จและนำสัญญากู้ปลอมมาสืบพยานต่อศาล แม้ทำคนละวัน แต่ทำโดยมีเจตนาเดียวกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียว ศาลลงโทษฐานใช้/อ้างเอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นบทหนักที่สุดได้เพียงกระทงเดียว

คําพิพากษาฎีกาที่ 8407/2561 การที่จำเลยที่ 1 นำหนังสือสัญญากู้เงินที่ปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายใช้หรืออ้างในการฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น อันเป็นความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอมกับการที่จำเลยที่ 1 นำหนังสือสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าวนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอันเป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จและฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นการกระทำคนละวัน แต่เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยมีเจตนาเดียวกันคือเพื่อที่จะให้ศาลพิพากษาให้ผู้เสียหายชำระเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญากู้เงินที่ทำปลอมขึ้นเป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษในความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เพียงกระทงเดียว

อยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ระหว่างอยู่กินด้วยกันเปิดร้านอินเตอร์เน็ต และได้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมจอคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ต่อมาเลิกกัน ฝ่ายหนึ่งพาพวกมาขนเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ จอคอมพิวเตอร์ และเครื่องปริ้นเตอร์ ขณะอยู่ในความครอบครองของอีกฝ่ายไปเป็นของตนฝ่ายเดียวเป็นความผิดฐานใด

คําพิพากษาฎีกาที่502/2563 

ก่อนเกิดเหตุจำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส และระหว่างอยู่กินด้วยกันร่วมกันลงทุนประกอบกิจการร้านอินเทอร์เน็ตที่บ้านผู้เสียหาย ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ระหว่างอยู่กินกันฉันสามี- ภริยา ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์รวมโดยแต่ละฝ่ายมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวคนละส่วนเท่าๆ กัน เมื่อเลิกกันต้องแบ่งกรรมสิทธิ์ 

คนละครึ่ง การที่จำเลยกับพวกมาขนทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปเป็นของตนฝ่ายเดียวทั้งหมด เป็นการเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ 

ผู้เสียหายเป็นเด็กหญิงอายุ 7 ปีเศษ เล่นอยู่กับเพื่อนบริเวณอู่ซ่อมรถ จำเลยซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นเรียกให้เข้าไปหาแล้วกระทำอนาจารจะเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานพรากเด็กอายุไม่เกินห้าปีไปเพื่อการอนาจารหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 8767/2561 คำว่า “พา”  หมายความว่า นำไปหรือพาไป ส่วนคำว่า “พราก” หมายความว่า การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือกระทบกระเทือน โดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมอันเป็นการมุ่งหมายเพื่อยึดครองอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดด้วยการพาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่ากระทำด้วยวิธีใดและไม่คำนึงถึงระยะเวลาใกล้ไกล ดังนั้น การที่จำเลยใช้กลวิธีด้วยการตะโกนเรียกผู้เสียหายที่ 2 ให้เข้าไปหาจำเลยและแม้ที่เกิดเหตุจะอยู่ห่างจากบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 2 เล่นอยู่กับเพื่อนเพียง 7 เมตร กับแม้จะอยู่ในบริเวณอู่ซ่อมรถด้วยกันก็ตาม ถือได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปและพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานพาเด็กยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินห้าปีไปเพื่อการอนาจาร

ใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่นแต่ผู้อื่นถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนี้ ผู้กระทำความผิดจะมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 3503/2559 ขณะที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ผู้ตายไม่ได้มีการกระทำที่เป็นการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงแก่จำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68
ผู้ตายถูกกระสุนปืนที่จำเลยยิงที่ชายโครงทะลุปอด ตับและลำไส้จนฉีกขาด แพทย์ต้องรักษาอาการบาดเจ็บของผู้ตายด้วยการผ่าตัดทันที แม้ผู้ตายถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน เนื่องจากติดเชื้ออย่างรุนแรง ย่อมถือได้ว่าการตายของผู้ตายเป็นผลธรรมดาอันสืบเนื่องจากการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่ามิใช่ถึงแก่ความตาย จากเหตุแทรกแซงหรือเหตุอื่นแต่อย่างใด จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288

จำเลยมีเจตนาเปลี่ยนยางรถยนต์และตกลงซื้อขายยางกับผู้เสียหายเรียบร้อยแล้ว ลูกจ้างของผู้เสียหายเปลี่ยนยางให้จนเสร็จสิ้น และนำไปจอดที่หน้าร้านโดยติดเครื่องยนต์ไว้ ประมาณ 3 นาที จำเลยขับรถออกจากร้านไป โดยไม่ชำระราคาค่ายาง จำเลยผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่

หลักกฎหมาย : ป.อ. มาตรา 334 

องค์ประกอบความผิด
องค์ประกอบภายนอก
1. ผู้ใด 2.เอาไป 3.ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
องค์ประกอบภายใน
1.เจตนาธรรมดา 2.เจตนาพิเศษ : โดยทุจริต

ข้อสังเกต องค์ประกอบความผิดประการสำคัญ ของมาตรา 334 ในส่วนองค์ประกอบภายนอก เรื่องการ “เอาไป” ซึ่งจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้นั้น จะต้องเป็นการแย่งการครอบครองในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ กล่าวคือ จะต้องมีผู้ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ และผู้กระทำความผิดได้เอาทรัพย์นั้นไปโดยผู้ครอบครองทรัพย์ไม่อนุญาต แต่ตามข้อเท็จจริงนี้ ในขณะตกลงซื้อขายยางรถยนต์และมีการส่งมอบยางรถยนต์ จำเลยไม่มีเจตนาที่จะใช้กลอุบายหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งมอบยางรถยนต์ทั้งสี่เส้นเพื่อแย่งการครอบครองโดยไม่คิดจะชำระราคาแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอาญาฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 3366/2561 จำเลยขับรถกระบะไปเปลี่ยนยางรถที่ร้านผู้เสียหายโดย บ.ญาติจำเลยไปด้วย ผู้เสียหายคิดราคายางสี่เส้นเป็นเงิน 8,000 บาท จำเลยตกลงเปลี่ยนยางทั้งสี่เส้น ว. ลูกจ้างประจำร้านเป็นผู้เปลี่ยนให้ โดยใส่ยางรถชุดเก่าไว้ในกระบะรถ เมื่อเปลี่ยนยางรถเสร็จทั้งสี่เส้นแล้ว ว. ถอยรถกระบะไปจอดที่บริเวณหน้าร้านโดยติดเครื่องยนต์ไว้ จากนั้นประมาณ 3 นาที จำเลยขับรถกระบะดังกล่าวออกจากร้านไปโดยไม่ชำระราคา ขณะตกลงซื้อขายยางรถระหว่างจำเลยกับผู้เสียหาย จำเลยไม่มีเจตนาที่จะใช้กลอุบายหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งมอบยางรถทั้งสี่เส้นโดยไม่คิดจะชำระราคามาแต่ต้น ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในยางรถทั้งสี่เส้นย่อมโอนไปยังจำเลยซึ่งเป็นผู้ซื้อ ตั้งแต่เมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายและกำหนดเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 458 และมาตรา 460 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยยังมิได้ชำระราคาแก่ผู้เสียหาย ก็เป็นมูลคดีผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น หามีมูลความผิดทางอาญาฐานลักทรัพย์ไม่

โจทก์เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือให้โจทก์ได้รับงานทำป้ายโฆษณาให้ส่วนราชการเพราะเชื่อว่าจำเลยสามารถช่วยโจทก์ได้ หากจำเลยแจ้งเพียงว่าการดำเนินงานที่โจทก์ต้องการมีค่าใช้จ่าย โจทก์จึงมอบเงินให้จำเลยไป การกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

หลักกฎหมาย : ป.อ. มาตรา 341

องค์ประกอบถายนอก
1.ผู้ใด
2.หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ
2.1 เเสดงข้อความอันเป็นเท็จ
2.2 ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้เเจ้ง
3. โดยการหลอกลวงดังว่านั้น
3.1 ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
3.2 ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ

องค์ประกอบภายใน
1.เจตนาธรรมดา
2.เจตนาพิเศษ : โดยทุจริต

ข้อสังเกต
ในส่วนขององค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานฉ้อโกงนั้น การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดได้ ต้องปรากฏว่าจำเลยได้หลอกลวงผู้อื่นด้วยการเเสดงข้อความอันเป็นเท็จ แต่ตามข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า จำเลยเพียงเเจ้งแก่โจทก์ว่าการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาจะต้องมีค่าใช้จ่าย โจทก์จึงมอบเงินให้แก่จำเลยไป โดยจำเลยมิได้หลอกลวงโจทก์ด้วยการเเสดงข้อความอันเป็นเท็จเเต่อย่างใด
นอกจากนี้ ความผิดฐานฉ้อโกงนั้นยังเป็นความผิดที่ต้องการผล ดังนั้น จะต้องปรากฏว่าจำเลยต้องได้ทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวงเนื่องมาจากหลงเชื่อในการหลอกลวงดังกล่าวด้วย แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว การที่โจทก์ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่จำเลยนั้น มิได้เกิดจากกการที่โจทก์หลงเชื่อการหลอกลวงดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาฎีกาที่ 778/2560 เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มอบเงินสดให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ และจำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาในพื้นที่ของราชการจะต้องมีค่าใช้จ่าย โดยมิได้เกิดจากเหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 หลงเชื่อจากการถูกจำเลยหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทำงานเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ที่อาคารรัฐสภาและสามารถติดต่อช่วยเหลือให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับงานเกี่ยวกับการทำป้ายโฆษณาให้ส่วนราชการต่าง ๆ ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง แม้โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าจำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ก็มิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงใดอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง

ผู้รับจ้างหลอกลวงผู้ว่าจ้างว่าธนาคารได้ออกหนังสือค้ำประกันให้ร้านของผู้รับจ้างแล้ว ทำให้ผู้ว่าจ้างหลงเชื่อ ตกลงทำสัญญาจ้างให้ทำความสะอาดอาคารโรงพยาบาลและผู้รับจ้างได้ทำความสะอาดและรับเงินค่าจ้างไปแล้ว ต่อมาผู้ว่าจ้างพบว่าธนาคารไม่ได้ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่ร้านของผู้รับจ้างจึงบอกเลิกสัญญา ดังนี้ เป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ และผู้ว่าจ้างจะเรียกเอาเงินค่าจ้างคืนจากผู้รับจ้าง ได้หรือไม่

ปนะมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 

องค์ประกอบความผิด
องค์ประกอบภายนอก
1. ผู้ใด
2. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ
2.1 แสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ
2.2 ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
3. โดยการหลอกลวงดังว่านั้น
3.1 ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือ
3.2 ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
องค์ประกอบภายใน
1. เจตนาธรรมดา
2. เจตนาพิเศษ : โดยทุจริต

ตามระเบียบของโรงพยาบาลผู้ว่าจ้างกำหนดว่า ผู้รับจ้างทำความสะอาดของโรงพยาบาลจะต้องมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร หากผู้รับจ้างไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาแสดง ก็ไม่อาจทำสัญญาจ้างกับผู้รับจ้างได้ การที่ผู้รับจ้างไม่มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร แต่หลอกลวงผู้ว่าจ้างโดยการนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาแสดงข้อความอันเป็นเท็จกับผู้ว่าจ้างเพื่อให้ได้งานนั้น ดังนี้ การหลอกลวงของผู้รับจ้างเป็นการกระทำโดยทุจริต และการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างอันเป็นเอกสารสิทธิให้ผู้รับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้รับจ้างในการที่จะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล และได้ทรัพย์สินเป็นเงินค่าจ้างจากการทำงาน จึงถือได้ว่าผู้รับจ้างกระทำความผิดฐานฉ้อโกงผู้ว่าจ้าง ตาม ป.อ. มาตรา 341

