
โดยหลักแล้ว ประเด็นที่ศาลสูงจะยกขึ้นวินิจฉัยได้ ต้องเป็นประเด็นที่คู่ความฝ่ายนั้นจะได้ยกขึ้นอ้างมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทุกชั้นศาล
แต่หลักนี้มีข้อยกเว้นอยู่ว่า ถ้าเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้ แม้คู่ความจะมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ามาแล้วโดยชอบในศาลล่างก็ตาม
ต่อมาเกิดปัญหาว่า ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา คู่ความพยายามยกขึ้นอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ไม่เคยปรากฏในสำนวนคดีในศาลล่างมาก่อนเลย เช่น จำเลยยื่นคำให้การปฏิเสธลอยในศาลชั้นต้นและมิได้นำสืบเรื่องการสอบสอบสวนที่ไม่ชอบ แต่ในอุทธรณ์ จำเลยกลับอ้างว่าการสอบสวนไม่ชอบเพราะพนักงานสอบสวนซ้อมจำเลยให้รับสารภาพในชั้นสอบสวน เห็นได้ว่า ประเด็นนี้เรื่องการสอบสวนไม่ชอบนี้จำเลยไม่เคยยื่นคำให้การมาก่อนและไม่เคยนำสืบก่อน จึงไม่มีพยานหลักฐานปรากฏ
ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงสร้างหลักการขึ้นมาว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยให้ได้นั้น จะต้องมีข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนคดีในศาลล่างมาก่อนด้วย ศาลจึงจะยกขึ้นวินิจฉัยให้ได้
หลักการนี้ใช้กับทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาด้วย
ป.วิ.แพ่ง ดูมาตรา 142 (5), 224
ป.วิ.อาญา ดูมาตรา 195
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2561 แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ที่บัญญัติให้ศาลมีอำนาจลงโทษผู้กระทำความผิดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดนั้นจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาก็ตาม แต่ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งนั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มีการนำสืบกันไว้แล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งศาลจะยกเอาข้อเท็จจริงตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาหรือสำเนาบันทึกการจับกุมมารับฟังเพียงลำพังว่ามีการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งตามมาตรา 100/2 โดยไม่มีการสืบพยานอื่นหาได้ไม่
อ่านเพิ่มเติม