คลังเก็บหมวดหมู่: กฎหมายปกครอง

ประเด็น การดำเนินกิจการขององค์การทางศาสนา ฟ้องศาลปกครองไม่ได้ ex คำสั่งตั้งหรือปลดเจ้าคณะตำบล, การจับสึกพระ, คำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งอิหม่าม

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 281/2548 คำสั่งแต่งตั้งเจ้าคณะตำบลเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์เป็นคำสั่งในกิจการปกครองคณะสงฆ์เป็นการใช้อำนาจทางกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ มิใช่การใช้อำนาจทางปกครองในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สวนการที่มาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 กำหนดให้เจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญานั้น เป็นการกำหนดเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอาญา ไม่ได้ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1/2545 และ 4/2545 วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เป็นกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการปกครองสงฆ์ ด้านการดำเนินกิจการขององค์กรศาสนาที่มีการวางแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมทางการปกครองไว้ต่างหากแล้ว จึงมิใช่ข้อพิพาทอันเนื่องมาจากกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิใช่การปฏิบัติราชการทางปกครอง

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 803/2547 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งอิหม่ามประจำมัสยิดเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา มิใช่เป็นการดำเนินกิจการทางปกครองในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด

ประเด็น : คดีที่เอกชนฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำละเมิดในระหว่างควบคุมผู้ต้องหา เป็นคดีที่เกิดจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม

คําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 22/2547 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดทําละเมิดโดยไม่ใส่กุญแจห้องควบคุมผู้ต้องหาจนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาอื่นเข้าไปรุมทําร้ายบุตรผู้ฟ้องคดีภายในห้องควบคุมคดีอาญาจนถึงแก่ความตาย เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องขังในคดีอาญาเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมายเพื่อนําตัวผู้กระทําความผิดอาญาไปลงโทษและได้ดําเนินการตามที่ป.วิ.อาญากําหนดไว้เป็นการเฉพาะ คดีนี้จึงมิใช่การกระทําละเมิดจากการใช้อํานาจทางปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดอันสืบเนื่องจากการใช้อํานาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงอยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรม

คําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 34/2558 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมดําเนินคดีอาญาและถูกควบคุมในห้องขังสถานีตำรวจภูธร เจ้าหน้าที่สิบเวรผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมและเก็บรักษากุญแจห้องขังพบเหตุเพลิงไหม้สถานีตำรวจ ตามหน้าที่ต้องเปิดประตูห้องขังนําตัวผู้ต้องหาออกมาให้พ้นจากอันตราย แต่กลับแจ้งเหตุและรอคำสั่งผู้บังคับบัญชาแล้วจึงช่วยเหลือผู้ต้องหาในห้องขังทําให้เพลิงไหม้ห้องขังและผู้ต้องหาถูกไฟคลอกเสียชีวิตนั้นเกิดจากการกระทําละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชําระค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินพร้อมดอกเบี้ย.เห็นว่ามูลความแห่งคดีสืบเนื่องมาจากพนักงานสอบสวนจับกุมผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดอาญาและถูกควบคุมตัวระหว่างสอบสวนเพื่อดําเนินคดีอาญาจนถึงแก่ความตายขณะอยู่ในอํานาจควบคุมของเจ้าหน้าที่ ป.วิ.อาญา มาตรา 84/1 บัญญัติให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทําการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาไปยังศาล ถ้าไม่อาจส่งไปได้ในขณะนั้นเนื่องจากเป็นเวลาที่ศาลปิด หรือใกล้จะปิดทําการให้พนักงานสอบสวนที่รับตัวผู้ถูกจับไว้มีอํานาจปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาศาลเปิดทําการ อันเป็นขั้นตอนการดําเนินการที่กําหนดให้อํานาจพนักงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะโดยตรงเพื่อนำไปสู่การฟ้องคดีและลงโทษผู้กระทําความผิดทางอาญา และตามมาตรา 2 (1) ก็บัญญัติว่า “ศาล” หมายความถึงศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาซึ่งมีอํานาจเกี่ยวกับคดีอาญา ดังนั้นศาลที่มีอํานาจในการควบคุมตรวจสอบการสอบสวนของพนักงานสอบสวน คือ ศาลยุติธรรมซึ่งมีอํานาจเกี่ยวกับคดีอาญา.แม้ผู้ฟ้องจะบรรยายฟ้องในทำนองว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นเรื่องการสอบสวนเพื่อนําตัวผู้กระทําความผิดไปลงโทษทางอาญา เมื่อมีความเสียหายหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดของเจ้าหน้าที่เกิดขึ้น ศาลยุติธรรมย่อมมีอํานาจในการตรวจสอบขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดอันสืบเนื่องจากการใช้อํานาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงอยู่ในอํานาจศาลยุติธรรม

คําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 19/2545 การที่ตำรวจเข้าตรวจค้น จับกุมบุคคลถือได้ว่าเป็นขั้นตอนการดําเนินการของเจ้าพนักงานตามที่ป.วิ.อาญากําหนดให้อํานาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง มิใช่เป็นการกระทําทางปกครอง เมื่อมีความเสียหายหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นจึงอยู่ในอํานาจการตรวจสอบของศาลยุติธรรม

การบรรยายเนติฯ วิชา กม.ปกครอง ครั้งที่ 3 ท่านอาจารย์พงษ์เดช วานิชกิตติกูล ได้พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ แต่อย่างไรก็ดีบางกรณีฝ่ายปกครองได้ใช้อำนาจตามกฎหมายตรา “กฎ” ขึ้น แต่ฝ่ายปกครองไม่ได้ชื่อเรียกตามตัวอย่างของกฎ ตามมาตรา 3 แต่ใช้ชื่อเรียกต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งที่เป็น “บันทึก” หรือ “หลักเกณฑ์” หรือบางครั้งก็ใช้ว่า “คำสั่ง” แต่เนื้อแท้แล้วมีลักษณะเป็น “กฎ”

.

ตัวอย่างดังนี้

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 472/2554 บันทึกข้อความ เรื่อง การออกใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ให้กับคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง เป็นนโยบายสำคัญของรัฐเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ อันมีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้กับกรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ จึงมีลักษณะเป็นกฎตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

.

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 22/2555 (ประชุมใหญ่) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินบุคคลเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงขึ้น ในตำแหน่งสาหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ (ตำแหน่งประเภททั่วไป) ระดับ 8 ว. ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอเข้ารับการประเมินจะต้องเป็นผู้ผ่านการอบรมจากโรงเรียนนายอำเภอ (นอ.) มีลักษณะเป็นกฎ

การบรรยาย วิชากฎหมายปกครอง วันที่ 25/6/64 ท่านอาจารย์พงษ์เดช วานิชกิตติกูล

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.496/2559

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลด้วยดีตลอดมา การที่ผู้ถูกฟ้องดีที่ 1 มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอเพื่อแสดงพยานหลักฐานโต้แย้งข้อกล่าวหาและไม่ได้ระบุเหตุผลในการออกคำสั่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 30 และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบล โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าเมื่อตามกฎหมายแล้วนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีดุลพินิจที่จะแต่งตั้งบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 58/1 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ที่ตนไว้วางใจเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และให้บุคคลเช่นว่านั้นอยู่ในตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้นานตราบเท่าที่ตนยังคงไว้วางใจในตัวบุคคลนั้นอยู่ “ เป็นเรื่องอัตวิสัยของผู้ออกคำสั่งทางปกครอง”

.

ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งให้รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี