คลังเก็บป้ายกำกับ: เนติบัณฑิต

ประเด็น : ลูกจ้างได้รับค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมแล้ว ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2546/2560 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กับ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 กำหนดการเยียวยาแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไว้แตกต่างกันและเป็นกฎหมายคนละฉบับ กล่าวคือถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวมทั้งเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับนายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวได้ ตามมาตรา 123 และมาตรา 124 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าการเลิกจ้างของนายจ้างนั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 และมาตรา 123 หรือไม่ เพราะหากการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมด้วยก็ไม่ตัดสิทธิลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงานสัมพันธ์เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 124 และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจวินิจฉัยออกคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหายหรือให้นายจ้างปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควรตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 125 และมาตรา 41(4) ทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมายอื่น ดังนั้น การที่ลูกจ้างทั้งสิบของโจทก์นำเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันไปร้องทั้งต่อพนักงานตรวจแรงงานและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จึงไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อน ทั้งยังไม่อาจถือได้ว่าลูกล้างทั้งสิบสละสิทธิหรือไม่ถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของจำเลย

ประเด็น : ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเพราะเกี่ยวข้องกับการแจ้งข้อเรียกร้อง หรือเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน หรือเป็นสมาชิกสหภาพ ถ้าได้รับค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมอีก

คำพิพากษาฎีกาที่ 4094/2561 การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม หรือจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น แม้บทบัญญัติของพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 จะกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้แตกต่างกันและเป็นกฎหมายต่างฉบับกันก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างในการได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยผู้เป็นนายจ้างเช่นเดียวกัน สำหรับกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือศาลแรงงานกลางไม่เห็นสมควรให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานอีก เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการที่จำเลยกระทำการอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121(2) และภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลาง จำเลยได้วางเงินเพื่อชำระค่าเสียหายให้โจทก์รับไปแล้วซึ่งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยเป็นคดีนี้ก็เป็นค่าเสียหายที่มาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างของจำเลยในคราวเดียวกันเมื่อโจทก์เข้ารับเอาเงินแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายในคดีนี้อีก

——————————

สอบถาม/สมัครเรียนได้ที่…
LINE Official : @Smartlawtutor
หรือคลิ้ก https://lin.ee/C7fWn1q
โทร.086-987-5678 (09.00-24.00 น. ทุกวัน)

ประเด็น : ลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน แม้จะได้รับเงินจากการประกันภัย ลูกจ้างยังคงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง/สนง.ประกันสังคมด้วย

ฎ.5788/2530 บริษัท ส. นายจ้างเดิมของ พ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันบริษัทจำเลยที่ 2 นายจ้างคนใหม่ของ พ.ได้เอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลให้แก่ พ.กรมธรรม์ประกันภัยมิได้มีข้อความกำหนดว่าต้องเป็นอุบัติเหตุอัน เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างแต่เพียงประการเดียวแม้ลูกจ้างผู้เอาประกันภัยจะประสบอันตรายโดยมิได้เกิด ขึ้นจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างบริษัทประกันภัยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาแม้บริษัท ส.จะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันก็เป็นเพียงการให้สวัสดิการเพื่อบำรุงขวัญและเป็นกำลังใจในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของ พ. เท่านั้นค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ พ.ได้รับจากบริษัทประกันภัยจึงมิใช่เป็นเงินทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของบริษัทจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง

.

กรณีที่นายจ้างได้เอาประกันการจ่ายเงินทดแทนไว้กับบริษัทประกันภัยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประเภท ขนาดของกิจการและท้องที่ที่ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ฉบับที่ 13 ข้อ 4 นั้น เป็นกรณีที่นายจ้างได้เอาประกันไว้แล้วไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนสำหรับลูกจ้างที่เอาประกันไว้เท่านั้น หาได้กำหนดว่าเงินที่เอาประกันภัยเป็นเงินทดแทนไม่

…………………

ฎ.1964/2547 โจทก์เป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตาม พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ และในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ประสบภัยจากรถจึงเป็นผู้รับประโยชน์ที่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ส่วนบริษัท ศ. ซึ่งเป็นนายจ้างโจทก์จะมีสิทธิขอรับเงินทดแทนต่อจำเลยได้ก็แต่เฉพาะที่ได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนไปก่อน แล้วขอรับเงินทดแทนที่ได้ทดรองจ่ายไปนั้นคืนจากจำเลยตาม พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ มาตรา 25 เท่านั้น และแม้บริษัท ศ. จะเป็นผู้เอาประกันภัยรถโดยสารและประสบอุบัติเหตุ แต่บริษัทดังกล่าวก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ เพราะมิใช่ผู้ประสบภัยจากรถ การที่บริษัท ศ. จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนแล้วมาขอรับเงินที่จ่ายไปคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัยนั้น เป็นการทดรองจ่ายแทนบริษัทผู้รับประกันภัยในฐานะผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่ทดรองจ่ายแทนจำเลยในฐานะนายจ้าง ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ มาตรา 25 จึงไม่มีสิทธิมาขอรับเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลย กับเมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายเงินคืนให้แก่บริษัท ศ. ไปแล้วย่อมทำให้สิทธิที่จะเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวของบริษัท ศ. ระงับสิ้นลงแล้วไม่อาจสละสิทธิในเงินจำนวนดังกล่าวนี้ได้ ประกอบกับ พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ มาตรา 7 บัญญัติว่า การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตาม พ.ร.บ. นี้ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมายอื่น ดังนี้ แม้บริษัท ศ. จะทำหนังสือสละสิทธิไปยังจำเลยก็ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิที่โจทก์จะพึงได้รับในฐานะผู้ประสบอันตรายตาม พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ แต่ประการใด

ประเด็น : ลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานจนถึงแก่ความตาย บุตรของลูกจ้างที่มีอายุ 21 ปี ไม่มีสิทธิรับเงินทดแทน

พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537

มาตรา 20 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(3) บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนต่อไปจนกว่าจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี

(3/1) บุตรมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไปที่อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจนกว่าจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี (แก้ไขเพิ่มเติมปี 2561)

(4) บุตรมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีและทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย

*ฎ.3595/2561 ขณะลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตาย บุตรลูกจ้างอายุ 21 ปี จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน

ประเด็น : นายจ้างใช้ลูกจ้างไปส่งเอกสาร ลูกจ้างส่งเอกสารเสร็จแล้วแต่ประสบอันตรายระหว่างเดินทางกลับบ้าน แม้ยังอยู่ในเวลาทำงาน ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน

*ฎ.3880/2560 ลูกจ้างเป็นพนักงานรับส่งเอกสาร แม้ขณะเกิดเหตุอยู่ในช่วงระยะเวลาทำงานก็ตาม แต่เมื่อลูกจ้างได้ไปรับหนังสือรับรองภาษีฯ ซึ่งเป็นงานชิ้นสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว ถือได้ว่าการทำงานในหน้าที่ของลูกจ้างให้แก่นายจ้างเสร็จสิ้นลงทันที การเดินทางกลับบ้านภายหลังจากเสร็จสิ้นการทำงานไม่ได้อยู่ภายใต้คำสั่งหรือการควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้างอีก จึงถือไม่ได้ว่าการตายของลูกจ้างเกิดเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง

การบรรยายเนติฯ กลุ่มแพ่งและพาณิชย์ วิชา หุ้นส่วนบริษัท ข้อ 7 (ครั้งที่ 2) ท่าน อ.สหธน ได้พูดประเด็นน่าสนใจ และยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

บริษัทสามสหายจำกัด ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท จำนวนหุ้น 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นจดทะเบียน 10 บาท ต่อหุ้น วัตถุประสงค์ขายอาหาร มีกรรมการคือ นาย ก. ข. ค. ข้อจำกัดอำนาจกรรมการสองในสามต้องร่วมกันลงนามจึงจะมีผลผูกพันบริษัท

คำถามมีดังนี้ บริษัทสามสหายจำกัด โดย นาย ก. และนาย ข. ทำสัญญาซื้อหน้ากากอนามัย จากบริษัทโควิดจำกัด ราคา 1,000,000 บาท ต่อมาราคาหน้ากากขึ้นสูง บริษัทโควิดจำกัดจึงไม่ส่งมอบหน้ากากอนามัยให้ บริษัทสามสหายจำกัดมีสิทธิที่จะฟ้องบริษัทโควิดจำกัดได้หรือไม่ และผู้ถือหุ้นกับกรรมการของบริษัทสามสหายจะให้สัตยาบันในการกระทำดังกล่าวได้หรือไม่

.

คำตอบ การที่บริษัทสามสหายจำกัดไปทำสัญญาซื้อหน้ากากอนามัยนั้น เป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ทั้งขอบวัตถุประสงค์โดยตรงและขอบวัตถุประสงค์โดยปริยายของบริษัทสามสหาย บริษัทสามสหายจึงฟ้องบริษัทโควิดไม่ได้ และผู้ถือหุ้นกับกรรมการของบริษัทสามสหายจะให้สัตยาบันยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นกิจการที่นอกขอบวัตถุประสงค์ สิ่งที่บริษัทสามสหายจะทำได้ก็คือต้องแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์และไปทำสัญญาซื้อหน้ากากอนามัยใหม่

การบรรยายเนติฯ กลุ่มแพ่งและพาณิชย์ วิชามรดก ข้อ 8 ครั้งแรก ท่านอาจารย์กีรติ กาญจนรินทร์ ได้พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้

.

เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยผลของกฎหมาย กล่าวคือบุคคลนั้นศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 หากบุคคลนั้นมีคู่สมรส โดยหลักแล้วการสมรสระหว่างบุคคลนั้นกับคู่สมรสยังไม่สิ้นสุดลง แต่เป็นเพียงเหตุหย่า ตามป.พ.พ. มาตรา 1516(5) เท่านั้น ดังนั้น เมื่อการสมรสยังไม่สิ้นสุดลง หากคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ทรัพย์สินใดๆมาภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนสาบสูญ ทรัพย์สินนั้นจะเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ??

.

กรณีนี้ไม่มีกฎหมายบทบัญญัติไว้โดยชัดเจน จึงต้องนำ มาตรา 1492 ป.พ.พ. มาปรับใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ดังนั้นทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนสาบสูญแล้ว จึงต้องถือว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่

.

ป.พ.พ. มาตรา 1492 วรรคหนึ่ง เมื่อได้แยกสินสมรสตามมาตรา 1484 วรรคสอง มาตรา 1491 หรือมาตรา 1598/17 วรรคสอง แล้ว ให้ส่วนที่แยกออกตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยา และบรรดาทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาในภายหลังไม่ให้ถือเป็นสินสมรส แต่ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น และสินสมรสที่คู่สมรสได้มาโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือตามมาตรา 1474 (2) ในภายหลัง ให้ตกเป็นสินส่วนตัวของสามีและภริยาฝ่ายละครึ่ง

.

วรรคสอง ดอกผลของสินส่วนตัวที่ได้มาหลังจากที่ได้แยกสินสมรสแล้วให้เป็นสินส่วนตัว

.

มาตรา 4 วรรคหนึ่ง กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ

.

วรรคสอง เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

การบรรยายเนติฯ วิชากฎหมายแรงงาน ข้อ 8 ครั้งแรก ท่านอาจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ ได้พูดถึงประเด็นและคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจไว้ดังนี้

ข้อตกลงใดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่ตกลงขัดกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อตกลงนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ทั้งนี้หากเป็นการตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างภายหลังสัญญาจ้างได้สิ้นสุดลงแล้ว ถึงแม้ว่าข้อตกลงจะขัดกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ข้อตกลงนั้นก็ไม่เป็นโมฆะ

.

คำพิพากษาฎีกาที่ 1977/2557 แม้สิทธิเรียกร้องค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุด และค่าทำงานเกินเวลาในวันหยุด เป็นสิทธิเรียกร้องที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม เมื่อนายจ้างและลูกจ้างทำข้อตกลงเกี่ยวกับเงินดังกล่าวและบังคับข้อตกลงเกิดขึ้นหลังจากลูกจ้างออกจากงานพ้นจากการเป็นลูกจ้างของนายจ้างแล้ว ลูกจ้างย่อมมีอิสระแก่ตนพ้นพันธกรณีและอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างโดยสิ้นเชิง การสละสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ไม่เป็นโมฆะ…

การบรรยายเนติฯ วิชากฎหมายแรงงาน ครั้งที่ 2 ท่านอาจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ ได้พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 “สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี”

ซึ่งมีคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจดังนี้

.

 ฎ.7810/2560 ข้อตกลงอันเป็นลักษณะข้อห้ามของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างก็เพื่อปกป้องข้อมูลความลับและธุรกิจการค้าของโจทก์ให้อยู่รอดดำเนินการต่อไปได้ มุ่งเฉพาะสิ่งที่เป็นการแข่งขันในการประกอบธุรกิจการค้าในลักษณะประเภทเดียวกับโจทก์และมีกำหนดระยะเวลา มิใช่ห้ามตลอดไป เป็นข้อตกลงหรือสัญญาที่กระทำได้โดยชอบ แต่จำเลย (ลูกจ้าง) มีตำแหน่งเพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 13,000 บาท การที่โจทก์กำหนดระยะเวลาห้ามไว้ถึง 2 ปี เป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงให้มีผลบังคับได้เพียง 1 ปี เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1

 ฎ.3580/2561 สัญญาจ้างที่จำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของจำเลย (ลูกจ้าง) ที่เป็นการแข่งขันกับโจทก์ (นายจ้าง) เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่จำเลยซึ่งเป็นเพียงพนักงานธุรการประสานงานขายพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์นั้น นับว่าทำให้จำเลยผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงเห็นสมควรให้มีผลบังคับได้เพียง 1 ปี เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี

การบรรยายเนติฯ วิชา กม.ปกครอง ครั้งที่ 3 ท่านอาจารย์พงษ์เดช วานิชกิตติกูล ได้พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ แต่อย่างไรก็ดีบางกรณีฝ่ายปกครองได้ใช้อำนาจตามกฎหมายตรา “กฎ” ขึ้น แต่ฝ่ายปกครองไม่ได้ชื่อเรียกตามตัวอย่างของกฎ ตามมาตรา 3 แต่ใช้ชื่อเรียกต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งที่เป็น “บันทึก” หรือ “หลักเกณฑ์” หรือบางครั้งก็ใช้ว่า “คำสั่ง” แต่เนื้อแท้แล้วมีลักษณะเป็น “กฎ”

.

ตัวอย่างดังนี้

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 472/2554 บันทึกข้อความ เรื่อง การออกใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ให้กับคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง เป็นนโยบายสำคัญของรัฐเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ อันมีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้กับกรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ จึงมีลักษณะเป็นกฎตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

.

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 22/2555 (ประชุมใหญ่) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินบุคคลเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงขึ้น ในตำแหน่งสาหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ (ตำแหน่งประเภททั่วไป) ระดับ 8 ว. ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอเข้ารับการประเมินจะต้องเป็นผู้ผ่านการอบรมจากโรงเรียนนายอำเภอ (นอ.) มีลักษณะเป็นกฎ