คลังเก็บป้ายกำกับ: หุ้นส่วน-บริษัท

การบรรยายเนติฯ กลุ่มแพ่งและพาณิชย์ วิชา หุ้นส่วนบริษัท ข้อ 7 (ครั้งที่ 2) ท่าน อ.สหธน ได้พูดประเด็นน่าสนใจ และยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

บริษัทสามสหายจำกัด ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท จำนวนหุ้น 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นจดทะเบียน 10 บาท ต่อหุ้น วัตถุประสงค์ขายอาหาร มีกรรมการคือ นาย ก. ข. ค. ข้อจำกัดอำนาจกรรมการสองในสามต้องร่วมกันลงนามจึงจะมีผลผูกพันบริษัท

คำถามมีดังนี้ บริษัทสามสหายจำกัด โดย นาย ก. และนาย ข. ทำสัญญาซื้อหน้ากากอนามัย จากบริษัทโควิดจำกัด ราคา 1,000,000 บาท ต่อมาราคาหน้ากากขึ้นสูง บริษัทโควิดจำกัดจึงไม่ส่งมอบหน้ากากอนามัยให้ บริษัทสามสหายจำกัดมีสิทธิที่จะฟ้องบริษัทโควิดจำกัดได้หรือไม่ และผู้ถือหุ้นกับกรรมการของบริษัทสามสหายจะให้สัตยาบันในการกระทำดังกล่าวได้หรือไม่

.

คำตอบ การที่บริษัทสามสหายจำกัดไปทำสัญญาซื้อหน้ากากอนามัยนั้น เป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ทั้งขอบวัตถุประสงค์โดยตรงและขอบวัตถุประสงค์โดยปริยายของบริษัทสามสหาย บริษัทสามสหายจึงฟ้องบริษัทโควิดไม่ได้ และผู้ถือหุ้นกับกรรมการของบริษัทสามสหายจะให้สัตยาบันยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นกิจการที่นอกขอบวัตถุประสงค์ สิ่งที่บริษัทสามสหายจะทำได้ก็คือต้องแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์และไปทำสัญญาซื้อหน้ากากอนามัยใหม่

ประเด็น : กรรมการลงลายมือชื่อในสัญญาแต่ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ ถ้าบริษัทให้สัตยาบัน สัญญานั้นผูกพันบริษัทตามป.พ.พ. มาตรา 823,1167 กรรมการไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัว

ฎีกา 6324/2552 จำเลยที่ 2 และที่ 3 กรรมการของจำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญาค่าสิทธิการเช่าโดยไม่มีอำนาจกระทำการซึ่งไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองที่ต้องมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นอีกหนึ่งคนซึ่งต้องมิใช่จำเลยที่ 3 และประทับตราสำคัญของบริษัทก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้ให้สัตยาบันการกระทำดังกล่าวตามรายงานการประชุมกรรมการจึงผูกพันจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823, 1167 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว

ประเด็น : ป.พ.พ. มาตรา 1169 ผู้ถือหุ้นที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบมีสิทธิฟ้องกรรมการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทได้ แต่ไม่มีสิทธิฟ้องบุคคลภายนอกที่ร่วมกับกรรมการก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท

คำพิพากษาฎีกาที่ 4661/2562

ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ เช่นนี้การเป็นผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิเรียกให้กรรมการบริษัทรับผิดในกรณีนี้ย่อมต้องพิจารณาจากฐานะการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ มิใช่พิจารณาจากการส่งใช้เงินค่าหุ้นอันเป็นกระบวนการในการรวบรวมทุนของบริษัทอีกส่วนหนึ่งซึ่งเมื่อผู้ถือหุ้นยังส่งใช้เงินค่าหุ้นไม่ครบถ้วนย่อมเป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัทที่จะดำเนินการเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1120 และมาตรา 1121 เมื่อโจทก์ทั้งสองมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ป. ไม่ว่าการถือหุ้นดังกล่าวจะได้มีการส่งใช้เงินค่าหุ้นครบถ้วนหรือไม่ โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในฐานะที่เป็นกรรมการทำให้เสียหายแก่บริษัทตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ได้ แต่สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่กรรมการบริษัท ป. แม้โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ป. ยักยอกเงินของบริษัทไปเป็นประโยชน์ส่วนตนอันเป็นการละเมิดต่อบริษัท ป. ก็ตาม แต่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สิทธิผู้ถือหุ้นฟ้องแทนบริษัทในกรณีนี้ได้ คำฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นการอาศัยสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทมาก้าวล่วงฟ้องร้องคดีเพื่อบังคับบุคคลภายนอกบริษัทซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะไม่ต้องด้วยมาตรา 1169 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3

คําถาม ผู้ถือหุ้นในบริษัทจํากัดมีอํานาจฟ้องบริษัทจํากัดและกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนขอให้เพิกถอนงบการเงินของบริษัท หรือไม่ การนัดเรียกประชุมใหญ่เพื่ออนุมัติงบการเงินดําเนินการผิดระเบียบ ผู้ถือหุ้นไม่ได้รับคําบอกกล่าวเชิญประชุม การฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ต้องฟ้องภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 7316/2562 โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จําเลยทั้งสามไม่ได้จัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติงบการเงินและการจัดทํางบการเงินไม่ถูกต้องตามหลักฐานเอกสารทางบัญชี คําฟ้องมีสภาพแห่งข้อหาเป็นสําคัญว่าจําเลยทั้งสามไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายในการจัดทําและนําเสนองบการเงิน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1197 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า งบดุลนั้นต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคนตรวจสอบแล้วนําเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ภายในสี่เดือนนับแต่วันที่ลงในงบดุลนั้น หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามคําฟ้อง โจทก์ทั้งสามก็ไม่อาจจะใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมผู้ถือหุ้นหรือออกเสียงลงคะแนนได้ว่างบการเงินที่จัดทําไว้สมควรได้รับการอนุมัติหรือไม่ สิทธิของโจทก์ทั้งสาม ในฐานะผู้ถือหุ้นย่อมถูกกระทบกระเทือน แม้กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ผู้ถือหุ้นฟ้องขอ เพิกถอนงบการเงินได้โดยตรงก็ตาม แต่ตามสภาพแห่งข้อหาที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างมา แสดงถึงการถูกโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสามในฐานผู้ถือหุ้น โจทก์ทั้งสองมีอํานาจฟ้อง  การส่งคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่กระทําเฉพาะการลงประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ไม่ได้มีการส่งทางไปรษณีย์ตอบรับซึ่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นไปยังโจทก์ทั้งสามอีกทางหนึ่งซึ่งไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1175 วรรคหนึ่ง แต่หาทําให้การประชุมใหญ่และการลงมติอนุมัติงบการเงินที่เกิดขึ้นจริงไม่เป็นการประชุมใหญ่ และการลงมติเช่นว่านั้นไม่ กรณีมิใช่เรื่องจําเลยทั้งสามไม่ได้จัดให้มีการประชุมสามัญ ผู้ถือหุ้นประจําปี โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นขอให้เพิกถอนงบการเงินซึ่งอยู่ภายใต้มติของที่ประชุมใหญ่ ผู้ถือหุ้นที่ได้จัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นและมีการลงมติอนุมัติงบการเงินแล้ว ย่อมมีผลเป็นการขอ เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นที่อนุมัติงบการเงินนั้น ซึ่งการนัดเรียกประชุมใหญ่เพื่ออนุมัติงบการเงินดําเนินการผิดระเบียบ ทําให้โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับคําบอกกล่าวเชิญประชุม จึงอยู่ในบังคับที่โจทก์ทั้งสามจะต้องร้องขอหรือฟ้องคดีขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ภายใน กําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมตินั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดเมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาที่จะฟ้องขอเพิกถอนได้ตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสามหมดสิทธิฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ที่อนุมัติงบการเงินนั้นได้ 

การโอนหุ้นที่ฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท ผู้รับโอนจะใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น เช่น ออกหนังสือเชิญประชุม เข้าร่วมประชุม ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ออกเสียงในการประชุมในมติต่าง ๆ ได้หรือไม่ และหากที่ประชุมมีมติใด ๆ มตินั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 5953/2561 

หุ้นของผู้คัดค้านที่บริษัท ค. โอนให้ ก. เป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นโดยมีข้อบังคับของผู้คัดค้านกำหนดไว้ว่า หุ้นของบริษัทนั้นโอนกันได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการก่อนเท่านั้น และมติในการประชุมของคณะกรรมการเกี่ยวกับการให้ความยินยอมในการโอนหุ้นใด ๆ ของบริษัทจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากกรรมการอย่างน้อย 5 คน ดังนี้ การโอนหุ้นระหว่างบริษัท ค. กับ ก. จึงต้องเป็นไปตามข้อบังคับดังกล่าวที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง 

ขณะที่บริษัท ค. ทำสัญญาโอนหุ้นให้ ก. นั้น การโอนหุ้นของบริษัท ค. ให้ ก. ไม่ได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการของผู้คัดค้านและมิได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ แม้จะแจ้งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทว่า ก. เป็นผู้ถือหุ้นที่รับโอนจากบริษัท ค. ก็ดี แต่เป็นการกระทำของ ก. ไม่ใช่เป็นของคณะกรรมการของผู้คัดค้าน การโอนหุ้นระหว่างบริษัท ค. กับ ก. เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อขังคับของผู้คัดค้านและไม่ชอบด้วยมาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ก. จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นของผู้คัดค้าน และไม่อาจใช้สิทธิใด ๆ ในฐานะผู้ถือหุ้นดังกล่าวได้ การที่ ก. ออกหนังสือเชิญประชุม เข้าร่วมประชุมทำหน้าที่ประธานที่ประชุม และออกเสียงใน 
การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเรื่องเปลี่ยนแปลงกรรมการ อำนาจกรรมการ และเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของผู้คัดค้าน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมติต่าง ๆ ที่ลงไว้ก็เป็นมติที่ไม่ชอบ 

ที่ประชุมบริษัทมีมติด้วยเสียงข้างมากถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทให้ปลดกรรมการ และประธานกรรมการของบริษัท และแต่งตั้งผู้ถือหุ้นคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัทแทน โดยผู้ถือหุ้นที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการบริษัทได้ออกเสียงลงมติในการประชุมวาระดังกล่าวด้วย ดังนี้ มติที่ประชุม ของบริษัทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 6454/2561 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1185 บัญญัติว่า “ผู้ถือหุ้นคนใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติ ท่านห้ามมิให้ผู้ถือหุ้นคนนั้นออกเสียงลงคะแนนด้วยในข้อนั้น” มาตรา 1151 บัญญัติว่า “อันผู้เป็นกรรมการนั้น เฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นอาจจะตั้งหรือถอนได้” และมาตรา 1144 บัญญัติว่า “บรรดาบริษัทจำกัดให้มีกรรมการคนหนึ่ง หรือหลายคนด้วยกันจัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง” จากบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า ห้ามิให้ออกเสียง ลงมติเฉพาะผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเกี่ยวกับข้อซึ่งที่ประชุมจะลงมติเท่านั้น เมื่อการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริษัท เป็นเรื่องปกติของการบริหารจัดการบริษัท ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมหรือครอบงำของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ดังนั้นผู้ถือหุ้นย่อมมีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริษัทได้ โดยถือตามคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิของผู้ถือหุ้นในการควบคุมดูแลการจัดการงานของบริษัท การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิออกเสียงปลดโจทก์ทั้งสองออกจากกรรมการและปลดโจทก์ที่ 1 ออกจากประธานกรรมการ และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 แทน จึงเป็นปกติธรรมดาของวิธีการจัดการบริษัทจำกัด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1144 และมาตรา 1151 ดังกล่าว นอกจากนี้การที่ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมีมติให้ถอดถอนโจทก์ทั้งสองออกจากกรรมการและถอดถอนโจทก์ที่ 1 ออกจากประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลุดพ้นจากการถูกตรวจสอบการบริหารงานของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการและจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ยังคงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ในความครอบงำหรือการควบคุมของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นอยู่ต่อไป ดังนั้น การออกเสียงลงคะแนนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ตนเองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นกรณีพิเศษ แม้จำเลยที่ และที่ 3 จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าวก็เป็นเพียงส่วนได้เสียตามธรรมดาหาใช่ส่วนได้เสียเป็นพิเศษที่ถึงกับต้องห้ามไม่ให้ร่วมลงมติตามมาตรา 1185 แต่อย่างใดไม่ การออกเสียงลงมติของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังนั้น การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 2/2557 ซึ่งมีผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม 4 คน จากจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด 6 คน นับจำนวนหุ้นได้ 10,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 20,000 หุ้น จึงเป็นการประชุมที่มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมมีจำนวนหุ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่แห่งทุนของบริษัท ครบองค์ประชุมและที่ประชุมมีมติด้วยเสียงข้างมากถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 2/2557 ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของจำเลยที่ 1 แล้ว 

ผู้ถือหุ้นยังไม่ได้ชําระค่าหุ้นของบริษัทครบถ้วนจะมีอํานาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการบริษัทหรือบุคคลภายนอกที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 4661/2562 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ เช่นนี้ การเป็นผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิเรียกให้กรรมการบริษัทรับผิดในกรณีนี้ย่อมต้องพิจารณาจากฐานะการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ มิใช่พิจารณาจากการส่งใช้เงินค่าหุ้นอันเป็นกระบวนการในการ รวบรวมทุนของบริษัทอีกส่วนหนึ่งซึ่งเมื่อผู้ถือหุ้นยังส่งใช้เงินค่าหุ้นไม่ครบถ้วนย่อมเป็นหน้าที่ของ กรรมการบริษัทที่จะดําเนินการเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1120 และ มาตรา 1121 เมื่อโจทก์ทั้งสองมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ป. ไม่ว่าการถือหุ้นดังกล่าวจะได้มีการส่งใช้เงินค่าหุ้นครบถ้วนหรือไม่ โจทก์ทั้งสองย่อมมีอํานาจฟ้องให้จําเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในฐานะที่เป็นกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัทตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ได้ แต่สําหรับจําเลยที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่กรรมการของบริษัท ป. จํากัด แม้โจทก์ทั้งสอง จะอ้างว่าจําเลยที่ 3 ร่วมกับจําเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ป. ยักยอกเงินของบริษัทไปเป็นประโยชน์ส่วนตนอันเป็นการทำละเมิดต่อบริษัท ป. ก็ตาม แต่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สิทธิผู้ถือหุ้นฟ้องแทนบริษัทในกรณีนี้ได้ คําฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นการอาศัยสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทมาก้าวล่วงฟ้องร้องคดีเพื่อบังคับบุคคลภายนอกบริษัทซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะไม่ต้องด้วยมาตรา 1169 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอํานาจ 

ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วจะยังต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่251/2562 

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เดิมโจทก์มีหุ้นส่วน 2 คน คือ จำเลยเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและนายสมนึกเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้นายสมนึกเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและจำเลยเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และต่อมามีการจดทะเบียเปลี่ยนแปลงให้บริษัทบ้านตาลโฮลดิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแทนจำเลยที่ออกจากการเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ ในระหว่างที่จำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของโจทก์ โจทกโดยจำเลยและนายสมนึกขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทกให้แก่นายสำราญ โจทก์ชำระภาษีแล้ว ต่อมากรมสรรพากรแจ้งโจทก์ว่าชำระภาษีไม่ถูกต้องให้ชำระภาษีที่ยังขาด เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงท้องที่ 1,407,548.25 บาท โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรครบถ้วนแล้ว 

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระของโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2554 ในขณะนั้นจำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของโจทก์ โจทก์และจำเลยยังไม่ทราบเรื่องที่มีการเสียภาษีไม่ถูกต้อง ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2558 (ที่ถูก 2256) โจทก์จดทะเบียนให้จำเลยออกจากการเป็นหุ้นส่วนของโจทก์โดยมีการคืนจำนวนลงหุ้นแก่จำเลย 28,000,000 บาท หากโจทก์และจำเลยทราบเรื่องที่เสียภาษีไม่ถูกต้องเสียก่อน จำเลยก็จะได้รับจำนวนลงหุ้นคืนน้อยกว่าจำนวนดังกล่าว เมื่อหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระในฐานะหุ้นส่วนของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1051 โจทก์ชอบที่จะไล่เบี้ยเรียกเอาเงินที่ชำระแทนไปก่อน 703,774 บาท จากจำเลยได้นั้น เห็นว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้วย่อมมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นสวนตามมาตรา 1015 ทรัพย์สินและหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมมิใช่ทรัพย์สินและหนี้สินของผู้เป็นหุ้นส่วนโดยตรง ส่วนการที่ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วจะยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1051 นั้น เป็นกรณีที่บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายจะใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อขึ้นเพราะจัดการไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้นแตต่างจากผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งจะมีความผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดตามมาตรา 1077 (1) และในระหว่างที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามมาตรา 1095 วรรคหนึ่ง แต่หากห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกันแล้ว ความรับผิดชอบของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมจำกัดอยู่เพียงจำนวนลงหุ้นที่ยังค้างส่งหรือได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดกับเงินปันผลซึ่งได้รับไปแล้วโดยทุจริตและฝ่าฝืนต่อข้อห้ามที่มิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยนอกจากผลกำไรซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดทำมาค้าได้ตามมาตรา 1095 วรรคสอง(1) (2) และ (3) เท่านั้น กรณีจึงไม่อาจนำมาตรา 1051 มาใช้บังคับแก่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ตามมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง แม้หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระของโจทก์จะเกิดขึ้นในระหว่างที่จำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของโจทกก็ถือมิได้ว่าเป็นหนี้สินของจำเลย เมื่อจำเลยออกจากการเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ไปแล้วโดยมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้บริษัทบ้านตาลโฮลดิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแทนจำเลยในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันย่อมต้องถือว่าความเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของจำเลยได้ถูกแทนที่โดยบริษัทบ้านตาลโฮลดิ้ง จำกัด แล้ว แม้จำเลยจะได้รับเงินจากการถอนหุ้นด้วย แต่ก็เป็นเพียงการจ่ายเงินเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์และนายสมนึก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 167/2556 ของศาลชั้นต้น และได้ความตามคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนว่าจำนวนลงหุ้นของจำเลยถูกแทนที่ด้วยจำนวนลงหุ้นของบริษัทบ้านตาลโฮลดิ้ง จำกัด เช่นกัน หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระที่โจชำระให้แก่กรมสรรพากรไปนั้นจึงเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ที่จะต้องนำไปคิดคำนวณกำไรขาดทุนในระหว่างผู้ที่ยังคงเป็นหุ้นส่วนกันต่อไปตามสัญญาหุ้นส่วน โจทกจะนำหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระดังกล่าวมาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยไม่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระของโจทก์