คลังเก็บป้ายกำกับ: หนี้

สามีทําสัญญาค้ำประกันจะต้องได้รับความยินยอมจากภริยาหรือไม่ และการที่ภริยาให้ความยินยอมจะถือเป็นการให้สัตยาบันอันจะถือเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ ร่วมกันหรือไม่? ลูกหนี้ทําสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ มีผลให้หนี้เดิม ระงับสิ้นไปหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 8820/2561  จําเลยที่ 1 ทําสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ส. ทําสัญญาค้ำประกันและสัญญาจํานองเพื่อเป็นประกันหนี้ของจําเลยที่ 1 ซึ่งจําเลยที่  2 (ภริยา) ส. ทําหนังสือให้ความยินยอมทํานิติกรรมทุกประเภท การให้ความยินยอมดังกล่าวเป็นผลให้จําเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิด ในหนี้อันคู่สมรสได้ก่อขึ้นเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสหรือไม่  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 ที่บัญญัติว่า หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้… (4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน การให้ความยินยอมของคู่สมรสในการทํานิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสอยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 1476 ที่กําหนดให้เฉพาะการจัดการสินสมรสที่มีความสําคัญตาม มาตรา 1476 (1) ถึง (8) ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย สําหรับการทํานิติกรรมในส่วนที่ ส. ทําสัญญาจํานองต้องได้รับความยินยอมจากจําเลยที่ 2 ตามมาตรา 1476 (1) แต่การที่ ส. ทําสัญญาค้ําประกัน จําเลยที่ 1 หาได้อยู่ในบังคับมาตรา 1476 หรือเป็นการจัดการสินสมรสโดยตรงไม่ กรณีจะเป็นหนี้ร่วมต่อเมื่อจําเลยที่ 2 คู่สมรสได้ให้สัตยาบันตาม มาตรา 1490 (4) ซึ่งการที่จําเลยที่ 2 คู่สมรสให้ความยินยอมในการทํานิติกรรมตามหนังสือให้ความยินยอมเป็นการให้สัตยาบันของคู่สมรสตามมาตรา 1490 (4) หรือไม่นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ในส่วนที่ ส. สัญญาค้ำประกันจําเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จําต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจําเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไปจึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทํานิติกรรม หาใช่เป็นการให้สัตยาบันตามนัยของบทบัญญัติมาตรา 1490 (4) ไม่ เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แต่อย่างใดว่า จําเลยที่ 2 รับรองการที่ ส. ก่อหนี้ขึ้นแล้วตามมูลหนี้ที่มีการทําสัญญาค้ำประกันจําเลยที่ 1 คงปรากฏเฉพาะการที่จําเลยที่ 2 รับรู้ถึงการเข้าทําสัญญาค้ำประกันของ ส. เท่านั้น เมื่อจําเลย ที่ 2 ไม่ได้ให้สัตยาบันการก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่คู่สมรสได้กระทําไป จําเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ส่วนการที่จําเลยที่ 2 มีฐานะเป็นทายาท โดยธรรมของ ส. การที่ ส. ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย ภาระการค้ำประกันที่ ส. ผูกพันตนเพื่อ ชําระหนี้เมื่อจําเลยที่ 1 ลูกหนี้ไม่ชําระหนี้ยังไม่ระงับสิ้นไป และถึงแม้จําเลยที่ 1 ทําสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. โดยผู้ค้ำประกันหรือทายาทของผู้ค้ำประกัน ไม่ได้ร่วมลงชื่อในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก็ตาม แต่การทําสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นเพียงข้อตกลงผ่อนปรนในการชําระหนี้หาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันเป็นผลให้หนี้เดิมระงับ สิ้นไปไม่ อีกทั้งตามสัญญาค้ำประกันไม่ให้ผู้ค้ำประกันยกเอาการที่เจ้าหนี้ผ่อนเวลาหรือให้ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชําระหนี้เป็นเหตุปลดเปลื้องความรับผิดของผู้ค้ำประกัน เมื่อยังมีภาระ การค้ำประกันอยู่เช่นนี้ จําเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้ค้ำประกัน แต่จําเลยที่ 2 คู่สมรสซึ่งให้ความยินยอมในการทํานิติกรรมไม่ต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใด คําพิพากษาฎีกาที่ 7568/2562 สัญญาค้ำประกันที่จําเลยที่ 1 ที่ 3 และ ก. ทํามิใช่นิติกรรมที่ต้องได้รับความยินยอมจากภริยา ประกอบกับหนังสือยินยอมระบุข้อความ ว่ายินยอมให้ทําสัญญา/ข้อตกลงเกี่ยวกับการขอสินเชื่อ การค้ำประกัน การจํานอง การจํานํา และ/หรือนิติกรรมใด ๆ ได้ทั้งสิ้น อันมีลักษณะเป็นการให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป เป็นเพียงหนังสือแสดงว่าจําเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รับรู้และไม่คัดค้านที่จําเลยที่ 1 ที่ 3 และ ก. สามีก่อหนี้ขึ้นตามสัญญาค้ำประกัน มิใช่เป็นการให้สัตยาบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (4) จําเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในฐานะส่วนตัวจึงไม่ต้องร่วมรับผิดชําระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเพียงการผ่อนปรนเงื่อนไขในการชําระหนี้ที่โจทก์ให้โอกาสแก่บริษัท ซ. ซึ่งเป็นลูกหนี้ ไม่ได้เป็นการทําหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขเพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าไปในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขหรือเปลี่ยนเงื่อนไข ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งหนี้ หรือมีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 และมาตรา 350 เพราะลูกหนี้ยังคงเดิม ทั้ง ต. ร. และ ส. ก็เป็นผู้ค้ำประกันในมูลหนี้เดิม จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทําให้หนี้เดิมระงับ 

เจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากผู้ค้ำประกันร่วมคนหนึ่ง ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันร่วมอีกคนหนึ่งจะยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ในหนี้ส่วนที่เหลืออีกหรือไม่

 คำพิพากษาฎีกาที่319/2561 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 หมวด 5 ความระงับแห่งหนี้ส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 5 บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปต่อเมื่อได้มีการชำระหนี้ มีการปลดหนี้ มีการหักกลบลบหนี้มีการแปลงหนี้ใหม่ หรือหนี้นั้น ๆ เกลื่อนกลืนกัน การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้เพียงบางส่วนจากบรรษัทประกันสินเชื่อ อ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 เฉพาะเท่าที่ปลดหนี้ให้เท่านั้น เมื่อการชำระหนี้นั้นยังไม่ครบจำนวนทั้งไม่ปรากฏเหตุอื่นที่อาจทำให้หนี้ดังกล่าวทั้งหมดระงับสิ้นไป แต่ยังมีหนี้ที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระอีก การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากบรรษัทประกันสินเชื่อ อ. เป็นเพียงโจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากผู้ค้ำประกัน เมื่อยังมีหนี้ส่วนที่เหลือจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นคงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้อีกจนครบจำนวนตาม ปพ.พ. มาตรา 685 จำเลยที่1 ฐานะลูกหนี้ชั้นต้นจึงไม่อาจหลุดพันจากความรับผิดไปกับบรรษัทประกันสินเชื่อ อ.ไปด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีฐนะเป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดียวกับบรรษัทประกันสินเชื่อ . เมื่อทั้งจำเลยที่ 2 และบรรษัทประกันสินเชื่อ อ. ต่างได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้สินเชื่อดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ อันถือเป็นผู้ค้ำประกันร่วม ในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 682 วรรคสอง และเมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่มิได้ค้ำประกันร่วมกัน แต่ต้องรับผิดร่วมกันดังกล่าวไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไป ตามมาตรา 229 มาตรา 293 และมาตรา 296 ด้วยเหตุนี้ แม้โจทก์จะยอมรับการชำระหนี้และปลดหนี้ให้กับบรรษัทประกันสินเชื่อ อ. คงเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 เพียงเท่าส่วนของบรรษัทประกันสินเชื่อ อ. ชำระให้โจทก์และที่โจทก์ปลดไป ซึ่งไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 ในส่วนที่ปลดไปได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพนจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือไม่

ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ผู้กู้จะเรียกร้องให้คืนดอกเบี้ยที่ชำระไปได้หรือไม่ และผู้ให้กู้มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 5056/2562 โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนโดยจำเลยได้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน มาโดยตลอด ดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระไป แต่โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวหากแต่ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงินโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปื ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ผู้ซื้อชำระค่าที่ดินให้แก่ผู้ขายไปแล้วบางส่วน ต่อมา ผู้ซื้อทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น ดังนี้ ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากผู้ซื้อมีอำนาจฟ้องบังคับผู้ขายโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 1017/2561 

สัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง พ. และ บ. มีข้อตกลงซื้อขายกันในราคา 3,000,000 บาท ชำระมัดจำ 1,000,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 5 เมษายน 2560 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน พ. และ บ. มิได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้แต่ฝ่ายเดียว แต่ต่างฝ่ายต่างมีฐานะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน แม้โจทก์นำสืบว่าได้ชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอีก 1,000,000 บาท ให้แก่ พ. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2554 แต่ก็ยังคงเหลือค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอีก 1,000,000 บาท ที่ บ. ต้องชำระให้แก่ พ. พ. และ บ. จึงยังคงมีฐานะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกันอยู่ กล่าวคือ พ. มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระค่าที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เหลือจาก บ. และเป็นลูกหนี้ที่มีหน้าที่ต้องโอนที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ บ. ขณะเดียวกัน บ. ก็เป็นลูกหนี้ที่มีหน้าที่ต้องชำระค่าที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เหลือแก่ พ. และเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก พ. เมื่อ บ. โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้สินและสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ โดยตกลงให้โจทก์เป็นผู้ชำระค่าที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือให้แก่ พ. กรณีจึงมิใช่ บ. โอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306  วรรคหนึ่ง แต่ บ. ได้โอนหนี้ให้โจทก์มาเป็นลูกหนี้ชำระค่าที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เหลือแก่ พ.ด้วย กรณีจึงเป็นเรื่องแปลงหนี้ใหม่ด้วยกรเปลี่ยนตัวลูกหนี้จาก บ. มาเป็นโจทก์ ซึ่งจะต้องมีกรทำสัญญาระหว่างเจ้าหนี้คือ พ. กับลูกหนี้คนใหม่คือโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 จึงจะมีผลผูกพันเจ้าหนี้คือ พ. จะเพียงแต่ทำเป็นหนังสือระหว่าง บ. กับโจทก์ หาชอบไม่ เมื่อโจทก์ลูกหนี้คนใหม่ยังไม่ได้ทำสัญญากับ พ. เจ้าหนี้ใหม่จึงไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับ พ. ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้ พ. โอนที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ เมื่อ พ. จดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของ พ. ให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตามพินัยกรรม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนดังกล่าวได้ 

มอบเงินให้บุคคลอื่นเพื่อนำไปวิ่งเต้นให้กับคณะกรรมการสอบหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสอบเพื่อช่วยเหลือบุตรให้สอบเข้ารับราชการในวิธีการที่ฝ่าฝืนระเบียบการสอบแต่ผู้รับเงินกระทำการไม่สำเร็จ และยังไม่สามารถนำเงินมาคืนได้ จึงมาทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไว้แทน เพื่อเป็นหลักประกันไว้ ดังนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ และผู้กู้จะต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 6023/2561 

          การทำสัญญากู้ยืมเงินมีมูลกรณีแห่งหนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยหรือ ภ. ไม่สามารถวิ่งเต้นช่วยเหลือ ก. และ ธ. สอบเข้ารับราชการได้ แต่จำเลยยังไม่สามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวมาคืนฝ่ายโจทก์ได้ โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อเป็นหลักประกันไว้ กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินและมีการส่งมอบเงินกู้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันจริงกับจำเลยและเงินจำนวน 1,100,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นเงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าวิ่งเต้นให้แก่จำเลยเพื่อช่วยเหลือ ก. และ ธ. สอบเข้ารับราชการได้ พฤติการณ์ที่โจทก์มอบเงิน 1,100,000 บาท เพื่อขอให้จำเลยหรือ ภ. นำไปวิ่งเต้นกับคณะกรรมการสอบหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสอบเพื่อช่วยเหลือ ก. และ ธ. สอบเข้ารับราชการในวิธีการที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบในการสอบ มุ่งหวังใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายใช้เงินในการตอบแทนจูงใจโดยมีเจตนาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติผิดต่อตำแหน่งการงานให้ทำกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบด้วยการช่วยเหลือบุตรสาวและบุตรเขยของโจทก์ จำนวน 1,100,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินจึงมีที่มาจากมูลหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องได้ หนี้ที่เกิดจากสัญญาอันเป็นโมฆะย่อมเสียเปล่ามาแต่ต้นจะแปลงหนี้ใหม่เป็นหนี้เงินกู้ยืมหรือหนี้อย่างอื่นที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้  จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินตามสัญญากู้ยืมเงิน 

การทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ทำให้หนี้เดิมระงับสิ้นไป มีผลให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่

 คำพิพากษาฎีกาที่ 5249/2561 

           การทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เป็นเพียงการตกลงผ่อนผันเฉพาะในส่วนของข้อตกลงในการชำระหนี้ โดยมีเงื่อนไขในการผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้และได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างหนี้เท่านั้น คู่สัญญาไม่ได้มีเจตนาที่จะถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือยกเลิกหนี้เดิมที่นำมาปรับโครงสร้างหนี้แต่อย่างใด จึงมิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 349 หนี้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาสินเชื่อเดิมจึงมิได้ระงับไป และการค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ยังคงมีผลใช้บังคับและผูกพันจำเลยที่ 3 ตลอดไปในเมื่อจำเลยที่ 1 ยังคงเป็นลูกหนี้โจทก์จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ 

ลูกหนี้กับเจ้าหนี้ตกลงทำบันทึกแนบท้ายสัญญาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเกี่ยวกับราคา อัตราดอกเบี้ย จํานวนเงินที่ต้องชําระในแต่ละงวดและระยะเวลาการผ่อนชําระ เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันทำให้หนี้เดิมระงับ และผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 6544/2562 

โจทก์กับจําเลยที่ 1 ตกลงทำบันทึกแนบท้ายสัญญาเช่าซื้อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข เกี่ยวกับราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ อัตราดอกเบี้ย จํานวนเงินค่าเช่าซื้อในแต่ละงวด และระยะเวลาการผ่อนชําระค่าเช่าซื้อเท่านั้น อันมีลักษณะเป็นเพียงการกําหนดเงื่อนไขการผ่อนชําระหนี้และระยะเวลาการชําระหนี้ใหม่โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจําเลยที่ 1 มีเจตนาให้หนี้ที่เช่าซื้อตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อระงับสิ้นไป แล้วมาบังคับกันใหม่ตามบันทึกแนบท้ายสัญญาเช่าซื้ออันจะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้และเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 เมื่อบันทึกแนบท้ายสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันทำให้หนี้เดิมระงับ โจทก์จึงยังมีอํานาจฟ้องจําเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้ค้ำประกันตามสัญญาเช่าซื้อให้ร่วมกับจําเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ได้ 

ภริยาลูกหนี้โอนที่ดินให้แก่บุตร​โดยเสน่หา เจ้าหนี้มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์
มาตรา 237 วางหลักว่า
เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

หลักเกณฑ์การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล
1. คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องมีนิติสัมพันธ์เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กัน
2. ลูกหนี้กระทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินใดๆ ที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
3. ลูกหนี้รู้อยู่แล้วว่านิติกรรมที่ทำนั้นทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
4. ผู้รับนิติกรรมซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกที่เสียค่าตอบแทน ต้องรู้ว่านิติกรรมที่ทำนี้ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
(ถ้าผู้ได้ลาภงอกไม่รู้ว่านิติกรรมที่ทำไปนั้นทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลไม่ได้) หรือ
5. ผู้รับนิติกรรมซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกได้รับนิติกรรมการให้โดยเสน่หามาจากลูกหนี้ แม้ไม่รู้ว่านิติกรรมที่ทำลงทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
6. เจ้าหนี้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้

การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำไปโดยรู้อยู่ว่าจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ดังนั้น คู่กรณีในการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลนั้นจึงต้องเป็นเจ้าหนี้เเละลูกหนี้กันเท่านั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องเป็นเพียงภริยาของลูกหนี้ เเละไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่ผู้ถูกฟ้องจะต้องร่วมรับผิดด้วยเเล้ว ผู้ถูกฟ้องจึงไม่ได้เป็นลูกหนี้เเละไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆกับเจ้าหนี้ อันเจ้าหนี้จะมาฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 ดังนั้น เจ้าหนี้ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่ภริยาของลูกหนี้จดทะเบียนให้ที่ดินแก่บุคคลภายนอกโดยเสน่หา

คำพิพากษาฎีกาที่ 9831/2560 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา อันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ จึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมเป็นหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ซึ่งเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (1) ถึง (4) ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งจะมีผลให้จำเลยที่ 2 อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ ประกอบกับโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า หนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ร่วมที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 

ผู้กู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่ไปทำสัญญายกที่ดินให้แก่บุคคลอื่นและบุคคลนั้นนำไปทำสัญญาจำนอง ผู้ให้กู้ฟ้องเพิกถอนสัญญาจำนองได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์

มาตรา 237 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า
เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

มาตรา 238 วางหลักว่า การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้นไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอก อันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน

อนึ่งความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา

ลูกหนี้ทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่ผู้ได้ลาภงอกโดยเสน่หาทั้งที่รู้อยู่เเล้วว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เมื่อเป็นการให้ที่ดินโดยเสน่หาเเล้ว แม้ลูกหนี้รู้เพียงฝ่ายเดียวว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ก็ชอบที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หานั้นได้ตามมมาตรา 237 วรรคหนึ่ง เเต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้ได้ลาภงอกได้ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวภายหลังได้มีการฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลเเล้ว ผู้รับจำนองซึ่งเป็นผู้ได้รับโอนที่ดินต่อมาจากผู้่ได้ลาภงอกย่อมถือเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลนั้นไม่อาจกระทบสิทธิบุคคลดังกล่าวได้หากได้สิทธิโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 238 วรรคหนึ่ง เเต่เมื่อบุคคลภายนอกซึ่่งเป็นผู้รับจำนองได้สิทธิในทีดินพิพาทมาภายหลังฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลเเล้ว จึงไม่เข้ากรณีตามมาตรา 238 วรรคหนึ่ง เจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลอันเป็นการกระทบกระทั่งสิทธิของบุคคลภายนอกนั้นได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 5248/2560 โจทก์ได้ร้องขอบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาฎีกาซึ่งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 4,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว…ฯลฯ แล้ว  ย่อมฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการกระทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ 
การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา จำเลยที่ 2 ย่อมมีฐานะเป็นผู้ได้ลาภงอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เพราะผู้ได้ลาภงอกหมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้โดยตรง จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับจำนองทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อจากผู้ทำนิติกรรมกับลูกหนี้จึงเป็นบุคคลภายนอก ตามความในมาตรา 238 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ที่กระทำในวันที่ 9 ตุลาคม 2557 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557 การจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมจึงเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเป็นคดีนี้ เมื่อจำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ทำนิติกรรมจำนองก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอน จำเลยร่วมย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 238 ดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ทั้งที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ซึ่งเพียงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็เป็นเหตุที่จะขอให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 392/2561, 16167/2557 วินิจฉัยเเนวเดียวกัน

ในทางกลับกัน ถ้าบุคคลภายนอกได้ทำนิติกรรมกับผู้่ได้ลาภงอกเเละได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบเเทน ก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอน บุคคลภายนอกย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 238

คำพิพากษาฎีกาที่ 9906/2560 การจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทสองโฉนดระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ กรณีต้องบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 ในเรื่องของการเพิกถอนการฉ้อฉล มิใช่บังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 อันเป็นเรื่องของวัตถุประสงค์ของนิติกรรมขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรม อีกทั้งยังไม่พ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องขอเพิกถอนได้
จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทแปลงหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ทำนิติกรรมโอนขายให้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมจำนองให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งล้วนเป็นการทำนิติกรรมก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอน จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นบุคคลภายนอก อันได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอให้เพิกถอน ย่อมได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 238 ศาลไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมในที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับที่ 4 และระหว่างที่ 4 กับที่ 5 ดังนั้น ไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ตามฟ้องได้ด้วย เพราะที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย เลือกชำระหนี้โดยโอนที่ดินให้แก่เจ้าหนี้รายหนึ่งไป โดยเจ้าหนี้คนนั้นรู้ว่าลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายรายและไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้อื่นที่ไม่ได้รับชำระหนี้มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 237 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

การที่ลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายรายและมีภาระหนี้สินจำนวนมาก แต่กลับเลือกชำระหนี้แก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยการโอนที่ดินพิพาทให้กับเจ้าหนี้คนหนึ่งนี้เพียงคนเดียวเป็นการทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดน้อยถอยลงไป ทำให้เจ้าหนี้คนอื่นเสียเปรียบ ประกอบกับเจ้าหนี้ผู้ได้ลาภงอกนี้ทราบก่อนโอนที่ดินพิพาทแล้วว่าลูกหนี้มีเจ้าหนี้อีกหลายรายที่รอการชำระหนี้ด้วย การกระทำของลูกหนี้จึงเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้รายอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เจ้าหนี้รายอื่นจึงมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2090/2560 จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธเพียงว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และเป็นไปตามกระบวนการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาทของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อหาข้อยุติทางคดีนั้นชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบและไม่เป็นการฉ้อฉล โดยมิได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์ และไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 และ ป.มีเจ้าหนี้หลายราย มีภาระหนี้จำนวนมากและไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ประกอบกับจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วทั้งก่อนและในขณะรับโอนที่ดินพิพาทว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์และรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 และ ป. มีเจ้าหนี้หลายราย มีภาระหนี้จำนวนมากและไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 กลับเลือกชำระหนี้โดยโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อีกรายหนึ่งของตนไป ย่อมมีผลให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลดน้อยลงและโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ไม่สามารถยึดทรัพย์บังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวได้ หรือเสียโอกาสในการขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์หากมีการยึดที่ดินพิพาทโดยเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1  จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1  เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉล โจทก์มีสิทธิ์ร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทได้