คลังเก็บหมวดหมู่: นิติกรรมสัญญา

เจ้าหนี้นำกลุ่มผู้ชายเเต่งกายคล้ายตำรวจมาทวงถามหนี้และพูดจาข่มขู่ลูกหนี้ให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้ยืมเงิน ลูกหนี้กลัวและทำสัญญากู้ยืมเงิน เป็นโมฆียะหรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 164  วางหลักว่า การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ
การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

หลักเกณฑ์ ป.พ.พ. มาตรา 164
1.การข่มขู่ต้องเกิดขึ้นโดยคู่กรณีฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลภายนอก หรือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งร่วมกับบุคคลภายนอก
2.ผู้ข่มขู่จะต้องมีเจตนาข่มขู่ผู้ทำนิติกรรม (ถ้ามิได้มีเจตนาข่มขู่ แต่เกิดความกลัวไปเอง ย่อมมิใช่การข่มขู่)
3.ผู้ทำนิติกรรมที่ถูกข่มขู่ต้องกลัวภัยที่จะเกิดจากการข่มขู่
4.ภัยที่ข่มขู่จะต้องใกล้จะถึง
5.ต้องเป็นภัยร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว
6.ถ้าไม่มีการข่มขู่นั้นจะไม่มีการแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้น

การที่เจ้าหนี้นำกลุ่มผู้ชายหลายคนแต่งกายคล้ายตำรวจไปที่บ้านของลูกหนี้ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงาน พูดจาข่มขู่ว่าบ้านและที่ดินตกเป็นของเจ้าหนี้แล้ว หากลูกหนี้จะดำเนินงานต่อต้องให้เงินโจทก์ 3,000,000 บาท ลูกหนี้กลัวจึงต้องทำสัญญากู้ยืมเงินนั้นไม่ปรากฏว่า เจ้าหนี้ได้ข่มขู่ว่าจะทำให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆียะ

คำพิพากษาฎีกาที่ 6294/2561 ป.พ.พ. มาตรา 164 บัญญัติว่า การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้นจะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้นการนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

โจทก์นำกลุ่มผู้ชายหลายคนแต่งกายคล้ายตำรวจไปที่บ้านของจำเลยซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงาน พูดจาข่มขู่ว่าบ้านและที่ดินตกเป็นของโจทก์แล้ว หากจำเลยจะดำเนินงานต่อต้องให้เงินโจทก์ 3,000,000 บาท จำเลยกลัวจึงต้องทำสัญญากู้ยืมเงิน การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ด้วยพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น หาได้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการข่มขู่อันจะทำให้สัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆียะไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2624/2551 วินิจฉันเเนวเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม

ผู้รับจ้างหลอกลวงผู้ว่าจ้างว่าธนาคารได้ออกหนังสือค้ำประกันให้ร้านของผู้รับจ้างแล้ว ทำให้ผู้ว่าจ้างหลงเชื่อ ตกลงทำสัญญาจ้างให้ทำความสะอาดอาคารโรงพยาบาลและผู้รับจ้างได้ทำความสะอาดและรับเงินค่าจ้างไปแล้ว ต่อมาผู้ว่าจ้างพบว่าธนาคารไม่ได้ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่ร้านของผู้รับจ้างจึงบอกเลิกสัญญา ดังนี้ เป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ และผู้ว่าจ้างจะเรียกเอาเงินค่าจ้างคืนจากผู้รับจ้าง ได้หรือไม่

ปนะมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 

องค์ประกอบความผิด
องค์ประกอบภายนอก
1. ผู้ใด
2. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ
2.1 แสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ
2.2 ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
3. โดยการหลอกลวงดังว่านั้น
3.1 ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือ
3.2 ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
องค์ประกอบภายใน
1. เจตนาธรรมดา
2. เจตนาพิเศษ : โดยทุจริต

ตามระเบียบของโรงพยาบาลผู้ว่าจ้างกำหนดว่า ผู้รับจ้างทำความสะอาดของโรงพยาบาลจะต้องมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร หากผู้รับจ้างไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาแสดง ก็ไม่อาจทำสัญญาจ้างกับผู้รับจ้างได้ การที่ผู้รับจ้างไม่มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร แต่หลอกลวงผู้ว่าจ้างโดยการนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาแสดงข้อความอันเป็นเท็จกับผู้ว่าจ้างเพื่อให้ได้งานนั้น ดังนี้ การหลอกลวงของผู้รับจ้างเป็นการกระทำโดยทุจริต และการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างอันเป็นเอกสารสิทธิให้ผู้รับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้รับจ้างในการที่จะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล และได้ทรัพย์สินเป็นเงินค่าจ้างจากการทำงาน จึงถือได้ว่าผู้รับจ้างกระทำความผิดฐานฉ้อโกงผู้ว่าจ้าง ตาม ป.อ. มาตรา 341

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


มาตรา 159  วรรคหนึ่งและวรรคสอง วางหลักว่า
การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น


มาตรา 176  วรรคหนึ่ง วางหลักว่า โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน

การที่ผู้ว่าจ้างทำสัญญากับผู้รับจ้างให้ผู้รับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาลเพราะหลงเชื่อว่าผู้รับจ้างมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ซึ่งหากผู้รับจ้างไม่มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ผู้รับจ้างจะไม่เข้าทำสัญญาจ้างกับผู้รับจ้าง กรณีจึงถือได้ว่านิติกรรมสัญญาจ้างระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างเกิดจากกลฉ้อฉลถึงขนาด สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159รรคหนึ่ง และวรรคสอง เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาจึงเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ทำให้สัญญาจ้างตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันทำสัญญา ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่การที่ผู้รับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาลอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างได้ยอมรับการงานนั้นแล้ว ผู้ว่าจ้างจึงยังมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้กับผู้รับจ้างอยู่ จึงเป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ผู้ว่าจ้างจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวคืนจากผู้รับจ้างได้ 

คำพิพากษาฎีกาที่ 6404/2560  ตามระเบียบการทำสัญญาจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. ผู้รับจ้างจะต้องมีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมายื่นให้ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นการค้ำประกันในกรณีที่ผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง หากผู้รับจ้างคนใดไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาแสดง ก็ไม่อาจทำสัญญาจ้างผู้รับจ้างคนดังกล่าวได้ การที่จำเลยทั้งสองประสงค์จะให้ร้านของจำเลยทั้งสองได้รับงานจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จึงหลอกลวงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่ว่า ธนาคารยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโรงพยาบาล ช. ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่ร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหนี้ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้างมาแสดงแต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง การหลอกลวงดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับร้านของจำเลยทั้งสอง เพราะหากร้านของจำเลยทั้งสองไม่มีหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ผู้เสียหายย่อมไม่ทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสอง การหลอกลวงดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยทุจริต และการหลอกลวงโดยทุจริตดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยทั้งสองในการที่จะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. อันเป็นการหลอกลวงโดยทุจริตให้ผู้เสียหายเข้าทำสัญญาจ้างอันเป็นเอกสารสิทธิ เมื่อการหลอกลวงโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดกับโรงพยาบาล ช. โรงพยาบาล ช. จึงให้สิทธิจำเลยทั้งสองเข้ารับงานอันเป็นผลให้จำเลยทั้งสองมีโอกาสเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. และได้ทรัพย์สินเป็นเงินค่าจ้างจากการทำงาน 108,000 บาท จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าภายหลังทำสัญญาจำเลยทั้งสองเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จริง โรงพยาบาล ช. จึงตรวจรับงานและอนุมัติค่าจ้างงวดแรกให้แก่ร้านของจำเลยทั้งสอง 108,000 บาท แต่การเข้าทำงานดังกล่าวก็เนื่องมาจากจำเลยทั้งสองโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายจนผู้เสียหายหลงเชื่อทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จริง ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำความผิดอาญาของจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นแล้วกลับกลายไม่เป็นความผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้องแล้ว 

จำเลยทั้งสองโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายว่า ธนาคาร ก. ได้ออกหนังสือค้ำประกันให้ร้านของจำเลยทั้งสอง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่ร้านของจำเลยทั้งสอง โดยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองให้ทำความสะอาดอาคารโรงพยาบาล ช. หากจำเลยทั้งสองไม่มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ผู้เสียหายจะไม่เข้าทำสัญญาจ้างกับจำเลยทั้งสอง กรณีจึงถือได้ว่านิติกรรมสัญญาจ้างระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองเกิดจากกลฉ้อฉลถึงขนาด สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159รรคหนึ่ง และวรรคสอง เมื่อผู้เสียหายบอกเลิกสัญญาอันเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ทำให้สัญญาจ้างตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันทำสัญญา ผู้เสียหายและจำเลยทั้งสองจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แม้การที่จะให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าจ้างทำความสะอาดแก่ผู้เสียหายไม่เป็นการพ้นวิสัย แต่การงานที่จำเลยทั้งสองทำให้ผู้เสียหายไปแล้วซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้เสียหาย และผู้เสียหายยอมรับเอาการงานของจำเลยทั้งสองแล้ว ตามหนังสือขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน ผู้เสียหายก็ต้องกลับคืนไปยังฐานะเดิมด้วยเช่นกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อการที่จะให้การงานที่ทำไปแล้วกลับคืนยังฐานะเดิมเป็นการพ้นวิสัย ผู้เสียหายจึงต้องใช้ค่าเสียหายที่สมควรแก่หน้าที่การงานให้จำเลยทั้งสอง โดยถือว่าค่าจ้างตามคำฟ้องที่จำเลยทั้งสองได้รับไปแล้วเป็นค่าเสียหายจำนวนนั้น ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยทั้งสองอีก 

ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไปแล้วมีผลอย่างไร

เดิมศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า การที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด แม้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยด้วยความสมัครใจโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ  ผู้กู้จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วคืน ตามมาตรา 407 และมาตรา 411 อีกทั้งไม่สามารถนำมาหักกับเงินต้นได้   (ฎ.99/2515, 1759/2545)

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันศาลฎีกาตัดสินว่า การที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย เรียกคืนไม่ได้ ตาม ม.411 และถึงแม้ผู้ให้กู้จะไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย แต่กรณีนี้ก็มิใช่การชำระหนี้โดยตามอำเภอใจโดยผู้กู้รู้ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ เพราะยังมีเงินต้นค้างชำระอยู่ จึงต้องนำดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วมาหักกับเงินต้น

ฎีกาที่ 5376/2560 จำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ซึ่งตกเป็นโมฆะ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจจะเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ และจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย  ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงิน

ฎีกาที่ 2131/2560 โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม

กรณีลูกหนี้ตายก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระหรือก่อนเงื่อนไขสำเร็จ เจ้าหนี้ฟ้องทายาทของลูกหนี้ให้ชำระหนี้ทันทีได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1754 วรรคสาม วางหลักว่า  ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

มาตรา 1754 วรรคท้าย วางหลักว่า แต่ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

หลักเกณฑ์
1. ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 193/27
2. สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดก (ลูกหนี้) มีกำหนดอายุความยาวกว่า 1 ปี
3. มิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องทายาทหรือผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก (ลูกหนี้)
3.1.เมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก (ลูกหนี้) หรือ
3.2.เมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่เจ้ามรดก (ลูกหนี้) ถึงแก่ความตาย

การที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำสัญญากู้เงิน และกำหนดชำระเงินเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนสำเร็จ ต่อมาลูกหนี้ถึงแก่ความตาย โดยเงื่อนไขบังคับก่อนยังไม่เสร็จนั้น ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อทายาทของลูกหนี้ย่อมเกิดขึ้นทันทีเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย และเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ลูกหนี้ถึงแก่ความตายตามป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ โดยไม่ต้องรอให้เงื่อนไขของสัญญาสำเร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2655/2561 เจ้าหนี้ของเจ้ามรดกจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย แม้สัญญากู้เงินที่ ว. เจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์จะมีข้อตกลงว่า “ผู้กู้ตกลงชำระคืนเงินกู้ เมื่อโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนชีวมวลของบริษัท ท. เริ่มมีกำไรและสามารถจ่ายเงินปันผลได้ ผู้กู้จะนำเงินที่ได้รับจากเงินปันผลมาชำระ…” และปรากฏว่า บริษัทดังกล่าวยังไม่เคยจ่ายเงินปันผลให้แก่ ว.และว.ถึงแก่ความตายเสียก่อน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงตกอยู่ภายในบังคับมาตรา 1754 วรรคสาม โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์ได้รู้ถึงความตายของ ว. โดยไม่ต้องรอการบังคับชำระหนี้จนกว่าเงื่อนไขของสัญญากู้เงินดังกล่าวจะสำเร็จ เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นทันทีเมื่อ ว.ถึงแก่ความตาย หากรอจนเงื่อนไขสำเร็จอายุความ 1 ปี อาจล่วงพ้นไปแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของ ว.เจ้ามรดกชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3994/2540 วินิจฉัยไว้แนวเดียวกัน

ทำนองเดียวกัน กรณีลูกหนี้ตายก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้ทายาทของลูกหนี้ชำระหนี้ได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้หนี้ถึงกำหนดชำระก่อน เพราะเจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีภายในอายุความตามป.พ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3994/2540 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754วรรคสาม เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายหากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ 1 ปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจจะล่วงพ้นไปแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

การทำนิติกรรมสำคัญเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามป.พ.พ. มาตรา 1574 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล มีผลทางกฎหมายอย่างไร

กรณีผู้เยาว์ทำนิติกรรมตามมาตรา 1574 ด้วยตนเอง

ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมตามมาตรา 1574 ด้วยตนเองได้ ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลเพราะมิใช่กรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมดังกล่าวแทนผู้เยาว์

ส่วนประเด็นว่านิติกรรมดังกล่าวมีผลสมบูรณ์หรือไม่ ให้ไปพิจารณาตามบทบัญญัติว่าด้วยความในการทำนิติกรรมของผู้เยาว์ กล่าวโดยย่อคือ ถ้าผู้เยาว์ทำนิติกรรมตามมาตรา 1574 ด้วยตนเอง โดยได้รับความยินยอมจากผู้ใช้อำนาจปกครอง นิติกรรมดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 21

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3496/2537 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 ได้บัญญัติไว้เฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองของผู้เยาว์ทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ผู้เยาว์เป็นผู้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเอง บิดาโจทก์เพียงแต่ลงลายมือชื่อในฐานะพยานเท่านั้นดังนี้ จึงไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ผู้เยาว์ทำขึ้น มี บ.ผู้แทนโดยชอบธรรมลงลายมือชื่อเป็นพยานในเอกสารนั้น ย่อมถือได้ว่าผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมแล้ว ดังนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงสมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21

กรณีผู้ใช้อำนาจปกครอง คือ บิดาชอบด้วยกฎหมาย มารดาชอบด้วยกฎหมาย ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองที่ศาลแต่งตั้ง ทำนิติกรรมตามมาตรา 1574 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

แนวที่ 1 นิติกรรมดังกล่าวไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์ และมิได้ตกเป็นโมฆะหรือโมฆียะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8308/2561 ว. เป็นมารดาของผู้คัดค้านทั้งสามย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ ซึ่งทรัพย์สินหมายความรวมถึงสิทธิเรียกร้องอันเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ บทบัญญัติมาตรา 1574 มีเจตนารมณ์คุ้มครองประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์โดยให้ศาลกำกับดูแล การฝ่าฝืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อนก็ไม่ได้ตัดอำนาจทำนิติกรรมแทนของผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันบุตรผู้เยาว์ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่มีสิทธิกล่าวอ้างเพื่อตัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจปกครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยตามแนวนี้ เช่น 6838/2555, 7776/2551, 3830/2542, 5225/2533, 876/2555

แนวที่ 2 นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะเพราะกฎหมายห้ามไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำนิติกรรมตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 1574 มิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12115/2555 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 บัญญัติว่า “ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้” ดังนั้น สิทธิการเช่าจึงเป็นทรัพย์สิน และเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่ง ซึ่งตกอยู่ภายใต้การบังคับคดีตามกฎหมาย จึงอาจจำหน่ายจ่ายโอนแก่บุคคลอื่นได้เพื่อได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าแทนตน สิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 จึงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะนั้น และตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติมาตรา 1574 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้เยาว์ ซึ่งผู้เยาว์นั้นต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของผู้ใช้อำนาจปกครอง อันได้แก่ บิดาและ/หรือมารดา ในบทมาตราดังกล่าวนี้บัญญัติว่า “…ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต…” และมีอนุมาตราแสดงการกระทำที่ต้องห้ามไว้สิบสามอนุมาตรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเป็นบทเคร่งครัดที่จะต้องปฏิบัติตาม ลักษณะที่เป็นบทเคร่งครัดของมาตรา 1574 ประกอบกับการเป็นบทบัญญัติที่ห้ามกระทำไว้อย่างชัดแจ้งนั้น ทำให้นิติกรรมใดที่ได้กระทำลงโดยฝ่าฝืน คือ หากเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 1574 (1) ถึง (13) แล้ว นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะทันที ตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย…การนั้นเป็นโมฆะ” และการที่นางบัวเรียวในฐานะผู้ปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะนั้นทำนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 ที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลอนุญาตให้กระทำการเช่นนั้นได้ โดยการนำสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 ของโจทก์ทั้งสองโอนให้แก่จำเลยเพื่อเป็นการชำระหนี้ที่นางบัวเรียวเป็นหนี้จำเลยเกี่ยวกับการซื้อขายพลอยโดยตีราคาสิทธิการเช่าดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 3,000,000 บาท นั้น เป็นการทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (11) นั่นคือ นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3) เมื่อนางบัวเรียวผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 แทนโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะนั้นโดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ยินยอมให้นางบัวเรียวผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมดังกล่าวมีผลว่านางบัวเรียว ผู้แทนโดยชอบธรรมทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน หาเป็นเช่นนั้นไม่ หากกรณีดังกล่าวสามารถทำเช่นนั้นได้ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องขออนุญาตจากศาล และเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้น การทำนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 ตามสำเนาแบบคำร้องขอโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุ และสำเนาบันทึกข้อความที่ทำขณะที่โจทก์ทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ได้กระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1574 (11) นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะทันทีตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล กิจการนั้นย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุทะเบียนราชพัสดุที่ ชร.360 เกิดขึ้นเลย สิทธิการเช่าดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยรับโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวไว้ แม้จะอ้างว่ารับโอนโดยสุจริตก็หามีผลทำให้จำเลยกลับมีสิทธิตามนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวไม่ และป็นกรณีมิใช่โมฆียกรรม ไม่อาจให้สัตยาบันหรือบอกล้างนิติกรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยตามแนวนี้ เช่น 533/2552, 8438/2547,9414/2542, 2140/2536, 1072/2527, 4006/2526, 1056/2525, 1837/2523

อ่านเพิ่มเติม