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


มาตรา 159  วรรคหนึ่งและวรรคสอง วางหลักว่า
การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น


มาตรา 176  วรรคหนึ่ง วางหลักว่า โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน

การที่ผู้ว่าจ้างทำสัญญากับผู้รับจ้างให้ผู้รับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาลเพราะหลงเชื่อว่าผู้รับจ้างมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ซึ่งหากผู้รับจ้างไม่มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ผู้รับจ้างจะไม่เข้าทำสัญญาจ้างกับผู้รับจ้าง กรณีจึงถือได้ว่านิติกรรมสัญญาจ้างระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างเกิดจากกลฉ้อฉลถึงขนาด สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159รรคหนึ่ง และวรรคสอง เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาจึงเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ทำให้สัญญาจ้างตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันทำสัญญา ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่การที่ผู้รับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาลอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างได้ยอมรับการงานนั้นแล้ว ผู้ว่าจ้างจึงยังมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้กับผู้รับจ้างอยู่ จึงเป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ผู้ว่าจ้างจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวคืนจากผู้รับจ้างได้ 

คำพิพากษาฎีกาที่ 6404/2560  ตามระเบียบการทำสัญญาจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. ผู้รับจ้างจะต้องมีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมายื่นให้ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นการค้ำประกันในกรณีที่ผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง หากผู้รับจ้างคนใดไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาแสดง ก็ไม่อาจทำสัญญาจ้างผู้รับจ้างคนดังกล่าวได้ การที่จำเลยทั้งสองประสงค์จะให้ร้านของจำเลยทั้งสองได้รับงานจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จึงหลอกลวงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่ว่า ธนาคารยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโรงพยาบาล ช. ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่ร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหนี้ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้างมาแสดงแต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง การหลอกลวงดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับร้านของจำเลยทั้งสอง เพราะหากร้านของจำเลยทั้งสองไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ผู้เสียหายย่อมไม่ทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสอง การหลอกลวงดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยทุจริต และการหลอกลวงโดยทุจริตดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยทั้งสองในการที่จะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. อันเป็นการหลอกลวงโดยทุจริตให้ผู้เสียหายเข้าทำสัญญาจ้างอันเป็นเอกสารสิทธิ เมื่อการหลอกลวงโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดกับโรงพยาบาล ช. โรงพยาบาล ช. จึงให้สิทธิจำเลยทั้งสองเข้ารับงานอันเป็นผลให้จำเลยทั้งสองมีโอกาสเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. และได้ทรัพย์สินเป็นเงินค่าจ้างจากการทำงาน 108,000 บาท จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าภายหลังทำสัญญาจำเลยทั้งสองเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จริง โรงพยาบาล ช. จึงตรวจรับงานและอนุมัติค่าจ้างงวดแรกให้แก่ร้านของจำเลยทั้งสอง 108,000 บาท แต่การเข้าทำงานดังกล่าวก็เนื่องมาจากจำเลยทั้งสองโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายจนผู้เสียหายหลงเชื่อทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จริง ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำความผิดอาญาของจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นแล้วกลับกลายไม่เป็นความผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้องแล้ว 

จำเลยทั้งสองโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายว่า ธนาคาร ก. ได้ออกหนังสือค้ำประกันให้ร้านของจำเลยทั้งสอง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่ร้านของจำเลยทั้งสอง โดยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองให้ทำความสะอาดอาคารโรงพยาบาล ช. หากจำเลยทั้งสองไม่มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ผู้เสียหายจะไม่เข้าทำสัญญาจ้างกับจำเลยทั้งสอง กรณีจึงถือได้ว่านิติกรรมสัญญาจ้างระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองเกิดจากกลฉ้อฉลถึงขนาด สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159รรคหนึ่ง และวรรคสอง เมื่อผู้เสียหายบอกเลิกสัญญาอันเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ทำให้สัญญาจ้างตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันทำสัญญา ผู้เสียหายและจำเลยทั้งสองจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แม้การที่จะให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าจ้างทำความสะอาดแก่ผู้เสียหายไม่เป็นการพ้นวิสัย แต่การงานที่จำเลยทั้งสองทำให้ผู้เสียหายไปแล้วซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้เสียหาย และผู้เสียหายยอมรับเอาการงานของจำเลยทั้งสองแล้ว ตามหนังสือขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน ผู้เสียหายก็ต้องกลับคืนไปยังฐานะเดิมด้วยเช่นกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อการที่จะให้การงานที่ทำไปแล้วกลับคืนยังฐานะเดิมเป็นการพ้นวิสัย ผู้เสียหายจึงต้องใช้ค่าเสียหายที่สมควรแก่หน้าที่การงานให้จำเลยทั้งสอง โดยถือว่าค่าจ้างตามคำฟ้องที่จำเลยทั้งสองได้รับไปแล้วเป็นค่าเสียหายจำนวนนั้น ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยทั้งสองอีก 

เจ้าหนี้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับลูกหนี้ข้อหาฉ้อโกงแล้ว ต่อมาลูกหนี้โอนที่ดินให้แก่บุตร จะถือว่าการร้องทุกข์ของเจ้าหนี้เป็นการได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วหรือไม่ และจะทำให้ลูกหนี้มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่

หลักกฎหมาย : ป.อ. มาตรา 350

องค์ประกอบภายนอก
1. ผู้ใด
2. กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
2.1 ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด หรือ
2.2 แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใด อันไม่เป็นความจริง
3. เป็นหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ได้ใช้ หรือ จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้

องค์ประกอบภายใน
1. เจตนาธรรมดา
2. เจตนาพิเศษ : เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ของตน หรือ ผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมด หรือแต่บางส่วน

ข้อสังเกต องค์ประกอบความผิดประการสำคัญ ของมาตรา 350 ต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ต้อง “ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้” ซึ่งประเด็นว่า “การร้องทุกข์” ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์แม้ว่าจะไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้โดยตรง แต่เมื่อมีการร้องทุกข์แล้วก็ย่อมนำไปสู่การยื่นฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ซึ่งรวมถึงการเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ต้องสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดแทนโจทก์ด้วย ดังนี้ การร้องทุกข์ของผู้เสียหายจึงเป็นการจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้อีกกรณีหนึ่ง

คำพิพากษาฎีกาที่ 8905/2561 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น เจ้าหนี้ต้องใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว และลูกหนี้รู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิดังกล่าวแล้วยังโอนทรัพย์สินให้ผู้อื่น โดยมีมูลเหตุจูงใจเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน 
โจทก์ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาฉ้อโกง ก่อนวันที่จำเลยโอนที่ดินให้แก่บุตรทั้งสองของจำเลย การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ย่อมนำไปสู่การยื่นฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ซึ่งรวมถึงการเรียก ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ต้องสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดแทนโจทก์ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 อีกทั้งเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดี โจทก์จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น โดยการร้องทุกข์ของโจทก์ไม่ว่าต่อมาโจทก์จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หรือไม่ ก็มีผลเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์สูญเสียไปจากการกระทำความผิดคืนโดยพนักงานอัยการดำเนินการ แทนแล้ว โจทก์ไม่จำต้องทวงถามหรือฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับชำระหนี้อีก การร้องทุกข์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว เมื่อจำเลยมีเจตนาทุจริตยักยอกเงินโจทก์ และโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงรู้แล้วว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ การที่จำเลยโอนที่ดินให้แก่บุตรทั้งสองของจำเลยจึงเป็นไปเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 3973/2551 วินิจฉัยแนวเดียวกัน