คลังเก็บป้ายกำกับ: หุ้นส่วนบริษัท

การลาออกจากตําแหน่งกรรมการของบริษัท หากหนังสือลาออกระบุให้การลาออกมีผลในวันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติ ดังนี้ กรรมการที่ลาออกจะพ้นจากตําแหน่งเมื่อใด

คำพิพากษาฎีกาที่ 2929/2561 การพ้นจากตําแหน่งของกรรมการโดยกรรมการคนใดที่จะลาออกต้องยื่นหนังสือลาออก ต่อบริษัทและให้มีผลเป็นการพ้นจากตําแหน่งนับตั้งแต่เมื่อใดย่อมอยู่ภายใต้ข้อบังคับของจําเลย กําหนดไว้หรือตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เมื่อตามข้อบังคับของจําเลยในหมวด 3 ว่าด้วย กรรมการไม่ได้กําหนดไว้ว่าการพ้นจากตําแหน่งของกรรมการกรณีลาออกให้มีผลเป็นการพ้นจากตําแหน่งนับตั้งแต่เมื่อใด จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1153/1 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า กรรมการคนใดจะลาออกจากตําแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกต่อบริษัท การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงบริษัท เมื่อ ช. ได้มีหนังสือลาออกจากตําแหน่งกรรมการลงวันที่ 20 เมษายน 2555 โดยจําเลยได้รับหนังสือลาออกในวันเดียวกัน การลาออกจากตําแหน่งกรรมการของ ช. จึงมีผลเป็นการพ้นจากตําแหน่งนับตั้งแต่วันที่หนังสือลาออกไปถึงจําเลย คือวันที่ 20 เมษายน 2555 ส่วนที่หนังสือลาออกระบุให้การลาออกมีผลในวันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติก็ตามก็เป็นเพียงการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของ ช. แต่หนังสือลาออก ดังกล่าวจะมีผลเป็นการพ้นจากตําแหน่งนับตั้งแต่เมื่อใดย่อมต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของบริษัทจําเลยกําหนดไว้หรือตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เช่นนี้เมื่อ ช. พ้นจากตําแหน่งกรรมการของจําเลยแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2555 จึงมิใช่กรรมการของจําเลยที่จะมีอํานาจเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจําเลยได้ กรณีจึงมีเหตุให้เพิกถอนรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจําเลยและเพิกถอนมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจําเลย

ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีหนี้ตามคำพิพากษา แต่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ยังไม่ครบถ้วน หากนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดออกเสียจากทะเบียน เจ้าหนี้จะฟ้องหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดให้รับผิดในหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์
มาตรา 1273/3 วางหลักว่า
เมื่อสิ้นกำหนดเวลาตามที่แจ้งในหนังสือบอกกล่าวตามมาตรา 1273/1 หรือมาตรา 1273/2แล้ว และห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้แสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น นายทะเบียนจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียนก็ได้ ในการนี้ ให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกเสียจากทะเบียน แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นมีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล

แม้นายทะเบียนจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดออกจากทะเบียน ทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นสิ้นสภาพบุคคลเเล้วก็ตาม เเต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ เจ้าหนี้ย่อมสามารถเรียกให้ชำระหนี้ได้เสมือนห้างหุ้นส่วนยังไม่สิ้นสภาพบุคคล เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดยังชำระหนี้ตามตามคำพิพากษาเเก่เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ครบถ้วน หุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดย่อมต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวนตามมาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1077 (2) อีกทั้งถือว่าหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดนั้นเป็นลูกหนี้ร่วม ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนหรือหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้ตามมาตรา 291 ดังนั้น เจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับให้รับผิดในหนี้ของห้างได้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนตามมาตรา 1273/3

คำพิพากษาฎีกาที่ 6389/2561 จำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยไม่จำกัดจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070 และมาตรา 1077 (2) ถึงแม้ว่านายทะเบียนจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. ออกเสียจากทะเบียนเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนสิ้นสภาพบุคคลแล้ว แต่ความรับผิดชอบของหุ้นส่วนผู้จัดการมีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนนั้นยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล ตามมาตรา 1273/3 กับทั้งจำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ดังนั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงก็ได้ตามแต่จะเลือก ตามมาตรา 291 เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2363-2364/2546 ของศาลชั้นต้นยังไม่ครบถ้วน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดได้

