คลังเก็บหมวดหมู่: กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ

การบรรยายวิชา กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ วันที่ 8 ก.ค. 64 โดยท่าน ศ.(พิเศษ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ

พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 6 กำหนดว่า สัญญารับขนของที่มีการขนส่งทางทะเลและทางอื่นรวมอยู่ด้วยให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งทางทะเลเท่านั้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 ขึ้นมาบังคับใช้ อันส่งผลให้ หากมีการทำสัญญาขนส่งกันโดยมีการขนส่งกันตั้งแต่ 2 รูปแบบในสัญญาขึ้นไป เช่น ทางทะเล ทางอากาศ ทางบก และอื่นๆ เป็นต้น เช่นนี้ ในส่วนของการขนส่งทางทะเลจะไม่นำพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 6มาใช้บังคับแต่อย่างใด หากแต่ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 อันส่งผลให้อายุความในการดำเนินคดีนั้นมีความแตกต่างกัน เนื่องจากอายุความตามพระราชบัญญัติ การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 มีอายุความ 9 เดือน ขณะที่ อายุความตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มี 1 ปี

คำพิพากษาฎีกาที่ 19464/2555 ฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการเสียหายแห่งของที่รับขนในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ตามสัญญารับขน ซึ่งจำเลยที่ 1 รับขนส่งสินค้าจากโรงงานของโจทก์ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปส่งที่ท่าเรือโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไปภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว โดยขนส่งจากสถานที่ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่ง อันเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 จึงไม่อาจนำอายุความหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มาใช้บังคับดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย แต่ต้องใช้อายุความเก้าเดือนตาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้จดทะเบียนการประกอบการขนส่งต่อเนื่อง แต่การจดทะเบียนการประกอบการขนส่งต่อเนื่องเป็นเพียงวิธีการควบคุมการประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้จดทะเบียนการประกอบการขนส่งต่อเนื่องก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยกอายุความตามพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นต่อสู้