คลังเก็บหมวดหมู่: วิแพ่ง ภาค 3

คดีฟ้องให้บังคับชําระหนี้เงินกู้ จําเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็น เอกสารปลอม มิได้ให้การต่อสู้ว่าหนังสือสัญญากู้ปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ จําเลยจะยกขึ้น ในชั้นอุทธรณ์ได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 3035/2562 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระหนี้เงินกู้ ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจําเลยให้การต่อสู้ ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า จําเลยไม่เคยลงลายมือชื่อทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ และหนังสือ สัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอม ดังนี้ การจะรับฟังว่าจําเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ตามฟ้อง จริงหรือไม่ย่อมต้องอาศัยหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นพยานหลักฐาน เมื่อหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ โจทก์อ้างเป็นหลักฐานในการฟ้องบังคับจําเลยให้รับผิดต่อโจทก์ มีลักษณะเป็นตราสารซึ่งต้องปิด อากรแสตมป์และขีดฆ่า ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 118 แต่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน คงปิดอากรแสตมป์เพียงเท่านั้น มิได้ขีดฆ่าเสียด้วย หนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว จึงถือเป็น ตราสารที่ปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 และเป็นผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ จําเลยผู้กู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีแก่จําเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จําเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้จําเลยย่อมยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง, 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จําเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ภายหลังจากโจทก์จําเลยแถลงหมดพยานแล้ว ศาลสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่พิพาท ปรากฏว่าทางพิพาทบางส่วนอยู่ในที่ดินโฉนดอื่นของจําเลยด้วย ดังนี้ โจทก์จะขอแก้ไขคําฟ้อง ว่าทางพิพาทบางส่วนอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่นอกจากที่ระบุในคําฟ้องเดิมได้หรือไม่ และบุคคลภายนอกที่ใช้ทางพิพาทเป็นเส้นทางเดียวกับที่โจทก์ใช้ผ่านที่ดินจําเลยจะร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 5244 – 5245/2562 

โจทก์ยื่นคําฟ้องโดยเข้าใจว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7665 ของจําเลย แต่เพียงแปลงเดียว แต่เมื่อโจทก์จําเลยแถลงหมดพยานแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปัตตานี ทำแผนที่พิพาท ปรากฏว่านอกจากทางพิพาทซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในที่ดิน จําเลยโฉนดเลขที่ 7665 แล้ว ยังมีทางพิพาทบางส่วนอยู่ในที่ดินของจําเลยโฉนดเลขที่ 7666 และโฉนดเลขที่ 7667 ด้วย โจทก์จึงยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องว่าทางพิพาทบางส่วนอยู่ในที่ดินของจําเลยโฉนดเลขที่ 7666 และ 7667 ด้วยเพื่อให้ตรงกับความเป็นจริง และหลังจากนั้นศาลชั้นต้นยังได้สืบพยานเจ้าพนักงานที่ดินผู้ทําแผนที่พิพาท อีกปากหนึ่ง ดังนี้เห็นได้ว่า โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าทางพิพาทบางส่วนอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7666 และโฉนดเลขที่ 7667 ด้วย จึงเป็นกรณีที่มีเหตุสมควรที่โจทก์ไม่อาจยื่นคําร้อง ได้ก่อนนั้น เมื่อมีการขอแก้คําฟ้องในระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา โจทก์จึงขอแก้ไขคําฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 

ผู้ร้องยื่นคําร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7670, และโฉนดเลขที่ 7671 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 7669  ไปทางทิศตะวันออก โดยผู้ร้องซื้อที่ดินดังกล่าว มาจาก ส. และ ส. ได้ใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินจําเลยในโฉนดเลขที่ 7665 ออกสู่ถนน สาธารณะสายปากน้ำเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนา เป็นเจ้าของทางมาตั้งแต่ปี 2518 จนกระทั่ง ส. ขายให้ผู้ร้อง และเมื่อผู้ร้องซื้อที่ดินดังกล่าวมาแล้วก็ได้ใช้ทางพิพาทสืบสิทธิจากเจ้าของเดิมเรื่อยมาโดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของทางเช่นกัน โดยทางพิพาทเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางที่โจทก์ใช้ผ่านที่ดินจําเลย ทั้งทางพิพาทต้นทางส่วนที่ติดกับถนนสายปากน้ำถึงที่ดินผู้ร้อง ทับซ้อนกับทางพิพาทที่โจทก์อ้างว่าได้ภาระจำยอมโดยอายุความอยู่ด้วย ดังนี้ ตามคําร้องของผู้ร้องดังกล่าวแปลได้ว่าผู้ร้องสมัครใจเข้ามาในคดีเพราะเห็นว่าเป็นความจําเป็นเพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่เช่นเดียวกับโจทก์ และเกี่ยวเนื่องด้วยกับการบังคับคดีตามคําพิพากษา ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีได้ 

คดีนี้จําเลยได้นําพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างข้ออ้างของผู้ร้องได้อย่างเต็มที่ ไม่ได้ทำให้ฝ่ายจําเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด ส่วนทางพิพาทที่ผู้ร้องใช้ทับซ้อนกับทางพิพาทที่โจทก์ ใช้นั้นหากในอนาคตผู้ร้องไม่ได้เข้ามาในคดีอาจจะมีข้อพิพาทกับโจทก์ในการใช้ทางพิพาทได้ ผู้ร้องมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีได้ 

คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันว่าเหตุการณ์เป็นไปตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ดังนี้ ศาลอุทธรณ์จะรับฟังภาพถ่ายแนบท้ายแถลงการณ์ปิดคดีของโจทก์ซึ่งมิใช่เอกสารท้ายคําฟ้องมาใช้ในการวินิจฉัยข้อเท็จจริง ได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 7907/2561 

คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันแล้วว่าเหตุการณ์เป็นไปตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นภัยน้ำท่วมตามเอกสารแนบท้ายตารางกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินหรือไม่ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวันติดต่อกัน ทำให้น้ำที่ไหลจากบนหลังคาอาคารและน้ำจากเชิงเขา ไหลทะลักเข้ามาภายในอาคารทางด้านหลังของอาคาร ประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน ประตูด้านหน้าอาคารปิดทำให้น้ำไม่สามารถไหลออกจากอาคารได้ เกิดน้ำขังภายในอาคารโชว์รูม การที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคจะวินิจฉัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าอยู่ในความหมาย ของคําว่าน้ำท่วมตามเอกสารแนบท้ายตารางกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินหรือไม่ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคจะต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคําฟ้องโจทก์ อันเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายรับกันแล้วในศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ แผนกคดีผู้บริโภครับฟังภาพถ่ายโชว์รูมของโจทก์แนบท้ายแถลงการณ์ปิดคดีของโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่าตามภาพถ่ายเห็นได้ชัดเจนว่าพื้นที่ด้านหลังโชว์รูมเป็นป่าเขา ข้อเท็จจริงจึงเพียงพอรับฟังได้ว่ามีน้ำป่าไหลล้นเข้าท่วมพื้นที่เกิดเหตุนั้น เมื่อภาพถ่ายดังกล่าวเป็นเอกสารแนบท้ายแถลงการณ์ปิดคดีมิใช่เอกสารท้ายคําฟ้องอันจะถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคําฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภครับฟังภาพถ่ายดังกล่าวแล้ววินิจฉัยว่ามีน้ำป่า ไหลล้นเข้าท่วมพื้นที่เกิดเหตุจึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงอื่นนอกเหนือจากที่โจทก์และจําเลยแถลงรับกัน อันถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 

จําเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และจําเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทไปจากโจทก์ จําเลยจะยกข้อเท็จจริงที่จําเลยนําสืบว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจําเลย โดยบิดาจําเลยยกให้และจําเลยครอบครองทำประโยชน์มาโดยตลอดในชั้นอุทธรณ์ได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 906/2561 

จําเลยนําสืบยืนยันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจําเลยโดยบิดาจําเลยยกให้ จําเลยครอบครองทำประโยชน์และปลูกบ้านอยู่อาศัยมาโดยตลอดอันเป็นการนําสืบยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจําเลยไม่ใช่เป็นของโจทก์และจําเลยไม่ได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทไปจากโจทก์ ซึ่งต่างไปจากที่จําเลยอ้างต่อสู้ในคำให้การและแก้ไขให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และจําเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทไปจากโจทก์จนได้สิทธิครอบครอง เมื่อข้อเท็จจริงที่จําเลยนําสืบดังกล่าวเป็นการนอกประเด็นและนอกเหนือจากคำให้การ ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) อุทธรณ์ของจําเลยที่ขอให้ยกฟ้องโจทก์ เป็นการยกข้อเท็จจริงที่จําเลยนําสืบมาซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังตามมาตรา 87 (1) ขึ้นกล่าวอ้างซึ่งเป็นคนละเหตุกับที่จําเลยอ้างต่อสู้ไว้ในคำให้การ อุทธรณ์ของจําเลยเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง 

การอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจะอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 3267/2562 

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ส่งพินัยกรรมไปตรวจพิสูจน์ คำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนการสืบพยาน และคำสั่งเกี่ยวกับกาคัดค้านการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา ล้วนเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา หากโจทก์ไม่เห็นด้วยและประสงค์จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นในภายหลังจะต้องโต้แย้งคำสั่งไว้จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 26 มิใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลขั้นต้นที่ได้รับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ และแม้โจทก์อ้างว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวอันถือว่าโจทก์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้แล้ว แต่เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ครบกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ 1 เดือน ในวันที่ 31 เมษายน 2560 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ โจทก์จึงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นวันเปิดทำการวันแรกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2561 จึงเกินกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว 

คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์และเรียกค่าเสียหาย จำเลยแต่ละคนให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ การพิจารณาว่าราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างใด

คำพิพากษาฎีกที่ 6548/2561 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสามปลูกสร้างบ้านพักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิ์ ขอให้ขับไล่และใช้คำเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่า จำเลยแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามส่วนสัดที่ครอบครอง เนื้อที่ 37 ตารางวา 27 ตารางวา และ 23 ตารางวา ตามลำดับ จึงเป็นกรณีที่จำเลยแต่ละคนแยกการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดคนละแปลงต่างหากจากกัน การที่จะพิจารณาว่าราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องถือตามราคาที่ดินพิพาทตามที่จำเลยแต่ละคนครอบครองและจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดซึ่งคำนวณตามส่วนสัดของที่ดินพิพาทที่จำเลยแต่ละคนครอบครอง เมื่อปรากฏตามหนังสือสำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขากาญจนดิษฐ์รับรองราคาประเมินที่ดินพิพาทตารางวาละ 375 บาท ดังนั้น จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยแต่ละคนซึ่งคำนวณตามส่วนสัดของราคาที่ดินพิพาทที่จำเลยแต่ละคนครอบครองรวมกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องตามจำนวนที่ดินพิพาทที่จำเลยแต่ละคนครอบครองจึงเท่ากับ 39,137 บาท 28,559 บาท และ 24,328 บาท 

ตามลำดับ อุทธรณ์ของโจทก์สำหรับจำเลยแต่ละคนจึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินคนละห้าหมื่นบาท อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของมีสิทธิที่ดินพิพาทนั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า จำเลยทั้งสามรับโอนที่ดินพิพาทโดยยังมิได้จดทะเบียนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตไม่ได้นั้น เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเช่นกัน ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อเท็จจริงจึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ 

ต้องถือว่าข้อเท็จจริงได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

คดีแพ่ง ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา โจทก์จะยื่นคำร้องขอถอนฟ้องได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 3996/2561 

ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องได้เฉพาะก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเท่านั้น จะขอถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วไม่ได้ หากมีการตกลงกันได้ระหว่างคู่ความ ก็ชอบที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในชั้นฎีกา โดยจะทำที่ศาลชั้นต้นหรือศาลฎีกาก็ได้ กรณีจึงไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 6 ได้ตามคำร้องของโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 6 และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงไม่ชอบ ให้ยกคำร้องขอถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 เสีย แต่เมื่อได้ความว่าภายหลังจากโจทก์ยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่ไม่รับฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 และไม่ปรากฏว่ามีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 ดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องฟังว่า โจทก์ฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เท่านั้น 

เงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ผู้อุทธรณ์หรือฎีกาต้องนำมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์หรือฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 229 หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความด้วยหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 4659/2562 

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง  โดยกำหนดค่าทนายความรวมเป็นเงิน 10,000 บาท  เมื่อโจทก์ฎีกาโจทก์จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่จำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2  ดังกล่าวมาวางศาลพร้อมกับฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 229ประกอบมาตรา 247(เดิม) แต่โจทก์ยื่นฎีกาโดยวางเงิน 10,000 บาท ซึ่งคงถือได้เป็นเพียงค่าธรรมเนียมในส่วนค่าทนายความที่ต้องแทนจำเลยทั้งสองเท่านั้น   ส่วนค่าธรรมเนียมอื่นที่ต้องใช้แทนจำเลยทั้งสอง คือค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์  20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความชั้นอุทธรณ์ 500 บาท  โจทก์ไม่นำมาวางศาลพร้อมกับฎีกาด้วยเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ครบถ้วน  จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับฎีกาได้ทันที  เพราะมิใช่กรณีโจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาไม่ครบถ้วนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 18 วรรคสอง  ที่ศาลชั้นต้นซึ่งมีหน้าที่ตรวจคำคู่ความจะต้องมีคำสั่งให้โจทก์ชำระให้ครบถ้วนเสียก่อนที่จะรับหรือไม่รับคำคู่ความ 

ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องเเล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องจึงพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำฟ้องไม่มีลายมือชื่อผู้เรียงเเละผู้เขียนหรือพิมพ์ จึงพิพากษายืน โจทก์จะฎีกาได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 220
วางหลักว่า ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์

หลักเกณฑ์ของมาตรา 220
1.ศาลชั้นต้นยกฟ้อง (ในความผิดฐานใด) เเละ
2.ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง (ในความผิดฐานเดียวกัน)
3.ห้ามคู่ความฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงเเละข้อกฎหมาย

การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องเเล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำฟ้องไม่มีลายมือผู้เรียนเเละผู้เขียนหรือพิมพ์ เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 158 (7) จึงพิพากษายกฟ้องยืนตามศาลชั้นต้น ย่อมเป็นกรณีที่มีการศาลชั้นต้นเเละศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองศาล เเม้ว่าจะเป็นการพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุต่างกันก็ตาม ก็ห้ามมิให้คู่ความฎีกาทั้งในปัญหาข้อกฎหมายเเละข้อเท็จจริงตามป.วิ.อาญา มาตรา 220 ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจฎีกาได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2785/2561 ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องพิพากษาให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า ฟ้องโจทก์มีเพียงลายมือชื่อโจทก์ไม่ปรากฏลายมือชื่อผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) และล่วงเลยเวลาที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องตามมาตรา 161 วรรคหนึ่งเพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้ว เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและล่วงเลยเวลาที่จะสั่งแก้ไขจึงไม่อาจพิจารณาและลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ พิพากษายืน ผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง โจทก์จึงฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามมาตรา 220

ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลสูงจะมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างนั้น จะต้องมีข้อเท็จจริงเรื่องนั้นปรากฏในการนำสืบในศาลชั้นต้นด้วย ศาลสูงจะนำข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่เคยนำสืบในศาลล่าง (นอกสำนวน) มาใช้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไม่ได้

โดยหลักแล้ว ประเด็นที่ศาลสูงจะยกขึ้นวินิจฉัยได้ ต้องเป็นประเด็นที่คู่ความฝ่ายนั้นจะได้ยกขึ้นอ้างมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทุกชั้นศาล

แต่หลักนี้มีข้อยกเว้นอยู่ว่า ถ้าเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้ แม้คู่ความจะมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ามาแล้วโดยชอบในศาลล่างก็ตาม

ต่อมาเกิดปัญหาว่า ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา คู่ความพยายามยกขึ้นอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ไม่เคยปรากฏในสำนวนคดีในศาลล่างมาก่อนเลย เช่น จำเลยยื่นคำให้การปฏิเสธลอยในศาลชั้นต้นและมิได้นำสืบเรื่องการสอบสอบสวนที่ไม่ชอบ แต่ในอุทธรณ์ จำเลยกลับอ้างว่าการสอบสวนไม่ชอบเพราะพนักงานสอบสวนซ้อมจำเลยให้รับสารภาพในชั้นสอบสวน เห็นได้ว่า ประเด็นนี้เรื่องการสอบสวนไม่ชอบนี้จำเลยไม่เคยยื่นคำให้การมาก่อนและไม่เคยนำสืบก่อน จึงไม่มีพยานหลักฐานปรากฏ

ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงสร้างหลักการขึ้นมาว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยให้ได้นั้น จะต้องมีข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนคดีในศาลล่างมาก่อนด้วย ศาลจึงจะยกขึ้นวินิจฉัยให้ได้

หลักการนี้ใช้กับทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาด้วย

ป.วิ.แพ่ง ดูมาตรา 142 (5), 224

ป.วิ.อาญา ดูมาตรา 195

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2561 แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ที่บัญญัติให้ศาลมีอำนาจลงโทษผู้กระทำความผิดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดนั้นจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาก็ตาม แต่ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งนั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มีการนำสืบกันไว้แล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งศาลจะยกเอาข้อเท็จจริงตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาหรือสำเนาบันทึกการจับกุมมารับฟังเพียงลำพังว่ามีการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งตามมาตรา 100/2 โดยไม่มีการสืบพยานอื่นหาได้ไม่

อ่านเพิ่มเติม