คลังเก็บหมวดหมู่: วิอาญา ภาค 1

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 หากศาลพิพากษายกฟ้องเพราะคดีโจทก์ขาดอายุความ คำขอส่วนแพ่งตกไปด้วยหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 3275/2562 

โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่จำเลยไม่ยอมคืนเงินที่โจทก์ร่วมนำเข้าฝากในบัญชีธนาคารของจำเลยเพื่อนำเงินไปให้ผู้มีชื่อกู้ยืมแทนผู้เสียหาย แม้ต่อมาจำเลยจะถอนเงินออกจากบัญชีและโจทก์ร่วมเพิ่งทราบถึงการถอนเงินซึ่งเป็นเหตุการณ์ภายหลังจากที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว หาทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไปไม่ โจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเมื่อพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมเป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ทำให้คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมตกไปด้วย 

ความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน หากผู้ร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีไม่ได้รับมอบอํานาจจากผู้เสียหายที่แท้จริงให้ร้องทุกข์ หรือหนังสือมอบอํานาจให้ร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจะมีอํานาจสอบสวนและพนักงานอัยการมีอํานาจฟ้องหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 1030/2562  

ความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ เป็นความผิดที่กระทําต่อรัฐไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอํานาจสอบสวนได้แม้จะไม่มีคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนคดีนี้แล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอํานาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (1), 120 และ พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11 (1) โดยมิต้องคํานึงว่าผู้ร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีจะเป็นผู้ใด หรือร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีแก่ใครบ้าง ผู้ร้องทุกข์ได้รับมอบอํานาจจากผู้เสียหายที่แท้จริงหรือไม่ และหนังสือมอบอํานาจดังกล่าวจะปิดอากรแสตมป์กับมีตราสําคัญของผู้มอบอํานาจประทับไว้หรือไม่ โจทก์จึงมีอํานาจฟ้อง 

ทนายความโจทก์ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ทำแทนได้ (ในใบแต่งทนายความ) ยื่นต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์มา หากศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 4548/2562 

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาและกระบวนพิจารณาที่เป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความจึงต้องได้รับมอบอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง ทนายความจึงจะมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวแทนตัวความได้ ดังนั้น เมื่อตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ที่โจทก์แต่งตั้งให้ ว. เป็นทนายความ ดำเนินคดีแทนโจทก์มิได้ระบุให้ ว. มีอำนาจยื่นอุทธรณ์แทนโจทก์ ว. จึงย่อมไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้แทนโจทก์ได้ การที่ ว. ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ทำแทนได้และยื่นต่อศาลชั้นต้นนั้น เป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีข้อบกพร่อง เท่ากับคำฟ้องอุทธรณ์ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงต้องสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้องก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 การที่ศาลชั้นตันสั่งรับอุทธรณ์มาโดยไม่สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงชอบที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการแก้ไขข้อบกพร่อง โดยให้โจทก์ลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องแล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียทีเดียวนั้น เป็นการไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยความยุติธรรม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของโจทก์ดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ดี ตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 โจทก์ได้แต่งตั้ง ว. เป็นทนายความ ให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ได้ในชั้นฎีกานี้แล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องในชั้นยื่นคำฟ้องอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้อีก 

ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและประทับฟ้อง วันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี มีคําสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ แล้วพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคําพิพากษาศาลชั้นต้นย้อนสํานวนให้ศาลชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จําเลยฎีกา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฯ ดังนี้ พนักงานอัยการมีสิทธิฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนี้อีกหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 5391/2562 

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ในคดีก่อนผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและประทับฟ้อง ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีเพราะเหตุความเจ็บป่วยของโจทก์ด้วยโรคมะเร็งผิวหนัง และได้ทําการผ่าตัดในวันที่ 18 กรกฎาคม 2559 แพทย์ผู้ตรวจรักษามีความเห็นว่าให้งดการเดินทางไปในเขตร้อนจนกว่าผิวหนังจะสัมผัสกับแสงแดดได้และนัดตรวจอาการในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 โดยมีเอกสารพร้อมคําแปลมาแสดง แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี มีคําสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ เนื่องจากโจทก์ไม่มีพยานมานําสืบพิสูจน์ว่า จําเลยที่โจทก์ยังไม่ได้ถอนฟ้องไปกระทําความผิดตามฟ้อง และพิพากษายกฟ้อง ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การขอเลื่อนคดีของโจทก์มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ กรณียังมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 179 วรรคสอง พิพากษายกคําพิพากษาศาลชั้นต้นและคําสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ให้ย้อนสํานวนให้ศาลชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เมื่อจําเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ ภาค 2 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว จึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ดังนั้น คําพิพากษายกฟ้องในคดีก่อนจึงเป็นอันถูกยกเลิกเพิกถอนไป ไม่อาจถือได้ว่าศาลได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว พนักงานอัยการโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจําเลยในคดีนี้ได้โดยไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) 

พิพากษายกคําพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทกไว้แล้วดําเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีต่อไป 

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 ต่อมาผู้เสียหายและมารดาผู้เสียหายร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317 ซึ่งเป็นการกระทำคราวเดียวกันกับที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ประทับฟ้องในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของพนักงานอัยการจะระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 7246/2561  

แม้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยก่อนที่ น.และผู้เสียหายจะยื่นฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการกระทำคราวเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยดังกล่าวในคดีที่ น. และผู้เสียหายฟ้องจำเลย เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งความผิดแล้ว ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งโจทก์ได้ฟ้อง โดยมิพักต้องคำนึงว่าคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาก่อนนี้เป็นคดีที่ฟ้องก่อนหรือหลังคดีนี้ และคำพิพากษาในคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือไม่ เพราะกฎหมายประสงค์ให้การกระทำความผิดคราวเดียวกันสามารถฟ้องร้องว่ากล่าวกันได้เพียงครั้งเดียว แม้ภายหลังศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้ประทับฟ้องของ น. และผู้เสียหาย ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้กลับกลายเป็นฟ้องที่ยังมิได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเกี่ยวกับการกระทำในคราวเดียวกันนี้ของโจทก์ย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39 (4) 

ถ้าผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ผู้มีอำนาจจัดการแทนตามป.วิ.อาญา มาตรา 4, 5, 6 จะมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามมาตรา 30 เเละยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 แทนได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 30 วางหลักว่า คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้

มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้

กรณีที่ผู้เสียหายที่แท้จริงมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วยย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีสิทธิดำเนินคดีอาญาด้วยตนเอง ดังนั้น มารดาของผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีอาญาเเทน รวมทั้งไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) ประกอบ มาตรา 3 (2) และมาตรา 30

อย่างไรก็ตาม มารดาของผู้เสียหายยังคงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งตามป.วิ.อาญา มาตรา 44/1 แทนได้ แม้ผู้ตายจะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เพราะประเด็นว่าค่าสินไหมทดแทนจะต้องชดใช้กันมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2561 ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายกระทำความผิดเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี บ. มารดาของผู้ตายยังคงมีสิทธิเรียกร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ บ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ แต่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อผู้ตายกับจำเลยทั้งสองมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนอันสืบเนื่องมาจากการทำงาน วันเกิดเหตุผู้ตายกวักมือมายังจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองกับผู้ตายชกต่อยกันจนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ บ. สองในสามส่วน ของค่าสินไหมทดแทนที่ บ. จะได้รับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ผู้ร้องซึ่งมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้หรือไม่ จะยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ เเละหากยื่นคำร้องเเล้ว ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องไม่ได้ฎีกา เเต่คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่

การที่ผู้ร้องมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิดด้วย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาร่วมกับพนักงานอัยการตามมาตรา 30 เเต่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนเเพ่งตามมาตรา 44/1 ได้

เมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 เเล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอผู้ร้อง แม้ผู้ร้องไม่ได้ฎีกาในเรื่องค่าสินไหมทดแทนมาด้วย เเต่คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกคดีส่วนเเพ่งขึ้นมาวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลคดีอาญาตามมาตรา 46 ได้ ดังนั้น ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ร้้องได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 ได้ เเม้ผู้ร้องไม่ได้ฎีกาขึ้นมาก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7004/2561 ผู้ร้องมีส่วนในการก่อให้จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาตามมาตรา 30 แต่มีสิทธิยื่นคำร้องส่วนแพ่งขอเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย ตามมาตรา 44/1 ได้ เมื่อการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการกระทำโดยป้องกันพอสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด แต่เป็นการทำร้ายร่างกายผู้ร้องโดยบันดาลโทสะซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด คดีในส่วนแพ่งจำต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 46 โดยฟังว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ร้องและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้อง แม้ผู้ร้องไม่ได้ฎีกาเรื่องค่าสินไหมทดแทนมาด้วย ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลคดีอาญาได้เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225