คลังเก็บป้ายกำกับ: แพ่ง

ประเด็น : จำเลยนำรถมาจอดทิ้งไว้ที่ศูนย์บริการหลายปี ทั้งที่คาดหมายได้ว่าโจทก์จะไม่ดำเนินการซ่อมให้อย่างแน่นอน ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ในการที่จะใช้ประโยชน์สถานที่ซึ่งจอดรถทิ้งไว้ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ (ฎ.2730/2560)

ฎีกาที่ 2730/2560 การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมไปรับรถยนต์พิพาทคืนทั้งที่อยู่ในวิสัยที่คาดหมายได้ว่า โจทก์ไม่ดำเนินการซ่อมระบบเบรกรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองอย่างแน่นอน โดยยังคงจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้บริเวณศูนย์บริการของโจทก์มาเป็นเวลาหลายปี ย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการที่จะใช้ประโยชน์ในสถานที่ที่จำเลยทั้งสองจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้ การที่โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับรถยนต์พิพาทกลับคืนไปและชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง (โจทก์เพียงแค่ผิดสัญญาจ้างทำของที่ไม่ซ่อมรถให้ตามสัญญา แต่ไม่ได้ทำให้รถของจำเลยเสียหายแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ได้ทำละเมิดต่อจำเลย)

ลูกหนี้ตามคำพิพากษาสละมรดกโดยไม่มีทรัพย์สินอื่นที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 10810/2559 ส.สละมรดกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เมื่อ ส.สละมรดกในขณะที่เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาโดย ส. ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับคดีได้ จึงเป็นการสละมรดกโดยรู้อยู่ว่าจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ กรณีมีเหตุเพิกถอนนิติกรรมสละมรดกที่ดินในส่วนของ ส.
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินระหว่าง ส.กับจำเลยที่ 2 อันหมายถึง ขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของ ส.โดยอ้างว่า ส. สละมรดกที่ดินโดยรู้อยู่ว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ การกระทำของ ส. จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อ ส.ถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737

ผู้จัดการมรดกมีอำนาจฟ้องทายาทที่ครอบครองที่ดินมรดกให้ส่งมอบที่ดินกลับเข้าสู่กองมรดก ได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ

การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดก ถือว่าทายาทคนนั้นเป็นเจ้าของรวมมีสิทธิใช้ทรัพย์สินนั้นได้ ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้ทายาทส่งมอบหรือให้ออกไปจากที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 423/2562 คำฟ้องของโจทก์อ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งไม่ได้ทำพินัยกรรมยกให้ผู้ใด แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายย่อมมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทและมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินมีสิทธิใช้ทรัพย์สินในฐานะเจ้าของรวมและการอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยต่อมาหลักจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะอยู่ได้ในฐานะที่เป็นทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายและในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง ซึ่งเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 เมื่อยังไม่มีการแบ่งการครอบครองเป็นสัดส่วน โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยส่งมอบหรือออกไปจากที่ดินพิพาท

อ่านเพิ่มเติม

ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีหนี้ตามคำพิพากษา แต่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ยังไม่ครบถ้วน หากนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดออกเสียจากทะเบียน เจ้าหนี้จะฟ้องหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดให้รับผิดในหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์
มาตรา 1273/3 วางหลักว่า
เมื่อสิ้นกำหนดเวลาตามที่แจ้งในหนังสือบอกกล่าวตามมาตรา 1273/1 หรือมาตรา 1273/2แล้ว และห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้แสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น นายทะเบียนจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียนก็ได้ ในการนี้ ให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกเสียจากทะเบียน แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นมีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล

แม้นายทะเบียนจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดออกจากทะเบียน ทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นสิ้นสภาพบุคคลเเล้วก็ตาม เเต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ เจ้าหนี้ย่อมสามารถเรียกให้ชำระหนี้ได้เสมือนห้างหุ้นส่วนยังไม่สิ้นสภาพบุคคล เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดยังชำระหนี้ตามตามคำพิพากษาเเก่เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ครบถ้วน หุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดย่อมต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวนตามมาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1077 (2) อีกทั้งถือว่าหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดนั้นเป็นลูกหนี้ร่วม ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนหรือหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้ตามมาตรา 291 ดังนั้น เจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับให้รับผิดในหนี้ของห้างได้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนตามมาตรา 1273/3

คำพิพากษาฎีกาที่ 6389/2561 จำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยไม่จำกัดจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070 และมาตรา 1077 (2) ถึงแม้ว่านายทะเบียนจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. ออกเสียจากทะเบียนเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนสิ้นสภาพบุคคลแล้ว แต่ความรับผิดชอบของหุ้นส่วนผู้จัดการมีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนนั้นยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล ตามมาตรา 1273/3 กับทั้งจำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ดังนั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงก็ได้ตามแต่จะเลือก ตามมาตรา 291 เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2363-2364/2546 ของศาลชั้นต้นยังไม่ครบถ้วน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดได้

เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่งทำขายฝากที่ดิน โดยเจ้าของรวมอื่นมิได้รู้เห็นยินยอม มีผลผูกพันเจ้าของรวมอื่นหรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายส่วนของตน หรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้
วรรคสอง วางหลักว่า แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน

เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่งๆ มีอำนาจในการจำหน่ายส่วนของตนได้รวมถึงการขายฝากที่ดินด้วย แม้เจ้าของรวมคนอื่นๆจะไม่รู้เห็นยินยอมด้วยก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง นิติกรรมก็จะมีผลผูกพันเพียงผู้ทำนิติกรรมเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันเจ้าของรวมอื่นที่มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ตามมาตรา 1361 วรรคสอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 5240/2559 ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์กับจำเลยที่ 1 คนละกึ่งหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมย่อมไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสอง แต่ที่ดินพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 1 จำนวนกึ่งหนึ่ง ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง แม้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งให้ขายฝากก็ตาม 

คำพิพากษาฎีกาที่ 5658/2552 ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงที่จำเลยที่ 2 ได้มาเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาททั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์อีกคนหนึ่งมิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้

อ่านเพิ่มเติม

เจ้าหนี้นำกลุ่มผู้ชายเเต่งกายคล้ายตำรวจมาทวงถามหนี้และพูดจาข่มขู่ลูกหนี้ให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้ยืมเงิน ลูกหนี้กลัวและทำสัญญากู้ยืมเงิน เป็นโมฆียะหรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 164  วางหลักว่า การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ
การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

หลักเกณฑ์ ป.พ.พ. มาตรา 164
1.การข่มขู่ต้องเกิดขึ้นโดยคู่กรณีฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลภายนอก หรือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งร่วมกับบุคคลภายนอก
2.ผู้ข่มขู่จะต้องมีเจตนาข่มขู่ผู้ทำนิติกรรม (ถ้ามิได้มีเจตนาข่มขู่ แต่เกิดความกลัวไปเอง ย่อมมิใช่การข่มขู่)
3.ผู้ทำนิติกรรมที่ถูกข่มขู่ต้องกลัวภัยที่จะเกิดจากการข่มขู่
4.ภัยที่ข่มขู่จะต้องใกล้จะถึง
5.ต้องเป็นภัยร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว
6.ถ้าไม่มีการข่มขู่นั้นจะไม่มีการแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้น

การที่เจ้าหนี้นำกลุ่มผู้ชายหลายคนแต่งกายคล้ายตำรวจไปที่บ้านของลูกหนี้ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงาน พูดจาข่มขู่ว่าบ้านและที่ดินตกเป็นของเจ้าหนี้แล้ว หากลูกหนี้จะดำเนินงานต่อต้องให้เงินโจทก์ 3,000,000 บาท ลูกหนี้กลัวจึงต้องทำสัญญากู้ยืมเงินนั้นไม่ปรากฏว่า เจ้าหนี้ได้ข่มขู่ว่าจะทำให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆียะ

คำพิพากษาฎีกาที่ 6294/2561 ป.พ.พ. มาตรา 164 บัญญัติว่า การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้นจะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้นการนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

โจทก์นำกลุ่มผู้ชายหลายคนแต่งกายคล้ายตำรวจไปที่บ้านของจำเลยซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงาน พูดจาข่มขู่ว่าบ้านและที่ดินตกเป็นของโจทก์แล้ว หากจำเลยจะดำเนินงานต่อต้องให้เงินโจทก์ 3,000,000 บาท จำเลยกลัวจึงต้องทำสัญญากู้ยืมเงิน การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ด้วยพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น หาได้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการข่มขู่อันจะทำให้สัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆียะไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2624/2551 วินิจฉันเเนวเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม

ลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย เลือกชำระหนี้โดยโอนที่ดินให้แก่เจ้าหนี้รายหนึ่งไป โดยเจ้าหนี้คนนั้นรู้ว่าลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายรายและไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้อื่นที่ไม่ได้รับชำระหนี้มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 237 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

การที่ลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายรายและมีภาระหนี้สินจำนวนมาก แต่กลับเลือกชำระหนี้แก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยการโอนที่ดินพิพาทให้กับเจ้าหนี้คนหนึ่งนี้เพียงคนเดียวเป็นการทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดน้อยถอยลงไป ทำให้เจ้าหนี้คนอื่นเสียเปรียบ ประกอบกับเจ้าหนี้ผู้ได้ลาภงอกนี้ทราบก่อนโอนที่ดินพิพาทแล้วว่าลูกหนี้มีเจ้าหนี้อีกหลายรายที่รอการชำระหนี้ด้วย การกระทำของลูกหนี้จึงเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้รายอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เจ้าหนี้รายอื่นจึงมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2090/2560 จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธเพียงว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และเป็นไปตามกระบวนการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาทของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อหาข้อยุติทางคดีนั้นชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบและไม่เป็นการฉ้อฉล โดยมิได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์ และไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 และ ป.มีเจ้าหนี้หลายราย มีภาระหนี้จำนวนมากและไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ประกอบกับจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วทั้งก่อนและในขณะรับโอนที่ดินพิพาทว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์และรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 และ ป. มีเจ้าหนี้หลายราย มีภาระหนี้จำนวนมากและไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 กลับเลือกชำระหนี้โดยโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อีกรายหนึ่งของตนไป ย่อมมีผลให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลดน้อยลงและโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ไม่สามารถยึดทรัพย์บังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวได้ หรือเสียโอกาสในการขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์หากมีการยึดที่ดินพิพาทโดยเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1  จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1  เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉล โจทก์มีสิทธิ์ร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทได้ 

สามีนำที่ดินสินส่วนตัวไปจำนองประกันหนี้เงินกู้ หากต่อมาภริยาร่วมผ่อนชำระด้วย จะทำให้ที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรสหรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1471 
วางหลักว่า สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของสามี เมื่อสามีนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ของตน โดยมีภริยาร่วมผ่อนชำระด้วย ถือว่าการช่วยผ่อนชำระนั้นเป็นเพียงการช่วยชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สามีเท่านั้น ดังนี้ ที่ดินสินส่วนตัวของสามีจึงยังคงเป็นสินส่วนตัวอยู่ดังเดิม ไม่กลับกลายเป็นสินสมรสแต่อย่างใด

คำพิพากษาฎีกาที่ 3943/2561 การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทก่อนที่ผู้ร้องกับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกัน ย่อมถือได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรสและเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ต่อมาผู้ร้องนำที่ดินพิพาทที่ซื้อได้กรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ก็เป็นสิทธิที่ผู้ร้องสามารถทำได้ และการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาจะร่วมผ่อนชำระด้วยก็เป็นเพียงการช่วยชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ผู้ร้องเท่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกับผู้ร้องในที่ดินพิพาท 

บ้านพิพาทบนที่ดินพิพาทเป็นบ้านตึกสองชั้นที่ก่อสร้างขึ้นใหม่แทนบ้านหลังเดิมที่เป็นบ้านตึกชั้นเดียว แต่ยังคงใช้เลขที่บ้านเดิม และด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรสของผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 และผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ใช้บ้านหลังดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าบ้านพิพาทก่อสร้างขึ้นโดยได้รับความยินยอมและอยู่ในความรู้เห็นของผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าเข้าข้อยกเว้นในกรณีที่ผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธิปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 และไม่ถือว่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์ส่วนควบของที่ดินอันตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่ผู้เดียว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 หากแต่บ้านพิพาทเป็นสินสมรสไม่ใช่สินส่วนตัว จึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของจำเลยที่ 1 กับผู้ร้อง 

กรรมการก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท แต่บริษัทไม่ฟ้อง ผู้ถือหุ้นจะฟ้องกรรมการและขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนสำเนาเอกสารต่างๆ และให้สำเนาต่างๆ ตกเป็นโมฆะ ได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้

หลักเกณฑ์ของมาตรา 1169วรรคหนึ่ง
1. กรรมการก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท
2. บริษัท (และกรรมการผู้มีอำนาจอื่น ถ้ามี) ไม่ยอมฟ้องร้อง
3. ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะฟ้องคดีเองก็ได้ แต่ต้องฟ้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท

แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1169 จะให้สิทธิผู้ถือหุ้นฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทได้ ในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้องก็ตาม เเต่ก็ให้สิทธิเฉพาะฟ้องเพื่อเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการเท่านั้น จะฟ้องโดยมีคำขออื่นๆไม่ได้ การที่ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการโดยมีคำขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนสำเนาเอกสารต่างๆ และให้สำเนาต่างๆ ตกเป็นโมฆะย่อม ไม่ใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหาย อันมาตรา 1169 ให้อำนาจไว้ ดังนั้น ผู้ถือหุ้นจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสำเนาเอกสารต่างๆเเละให้สำเนาต่างๆตกเป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4065/2561 บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1169 เป็นกรณีที่ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทเฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการของบริษัทเท่านั้น แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ท. โดยมีคำขอให้พิพากษาว่า หนังสือยืนยันการชำระค่าหุ้นและการเก็บรักษาค่าหุ้น สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตกเป็นโมฆะกับให้เพิกถอนสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในส่วนนี้

ผู้ถือหุ้นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมและให้โอนทรัพย์สินกลับมาเป็นของบริษัทไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4605/2561 โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคนของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือหุ้นแทนโจทก์ หากเป็นจริงดังที่กล่าวอ้าง โจทก์ก็มีสถานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้ที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัท ไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลของบริษัท จะมีสิทธิแต่เพียงควบคุมการดำเนินงานของกรรมการบริษัทบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น หาอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเองได้ไม่ หรือหากกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ซึ่งบริษัทมีสิทธิจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการแล้วบริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้สิทธิของบริษัทเพื่อประโยชน์ของบริษัท แต่ผู้ถือหุ้นหาอาจจะเข้ามาดำเนินการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญาที่กรรมการบริษัทกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้นิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายทรัพย์สินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ และให้โอนทรัพย์สินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม หากไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแทน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ฟังขึ้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 3193/2558, 2481/2552, 6250/2541 วินิจฉัยเเนวเดียวกัน

หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดซึ่งออกจากห้างหุ้นส่วนไปเเล้วต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนหรือไม่

ประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์

มาตรา 1077 วางหลักว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก คือ
(1) ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้น และ
(2) ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวน

มาตรา 1095  ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้

แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้เพียงจำนวนดังนี้ คือ
(1) จำนวนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่าที่ยังค้างส่งแก่ห้างหุ้นส่วน
(2) จำนวนลงหุ้นเท่าที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน (3) จำนวนเงินปันผลและดอกเบี้ยซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับไปแล้วโดยทุจริตและฝ่าฝืนต่อบทมาตรา 1084

มาตรา 1068  วางหลักว่า ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียง 2 ปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน

มาตรา 1080  วรรคหนึ่ง วางหลักว่า บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย

โดยหลักแล้วหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ย่อมมีความผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดตามป.พ.พ. มาตรา 1077 (1) และในระหว่างที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามมาตรา 1095 วรรคหนึ่ง กรณีนี้จึงนำมาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแก่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้ ดังนั้น หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดที่ออกจากห้างฯแล้วไปแล้วจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯที่เกิดขึ้นขณะที่ตนเป็นหุ้นส่วน แม้ยังอยู่ภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ออกจากห้างฯก็ตาม

คำพิพากษาฎีกาที่ 251/2562 ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เดิมโจทก์มีหุ้นส่วน 2 คน คือ จำเลยเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและนายสมนึกเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้นายสมนึกเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและจำเลยเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดและต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้บริษัทบ้านตาลโฮลดิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแทนจำเลยที่ออกจากการเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ ในระหว่างที่จำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของโจทก์ โจทก์โดยจำเลยและนายสมนึกขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ให้แก่นายสำราญ โจทก์ชำระภาษีแล้ว ต่อมากรมสรรพากรแจ้งโจทก์ว่าชำระภาษีไม่ถูกต้องให้ชำระภาษีที่ยังขาด เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงท้องที่ 1,407,548.25 บาท โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรครบถ้วนแล้ว

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระของโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2554 ในขณะนั้นจำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของโจทก์ โจทก์และจำเลยยังไม่ทราบเรื่องที่มีการเสียภาษีไม่ถูกต้อง ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2558 (ที่ถูก 2556) โจทก์จดทะเบียนให้จำเลยออกจากการเป็นหุ้นส่วนของโจทก์โดยมีการคืนจำนวนลงหุ้นแก่จำเลย 28,000,000 บาท หากโจทก์และจำเลยทราบเรื่องที่เสียภาษีไม่ถูกต้องเสียก่อน จำเลยก็จะได้รับจำนวนลงหุ้นคืนน้อยกว่าจำนวนดังกล่าว เมื่อหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระในฐานะหุ้นส่วนของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1051 โจทก์ชอบที่จะไล่เบี้ยเรียกเอาเงินที่ชำระแทนไปก่อน 703,774 บาท จากจำเลยได้นั้น เห็นว่าเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้วย่อมมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 1015 ทรัพย์สินและหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมมิใช่ทรัพย์สินและหนี้สินของผู้เป็นหุ้นส่วนโดยตรง ส่วนการที่ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วจะยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1051 นั้น เป็นกรณีที่บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายจะใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อขึ้นเพราะจัดการไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น แตกต่างจากผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ซึ่งจะมีความผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดตามมาตรา 1077 (1) และในระหว่างที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามมาตรา 1095 วรรคหนึ่ง แต่หากห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกันแล้ว ความรับผิดชอบของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมจำกัดอยู่เพียงจำนวน ลงหุ้นที่ยังค้างส่งหรือได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดกับเงินปันผลซึ่งได้รับไปแล้วโดยทุจริตและฝ่าฝืนต่อข้อห้ามที่มิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยนอกจากผลกำไรซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดทำมาค้าได้ตาม มาตรา 1095 วรรคสอง (1) (2) และ (3) เท่านั้น กรณีจึงไม่อาจนำมาตรา 1051 มาใช้บังคับแก่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ตามมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง แม้หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระของโจทก์จะเกิดขึ้นในระหว่างที่จำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของโจทก์ก็ถือมิได้ว่าเป็นหนี้สินของจำเลย เมื่อจำเลยออกจากการเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ไปแล้วโดยมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้บริษัทบ้านตาลโฮลดิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแทนจำเลยในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันย่อมต้องถือว่าความเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของจำเลยได้ถูกแทนที่โดยบริษัทบ้านตาลโฮลดิ้ง จำกัด แล้ว แม้จำเลยจะได้รับเงินจากการถอนหุ้นด้วย แต่ก็เป็นเพียงการจ่ายเงินเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์และนายสมนึก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 167/2556 ของศาลชั้นต้นและได้ความตามคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนว่าจำนวนลงหุ้นของจำเลยถูกแทนที่ด้วยจำนวนลงหุ้นของบริษัทบ้านตาล โฮลดิ้ง จำกัด เช่นกัน หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระที่โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรไปนั้น จึงเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ที่จะต้องนำไปคิดคำนวณกำไรขาดทุนในระหว่างผู้ที่ยังคงเป็นหุ้นส่วนกันต่อไปตามสัญญาหุ้นส่วน โจทก์จะนำหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระดังกล่าวมาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยไม่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระ ของโจทก์

อ่านเพิ่มเติม