คลังเก็บป้ายกำกับ: อาญาภาคทั่วไป

ฝ่ายหนึ่งเอาอาวุธปืนชูขึ้นเหนือศีรษะและยิงขึ้นฟ้า 1 นัด เพื่อข่มขู่ โดยไม่ปรากฏว่ากระทําการอื่นใดอีก อีกฝ่ายหนึ่งใช้อาวุธปืนยิงไปยังบุคคลดังกล่าวทันที เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 4083/2562 การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามความใน ป.อ. มาตรา 68 นั้น การกระทําที่จะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้ต้อง เป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง หากภยันตรายยังไม่ใกล้จะถึงเสียแล้วย่อมไม่อาจกระทําการเพื่อป้องกันได้ ว. เพียง เอาอาวุธปืนชูขึ้นเหนือศีรษะและยิงขึ้นฟ้า 1 นัด ซึ่งเห็นชัดเจนว่าเป็นการข่มขู่จําเลยกับพวกเท่านั้น การที่จําเลยใช้อาวุธปืนยิงไปยังรถกระบะที่ ว. นั่งอยู่ทันที โดยไม่ปรากฏว่า ว. กระทําการอื่นใดอีกในลักษณะจะทําร้ายพวกจําเลยจึงยังถือไม่ได้ว่าภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายและภยันตรายที่ใกล้จะถึงเกิดขึ้น อันจะเป็นเหตุให้จําเลยอ้างเหตุป้องกันได้ ที่จําเลยอ้างว่าอาจยิงมาที่ตนจึงยิงไปนั้น เป็นเพียงจําเลยเข้าใจไปเองเกินกว่าสภาพ การกระทําของ ว. ที่จะให้เข้าใจเช่นนั้นได้ การกระทําของจําเลยจึงมิใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย 

ใช้เส้นลวดขึงล้อมบริเวณหลังบ้านเป็นแนวรั้วแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่แนวรั้ว มีคนร้ายเข้าไปเก็บใบต้นพืชกระท่อมอันเป็นยาเสพติดให้โทษได้สัมผัสถูกเส้นลวดที่ขึงและปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ จึงถูกกระแสไฟฟ้าช็อตเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายเป็นความผิดฐานใด

คําพิพากษาฎีกาที่ 76/2563 จําเลยขึงแนวรั้วไฟฟ้าห่างจากต้นพืชกระท่อม ประมาณ 5 เมตร ก่อนจะถึงแนวรั้วไฟฟ้าได้วางตะปูตอกไม้หงายไว้เพื่อป้องกันคนเข้ามาลักทรัพย์ในบริเวณอาณาเขตบ้านของจําเลย แสดงให้เห็นได้ว่าจําเลยมีเจตนาให้กระแสไฟฟ้าทําร้ายร่างกายคนที่มาสัมผัสแนวรั้วไฟฟ้าดังกล่าว แม้ว่าการปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่เส้นลวดของกลางขนาดแรงดัน 220 โวลต์ จะทําให้แรงดันกระแสไฟฟ้าในเส้นลวดของกลาง ลดลงเหลือแรงดันประมาณ 110  ถึง 150 โวลต์ หากคนไปสัมผัสเส้นลวดของกลางจะถูกกระแสไฟฟ้าช็อตแต่ไม่ถึงแก่ความตายในทันที ต้องใช้เวลานานประมาณ 10 ถึง 20 นาที จึงจะถึงแก่ความตาย แต่เนื่องจากก่อนเกิดเหตุมีฝนตกลงมาหนักมากทําให้พื้นดินบริเวณ ที่เกิดเหตุเปียกชื้นชุ่มน้ำ จึงเป็นตัวนํากระแสไฟฟ้าผ่านลงดินได้เป็นอย่างดี เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสามซึ่งลักลอบเข้าไปลักใบต้นพืชกระท่อมที่ปลูกไว้หลังบ้านของจําเลย สัมผัสแนวรั้วที่จําเลยขึงกั้นไว้ถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย การกระทําของจําเลยจึงเป็นเพียงมีเจตนาทําร้ายผู้ตายทั้งสาม มิได้มีเจตนาฆ่า แต่การกระทํานั้นเป็นเหตุทําให้ผู้ตายทั้งสามถึงแก่ความตาย จําเลยขึงเส้นลวดของกลางเป็นแนวรั้วล้อมบริเวณต้นพืชกระท่อมแล้วปล่อยกระแส ไฟฟ้าขนาดแรงดัน 220 โวลต์ เข้าสู่แนวรั้ว แม้ว่าการกระทําของผู้ตายทั้งสามถือว่า เป็นการประทุษร้ายอันเป็นละเมิดต่อกฎหมายและต่อทรัพย์สินของจําเลย ซึ่งจําเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่จําเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาดแรงดัน สูงถึง 220 โวลต์ ไปตามเส้นลวดของกลางที่ขึงเป็นแนวรั้วโดยไม่มีฉนวนหุ้มนั้น แม้โดยสภาพจะไม่ทําให้ผู้สัมผัสเส้นลวดที่มีกระแสไฟฟ้าอยู่ถึงแก่ความตายในทันที แต่ก็สามารถทําให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายหรือสาหัสได้ และหากถูกกระแสไฟฟ้าช็อตเป็นเวลานานย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ อีกทั้งบริเวณหลังบ้านเกิดเหตุที่ผู้ตายทั้งสามนอนตายอยู่นั้น มีกิ่งต้นพืชกระท่อมถูกตัดลงมาบางส่วนเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอื่นของจําเลยอยู่ในบริเวณดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าผู้ตายทั้งสามมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าไปในอาณาเขตบ้านของจําเลยเพื่อลักเอาใบพืชกระท่อมของจําเลยไปเท่านั้น ทรัพย์ที่จําเลยมีสิทธิกระทําการป้องกันเป็นเพียงต้นพืชกระท่อม ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ไม่ใช่ทรัพย์ที่จําเป็นจะต้องดูแลป้องกันถึงขนาดสร้างแนวรั้วไฟฟ้ามีแรงดันสูงขนาด 220 โวลต์ เช่นนี้ การกระทําดังกล่าวจึงเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจําเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจําต้องกระทําเพื่อป้องกันตาม ป.อ. มาตรา 69 จําเลยยังคงมีความผิดฐานทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 69 ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น เพียงใดก็ได้ 

ขณะถูกควบคุมตัวยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมาย หากหลบหนีไปในระหว่างนั้น จะมีความผิดฐานหลบหนีระหว่างที่ถูกคุมขังของเจ้าพนักงานหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 8315/2561 

ความหมายของคําว่า เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญานั้นนอกจาก กฎหมายระบุไว้ชัดว่าเป็นเจ้าพนักงานแล้ว ยังหมายความรวมถึง บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่ว่าจะเป็นประจำหรือครั้งคราวและไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ ภ. ผู้ร่วมจับกุมจําเลยเป็นพนักงานราชการ ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานมีหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ ภ. จึงเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ มีหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ ภ. จึงเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญาในความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ การที่จําเลยสลัดเชือกหลุดแล้ววิ่งหลบหนี จึงเป็นการหลบหนีที่ถูกคุมขังตามอํานาจของเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา ไม่จําต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมายแก่จําเลยก่อนแต่อย่างใด จําเลยมีความผิดฐานหลบหนีระหว่างที่ถูกคุมขังตามอํานาจของเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา 

 หลอกลวงเจ้าของที่ดินให้โอนที่ดิน แล้วนำที่ดินไปจำนองแก่บุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองไว้โดยสุจริต ต่อมาในคดีอาญา ศาลพิพากษาลงโทษผู้หลอกลวงฐานฉ้อโกงให้จดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้แก่เจ้าของ ดังนี้ เจ้าของที่ดินจะขอให้เพิกถอนการจำนองและผู้รับจำนองต้องคืนโฉนดที่ดินแก่เจ้าของหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 3022/2562 

จำเลยที่ 1 โดยทุจริตหลอกลวงให้โจทก์โอนที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจะใช้โฉนดที่ดินดังกล่าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อนำเงินมาลงทุนทำธุรกิจโดยจะไม่นำที่ดินดังกล่าวไปก่อภาระผูกพันใด ๆ เมื่อธนาคารอนุมัติเงินแล้วจะโอนที่ดินคืนแก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดินกับจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าทำให้โจทก์ซึ่งพักอาศัยอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวเสียหาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341 และขอให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์โดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 91 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันใด ๆ 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ต้องคืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องและคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวง การแสดงเจตนาทำนิติกรรมดังกล่าวของโจทก์เกิดขึ้นเพราะถูกกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 อันเป็นโมฆียะกรรม แต่นิติกรรมดังกล่าวซึ่งเป็นโมฆียะกรรมนั้นยัง 

มีผลสมบูรณ์ใช้ได้จนกว่าจะถูกบอกล้างโดยชอบ ขณะที่จำเลยที่ 1 จำนองที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1 ยังมีชื่อเป็นเจ้าของ จึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย แม้ที่ดินพิพาทจะได้โอนกลับไปเป็นของโจทก์ในภายหลังจากการจำนองนั้นแล้ว นิติกรรมจำนองที่จำเลยที่ 1 ก่อไว้ย่อมตกติดมาด้วย โจทก์ไม่อาจยกเอาเหตุโมฆียะที่โจทก์บอกล้างนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้นแล้วขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ตาม 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 ประกอบมาตรา 1329 โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 2 รับจำนองไว้ (จำเลยที่ 2 มีสิทธิยึดถือต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทได้จนกว่าจะมีการไถ่ถอนจำนอง) 

เคยได้รับโทษจําคุกเกินกว่า 6 เดือน ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดย ประมาทหรือความผิดลหุโทษและพ้นโทษจําคุกมายังไม่เกิน 5 ปี หากคดีหลังเป็นการกระทำผิดโดยประมาท ศาลจะรอการลงโทษให้ได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 645/2563 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ใหม่) ได้เพิ่มหลักเกณฑ์ให้ศาลสามารถใช้ ดุลพินิจรอการลงโทษให้แก่จําเลยได้มากขึ้น จากเดิมที่จํากัดเฉพาะแต่จําเลยที่ไม่เคยต้องโทษจําคุกมาก่อน หรือเคยต้องโทษจําคุกแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือ ความผิดลหุโทษ ได้เพิ่มให้จําเลยที่เคยต้องโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน และจําเลยที่เคยได้รับโทษจําคุกมาก่อน แต่พ้นโทษจําคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จากหลักเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมานั้น แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้จําเลยที่เคยต้องโทษจําคุกมาในระยะเวลาสั้นและจําเลยที่เคยได้รับโทษจําคุกระยะยาวแต่พ้นโทษมานานแล้ว มีโอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี 

จําเลยเคยได้รับโทษจําคุกเกินกว่า 6 เดือนในความผิดฐานร่วมกันประกอบกิจการให้สินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาตและเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และจําเลยพ้นโทษจําคุกมายังไม่เกินห้าปี แม้คดีนี้จะเป็นการกระทำความผิดโดยประมาทก็ตามจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะใช้ดุลพินิจรอการลงโทษให้แก่จําเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (2),(3) 

ยิงปืนใส่กลุ่มวัยรุ่นในขณะมีผู้คนกําลังเล่นน้ำสงกรานต์และมีรถยนต์แล่น ขวางทางเบื้องหน้า กระสุนปืนที่ยิงถูกผู้อื่น ดังนี้ เป็นการกระทำโดยพลาดหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 6684/2562 

ความผิดฐานกระทำโดยพลาด ตาม ป.อ. มาตรา 60 นั้น หมายความว่าผู้ใด เจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป กฎหมายย่อมถือเจตนาของผู้กระทำเป็นสำคัญว่า ไม่ได้มีเจตนากระทำต่อผู้ที่ถูกกระทำโดยพลาด แต่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ และต้องไม่ใช่กรณีที่ผู้กระทำเล็งเห็นผลของการกระทำโดยเจตนาเล็งเห็นผล 

วันเกิดเหตุเป็นวันเทศกาลสงกรานต์ การจราจรติดขัด มีรถยนต์และผู้คนกําลังเล่นน้ำ สงกรานต์ในวันเทศกาลอย่างพลุกพล่าน แต่ทิศทางที่จําเลยที่ 1 เล็งปืนไปข้างหน้าใส่กลุ่มวัยรุ่นนั้น มีรถยนต์แล่นอยู่เป็นแนวโดยตลอดและมีการยิงปืนเพียงข้างเดียวจากจําเลย ที่ 1 ไม่มีการยิงปืนจากฝ่ายตรงข้าม และนอกจากรถยนต์คันที่โจทก์ร่วมนั่งโดยสารมาแล้ว กระสุนปืนที่จําเลยที่ 1 ยิง ยังไปถูกรถกระบะอีกคันหนึ่งด้วย การที่มีผู้คนกําลังเล่นน้ำ สงกรานต์และมีรถยนต์แล่นขวางทางเบื้องหน้า แต่จําเลยที่ 1 ยังคงยิงปืนออกไป ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจําเลยที่ 1 มีเจตนาเล็งเห็นแล้วว่า กระสุนปืนอาจถูกบุคคลอื่นที่อยู่ข้างหน้านั้นได้ การกระทำของจําเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลว่ากระสุนปืนอาจถูกบุคคลอื่นถึงแก่ความตายได้ จําเลยที่ 1 จึงมีเจตนาพยายามฆ่าโจทก์ร่วม หาใช่เป็นการกระทำโดยพลาดไม่ 

จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษและพ้นโทษจำคุกมายังไม่เกิน 5 ปี หากคดีหลังเป็นการกระทำผิดโดยประมาท ศาลจะรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่645/2563 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ใหม่) ได้เพิ่มหลักเกณฑ์ให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้มากขึ้น จากเดิมที่จำกัดเฉพาะแต่จำเลยที่ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือเคยต้องโทษจำคุกแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ได้เพิ่มให้จำเลยที่เคยต้องโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และจำเลยที่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จากหลักเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมานั้น แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้จำเลยที่เคยต้องโทษจำคุกมาในระยะเวลาสั้นและจำเลยที่เคยได้รับโทษจำคุกระยะยาวแต่พ้นโทษมานานแล้ว มีโอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี 

จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน ในความผิดฐานร่วมกันประกอบกิจการให้สินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาตและเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และจำเลยพ้นโทษจำคุกมายังไม่เกินห้าปี แม้คดีนี้จะเป็นการระทำความผิดโดยประมาทก็ตามจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะใช้ดุลพินิจรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 (2), (3)