ห้างหุ้นส่วนสามัญ หุ้นส่วนคนหนึ่งสั่งซื้อสินค้าอันเป็นไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นจะต้องผูกพันและร่วมรับผิดด้วยโดยไม่จำกัดจำนวน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1050  การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

หลักเกณฑ์ ป.พ.พ. มาตรา 1050
1.หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งดำเนินการในฐานะหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญ
2.การนั้นเป็นกิจการในทางธรรมดาการค้าของห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น
3.หุ้นส่วนหมดทุกคนมีความผูกพันในการนั้นด้วย
4.หุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้

การที่หุ้นส่วนคนหนึ่งสั่งซื้อของโดยดำเนินการในฐานะหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญ โดยเป็นการดำเนินการอันเป็นทางธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1050 ผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นย่อมต้องผูกพันในการนั้นด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 5563/2561 จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับบุคคลในครอบครัวของจำเลยที่ 1 ตกลงเข้ากันเพื่อประกอบกิจการร้าน น. ร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์แบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน จึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012
การที่จำเลยที่ 2 สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์เป็นการดำเนินการในฐานะหุ้นส่วนของร้าน น. อันเป็นไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 2 ย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1050 

คำบอกกล่าวเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่นับถึงวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นได้ 6 วัน หากได้มีการประชุมและมีการลงมติ จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1175 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน …

มาตรา 1195  การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น

หลักเกณฑ์
1. คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175
1.1 ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน และ
1.2 ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
2. การประชุมที่ฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1175
3. กรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ที่ผิดระเบียบ
4. ต้องร้องขอภายใน 1 เดือน

บริษัทจำกัดส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น หากปรากฏว่าขั้นตอนการลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ฯ เมื่อนับถึงวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นนับได้เพียง 6 วันเท่านั้น ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 วางหลักขั้นตอนการบอกกล่าวเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นไว้ว่าต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน จึงทำให้การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 1175 ประกอบมาตรา 1195 เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นร้องขอต่อศาลภายใน 1 เดือน ศาลต้องเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ที่ผิดระเบียบนั้นเสีย

คำพิพากษาฎีกาที่ 3996/2561  ป.พ.พ. มาตรา 1175 และ 1195 ได้กำหนดขั้นตอนการบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นไว้ว่าต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และต้องส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน โดยมุ่งประสงค์ให้มีการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าว่าบริษัทจะได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ในกิจการใด ที่ใด เมื่อใด เพื่อผู้ถือหุ้นจะได้มีโอกาสเตรียมตัวสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นได้โดยเต็มที่ เพื่อไม่ให้ผู้บริหารเอาเปรียบดำเนินการรวบรัดในการประชุม แม้ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะมิได้บัญญัติถึงผลของการไม่ปฏิบัติตามในเรื่องคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ จะต้องเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าก็ตาม แต่ก็ให้สิทธิกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย โดยต้องร้องขอภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น ถ้าหากไม่มีการร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบภายในเดือนหนึ่งแล้ว มติของที่ประชุมดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ผู้ใดจะขอให้เพิกถอนไม่ได้ 
คำบอกกล่าวกล่าวเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ เมื่อนับถึงวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ได้เพียง 6 วัน คำบอกกล่าวเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น จึงลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ก่อนวันนัดประชุมไม่ครบเจ็ดวัน อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1175 วรรคหนึ่ง ทำให้การนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นจึงไม่ชอบ และเป็นผลให้มติที่ประชุมในวันดังกล่าวเป็นมติอันผิดระเบียบตามมาตรา 1195 ซึ่งโจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทสามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5510/2540 และ 3623/2527 วินิจฉัยไว้แนวเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม

ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิลงมติปลดประธานกรรมการ และแต่งตั้งตนเองเป็นประธานกรรมการบริษัทแทน ถือว่าผู้ถือหุ้นนั้นได้ลงมติในเรื่องที่ตนมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1185 หรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1185 วางหลักว่า ผู้ถือหุ้นคนใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติ ท่านห้ามมิให้ผู้ถือหุ้นคนนั้นออกเสียงลงคะแนนด้วยในข้อนั้น

คำว่า ” ส่วนได้เสียพิเศษ “ ในกรณีนี้คือการที่บุคคลนั้นมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับบริษัทยิ่งกว่าผลประโยชน์ที่มีในฐานะผู้ถือหุ้น เช่น ในกรณีที่มีการลงมติซื้อที่ดินของผู้เริ่มก่อการผู้เริ่มก่อการซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินไม่สามารถลงคะแนนเสียงได้เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสียพิเศษ โดยมีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องยิ่งกว่าผลประโยชน์ที่มีในฐานะผู้ถือหุ้น

การที่ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในบริษัท ลงคะแนนออกเสียงถอดถอนประธานกรรมการบริษัทในการประชุมผู้ถือหุ้นนั้น ถือเป็นการใช้สิทธิโดยปกติธรรมดาในการจัดการบริษัทจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1144 และ มาตรา 1151 แม้ผู้ถือหุ้นคนนั้นจะแต่งตั้งตนเองเป็นประธานกรรมการบริษัทแทนประธานกรรมการบริษัทคนเดิมก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวก็มิใช่การให้สิทธิประโยชน์แก่ตนเองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นกรณีพิเศษ แม้ผู้ถือหุ้นคนนั้นจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าวก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงส่วนได้เสียตามธรรมดาหาใช่ส่วนได้เสียเป็นพิเศษแต่อย่างใดไม่ ดังนี้ การกระทำดังกล่าวของผู้ถือหุ้นจึงไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1185

คำพิพากษาฎีกาที่ 6454/2561 ป.พ.พ. มาตรา 1175 วรรคหนึ่ง กำหนดให้แจ้งวันนัดประชุมใหญ่บริษัทด้วยการลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนั้น ก็เพื่อมุ่งประสงค์ให้มีการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าเพื่อผู้ถือหุ้นจะได้เตรียมตัวสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์แก่บริษัทได้เต็มที่ จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือขอเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 4 เมษายน 2557 เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 22 เมษายน 2557 โดยจัดส่งหนังสือเชิญประชุมไปยังภูมิลำเนาของผู้ถือหุ้นทุกคนทางไปรษณีย์ตอบรับและลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันตามบทบัญญัติดังกล่าวและตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 แล้ว การเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 22 เมษายน 2557 จึงชอบด้วยกฎหมาย

ป.พ.พ. มาตรา 1185 มีความหมายเพียงว่า ห้ามมิให้ออกเสียงลงมติเฉพาะผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเกี่ยวกับข้อซึ่งที่ประชุมจะลงมติเท่านั้น เมื่อการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริษัท เป็นเรื่องปกติของการบริหารจัดการบริษัทซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมหรือครอบงำของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ดังนั้นผู้ถือหุ้นย่อมมีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริษัทได้ โดยถือตามคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิของผู้ถือหุ้นในการควบคุมดูแลการ
จัดการงานของบริษัท การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิออกเสียงปลดโจทก์ทั้งสองออกจากกรรมการและปลดโจทก์ที่ 1 ออกจากประธานกรรมการ และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 แทน จึงเป็นปกติธรรมดาของวิธีการจัดการบริษัทจำกัดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1144 และ มาตรา 1151 นอกจากนี้การที่ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือ
หุ้นมีมติให้ถอดถอนโจทก์ทั้งสองออกจากกรรมการและถอดถอนโจทก์ที่ 1 ออกจากประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลุดพ้นจากการถูกตรวจสอบการบริหารงานของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการและจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ยังคงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ในความครอบงำหรือการควบคุมของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นอยู่ต่อไป ดังนั้น การออกเสียงลงคะแนนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ตนเองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นกรณีพิเศษแม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าวก็เป็นเพียงส่วนได้เสียตามธรรมดาหาใช่ส่วนได้เสียเป็นพิเศษที่จะถึงกับต้องห้ามไม่ให้ร่วมลงมติตามมาตรา 1185 แต่อย่างใดไม่ การออกเสียงลงมติของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1246/2520 วินิจฉัยแนวเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม

ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น มีผู้รับมอบฉันทะของผู้ถือหุ้นมาประชุมเพียงคนเดียว โดยผู้ถือหุ้นคนนั้นถือหุ้นร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1178 วางหลักว่า ในการประชุมใหญ่ ถ้าไม่มีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นได้ถึงจำนวนหนึ่งในสี่แห่งทุนของบริษัทเป็นอย่างน้อย ที่ประชุมจะปรึกษากิจการใดหาได้ไม่

มาตรา 1180 วางหลักว่า ในการประชุมผู้ถือหุ้นทั่วไปเป็นประชุมใหญ่ทุก ๆ ครั้ง ให้ผู้เป็นประธานในสภากรรมการนั่งเป็นประธาน ถ้าประธานกรรมการเช่นว่านี้ไม่มีตัว หรือไม่มาเข้าประชุมจนล่วงเวลานัดไปแล้วสิบห้านาที ให้ผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งอยู่ในที่นั้นเลือกผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในจำนวนซึ่งมาประชุมขึ้นนั่งเป็นประธาน

มาตรา 1190 วางหลักว่า ในการประชุมใหญ่ ข้อมติอันเสนอให้ลงคะแนน ให้ตัดสินด้วยวิธีชูมือ เว้นแต่เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือ มีผู้ถือหุ้นสองคนเป็นอย่างน้อยติดใจร้องขอให้ลงคะแนนลับ

มาตรา 1195 การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น

เนื่องจากป.พ.พ. มาตรา 1180 วางหลักให้มีประธานในที่ประชุม และมาตรา 1190 วางหลักให้ในกรณีที่มีผู้ถือหุ้นประสงค์จะลงคะแนนลับ ต้องให้ผู้ถือหุ้น 2 คนขึ้นไปเป็นอย่างน้อยประสงค์ให้ลงคะแนนลับ เห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์ให้บรรดาผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับกิจการของบริษัท ดังนั้น โดยสภาพแล้ว การประชุมใหญ่ของบริษัทจะมีผู้ถือหุ้นประชุมเพียงคนไม่ได้ การที่ผู้รับมอบฉันทะของผู้ถือหุ้นมาประชุมเพียงคนเดียวและมีมติ จึงเป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิฟ้องเพิกถอนต่อศาลได้ภายในกำหนดเวลา 1 เดือนนับแต่วันที่ลงมติตามมาตรา 1195

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3074/2560 ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแสดงชัดว่าในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น กฎหมายมุ่งประสงค์ให้บรรดาผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับกิจการของบริษัท โดยมีประธานดำเนินการประชุมและมีการเสนอข้อมติให้ที่ประชุมออกเสียงลงคะแนน การประชุมจึงเป็นการร่วมกันปรึกษาหารือซึ่งที่ประชุมจะต้องมีบุคคลอย่างน้อยสองคนเป็นผู้เข้าประชุม เพื่อร่วมกันพิจารณาตัดสินข้อมติต่าง ๆ ที่เสนอต่อที่ประชุม หาใช่บุคคลเพียงคนเดียวจะทำการประชุมได้โดยลำพังไม่

การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้คัดค้านมี ว. ผู้รับมอบฉันทะของ ก. เป็นผู้ถือหุ้นที่มาประชุมเพียงคนเดียว แม้ ก. ถือหุ้น 200,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดก็ตาม แต่ผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียวย่อมไม่อาจดำเนินการประชุมและมีมติใด ๆ ตามกฎหมายได้ การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น และการลงมติเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการจึงเป็นไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติอันเป็นข้อปฏิบัติของการประชุมใหญ่และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมอันผิดระเบียบนั้นเสียได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195

ข้อสังเกต แต่ถ้าเป็นกรณีการประชุมกรรมการ หากบริษัทจำกัดนั้นมีกรรมการเพียงคนเดียว กรรมการคนเดียวสามารถเป็นองค์ประชุมและมีมติได้ เพราะกฎหมายมิได้บังคับว่ากรรมการบริษัทต้องมีหลายคน

กรรมการก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท แต่บริษัทไม่ฟ้อง ผู้ถือหุ้นจะฟ้องกรรมการและขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนสำเนาเอกสารต่างๆ และให้สำเนาต่างๆ ตกเป็นโมฆะ ได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้

หลักเกณฑ์ของมาตรา 1169วรรคหนึ่ง
1. กรรมการก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท
2. บริษัท (และกรรมการผู้มีอำนาจอื่น ถ้ามี) ไม่ยอมฟ้องร้อง
3. ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะฟ้องคดีเองก็ได้ แต่ต้องฟ้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท

แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1169 จะให้สิทธิผู้ถือหุ้นฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทได้ ในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้องก็ตาม เเต่ก็ให้สิทธิเฉพาะฟ้องเพื่อเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการเท่านั้น จะฟ้องโดยมีคำขออื่นๆไม่ได้ การที่ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการโดยมีคำขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนสำเนาเอกสารต่างๆ และให้สำเนาต่างๆ ตกเป็นโมฆะย่อม ไม่ใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหาย อันมาตรา 1169 ให้อำนาจไว้ ดังนั้น ผู้ถือหุ้นจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสำเนาเอกสารต่างๆเเละให้สำเนาต่างๆตกเป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4065/2561 บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1169 เป็นกรณีที่ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทเฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการของบริษัทเท่านั้น แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ท. โดยมีคำขอให้พิพากษาว่า หนังสือยืนยันการชำระค่าหุ้นและการเก็บรักษาค่าหุ้น สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตกเป็นโมฆะกับให้เพิกถอนสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในส่วนนี้

ผู้ถือหุ้นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมและให้โอนทรัพย์สินกลับมาเป็นของบริษัทไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4605/2561 โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคนของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือหุ้นแทนโจทก์ หากเป็นจริงดังที่กล่าวอ้าง โจทก์ก็มีสถานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้ที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัท ไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลของบริษัท จะมีสิทธิแต่เพียงควบคุมการดำเนินงานของกรรมการบริษัทบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น หาอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเองได้ไม่ หรือหากกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ซึ่งบริษัทมีสิทธิจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการแล้วบริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้สิทธิของบริษัทเพื่อประโยชน์ของบริษัท แต่ผู้ถือหุ้นหาอาจจะเข้ามาดำเนินการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญาที่กรรมการบริษัทกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้นิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายทรัพย์สินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ และให้โอนทรัพย์สินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม หากไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแทน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ฟังขึ้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 3193/2558, 2481/2552, 6250/2541 วินิจฉัยเเนวเดียวกัน

หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดซึ่งออกจากห้างหุ้นส่วนไปเเล้วต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนหรือไม่

ประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์

มาตรา 1077 วางหลักว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก คือ
(1) ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้น และ
(2) ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวน

มาตรา 1095  ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้

แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้เพียงจำนวนดังนี้ คือ
(1) จำนวนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่าที่ยังค้างส่งแก่ห้างหุ้นส่วน
(2) จำนวนลงหุ้นเท่าที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน (3) จำนวนเงินปันผลและดอกเบี้ยซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับไปแล้วโดยทุจริตและฝ่าฝืนต่อบทมาตรา 1084

มาตรา 1068  วางหลักว่า ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียง 2 ปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน

มาตรา 1080  วรรคหนึ่ง วางหลักว่า บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย

โดยหลักแล้วหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ย่อมมีความผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดตามป.พ.พ. มาตรา 1077 (1) และในระหว่างที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามมาตรา 1095 วรรคหนึ่ง กรณีนี้จึงนำมาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแก่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้ ดังนั้น หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดที่ออกจากห้างฯแล้วไปแล้วจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯที่เกิดขึ้นขณะที่ตนเป็นหุ้นส่วน แม้ยังอยู่ภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ออกจากห้างฯก็ตาม

คำพิพากษาฎีกาที่ 251/2562 ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เดิมโจทก์มีหุ้นส่วน 2 คน คือ จำเลยเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและนายสมนึกเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้นายสมนึกเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและจำเลยเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดและต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้บริษัทบ้านตาลโฮลดิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแทนจำเลยที่ออกจากการเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ ในระหว่างที่จำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของโจทก์ โจทก์โดยจำเลยและนายสมนึกขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ให้แก่นายสำราญ โจทก์ชำระภาษีแล้ว ต่อมากรมสรรพากรแจ้งโจทก์ว่าชำระภาษีไม่ถูกต้องให้ชำระภาษีที่ยังขาด เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงท้องที่ 1,407,548.25 บาท โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรครบถ้วนแล้ว

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระของโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2554 ในขณะนั้นจำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของโจทก์ โจทก์และจำเลยยังไม่ทราบเรื่องที่มีการเสียภาษีไม่ถูกต้อง ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2558 (ที่ถูก 2556) โจทก์จดทะเบียนให้จำเลยออกจากการเป็นหุ้นส่วนของโจทก์โดยมีการคืนจำนวนลงหุ้นแก่จำเลย 28,000,000 บาท หากโจทก์และจำเลยทราบเรื่องที่เสียภาษีไม่ถูกต้องเสียก่อน จำเลยก็จะได้รับจำนวนลงหุ้นคืนน้อยกว่าจำนวนดังกล่าว เมื่อหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระในฐานะหุ้นส่วนของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1051 โจทก์ชอบที่จะไล่เบี้ยเรียกเอาเงินที่ชำระแทนไปก่อน 703,774 บาท จากจำเลยได้นั้น เห็นว่าเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้วย่อมมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 1015 ทรัพย์สินและหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมมิใช่ทรัพย์สินและหนี้สินของผู้เป็นหุ้นส่วนโดยตรง ส่วนการที่ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วจะยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1051 นั้น เป็นกรณีที่บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายจะใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อขึ้นเพราะจัดการไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น แตกต่างจากผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ซึ่งจะมีความผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดตามมาตรา 1077 (1) และในระหว่างที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามมาตรา 1095 วรรคหนึ่ง แต่หากห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกันแล้ว ความรับผิดชอบของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมจำกัดอยู่เพียงจำนวน ลงหุ้นที่ยังค้างส่งหรือได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดกับเงินปันผลซึ่งได้รับไปแล้วโดยทุจริตและฝ่าฝืนต่อข้อห้ามที่มิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยนอกจากผลกำไรซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดทำมาค้าได้ตาม มาตรา 1095 วรรคสอง (1) (2) และ (3) เท่านั้น กรณีจึงไม่อาจนำมาตรา 1051 มาใช้บังคับแก่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ตามมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง แม้หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระของโจทก์จะเกิดขึ้นในระหว่างที่จำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของโจทก์ก็ถือมิได้ว่าเป็นหนี้สินของจำเลย เมื่อจำเลยออกจากการเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ไปแล้วโดยมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้บริษัทบ้านตาลโฮลดิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแทนจำเลยในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันย่อมต้องถือว่าความเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของจำเลยได้ถูกแทนที่โดยบริษัทบ้านตาลโฮลดิ้ง จำกัด แล้ว แม้จำเลยจะได้รับเงินจากการถอนหุ้นด้วย แต่ก็เป็นเพียงการจ่ายเงินเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์และนายสมนึก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 167/2556 ของศาลชั้นต้นและได้ความตามคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนว่าจำนวนลงหุ้นของจำเลยถูกแทนที่ด้วยจำนวนลงหุ้นของบริษัทบ้านตาล โฮลดิ้ง จำกัด เช่นกัน หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระที่โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรไปนั้น จึงเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ที่จะต้องนำไปคิดคำนวณกำไรขาดทุนในระหว่างผู้ที่ยังคงเป็นหุ้นส่วนกันต่อไปตามสัญญาหุ้นส่วน โจทก์จะนำหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระดังกล่าวมาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยไม่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระ ของโจทก์

อ่านเพิ่มเติม

หนังสือเชิญประชุมฯมิได้ระบุถึงวาระเรื่องการพิจารณาถอดถอนกรรมการ แต่ในวาระที่ 4 ได้ระบุว่า “พิจารณาเรื่องอื่น(ถ้ามี)” หากในการประชุมมีการลงมติถอดถอนกรรมการ ถือเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1175 วรรคสอง วางหลักว่า คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนำเสนอให้ลงมติด้วย

หนังสือขอเชิญประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นได้ระบุถึงสภาพแห่งกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติเพียง 3 เรื่อง โดยระบุไว้เป็นวาระที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีวาระเรื่องการพิจารณาถอดถอนกรรมการบริษัท ส่วนวาระที่ 4 ระบุว่าพิจารณาเรื่องอื่น (ถ้ามี) นั้น ไม่ถือเป็นการระบุถึงสภาพกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติ เพราะวาระการประชุมเรื่องอื่น (ถ้ามี) นั้นต้องเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ เเต่ในเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นจึงชอบที่จะได้รับทราบโดยการแจ้งเรื่องดังกล่าวล่วงหน้าเพื่อได้เตรียมตัวก่อนเข้าร่วมพิจารณาในที่ประชุม การที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นได้พิจารณาและลงมติให้ถอดถอนกรรมการออกจากการเป็นกรรมการบริษัทในวาระที่ 4 เรื่องอื่น ๆ โดยไม่ได้ระบุวาระเรื่องการถอดถอนกรรมการดังกล่าวในคำบอกกล่าวเรียกประชุม ย่อมเป็นการพิจารณาและลงมตินอกวาระหรือนอกเรื่องที่กำหนดไว้ การพิจารณาเเละลงมติดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3413/2560 ข้อความในหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดให้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 วรรคสอง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวกฎหมายมุ่งประสงค์ให้คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เป็นการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นของบริษัททราบล่วงหน้า นอกจากจะแจ้งว่าบริษัทจะจัดให้มีการประชุมใหญ่ในวัน เวลา และสถานที่ใดแล้ว ยังกำหนดให้แจ้งถึงสภาพกิจการที่จะได้ประชุมกัน และหากเป็นการเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษก็ต้องระบุข้อความที่จะให้ลงมติอีกด้วย เพื่อผู้ถือหุ้นจะได้มีโอกาสเตรียมตัวเพื่อสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จะประชุมกันได้อย่างเต็มที่ สำหรับสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันซึ่งจะต้องระบุไว้ในคำบอกกล่าวนั้น คือเรื่องหรือกิจการที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญหรือกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้น และไม่จำต้องเป็นเรื่องเฉพาะสภาพการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นในขณะนั้น หรือต้องเป็นเรื่องที่ต้องลงมติพิเศษเท่านั้น เมื่อพิจารณาสำเนาหนังสือขอเชิญประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 แล้ว เห็นได้ว่า ได้ระบุถึงสภาพแห่งกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติเพียง 3 เรื่อง โดยระบุไว้เป็นวาระที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีวาระเรื่องการพิจารณาถอดถอนกรรมการของจำเลยที่ 1 ส่วนวาระที่ 4 ระบุว่าพิจารณาเรื่องอื่น (ถ้ามี) นั้น ไม่เป็นการระบุถึงสภาพกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติ ทั้งผู้ถือหุ้นไม่มีโอกาสเตรียมตัวที่จะมาสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นได้เนื่องจากไม่ทราบว่าจะมีการพิจารณาเพื่อลงมติในเรื่องใดบ้าง หรือกล่าวได้ว่าวาระการประชุมเรื่องอื่น ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ซึ่งในเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1151 ได้กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นที่จะถอดถอนได้ แสดงว่าเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทเป็นเรื่องสำคัญ และเห็นได้ว่าเป็นการกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นเนื่องจากเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีอำนาจบริหารกิจการและดูแลผลประโยชน์แทนตน ผู้ถือหุ้นจึงชอบที่จะได้รับทราบโดยการแจ้งถึงเรื่องดังกล่าวล่วงหน้าเพื่อได้เตรียมตัวก่อนเข้าร่วมพิจารณาในที่ประชุม การที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นได้พิจารณาและลงมติให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ในวาระที่ 4 เรื่องอื่น ๆ โดยไม่มีวาระเรื่องการถอดถอนโจทก์ดังกล่าวในคำบอกกล่าวเรียกประชุม เป็นการพิจารณาและลงมตินอกวาระหรือเรื่องที่กำหนดไว้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดมีสิทธิฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดและจัดการชำระบัญชีหรือไม่

เนื่องจากบทบัญญัติในส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้กล่าวถึงในเรื่องว่า หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิขอเลิกห้างฯ ได้หรือไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องการเลิกห้างฯ ของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับตามที่ป.พ.พ. มาตรา 1080 บัญญัติไว้ ประกอบกับมาตรา 1057 ได้วางหลักไว้ว่า หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกห้างฯได้ ถ้ามีเหตุตามที่กำหนดไว้ในมาตรานี้ อาทิ (3) เมื่อมีเหตุอื่นใด ๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ดังนั้น หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจึงมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดและจัดการชำระบัญชีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2561 จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ จำเลยที่ 1 ได้กระทำล่วงละเมิดบทบังคับอันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่โจทก์ทั้งสี่โดยจงใจ มีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่เมื่อบทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้กล่าวถึงว่าหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิขอเลิกห้างฯ ได้หรือไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องการเลิกห้างฯ ของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับตามที่มาตรา 1080 บัญญัติไว้ และมีผลให้หุ้นส่วนคนใดอาจร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างฯ ตามมาตรา 1057 (3) ได้ โจทก์ทั้งสี่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ย่อมมีอำนาจฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 และจัดการชำระบัญชีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้วินิจฉัยแนวเดียวกัน 680/2551

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1057 วางหลักว่า ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดร้องขอเมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังจะกล่าวต่อไปนี้ ศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้ คือ…
(3) เมื่อมีเหตุอื่นใด ๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้

มาตรา 1080 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า  บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย