คลังเก็บป้ายกำกับ: ตั๋วเงิน

เจ้าของบัญชีไม่ตรวจสอบรายการเดินสะพัดทางบัญชีที่ธนาคารส่งให้ทุกเดือนเป็นเหตุให้ไม่ทราบว่ามีคนลักเช็คปลอมลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายแล้วมีผู้นำไปเรียกเก็บเงิน จะถือว่าอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกเรื่องลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่602/2563 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี…ท่านว่าลายมือชื่อปลอม…เช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด…เพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการห้ามในการจะบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นหากลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือชื่อปลอม แต่ยังคงมีข้อยกเว้นว่า เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่ง…ถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม…นั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ซึ่งข้อยกเว้นกรณีการอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้นั้น อาจเป็นกรณีที่เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอมได้แสดงกิริยาอย่างหนึ่งอย่างใดให้คนภายนอกหลงเชื่อว่าลายมือชื่อที่ลงในตัวเงินนั้นเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของตน เป็นเหตุให้บุคคลภายนอกนั้นทำการไปโดยหลงเชื่อตามที่เจ้าของชื่อแสดงออกมาจนอาจเป็นที่เสียหายแก่เขา เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอมจะไปอ้างในภายหลังว่าลายมือชื่อนั้นปลอมให้เป็นกรเสียหายแก่เขาไม่ได้ 

การที่โจทก์ไม่ระมัดระวังในการดูแลรักษาแบบพิมพ์เช็ดพิพาทอย่างวิญญูชนที่พึงกระทำ และโจทก์ไม่ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบจำนวนเช็คและใบแจ้งหนี้ที่จำเลยที่ 10 (ธนาคาร) ส่งให้ตรวจสอบทุก ๆ เดือน นั้น เป็นเพียงการไม่ใส่ใจในความเสียหายของตนเองที่อาจมีขึ้นจากการไม่ใช้ความระมัดระวังและตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมิใช่การแสดงกริยาอย่างหนึ่งอย่างใดโดยตรงต่อพนักงานของจำเลยที่ 10 แล้วเป็นผลโดยตรงให้พนักงานของจำเลยที่ 10 หลงเชื่อว่าลายมือชื่อที่ลงในเช็คแต่ละฉบับเป็นลายมือชื่อที่แท้จริง การกระทำดังกล่าวของโจทก์จึงมิได้อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 10 ที่จำเลยที่ 10 ประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินจากธนาคารเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 10 ซึ่งจะต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำจำเลยที่ 10 ย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งไปกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่ว ๆ ไป การที่จำเลยที่ 10 จ่ายงินตามเช็คพิพาททั้ง 13 ฉบับ ซึ่งเป็นเช็คที่มีการปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายให้แก่ผู้ที่นำมาเรียกเก็บเงินทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่ 10 กับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลยที่ 10 จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลยที่ 10 ผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ถือได้ว่าการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทดังกล่าวเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 10 เอง เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเป็นลายมือชื่อปลอม ไม่ใช่ลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายของโจทก์ จำเลยที่ 10 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์มิได้ทักท้วงรายการเดินสะพัดทางบัญชีและแจ้งให้จำเลยที่  10 ทราบก็ตาม แต่การกระทำของโจทก์มิได้เป็นผลโดยตรงที่ทำให้จำเลยที่ 10 จ่ายเงินตามเช็คพิพาทไปโดยประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 10 ย่อมต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทคืนแก่โจทก์ตามมาตรา 1008 วรรคหนึ่ง 

กรรมการบริษัทสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ แต่มิได้ระบุในเช็คว่ากระทำการแทนบริษัท หากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ใครต้องรับผิดชำระเงินตามเช็ค

แนวที่ 1 กรณีกรรมการบริษัทลงลายมือชื่อและประทับตราสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ของบริษัท แต่มิได้ระบุว่าทำแทนบริษัท กรรมการไม่ต้องรับผิด (ฎ.2144/2525 ภาคปกติ, 778/2536 ภาคปกติ)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2536 (ภาคปกติ) เจ้าหนี้มอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อร่วมลงทุน จำเลยที่ 1ออกเช็คพิพาทมอบให้เจ้าหนี้เพื่อเป็นหลักประกัน เช็คพิพาทมี ป.กับจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดยมิได้ประทับตราของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 มิได้เขียนว่ากระทำการแทน แต่การที่ ป. กับจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคลโดยผู้แทนของนิติบุคคล จึงเป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 มิใช่การกระทำของตัวแทนที่ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินแทนตัวการ แต่มิได้เขียนแถลงว่ากระทำแทนบุคคลอื่น ซึ่งบุคคลนั้นต้องรับผิดตามความในตั๋วเงินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 901 จำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิด

 แนวที่ 2 กรรมการลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ของบริษัท แต่มิได้ประทับตรา และมิได้ระบุว่าทำแทนบริษัท บริษัทและกรรมการต้องร่วมกันรับผิดตามมาตรา 900,901 (ฎ.5998/2537 ภาคปกติ, 7121/2539 ภาคปกติ, 5415/2560 ภาคปกติ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5415/2560 (ภาคปกติ) แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การดำเนินการใดๆ ย่อมต้องทำผ่านทางผู้แทนคือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และการสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับของจำเลยที่ 2 ถือเป็นการกระทำตามหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ขณะออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นไปตามเงื่อนไขระหว่างจำเลยที่ 1 เจ้าของเช็ค กับธนาคารตามเช็ค ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และตราสารจัดตั้งที่ได้จดทะเบียนไว้ ประกอบกับในเรื่องตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็ค และมาตรา 901 บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ก็ต่อเมื่อกระทำแทนบุคคลอื่นและเขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอื่นเท่านั้น ดังนั้น การที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และไม่ได้เขียนข้อความให้เห็นว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำในนามส่วนตัวด้วย และต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย