คลังเก็บป้ายกำกับ: ฎีกา

ประเด็น การดำเนินกิจการขององค์การทางศาสนา ฟ้องศาลปกครองไม่ได้ ex คำสั่งตั้งหรือปลดเจ้าคณะตำบล, การจับสึกพระ, คำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งอิหม่าม

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 281/2548 คำสั่งแต่งตั้งเจ้าคณะตำบลเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์เป็นคำสั่งในกิจการปกครองคณะสงฆ์เป็นการใช้อำนาจทางกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ มิใช่การใช้อำนาจทางปกครองในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สวนการที่มาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 กำหนดให้เจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญานั้น เป็นการกำหนดเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอาญา ไม่ได้ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1/2545 และ 4/2545 วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เป็นกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการปกครองสงฆ์ ด้านการดำเนินกิจการขององค์กรศาสนาที่มีการวางแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมทางการปกครองไว้ต่างหากแล้ว จึงมิใช่ข้อพิพาทอันเนื่องมาจากกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิใช่การปฏิบัติราชการทางปกครอง

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 803/2547 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งอิหม่ามประจำมัสยิดเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา มิใช่เป็นการดำเนินกิจการทางปกครองในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด

ประเด็น : คดีที่เอกชนฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำละเมิดในระหว่างควบคุมผู้ต้องหา เป็นคดีที่เกิดจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม

คําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 22/2547 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดทําละเมิดโดยไม่ใส่กุญแจห้องควบคุมผู้ต้องหาจนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาอื่นเข้าไปรุมทําร้ายบุตรผู้ฟ้องคดีภายในห้องควบคุมคดีอาญาจนถึงแก่ความตาย เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องขังในคดีอาญาเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมายเพื่อนําตัวผู้กระทําความผิดอาญาไปลงโทษและได้ดําเนินการตามที่ป.วิ.อาญากําหนดไว้เป็นการเฉพาะ คดีนี้จึงมิใช่การกระทําละเมิดจากการใช้อํานาจทางปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดอันสืบเนื่องจากการใช้อํานาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงอยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรม

คําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 34/2558 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมดําเนินคดีอาญาและถูกควบคุมในห้องขังสถานีตำรวจภูธร เจ้าหน้าที่สิบเวรผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมและเก็บรักษากุญแจห้องขังพบเหตุเพลิงไหม้สถานีตำรวจ ตามหน้าที่ต้องเปิดประตูห้องขังนําตัวผู้ต้องหาออกมาให้พ้นจากอันตราย แต่กลับแจ้งเหตุและรอคำสั่งผู้บังคับบัญชาแล้วจึงช่วยเหลือผู้ต้องหาในห้องขังทําให้เพลิงไหม้ห้องขังและผู้ต้องหาถูกไฟคลอกเสียชีวิตนั้นเกิดจากการกระทําละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชําระค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินพร้อมดอกเบี้ย.เห็นว่ามูลความแห่งคดีสืบเนื่องมาจากพนักงานสอบสวนจับกุมผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดอาญาและถูกควบคุมตัวระหว่างสอบสวนเพื่อดําเนินคดีอาญาจนถึงแก่ความตายขณะอยู่ในอํานาจควบคุมของเจ้าหน้าที่ ป.วิ.อาญา มาตรา 84/1 บัญญัติให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทําการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาไปยังศาล ถ้าไม่อาจส่งไปได้ในขณะนั้นเนื่องจากเป็นเวลาที่ศาลปิด หรือใกล้จะปิดทําการให้พนักงานสอบสวนที่รับตัวผู้ถูกจับไว้มีอํานาจปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาศาลเปิดทําการ อันเป็นขั้นตอนการดําเนินการที่กําหนดให้อํานาจพนักงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะโดยตรงเพื่อนำไปสู่การฟ้องคดีและลงโทษผู้กระทําความผิดทางอาญา และตามมาตรา 2 (1) ก็บัญญัติว่า “ศาล” หมายความถึงศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาซึ่งมีอํานาจเกี่ยวกับคดีอาญา ดังนั้นศาลที่มีอํานาจในการควบคุมตรวจสอบการสอบสวนของพนักงานสอบสวน คือ ศาลยุติธรรมซึ่งมีอํานาจเกี่ยวกับคดีอาญา.แม้ผู้ฟ้องจะบรรยายฟ้องในทำนองว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นเรื่องการสอบสวนเพื่อนําตัวผู้กระทําความผิดไปลงโทษทางอาญา เมื่อมีความเสียหายหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดของเจ้าหน้าที่เกิดขึ้น ศาลยุติธรรมย่อมมีอํานาจในการตรวจสอบขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดอันสืบเนื่องจากการใช้อํานาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงอยู่ในอํานาจศาลยุติธรรม

คําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 19/2545 การที่ตำรวจเข้าตรวจค้น จับกุมบุคคลถือได้ว่าเป็นขั้นตอนการดําเนินการของเจ้าพนักงานตามที่ป.วิ.อาญากําหนดให้อํานาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง มิใช่เป็นการกระทําทางปกครอง เมื่อมีความเสียหายหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นจึงอยู่ในอํานาจการตรวจสอบของศาลยุติธรรม

คดีก่อน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง โจทก์จะนำการกระทำความผิดเดียวกันมาฟ้องจำเลยอีกได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 8745/2561 โจทก์ฟ้องคดีโดยระบุชื่อจำเลยทั้งสองแต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องโดยระบุว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมทางหลวงชนบท และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามกฎหมาย สำหรับจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนดังกล่าว กระทำความผิดเดียวกันกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1120/2560 ของศาลชั้นต้น ถือว่าโจทก์มุ่งฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดต่อกฎหมายเช่นเดียวกันกับการฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้จึงเป็นคนเดียวกันกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีแรก การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานเดียวกันกับคดีแรก โดยอาศัยมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดเดียวกัน และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีดังกล่าวไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีแล้วและถือว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(4) 

คดีแรกศาลชั้นต้นได้รับคำฟ้องส่วนแพ่งไว้แล้วและคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาโจทก์มาฟ้องคดีส่วนแพ่งเรื่องเดียวกันต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้อีก คำฟ้องโจทก์ในส่วนแพ่งจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 

คดีก่อนศาลวินิจฉัยแล้วว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาเช่าซื้อและคดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาผู้เช่าซื้อเป็นโจทก์ฟ้องผู้ให้เช่าซื้อว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อนำความอันเป็นเท็จมาฟ้องผู้เช่าซื้อ อันเป็นการทำละเมิดต่อผู้เช่าซื้อและต้องชดใช้ค่าเสียหาย ดังนี้ เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 6189/256คดีก่อนที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยเรื่องผิดสัญญาเช่าซื้อมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ และต้องคืนรถยนต์คันที่เช่าซื้อพร้อมกับชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่เพียงใด ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อนำความอันเป็นเท็จมาฟ้องโจทก์อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด แต่การวินิจฉัยว่าจำเลยนำความอันเป็นเท็จมาฟ้องโจทก์อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยก็สืบเนื่องมาจากมูลฐานและข้ออ้างเดียวกันคือ โจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ซึ่งในคดีก่อนศาลก็ได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อและคดีถึงที่สุดแล้ว โดยในคดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนจำเลยแล้ว สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกัน แต่ต่อมามีผู้ปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไปไถ่ถอนรถยนต์คันที่เช่าซื้อออกมาใช้ ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าว โจทก์ย่อมสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การคดีก่อนได้ ทั้งเหตุตามที่โจทก์กล่าวอ้างก็เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะฟ้องโจทก์เป็นคดีก่อนแล้ว แต่โจทก์หาได้ยกขึ้นต่อสู้ไม่ เมื่อแพ้คดีแล้วจึงกลับมาอ้างเหตุที่ตนมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคดีก่อนรื้อร้องฟ้องกันอีก ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ 

คดีก่อนกับคดีหลังมีคู่ความรายเดียวกัน ประเด็นข้อพิพาทเช่นเดียวกัน ต่อมาศาลชั้นต้นในคดีก่อนมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้ว ศาลชั้นต้นในคดีหลังจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้หรือไม่ การนำคดีมาฟ้องโดยมีประเด็นข้อพิพาทเป็นประเด็นเดียวกับประเด็นในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว แต่คดียังไม่ถึงที่สุด เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 9011/2560 

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทหลักเช่นเดียวกันกับคดีก่อนและมีคู่ความรายเดียวกัน แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ศาลชั้นต้นในคดีก่อนยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่ทำให้การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ก็ตาม แต่ต่อมาศาลชั้นต้นในคดีก่อนมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้ว ศาลชั้นต้นในคดีนี้ย่อมไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ เพราะจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และต้องมีคำสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาคดีนี้ต่อไปจนกว่าคำพิพากษาคดีก่อนจะถึงที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 39 วรรคหนึ่ง มิใช่พิพากษายกฟ้อง เพราะการฟ้องคดีของโจทก์มิใช่กระบวนพิจารณาที่ต้องห้ามตามกฎหมายเมื่อต่อมาคดีก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า จำเลยทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทคืนให้แก่จำเลยมิใช่เป็นการแสดงเจตนาลวง คำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีก่อนมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เท่ากับว่า สัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทคืนระหว่างโจทก์จำเลยมีผลสมบูรณ์ มิใช่นิติกรรมอำพราง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง 

คำพิพากษาฎีกาที่ 8898/2561 

คดีนี้กับคดีแพ่งของศาลชั้นต้น ต่างมีประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่ แล้วในคดีนี้จึงวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยบุกรุกและทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งเมื่อคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงต้องห้ามมิให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวซ้ำอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์ในคดีนี้และการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามบทมาตราดังกล่าว และเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีประเด็นข้อพิพาทเป็นประเด็นเดียวกันกับประเด็นในคดีดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว จึงเป็นกรณีที่เห็นได้ว่าการจะชี้ขาดตัดสินคดีนี้จำต้องอาศัยคำชี้ขาดตัดสินคดีดังกล่าวซึ่งจะต้องกระทำเสียก่อน ดังนั้น ถ้าศาลชั้นต้นได้เลื่อนการพิจารณาคดีนี้ไปจนกว่าคดีดังกล่าวจะถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 39 วรรคหนึ่ง ก็ย่อมทำให้ความยุติธรรมดำเนินไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม แม้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้มา แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่า คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นสารณะประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน คำพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยจะยกเรื่องที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินสาธารณะประโยชน์ขึ้นต่อสู้โจทก์อีกไม่ได้ และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ขอให้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามฟ้องแย้ง ระหว่างพิจารณาจำเลยประมูลขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทดังกล่าวแก่บุคคลภายนอก โจทก์จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง โดยเพิ่มข้อหาอ้างว่าจำเลยทำละเมิด และแก้ไขคำขอท้ายฟ้องเป็นให้คืนเงินมัดจำและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยคำขอบังคับตามฟ้องของโจทก์ที่แก้ไขเพิ่มเติมภายหลังไม่ได้ขอให้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ภายหลังการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องแล้ว อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 8036/2561  

เห็นว่า พระธรรมนูญศาลยุติธรรมกำหนดเรื่องเขตอำนาจศาลไว้เพื่อการบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีและผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คดีโจทก์ที่ยื่นฟ้องในตอนแรกเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตศาลชั้นต้นซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้พิจารณาโดยชอบแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ทวิ และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 การที่ต่อมาโจทก์แก้ไขฟ้องเพิ่มเติมข้อหาละเมิดอีกหนึ่งข้อ โดยไม่ได้ขอให้บังคับโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์อีก ถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพฤติการณ์อันเกี่ยวด้วยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจศาลเหนือคดีนั้น การขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวเกิดจากจำเลยประมูลขายอสังหาริมทรัพย์พิพาทแก่บุคคลภายนอกซึ่งต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในท้องที่ที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ผู้เกี่ยวข้องและพยานหลักฐานส่วนหนึ่งที่เกี่ยวด้วยการโอนอสังหาริมทรัพย์ย่อมอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ทั้งคู่ความก็ไม่ได้โต้แย้งกันในเรื่องนี้ตั้งแต่แรก และไม่ปรากฏเหตุว่าจะทำให้คู่ความและผู้เกี่ยวข้องกับคดีไม่ได้รับความสะดวก หรือทำให้การบริหารจัดการคดีของศาลชั้นต้นไม่เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมไม่ตัดอำนาจของศาลชั้นต้นที่รับฟ้องคดีไว้แล้วที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (2) ทั้งศาลฎีกาได้พิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมไว้พิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดรวมกับคำฟ้องเดิมของโจทก์ต่อไปแล้ว การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเรื่องเขตอำนาจศาลมาพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยเหตุที่โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชอบ 

ถ้อยคำของผู้ถูกจับในชั้นจับกุมรับว่าเป็นผู้ดูแลและเฝ้าของกลางเมทแอมเฟตามีนโดยได้รับค่าจ้างรายวันและยาเสพติดอีกจำนวนหนึ่ง จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 8569/2561 

จำเลยทั้งสามให้การไว้ในบันทึกการตรวจค้น/จับกุมรับว่าเป็นผู้ดูแลและเฝ้าของกลางเมทแอมเฟตามีนโดยได้รับค่าจ้างรายวันและยาเสพติดอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ถ้อยคำนี้ถือว่าเป็นถ้อยคำอื่นที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสามได้ เมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ซึ่งปรากฏในบันทึกการตรวจค้นจับกุมว่าได้มีการแจ้งสิทธิดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสามแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้เพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีมิใช่การรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ และห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/1 

โจทก์ฟ้องจำเลยและศาลพิพากษาลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธฯปืน ไปแล้ว โจทก์จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น (จำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานโดยมีเจตนาเพื่อฆ่าผู้อื่น) ได้อีกหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2594/2562 

ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 กับความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้ไฟ และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 เป็นความผิดคนละประเภทกันและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกันโดยอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ นอกจากนี้ยังเป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับ ซึ่งมีองค์ประกอบแห่งความผิดแตกต่างกันและเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวทั้งเจตนาในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกันสามารถแยกเจตนาในการกระทำความผิดออกจากกันได้ ดังนั้นแม้จำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวโดยเจตนาเพื่อฆ่าผู้อื่นก็ตาม  การกระทำของจำเลยเป็นคนละกรรมกัน ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 กรณีจึงไม่ใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แล้วโจทก์นำการกระทำกรรมเดียวกันนั้นมาแยกฟ้องเป็น 2 คดี โจทก์ย่อมมีอำนาจแยกฟ้องเป็นคนละคดีได้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยและศาลมีคำพิพากษา ลงโทษพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ไปแล้ว คดีย่อมเสร็จเด็ดขาดไปเฉพาะกระทงความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เท่านั้น ส่วนกระทงความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ยังหาได้มีการวินิจฉัยในเนื้อหาความผิดแต่อย่างใด จะถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็จขาดในความผิดฐานนี้ไปแล้วหาได้ไม่ โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นคดีนี้ได้อีก ไม่เป็นฟ้องซ้ำ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(4) 

ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ข้อเท็จจริงทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจด้วยการปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้พ้นจากการจับกุม ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 8623/2561 

จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วยการปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้พ้นจากการจับกุม เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดแยกได้ต่างหากจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากคำฟ้องที่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงานก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานแล้ว เพราะในการกระทำนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันกระทำหรือต่างกระทำความผิดเพียงลำพัง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนก็ย่อมถูกลงโทษ เป็นแต่จะลงโทษได้เต็มคำขอของโจทก์หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณานั้น ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง 

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานลักทรัพย์ จำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับ 9,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โจทก์จะฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำเลย ได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 8395/2561 

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 9,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะรอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง อันเป็นการแก้ไขมาก แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7  พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกิน 2 ปี ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำเลยทั้งสอง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว