คลังเก็บป้ายกำกับ: เช็ค

ประเด็น : ผู้ซื้อแคชเชียร์เช็คไม่ใช่ผู้ทรงไม่มีสิทธิฟ้องธนาคารให้ชำระเงินตามเช็ค

คำพิพากษาฎีกาที่ 6951/2562 แคชเชียร์เช็คพิพาทระบุชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับเงิน แม้ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือตามคำสั่ง”แต่ได้มีการขีดคร่อมพร้อมกับมีข้อความว่า “A/C Payee Only” ในช่องขีดคร่อม อันมีความหมายว่าห้ามเปลี่ยนมือและต้องจ่ายเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ที่มีแก่ธนาคารเท่านั้น โจทก์ที่ 1 จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท แม้ในช่วงแรกของการเรียกร้องกันโจทก์ที่ 1 จะปฏิเสธไม่รับรู้การทำประกันชีวิตให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 “แต่ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา 70/1 บัญญัติให้บริษัทประกันชีวิตต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนประกันชีวิตต่อความเสียหายที่ตัวแทนประกันชีวิตนั้นได้ก่อขึ้นจากการกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัท โจทก์ที่ 1 จึงเป็นผู้ทรงแคชเชียร์เช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม

โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นผู้ซื้อแคซเชียร์เช็คจากธนาคารผู้ออกเช็คมิได้เป็นผู้ทรงแคชเชียร์เช็คพิพาท จึงมิใช่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1000 ที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดชดใช้เงินตามแคชเชียร์เช็คพิพาท

โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ทรงแคชเชียร์เช็ดพิพาทขีดคร่อมพร้อมกับมีข้อความว่า “A/C PayeeOnly” ในช่องขีดคร่อมซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกับ “เปลี่ยนมือไม่ได้” หรือ “ห้ามเปลี่ยนมือ”ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 995 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพประกอบการธนาคารเรียกเก็บเงินตามแคชเชียร์เช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 ทั้งที่ต้องนำเงินตามแคชเชียร์เช็คพิพาทเข้าบัญชีของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ. เป็นกระทำละเมิดต่อโจทก์

โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทขีดคร่อมและมีข้อความว่า “A/C Payee Only” มีความหมายทำนองเดียวกับ “เปลี่ยนมือไม่ได้” หรือ “ห้ามเปลี่ยนมือ” และมีอำนาจฟ้องธนาคารจำเลยที่ 1 ที่ต้องนำเช็คพิพาทเข้าบัญชีของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น แต่นำเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 และต้องถือว่าวันที่จำเลยที่ 1 สามารถเรียกเก็บเงินและนำเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 เป็นเวลาที่มีการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเริ่มคิดดอกเบี้ยเป็นต้นไป

ประเด็น : กรรมการผู้จัดการลงลายมือชื่อออกเช็คของบริษัท แต่มิได้ประทับตราบริษัทและมิได้แถลงว่ากระทำการแทนบริษัท บริษัทและกรรมการผู้จัดการต้องร่วมกันชำระเงินตามเช็คต่อผู้ทรง ฎีกา 5415/2560

ฎ.5415/2560 แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การดำเนินการใดๆ ย่อมต้องทำผ่านทางผู้แทนคือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และการสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับของจำเลยที่ 2 ถือเป็นการกระทำตามหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ขณะออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นไปตามเงื่อนไขระหว่างจำเลยที่ 1 เจ้าของเช็ค กับธนาคารตามเช็ค ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และตราสารจัดตั้งที่ได้จดทะเบียนไว้ ประกอบกับในเรื่องตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คต้องรับผิด ตามเนื้อความในเช็ค และมาตรา 901 บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ก็ต่อเมื่อกระทำแทนบุคคลอื่นและเขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอื่นเท่านั้น ดังนั้น การที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และไม่ได้เขียนข้อความให้เห็นว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำในนามส่วนตัวด้วย และต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

การบรรยายเนติฯ วิชา ตั๋วเงิน ครั้งที่ 3 ท่านอาจารย์ประทีป เฉลิมภัทรกุล ได้พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้

รายการในตั๋วเงิน ในเรื่อง “วันถึงกำหนดใช้เงิน” ตาม ป.พ.พ.มาตรา 909 (4) ของตั๋วแลกเงิน และ มาตรา 983(3) ของตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น หากไม่มีรายการดังกล่าว มาตรา 910 วรรคสองและมาตรา 984 วรรคสอง บัญญัติไว้เหมือนกันว่า ตั๋วแลกเงิน/ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น

.

อย่างไรก็ดี รายการในเช็ค ตามมาตรา 988 ไม่มีรายการวันถึงกำหนดใช้เงิน แต่ศาลฎีกาแปลว่าวันถึงกำหนดก็คือวันที่ลงในเช็ค เช่น วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 หยิบเช็คขึ้นมา 1 ใบชำระหนี้เขา เขียนลงในเช็คสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 วันที่ 10  กุมภาพันธ์ 2564 นี้เป็นวันที่ลงไว้ในเช็ค เพราะฉะนั้นวันที่จะให้เรียกใช้เงินก็ดี วันที่เช็คถึงกำหนดขึ้นเงินก็ดี วันที่นับอายุความในคดีแพ่งก็ดี ต้องถือเอาวันที่ลงในเช็ค คือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 นั่นเอง

ประเด็น : ผู้ทรงไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินภายในกำหนด ผู้รับอาวัลไม่หลุดพ้นจากความรับผิด

ฎีกา 2460/2526 จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียงประกัน (อาวัล)สำหรับผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันและรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตามมาตรา 940,967,989

กำหนดเวลาที่ต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 เป็นเรื่องเงื่อนไขแห่งสิทธิไล่เบี้ยของผู้ทรงเช็คต่อผู้สลักหลังโอนเช็คเท่านั้น มิได้รวมถึงผู้สลักหลังเช็คในฐานะผู้รับประกันการใช้เงิน (ผู้รับอาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามเช็คนั้นด้วย

จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สลักหลังเช็ครู้เห็นยินยอมด้วยกับการที่จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายแก้วันที่สั่งจ่ายในเช็คอันเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อสำคัญในเช็คนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1007

ประเด็น : สั่งจ่ายเช็คตายก่อนเช็คถึงกำหนด หนี้ตามเช็คไม่ระงับ ผู้ทรงฟ้องทายาทผู้สั่งจ่ายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้เช็คถึงกำหนดและไม่ต้องนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารก่อน

ฎีกา 1003/2524 ประชุมใหญ่ กรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 992 ได้บัญญัติถึงหน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้นว่าเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อรู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย เมื่อ ส. ผู้สั่งจ่ายตายโจทก์ในฐานะผู้ทรงซึ่งทราบอำนาจหน้าที่ของธนาคารตามข้อกฎหมายดังกล่าว จึงไม่จำต้องนำเช็คพิพาทไปขอรับเงินจากธนาคารเสียก่อนกรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 990เมื่อ ส. ตายบรรดาทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ย่อมตกได้แก่ทายาทตามมาตรา1599,1600 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ได้รับการบอกกล่าวให้ชำระหนี้เงินตามเช็คที่ ส. เป็นผู้สั่งจ่ายให้แก่โจทก์แล้วเพิกเฉยถือได้ว่าสิทธิของโจทก์ในมูลหนี้เงินดังกล่าวได้มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2524)

การบรรยายวิชา ตั๋วเงิน วันที่ 21 มิถุนายน 2564 อ.ประทีป เฉลิมภัทรกุล มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ความรับผิดของผู้รับอาวัล คือ รับผิดต่อเจ้าหนี้ในตั๋วเงิน ซึ่งได้แก่ผู้ทรง โดยผู้ทรงจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับตั๋วมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าเป็นผู้ทรงที่ได้รับตั๋วมาโดยไม่ชอบ ผู้รับอาวัลก็ไม่ต้องรับผิด โดยอาจารย์มีตัวอย่างฎีกาที่น่าสนใจดังนี้

.

ฎีกา 3292/2536 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บ. ออกตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดเปลี่ยนมือไม่ได้ให้แก่บริษัท ส. จำเลยลงชื่อเป็นผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ต่อมาบริษัท ส. ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์โดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ออกตั๋วแล้วเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรก มาตรา 917 วรรคสองประกอบมาตรา 985 วรรคแรก โจทก์จึงเป็นผู้รับโอนโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยซึ่งเป็นผู้รับอาวัลตั๋วจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

.

อาจารย์ให้ความเห็นว่าเป็นฎีกาที่น่าสนใจ และ น่านำมาแต่งเป็นเรื่องของเช็ค

ประเด็น : กรรมการลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของบริษัท แต่ไม่ได้ประทับตราบริษัทและไม่ได้เขียนว่ากระทำการแทน บริษัทและกรรมการต้องร่วมกันรับผิดตามเนื้อความในเช็ค

คำพิพากษาฎีกาที่ 5346/2563 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การดำเนินการใด ๆ ย่อมต้องทำผ่านทางผู้แทนคือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและการสั่งจ่ายเช็คพิพาท 8 ฉบับของจำเลยที่ 2 ถือเป็นการกระทำตามหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1ในการชำระราคาสินค้าที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ผลิต ก็ตาม แต่ในเรื่องตั๋วเงินนั้นป.พ.พ. มาตรา 900 รรคหนึ่ง บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อในเช็คต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คและมาตรา 901 บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ก็ต่อเมื่อกระทำแทนบุคคลอื่นและเขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอื่นเท่านั้น ดังนั้น การที่เช็คพิพาท 8 ฉบับ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 อันจะถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค และไม่ได้เขียนข้อความให้เห็นว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 เช่นนี้ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำในนามส่วนตัวด้วยและต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คซึ่งมีมูลหนี้จากการที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าจ้างผลิตสินค้าให้โจทก์และเมื่อมีการชำระเงินตามเช็คเพียงบางส่วนยังไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินในส่วนที่ค้างชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

ผู้ทรงในฐานเป็นผู้รับโอนเช็คฟ้องผู้สั่งจ่ายเช็คให้ชำระเงินตามเช็ค หากการโอนเช็คมิได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล ผู้สั่งจ่ายจะยกข้อต่อสู้ผู้ทรงเช็คว่า ลงลายมือชื่อเพราะถูกข่มขู่จึงไม่ต้องรับผิดตามเช็ค มาเป็นข้อต่อสู้ผู้ทรง ได้หรือไม่ และความรับผิดของผู้สั่งจ่ายเช็คจะเป็นอย่างไร

คำพิพากษาฎีกาที่ 4616/2562 จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ดพิพาท จำนวน 3 ฉบับ ให้แก่ ว. ต่อมาเช็คพิพาททั้งสามฉบับอยู่ในความครอบครองของโจทก์ เมื่อเช็คพิพาททั้งสามฉบับถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงฟ้องคดีนี้จำเลยให้การว่าไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ไม่เคยรู้จักกับโจทก์มาก่อน และไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ เช็ดพิพาททั้งสามฉบับนั้นจำเลยลงลายมือชื่อโดยยังมิได้กรอกข้อความเพราะถูก ว. กับพววมกันข่มขืนใจโดยใช้อาวุธปืนจนจำเลยเกิดความกลัวจึงลงลายมือชื่อผู้สั่งจายในเช็พิพาททั้งสามฉบับให้แก่ ว. ต่อมาจำเลยได้จ่ายเงินสดให้แก่ ว. จนครบถ้วน ว. ผัดผ่อนจะนำเช็พิพาททั้งสามฉบับมามอบให้แก่จำเลยในภายหลัง เช็คดังกล่าวเป็นเซ็คประกันหนี้ไปอยู่ในความครอบครองของโจทก์ โดยโจทก์กับ ว. ไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกันเป็นกรณีที่โจทก์รับเช็คพิพาททั้งสามฉบับมาไว้ในครอบครองโดยไม่สุจริต โจทก์กับ ว. ร่วมกันฉ้อฉลหรือฉ้อโกงจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในเช็คทั้งสามฉบับ ภาระกรพิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลยที่จะต้องนำสืบให้รับฟังได้ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง พยานหลักฐานของจำเลยฟังไม่ได้ว่าการโอนเช็คพิพาททั้งสามฉบับมีขึ้นโดยการคบคิดฉ้อฉลระหว่างโจทก์กับ ว. ดังนั้น จำเลยผู้ถูกฟ้องในมูลหนี้เซ็คพิพาททั้งสามฉบับจะยกเอาความเกี่ยวพันกันเฉพาะระหว่างจำเลยกับ ว. ผู้ทรงคนก่อนขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ทรงเช็คว่ไม่ต้องรับผิดไม่ได้ จำเลยซึ่งลงลายมือชื่อในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาททั้งสามฉบับต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง และ 967 ประกอบมาตรา 989 เมื่อเช็คพิพาททั้งสามฉบับถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยจึงต้องชำระต้นเงินตามจำนวนในเช็ค พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธกรจ่ยงินตามเช็ค แต่ละฉบับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง 

กรรมการบริษัทสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ แต่มิได้ระบุในเช็คว่ากระทำการแทนบริษัท หากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ใครต้องรับผิดชำระเงินตามเช็ค

แนวที่ 1 กรณีกรรมการบริษัทลงลายมือชื่อและประทับตราสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ของบริษัท แต่มิได้ระบุว่าทำแทนบริษัท กรรมการไม่ต้องรับผิด (ฎ.2144/2525 ภาคปกติ, 778/2536 ภาคปกติ)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2536 (ภาคปกติ) เจ้าหนี้มอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อร่วมลงทุน จำเลยที่ 1ออกเช็คพิพาทมอบให้เจ้าหนี้เพื่อเป็นหลักประกัน เช็คพิพาทมี ป.กับจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดยมิได้ประทับตราของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 มิได้เขียนว่ากระทำการแทน แต่การที่ ป. กับจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคลโดยผู้แทนของนิติบุคคล จึงเป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 มิใช่การกระทำของตัวแทนที่ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินแทนตัวการ แต่มิได้เขียนแถลงว่ากระทำแทนบุคคลอื่น ซึ่งบุคคลนั้นต้องรับผิดตามความในตั๋วเงินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 901 จำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิด

 แนวที่ 2 กรรมการลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ของบริษัท แต่มิได้ประทับตรา และมิได้ระบุว่าทำแทนบริษัท บริษัทและกรรมการต้องร่วมกันรับผิดตามมาตรา 900,901 (ฎ.5998/2537 ภาคปกติ, 7121/2539 ภาคปกติ, 5415/2560 ภาคปกติ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5415/2560 (ภาคปกติ) แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การดำเนินการใดๆ ย่อมต้องทำผ่านทางผู้แทนคือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และการสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับของจำเลยที่ 2 ถือเป็นการกระทำตามหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ขณะออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นไปตามเงื่อนไขระหว่างจำเลยที่ 1 เจ้าของเช็ค กับธนาคารตามเช็ค ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และตราสารจัดตั้งที่ได้จดทะเบียนไว้ ประกอบกับในเรื่องตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็ค และมาตรา 901 บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ก็ต่อเมื่อกระทำแทนบุคคลอื่นและเขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอื่นเท่านั้น ดังนั้น การที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และไม่ได้เขียนข้อความให้เห็นว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำในนามส่วนตัวด้วย และต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย