คลังเก็บหมวดหมู่: ภาษี

ฎีกา 3908/2560 การโอนขายสิทธิการเช่าในอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะไม่ใช่การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ฎ.3908/2560 โจทก์ที่ 2 มีชื่อเป็นผู้เช่าที่ดินแปลงพิพาทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำตามที่คณะบุคคลโครงการ น. มอบหมายซึ่งอยู่ภายในวัตถุประสงค์ของคณะบุคคลดังกล่าว การที่คณะบุคคลโครงการ น. ตกลงให้อาคารและสิ่งก่อสร้างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วโดยคณะบุคคลโครงการ น. ได้รับสิทธิการเช่าเป็นค่าตอบแทนและสามารถนำสิทธิการเช่าโอนขายให้แก่บุคคลทั่วไปได้ โดยเมื่อลูกค้าชำระค่าสิทธิการเช่าดังกล่าวแล้ว ลูกค้าก็จะต้องไปทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ผู้ให้เช่าโดยตรง การประกอบกิจการของคณะบุคคลโครงการ น. ในลักษณะที่ได้รับผลตอบแทนจากการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าว นิติสัมพันธ์ระหว่างคณะบุคคลโครงการ น. กับบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นลูกค้า จึงหาได้มีลักษณะเป็นการเช่าอาคารอันได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ต) แต่เป็นการโอนขายสิทธิการเช่าให้แก่บุคคลภายนอกโดยมีค่าตอบแทน จึงย่อมเป็นการขายสินค้าที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2

ประเด็น : นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ จ่ายเงินเดือนในต่างประเทศ ลูกจ้างต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย ป.รัษฎากร มาตรา 41 วรรคหนึ่ง

ฎ.6054/2549 จำเลยเป็นลูกจ้างของบริษัท อ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างทั้งภายในและนอกประเทศไทย การที่บริษัท อ. ส่งจำเลยไปทำงานที่บริษัท อ. รับจ้างถมทะเลนอกประเทศ ค่าจ้างที่บริษัท อ. จ่ายให้แก่จำเลยจึงเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (1) ที่จำเลยได้รับเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย จึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 41 วรรคหนึ่ง

ประเด็น : สามีภริยาขายที่ดินสินสมรสจะตกลงให้สามีเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากกว่าภริยาตาม ป.รัษฎากร มาตรา 57 ฉ ว.2 ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เงินได้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาฝ่ายละจำนวนเท่าใด ฎีกา 3292/2561

ฎ.3292/2561 ป.รัษฎากร มาตรา 57 ฉ วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง” โจทก์กับ จ. ขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสินสมรส มีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเงิน 546,000 บาท อันเป็นเงินได้จากการขายสินสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน ทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสก็ถือว่าต่างฝ่ายมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันคนละกึ่งหนึ่งเช่นกัน เมื่อโจทก์กับ จ. ไม่ได้มีสัญญาตกลงกันไว้เป็นอื่นในเรื่องการจัดการสินสมรส ก็ถือว่าโจทก์กับ จ. มีเงินได้คนละกึ่งหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นเงินได้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดแจ้งว่าเป็นของสามีและภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 57 ฉ วรรคสอง โจทก์กับ จ. จะแบ่งเงินได้พึงประเมินของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสองตอนท้ายไม่ได้ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จำนวน 414,960 บาท ส่วน จ. มีเงินได้จำนวน 131,040 บาท จึงไม่ถูกต้อง