คำพิพากษาฎีกาที่ 8767/2561 คำว่า “พา” หมายความว่า นำไปหรือพาไป ส่วนคำว่า “พราก” หมายความว่า การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือกระทบกระเทือน โดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมอันเป็นการมุ่งหมายเพื่อยึดครองอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดด้วยการพาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่ากระทำด้วยวิธีใดและไม่คำนึงถึงระยะเวลาใกล้ไกล ดังนั้น การที่จำเลยใช้กลวิธีด้วยการตะโกนเรียกผู้เสียหายที่ 2 ให้เข้าไปหาจำเลยและแม้ที่เกิดเหตุจะอยู่ห่างจากบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 2 เล่นอยู่กับเพื่อนเพียง 7 เมตร กับแม้จะอยู่ในบริเวณอู่ซ่อมรถด้วยกันก็ตาม ถือได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปและพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานพาเด็กยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินห้าปีไปเพื่อการอนาจาร
คลังเก็บป้ายกำกับ: ทนาย
ผู้กู้ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาตามสัญญาบ้างหรือไม่ครบบ้าง แต่ผู้ให้กู้ก็ยอมรับชำระหนี้ไว้โดยไม่ทักท้วง จะถือว่าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้เมื่อใด ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ หากผู้ให้กู้ไม่มีหนังสือบอกกล่าวกล่าวทวงถามให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ผู้ให้กู้จะมีอำนาจฟ้องผู้ค้ำประกันหรือไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ 1279/2562 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ
สัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภค ข้อ 3 ระบุว่าตกลงผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 8,500 บาท ยกเว้นเดือนสุดท้าย มีกำหนดชำระ 180 งวด เริ่มผ่อนชำระตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 เป็นต้นไป และชำระให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2568 … ส่วนสัญญาข้อ 4 ระบุว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้เงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยงวดหนึ่งงวดใดผู้กู้ยอมถือว่าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราไม่เกินดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้พึงเรียกได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในขณะทำสัญญากู้มีอัตราเท่ากับร้อยละ 19 ต่อปี ของยอดเงินกู้คงเหลือ ณ วันที่ผิดนัด แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลบัญชีสินเชื่อปรากฏว่านับแต่ทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์เรื่อยมาจนกระทั่งในงวดเดือนกันยายน 2555 และงวดเดือนตุลาคม 2555 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ อันเป็นการผิดสัญญาข้อ 4 ย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2555 และชำระเรื่อยมาแม้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาตามสัญญาบ้างหรือไม่ครบบ้าง แต่โจทก์ก็ยอมรับชำระหนี้ไว้โดยที่ไม่ได้ทักท้วงย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ถือระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวไปยังผู้กู้ให้ชำระหนี้ที่ค้างชำระโดยกำหนดเวลาพอสมควรก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม โดยจำเลยที่ 1 ได้รับเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 จึงครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 20 เมษายน 2559 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย จำเลยที่ 1 จึงผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 และภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ไม่มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ทายาทของยนายสัญชัย ผู้ค้ำประกันชำระหนี้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นผลให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์
ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงขับรถกระบะพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ที่ผู้ข่มเหงขับ โดยมีคนนั่งซ้อนท้ายซึ่งมิได้ร่วมในการข่อมเหงด้วย เป็นเหตุให้คนนั่งซ้อนท้ายถึงแก่ความตาย ดังนี้ ในส่วนคนนั่งซ้อนท้ายจะเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยพลาดหรือไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ 8882/2561 การกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ.มาตรา 72 เป็นกรณีที่ผู้กระทำถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ส่วนการกระทำโดยพลาดตาม ป.อ.มาตรา 60 เป็นกรณีที่ผู้กระทำเจตนากระทำต่อบุคคลคนหนึ่งแต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป สำหรับการกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ผู้กระทำต้องเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นแล้วว่าจะทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับผลนั้น ซึ่งเป็นผลที่เห็นได้ชัดว่า จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา โดย พ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 1 ส่วน ข. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ท. ไม่ปรากฏว่า พ.กับ ข. ผู้ตายทั้งสองได้ร่วมทำร้ายหรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาที่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกทำร้ายจำเลย แม้ผู้ตายทั้งสองจะอยู่ในที่เกิดเหตุก็ไม่ปรากฎว่ามีการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเกิดความฮึกเหิมรุมทำร้ายจำเลยกับพวก หลังเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองไปกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกก็คงเป็นเพราะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วยกันพฤติการณ์ของผู้ตายทั้งสองฟังไม่ได้ว่า ผู้ตายทั้งสองข่มเหงหรือร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยชับรถกระบะซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแรงปะทะมากกว่ารถจักรยานยนต์หลายเท่าฝ่าเข้าไปหรือพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกโดยแรง แม้กระทำเพียงครั้งเดียว ก็เห็นได้ว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกชนจะถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรงไม่ใช่ กรณีที่จำเลยเจตนาที่จะกระทำต่อกลุ่มคนที่รุมทำร้ายจำเลย แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ผู้ตายทั้งสองโดยพลาดไป เมื่อผู้ตายทั้งสองมิได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมการกระทำความผิดต่อผู้ตายทั้งสองจึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้
การดำเนินกิจการของบริษัทจำกัด กรรมการบริษัทเกิดความขัดแย้งกันจนมีการฟ้องร้องเป็นคดีอาญา และมีการตกลงกันในคดีอาญาว่าจะดำเนินการชำระบัญชีและเลิกบริษัท หลังจากนั้นไม่มีการดำเนินการเพื่อเลิกบริษัท กรณีดังกล่าว จะฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เลิกบริษัท และตั้งผู้ชำระบัญชีหรือไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ 6712/2561 การเลิกบริษัทจำกัด ต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1236 หรือมาตรา 1237 ซึ่งเป็นกรณีที่มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งให้บริษัทจำกัดเลิกกันตามมาตรา 1236(1)ถึง(5)หรือมีเหตุที่ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดตามมาตรา 1237(1)ถึง(4) ที่โจทก์ขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ได้อาศัยข้ออ้างว่า ในคดีอาญาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ตกลงกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าวว่าจะดำเนินการเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 และชำระบัญชี ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวหาได้เป็นเหตุที่จะเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติมาตรา 1236 หรือมาตรา 1237 ไม่ การตกลงกันเช่นนั้นเป็นเพียงความประสงค์ของโจทก์ และจำเลยที่ 2 ที่ไม่ต้องการทำกิจการร่วมกันต่อไป แต่การตกลงกันจะเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ จะต้องดำเนินการตามมาตรา 1236(4) โดยอาศัยมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ซึ่งต้องมีการนัดเรียกประชุมและลงมติตามกฎหมาย มิใช่อ้างแต่เพียงข้อตกลงที่จะเลิกบริษัทโดยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนปัญหาที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 มีความขัดแย้งกันจนดำเนินคดีอาญาและเป็นปฏิปักษ์กันนั้น แม้ทำให้เกิดข้อขัดข้องในการจัดการงานของจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ทำการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการโดยให้จำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป อีกทั้งความขัดแย้งในการบริหารงานของบริษัทก็หาใช่เหตุที่ศาลสั่งเลิกบริษัทตามมาตรา 1237 ได้ไม่