คลังเก็บหมวดหมู่: วิอาญา ภาค 2

ความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องในท้องที่หลายแห่ง พนักงานสอบสวนท้องที่ใดเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน

ฎ.1201/2555 แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกจับกุมในท้องที่สถานีตำรวจภูธรพระประแดง แต่ก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 ถูกจับกุมพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวนหนึ่งในท้องที่สถานีตำรวจภูธรพระสมุทรเจดีย์ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ ณ บริเวณที่เกิดเหตุในท้องที่ดังกล่าวและมีพฤติการณ์ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถที่มีเมทแอมเฟตามีนของกลางอีกจำนวนหนึ่งหลบหนีไปและถูกจับกุมในท้องที่สถานีตำรวจภูธรพระประแดง ย่อมถือว่าเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องในท้องที่ทั้งสองแห่งพนักงานสอบสวนท้องที่ใดท้องที่หนึ่งในสองแห่งนั้นย่อมมีอำนาจสอบสวนได้ และเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคู่คดีกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการและถูกจับกุมได้ก่อนแล้ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรพระสมุทรเจดีย์ย่อมเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 19 และพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 120 

เจ้าพนักงานตํารวจซึ่งเป็นท้องที่พบการกระทําความผิดเกิดขึ้นก่อน จึงมีการขยายผลสืบสวนและมีการวางแผนจนกระทั่งจับกุมผู้ร่วมกระทําความผิดได้ในอีกท้องที่หนึ่งและความผิดแต่ละฐานมีโทษเสมอกัน ดังนี้ พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดมีอํานาจสอบสวนและศาลในท้องที่ใดมีอํานาจพิจารณาคดีนี้

คําพิพากษาฎีกาที่ 1504/2562 ก่อนจับกุมเจ้าพนักงานตํารวจสถานีตํารวจภูธร เมืองเชียงราย ซึ่งเป็นท้องที่พบการกระทําความผิดเกิดขึ้นก่อน จึงมีการขยายผลสืบสวนและมีการวางแผนให้พันตํารวจตรี อ.อําพรางตัวเป็นเด็กท้ายรถบรรทุกสิบล้อที่ขนกระสอบข้าวและกระสอบปุ๋ยบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจังหวัดเชียงรายไปส่งให้จําเลยที่ 2 ในสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ที่อําเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามที่ได้นัดหมายกันไว้กับผู้ที่โทรศัพท์ติดต่อกับสายลับว่าจะมารับเมทแอมเฟตามีน เจ้าพนักงานตํารวจจึงติดตามไป จนกระทั่งสามารถจับกุมจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทําต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองเชียงรายซึ่งเป็นท้องที่ที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลางและสถานีตํารวจภูธรวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ พนักงาน สอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องมีอํานาจสอบสวนได้ พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเชียงราย จึงมีอํานาจสอบสวนตามป.วิ.อาญา มาตรา 19 (3) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 การสอบสวนย่อมเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอํานาจฟ้องตามป.วิ.อาญา มาตรา 120 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 และเมื่อความผิดหลายฐานได้กระทําลงโดยผู้กระทําความผิดหลายคนเกี่ยวพันกันความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายตามฟ้องมีอัตราโทษอย่างสูงเสมอกัน ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่รับฟ้องความผิดเกี่ยวพันกันนั้นไว้ก่อนย่อมมีอํานาจพิจารณาคดีได้ตามป.วิ.อาญา มาตรา 24 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 โจทก์จึงมีอํานาจฟ้องต่อศาลชั้นต้น 

ความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน หากผู้ร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีไม่ได้รับมอบอํานาจจากผู้เสียหายที่แท้จริงให้ร้องทุกข์ หรือหนังสือมอบอํานาจให้ร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจะมีอํานาจสอบสวนและพนักงานอัยการมีอํานาจฟ้องหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 1030/2562  

ความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ เป็นความผิดที่กระทําต่อรัฐไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอํานาจสอบสวนได้แม้จะไม่มีคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนคดีนี้แล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอํานาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (1), 120 และ พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11 (1) โดยมิต้องคํานึงว่าผู้ร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีจะเป็นผู้ใด หรือร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีแก่ใครบ้าง ผู้ร้องทุกข์ได้รับมอบอํานาจจากผู้เสียหายที่แท้จริงหรือไม่ และหนังสือมอบอํานาจดังกล่าวจะปิดอากรแสตมป์กับมีตราสําคัญของผู้มอบอํานาจประทับไว้หรือไม่ โจทก์จึงมีอํานาจฟ้อง 

คดีความผิดฐานยักยอก สถานที่ที่ขอยืมทรัพย์กับสถานที่ที่ส่งมอบทรัพย์ที่ยืม สถานที่ใดเป็นสถานที่เกิดเหตุและพนักงานสอบสวนท้องที่ใดมีอำนาจสอบสวน

คำพิพากษาฎีกาที่ 9775/2560 

เหตุยักยอกโคและถังแช่น้ำเชื้อตามฟ้องเกิดที่ฟาร์มโคของจำเลยที่จังหวัดกาฬสินธุ์ (ผู้เสียหายมอบถังแช่น้ำเชื้อและโคที่ยืมให้แก่จำเลยที่ฟาร์มโคของจำเลย) ฟาร์มโคของโจทก์ร่วมที่ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่จำเลยขอยืมทรัพย์จากโจทก์ร่วมมิใช่สถานที่เกิดเหตุในการกระทำความผิดยักยอก เมื่อจำเลยถูกจับที่ตำบลนาดี อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นบ้านที่อยู่ของจำเลย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรยางตลาดซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้น ย่อมเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ไม่มีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคหนึ่ง การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ทำการสอบสวนจำเลยเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 

คดีความผิดต่อส่วนตัว หากผู้ร้องทุกข์มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 9776/2560 

แม้ผู้เสียหายหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยทั้งสามที่ขอกู้ยืมเงินโดยอ้างว่า ได้กระทำในฐานะที่เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายมอบเงินกู้ให้จำเลยทั้งสามไปตามฟ้องก็ดี แต่การให้กู้ยืมเงินผู้เสียหายทำสัญญาโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 4 ของเงินต้นในะยะเวลา 5 วัน คิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 292 ต่อปี ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475  มาตรา 3 (ก) (ปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและ 

พาณิชย์ มาตรา 654 ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าผู้เสียหายรับข้อเสนอของจำเลยทั้งสามโดยมีเจตนามุ่งต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมายของตนถือมิได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต จะถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมายมิได้ ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ เป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 

คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่ หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ ดังนี้ ศาลจะวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 8113/2561  

โจทก์ฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม จําเลยให้การต่อสู้ว่าทางพิพาทไม่มีการจดทะเบียนภาระจำยอม และไม่ได้มีการใช้ทางภาระจำยอมเกินสิบปี ทางภาระจำยอมจึงสิ้นสภาพไปตามกฎหมาย ดังนั้น ข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานนอกคําฟ้อง ข้อต่อสู้ คําให้การและนอกประเด็น ข้อพิพาทที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์หรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอํานาจหยิบยกวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 

คดีมีอัตราโทษจำคุก ก่อนสอบปากคำ พนักงานสอบสวนถามจำเลยว่าต้องการพบทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่ต้องการ ดังนี้ คำให้การในชั้นสอบสวนศาลจะนำมารับฟังประกอบในการวินิจฉัยลงโทษจำเลยได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่  1952/2561 

บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนจำเลยระบุว่า  ก่อนสอบปากคำพนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิจำเลยว่าต้องการพบทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ อย่างไร  จำเลยตอบว่าไม่ต้องการ เท่ากับจำเลยสละสิทธิในการมีทนายความ  เมื่อคดีมีอัตราโทษจำคุกไม่ใช่มีอัตราโทษประหารชีวิต  (ข้อหาความผิดฐานพยายามฆ่า)  จึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดทนายความ  หรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 วรรคสอง ศาลชอบที่จะนำบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนจำเลยมารับฟังประกอบในการวินิจฉัยลงโทษจำเลยได้ 

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา ไม่ปรากฏสำนวนการสอบสวนในสำนวนคดีของศาล แต่ในคำฟ้องระบุว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวนแล้ว หากคำให้การของจำเลยและในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนจำเลยมาก่อนฟ้องคดี ดังนี้ จะถือว่ามีการสอบสวนจำเลยในความผิดที่กล่าวหาตามฟองแล้วหรือไม่ ข้อหาความผิดซึ่งมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยและพิพากษาเสร็จในวันเดียวกัน เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่  8431/2561  

บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 120 กำหนดเงื่อนไขให้อำนาจในการฟ้องคดีของพนักงานอัยการว่าจะต้องผ่านการสอบสวนของพนักงานสอบสวนมาแล้ว  หากไม่มีการสอบสวนมาก่อนจะฟ้องคดีไม่ได้  อย่างไรก็ตาม  ม้จะไม่ปรากฏสำนวนการสอบสวนในสำนวนคดีนี้   แต่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นโดยระบุในคำฟ้องว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลศาลาแดงได้สอบสวนแล้ว   ต่อมาศาลชั้นต้นเบิกตัวจำเลยจากเรือนจำพิเศษธนบุรีมาอยู่ต่อหน้าศาล  ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้วจำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษจริง  ตามคำให้การของจำเลยและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านว่า  พนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนจำเลยมาก่อนการฟ้องคดีนี้  จึงถือได้ว่ามีการสอบสวนจำเลยในความผิดตามที่กล่าวหาตามฟ้องโดยชอบแล้ว  โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดซึ่งมิใช่เป็นคดีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น  เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์  ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่นำสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง  การที่ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยและพิพากษาเสร็จภายในวันเดียวกัน  จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว 

บุคคลซึ่งมิใช่ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดลหุโทษการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 4104/2562  

จำเลยเข้าไปในอาคารพิพาทสำนักงานของโจทก์ร่วมที่1ซึ่งเป็นนิติบุคคลและส่งเสียงดังอันเป็นการรบกวนการทำงานและทำให้พนักงานของโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่อาจทำงานได้ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานก่อความเดือนร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นตาม ป.อ.มาตรา 397 อันเป็นความผิดลหุโทษนั้น เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินและมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่จะต้องมีการร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ.121 วรรคหนึ่ง  โดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์กล่าวโทษจากผู้เสียหาย ดังนั้น แม้ศาลจะวินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมที่1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจะมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานดังกล่าวและการร้องทุกข์จะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม  ย่อมไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป  เพราะถึงอย่างไร โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง , 252 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15 และพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4  

คดีก่อน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง โจทก์จะนำการกระทำความผิดเดียวกันมาฟ้องจำเลยอีกได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 8745/2561 โจทก์ฟ้องคดีโดยระบุชื่อจำเลยทั้งสองแต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องโดยระบุว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมทางหลวงชนบท และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามกฎหมาย สำหรับจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนดังกล่าว กระทำความผิดเดียวกันกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1120/2560 ของศาลชั้นต้น ถือว่าโจทก์มุ่งฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดต่อกฎหมายเช่นเดียวกันกับการฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้จึงเป็นคนเดียวกันกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีแรก การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานเดียวกันกับคดีแรก โดยอาศัยมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดเดียวกัน และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีดังกล่าวไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีแล้วและถือว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(4) 

คดีแรกศาลชั้นต้นได้รับคำฟ้องส่วนแพ่งไว้แล้วและคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาโจทก์มาฟ้องคดีส่วนแพ่งเรื่องเดียวกันต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้อีก คำฟ้องโจทก์ในส่วนแพ่งจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15