คลังเก็บป้ายกำกับ: ทรัพย์สินและที่ดิน

การได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ จะอ้างสิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวมาบังคับเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งซื้อที่ดินมาโดยรู้ว่าเจ้าของที่ดินเดิมได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินไว้ ได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 7210/2560 เดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 38174 เป็นของ ม. โดย ม. ยินยอมให้จําเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นมีสถานะเป็นองค์การบริหารส่วนตําบลอรัญญิกดําเนินการก่อสร้างท่อประปารางระบายน้ำและสายไฟฟ้าในที่ดินพิพาท ต่อมา ม. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทเป็นมรดกได้แก่ บ. ซึ่งเป็นทายาท บ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์บอกกล่าวให้จําเลยที่ 1 รื้อถอนเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ตลอดจนท่อประปาและท่อระบายน้ำทิ้งที่จําเลยที่ 1 ก่อสร้างไว้ ออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จําเลยที่ 1 เพิกเฉย  คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอํานาจฟ้องขอให้บังคับจําเลยที่ 1 รื้อถอนเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ท่อประปาและท่อระบายน้ำทิ้งที่อยู่ในที่ดินพิพาทได้หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิทธิในการก่อสร้างและติดตั้งเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าตลอดจน วางท่อประปาและท่อระบายน้ำทิ้งของจําเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของผู้อื่นมีลักษณะเป็นสิทธิเหนือพื้นดินอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และเป็นทรัพยสิทธิที่ก่อตั้งขึ้นตามมาตรา 1298 และมาตรา 1410 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดย ม. เจ้าของที่ดินพิพาทในขณะนั้นเป็นผู้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินแก่จําเลยที่ 1 ตามบันทึกข้อความอันเป็นนิติกรรมการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิดังกล่าวของจําเลยที่ 1 ที่ไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัยมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีความหมายว่า สิทธิของผู้ทรงสิทธิไม่บริบูรณ์ในฐานะเป็นทรัพยสิทธิที่ตกติดไปกับตัวทรัพย์หรือที่ดินโดยผลของกฎหมายไม่ว่าผู้ใดจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องยอมรับสิทธิเหนือพื้นดินอันเป็นคุณแก่ผู้ทรงสิทธิที่มีอยู่เหนือที่ดินแปลงนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินของจําเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินของจําเลยที่ 1 จึงไม่บริบูรณ์ในฐานะเป็นทรัพยสิทธิ จําเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างสิทธิเหนือพื้นดินตามนิติกรรมที่ทําไว้กับ ม. เจ้าของที่ดินพิพาทเดิม ซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิมาบังคับเอาแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ไม่ว่าโจทก์จะซื้อที่ดิน พิพาทมาโดยรู้ว่าเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินไว้หรือไม่ นิติกรรมที่ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินแก่จําเลยที่ 1 ตามบันทึกข้อความย่อมไม่ผูกพันโจทก์ เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จําเลยที่ 1 รื้อถอนเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าตลอดจนท่อประปาและท่อระบายน้ำทิ้ง อันเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โดยชอบแล้ว จําเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงมีอํานาจฟ้องขับไล่ขอให้บังคับจําเลยที่ 1 รื้อถอน ทรัพย์ดังกล่าวออกไปจากที่ดินพิพาทได้ 

ที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัว แต่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดให้หลังจากมีการจดทะเบียนสมรสแล้ว จะมีผลให้ที่ดินกลับกลายเป็นสินสมรส หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2851/2561 เหตุที่ผู้ตายมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเพียงผู้เดียว เนื่องจากผู้ตายได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากบิดามารดา ผู้ตายครอบครองทําประโยชน์มากว่า 40 ปี ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ผู้ตายอยู่กินและจดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องสอด ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนสมรส เป็นสินส่วนตัวของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) แม้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ตายหลังจากผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องสอดแล้วก็ไม่มีผลทําให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกลับกลายเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายได้มาในระหว่างสมรสอันจะเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย ผู้ตายจึงมีสิทธิทําพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จําเลยได้ 

การใช้ทางในที่ดินของบุคคลอื่นในลักษณะถือวิสาสะ ในลักษณะพึ่งพาอาศัยและถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน หรือใช้ทางโดยเข้าใจว่าเป็นทางสาธารณะจะได้ภาระจํายอมโดยอายุความหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 2398/2562 การที่จะได้สิทธิในทางพิพาทเป็นภาระจํายอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 นั้น ต้องเป็นการใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้ทางพิพาทนั้นตกเป็นภาระจํายอม และได้ใช้ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 10 ปี จึงจะให้ทางพิพาทตกเป็นภาระจํายอมได้ การใช้ทางพิพาทของ ส. ฉ. และโจทก์รวมทั้งบุคคลในครอบครัวของโจทก์เป็นการใช้ในลักษณะพึ่งพาอาศัยและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอันเป็นการสะท้อนถึงสภาพวิถีชีวิตที่แท้จริงของการอยู่ร่วมกันของคนชนบทว่าตามปกติแล้วจะใช้ที่ดินข้างเคียงเป็นทางผ่านได้ โดยการถือวิสาสะ อาศัยความเกี่ยวพันในทางเครือญาติหรือความคุ้นเคยเป็นประการสําคัญซึ่งเป็นการเอื้อเฟื้อ เอื้ออาทรต่อกันโดยไม่ต้องขออนุญาต ส่วนการที่บุคคลอื่น ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็น เครือญาติ เพื่อนบ้าน คนรู้จักของโจทก์ และผู้รับจ้างทํางานให้แก่โจทก์ที่มีความจําเป็นต้องใช้ทางเข้าออกที่ดินซึ่งเป็นที่ไร่ ที่นาและที่สวนของโจทก์ ใช้ทางพิพาทด้วย โดยไม่ปรากฏว่า มีประชาชนทั่วไปจากหมู่บ้านและตําบลอื่นมาใช้ทางพิพาทด้วย การใช้ทางพิพาทของบุคคลดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นการใช้ทางพิพาทโดยการถือวิสาสะเช่นเดียวกับโจทก์ แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผย แต่ไม่ใช่เป็นการใช้ทางด้วยเจตนาที่จะให้ทางพิพาทนั้นตกเป็นภาระจํายอม หรือหากโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยเข้าใจว่าเป็นทางสาธารณะตลอดมา แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผย แต่ก็ไม่ใช่เป็นการใช้ทางด้วยเจตนาที่จะให้ทางพิพาทนั้นตกเป็นภาระจํายอมเช่นเดียวกัน ส่วนการที่โจทก์อ้างว่า เป็นผู้ก่อสร้างทางพิพาทก็เป็นไปเพื่อความสะดวกในการใช้ทางพิพาทของโจทก์เท่านั้น หาใช่เป็นการแสดงเจตนาที่จะใช้ทางพิพาทอย่างเป็นปรปักษ์กับจําเลยทั้งสองด้วยเจตนาที่จะให้ทางพิพาทตกเป็นภาระจํายอมแต่อย่างใดไม่ แม้โจทก์ใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินของจําเลยทั้งสองเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นภาระจํายอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 

เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะใช้สิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สิน มีหลักเกณฑ์อย่างไรและเจ้าของรวมผู้ประสงค์จะแบ่งทรัพย์สินจำเป็นต้องฟ้องเจ้าของรวมในที่ดินทุกคนหรือไม่

 คำพิพากษาฎีกาที่ 5915/2562 จำเลยที่ 4 กล่าวอ้างว่า ม. มารดาจำเลยที่ 4 ซื้อที่ดินพิพาทจาก พ. แต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จากนั้นได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว จำเลยที่ 4 จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมานำสืบให้ได้ความตามที่กล่าวอ้าง  ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวรก็เรียกให้แบ่งไม่ได้” และวรรคสามบัญญัติว่า “ท่านว่าเจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้” คดีนี้ ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 4760 ส่วนใหญ่ได้กรรมสิทธิ์มาทางมรดกและบางส่วนได้มาโดยการซื้อถือไม่ได้ว่าวัตถุประสค์ที่เป็นเจ้าของรวมในที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร ในระหว่างเจ้าของรวมก็ไม่ปรากฏว่าได้ร่วมกันทำนิติกรรมห้ามมิห้แบ่งที่ดินแต่อย่างใด โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิเรียกขอให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 4760 ได้ และเมื่อตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวกำหนดให้เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินโดยมิได้บังคับให้เจ้าของรวมผู้ประสค์จะแบ่งทรัพย์สินต้องฟ้องเจ้าของรวมทุกคน โจทก์จึงหาจำต้องฟ้องเจ้าของรวมในที่ดินทุกคนไม่ ส่วนที่ปรากฏจากคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า สาเหตุที่โจทก์ต้องมาฟ้องคดีนี้เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถติดตามจำเลยทั้งสิบมาเพื่อดำเนินการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้อีกทั้งเจ้ของรวมบางคนก็ถึงแก่ความตายไปแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นทายาท และไม่ปรากฏว่าโฉนดที่ดินอยู่ที่ผู้ใดนั้น หาใช่เป็นกรณีของกรเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคสาม ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4760 ได้ แต่ที่โจทก์ขอให้แบ่งที่ดินส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้ครอบครองเป็นส่วนสัดคิดเป็นเนื้อที่ 91 ตารางวา ให้แก่โจทก์นั้นยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ครอบครองส่วนไหนของที่ดินโฉนดเลขที่ 4760 อย่างเป็นส่วนสัด จึงเห็นสมควรให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 4760 ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1364 

การได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่จะอ้างสิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวมาบังคับเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งซื้อที่ดินมาโดยรู้ว่าเจ้าของที่ดินเดิมได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินไว้ ได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 7210/2560 เดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 38174 เป็นของ ม. โดย ม. ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นมีสถานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลอรัญญิกดำเนินการก่อสร้างท่อประปารางระบายน้ำและสายไฟฟ้าในที่ดินที่พิพาท ต่อมา ม. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทเป็นมรดกได้แก่ บ. ซึ่งเป็นทายาท บ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ตลอดจนท่อประปาและท่อระบายน้ำทิ้งที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างไว้ออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รื้อถอนเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ท่อประปาและท่อระบายน้ำทิ้งที่อยู่ในที่ดินพิพาทได้หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิทธิในการก่อสร้างและติดตั้งเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าตลอดจนวางท่อประปาและท่อระบายน้ำทิ้งของจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของผู้อื่นมีลักษณะเป็นสิทธิเหนือพื้นดินอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และเป็นทรัพยสิทธิที่ก่อตั้งขึ้นตามมาตรา 1298 และมาตรา 1410 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดย ม. เจ้าของที่ดินพิพาทในขณะนั้นเป็นผู้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินแก่จำเลยที่ 1 ตามบันทึกข้อความ อันเป็นนิติกรรมการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ที่ไม่บริบูรณ์เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัยมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีความหมายว่า สิทธิของผู้ทรงสิทธิไม่บริบูรณ์ในฐานะเป็นทรัพยสิทธิที่ตกติดไปกับตัวทรัพย์หรือที่ดินโดยผลของกฎหมาย ไม่ว่าผู้ใดจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องยอมรับสิทธิเหนือพื้นดินอันเป็นคุณแก่ผู้ทรงสิทธิที่มีอยู่เหนือที่ดินแปลงนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินของจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินของจำเลยที่ 1 จึงไม่บริบูรณ์ในฐานะเป็นทรัพยสิทธิ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างสิทธิเหนือพื้นดินตามนิติกรรมที่ทำไว้กับ ม. เจ้าของที่ดินพิพาทเดิมซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิมาบังคับเอาแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ไม่ว่าโจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทมาโดยรู้ว่าเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินไว้หรือไม่ นิติกรรมที่ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินแก่จำเลยที่ 1 ตามบันทึกข้อความย่อมไม่ผูกพันโจทก์ เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าตลอดจนท่อประปาและท่อระบายน้ำทิ้ง อันเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โดยชอบแล้ว จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รื้อถอนทรัพย์ดังกล่าวออกไปจากที่ดินพิพาทได้