คลังเก็บป้ายกำกับ: กม.ลักษณะพยาน

โจทก์กล่าวอ้างว่าที่ดินและหุ้นซึ่งมีชื่อบุคคลอื่นอันเป็นเจ้าของทางทะเบียนนั้นเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการทำมาหาได้ร่วมกันก็ดี เป็นสินสมรสก็ดี ภาระการพิสูจน์ถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันหรือเป็นสินสมรสตกแก่คู่ความฝ่ายใด

คำพิพากษาฎีกาที่ 252/2562  

การแต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยาของ จ. กับ อ.เป็นการอยู่กินกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส อ. จึงมิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ จ. ต่อมาภายหลังได้แยกกันอยู่โดยการใช้ชีวิตประจำวันของ อ. อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วน จ. 

ประกอบธุรกิจและพักอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร การที่โจทก์อ้างว่าที่ดินและหุ้นพิพาทของ จ. เป็นทรัพย์สินที่ อ. ทำมาหาได้ร่วมกันกับ จ. โดยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างสามีภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ต้องได้ความว่า สามีภริยาต่างมีส่วนร่วมกันในการทำมาหาได้ในทรัพย์สินนั้นด้วยกัน หาใช่ว่าทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ถือว่าสามีภริยาต่างมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นคนละครึ่งหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากเรื่องของสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะกฎหมายบัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินอันสามีภริยาได้มาระหว่างสมรสว่าเป็นสินสมรส โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้ให้เห็นการมีส่วนร่วมในการทำมาหาได้ของ อ. ด้วย  

กองบัญชาการตำรวจสันติบาลซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหนังสือตอบให้ศาลทราบว่า ทำการตรวจสอบค้นหาเอกสารการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยของ จ. แล้วปรากฏว่าไม่พบเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด และไม่มีหลักฐานว่าอยู่ที่ใด เนื่องจากเอกสารดังกล่าวมีอายุกว่า 40 ปี ซึ่งในห้วงเวลานั้นมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและย้ายที่ทำการหลายครั้ง เชื่อว่าอาจชำรุดหรือสูญหายในระหว่างขนย้าย กรณีดังกล่าวจึงเข้าหลักเกณฑ์ของ ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาเอกสารได้  

ทรัพย์พิพาทในส่วนที่เป็นที่ดินมีชื่อ จ. เป็นเจ้าของโฉนดที่ดินจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1373 ประกอบกับการที่ จ. มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 จำเลยจึงได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากข้อสันนิษฐานที่เป็นคุณว่า จ. เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์รวมทั้งในส่วนที่เป็นหุ้นพิพาทก็มีชื่อ จ. เป็นเจ้าของหุ้นตามทะเบียนหุ้น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าหุ้นพิพาทเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการทำมาหาได้ร่วมกันระหว่าง จ. กับ อ. ส่วนจำเลยให้การปฏิเสธภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์เช่นกัน 

คำพิพากษาฎีกาที่ 2851/2561 

ผู้ร้องสอดเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำร้องของตนว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องสอด จำเลยให้การปฏิเสธว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย ผู้ร้องสอดจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริง 

นั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 และโฉนดที่ดินพิพาทเป็นเอกสารมหาชนมีชื่อผู้ตายเป็นเจ้าของ ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร ผู้ร้องสอดจึงต้องนำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อให้เป็นไปตามภาระการพิสูจน์ 

และต้องหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวด้วย  

เหตุที่ผู้ตายมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเพียงผู้เดียว เนื่องจากผู้ตายได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากบิดามารดา ผู้ตายครอบครองทำประโยชน์มากกว่า 40 ปี ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ผู้ตายอยู่กินและจดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องสอด ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ตอนสมรส เป็นสินส่วนตัวของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) แม้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ตายหลังจากผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องสอดแล้ว ก็ไม่มีผลทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกลับกลายเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายได้มาในระหว่างสมรสอันจะเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย ผู้ตายจึงมีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยได้ 

คำพิพากษาฎีกาที่ 1036/2561 

สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทลงลายมือชื่อและประทับตราสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ป.วิ.แพ่งมาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร ทั้งให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้ในนั้นทุกประการ ตามป.พ.พ.มาตรา 1024 เมื่อสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นระบุว่าจำเลยที่ 3 ถือหุ้น 2,250 หุ้นตามจำนวนที่โจทก์อ้างว่าซื้อจากจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่เป็นจริงหรือไม่มีอยู่หรือความจริงเป็นเช่นใด ซึ่งเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าจำเลยที่ 3 ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 เพียง 250 หุ้น มิใช่ 2,250 หุ้น ตามที่ปรากฎในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นนั้น 

พินัยกรรมระบุรายการทรัพย์สินแต่เพียงบ้าน โดยไม่ระบุถึงที่ดินที่บ้านตั้งอยู่ ผู้รับพินัยกรรมมีสิทธินำพยานมาสืบถึงความประสงค์ของผู้ตายว่า มีเจตนายกบ้านพร้อมที่ดินให้แก่ผู้รับพินัยกรรมด้วยหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2850/2561 

ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่จำเลยโดยระบุรายการทรัพย์สินแต่เพียงบ้าน รถยนต์ และเงินฝาก โดยไม่ระบุถึงที่ดินที่บ้านตั้งอยู่ บ้านจะหมายความรวมถึงที่ดินพิพาทที่บ้านตั้งอยู่ด้วยหรือไม่ เป็นกรณีที่ความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมอาจตีความได้เป็นหลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุด ตามป.พ.พ.มาตรา 1684 จำเลยย่อมมีสิทธินำพยานมาสืบถึงความประสงค์ของผู้ตายได้ ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ซึ่งต้องห้ามตามป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 

การนำสืบว่า ผู้ประกอบธุรกิจมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระหนี้ ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมายตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำสืบด้วยพยานบุคคลโดยไม่นำหนังสือทวงถามมาแสดงต่อศาลได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 4573/2561  

ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดว่า ในการเรียกให้ชำระหนี้และติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีหนังสือแจ้งเตือนผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระหนี้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้ปฏิบัติตาม ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่บทบัญญัติของกฎหมายที่ ป.วิ.พ.มาตรา 94 บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โดยห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดงเมื่อโจทก์นำสืบโดยมี ย. ผู้มอบอำนาจช่วงจากโจทก์เบิกความว่า จำเลยเป็นหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อพร้อมใช้ตามสำเนาใบแจ้งยอดบัญชี โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยชอบ และครบกำหนดจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลย แม้โจทก์มิได้นำหนังสือทวงถามมาแสดงต่อศาล ก็รับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 94 (ก) หรือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 

หนังสือมอบอำนาจมิได้ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนจะนำพยานบุคคลมาสืบว่า ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจยื่นฟ้องต่อศาลหรือมีสิทธิดำเนินคดีแทนผู้มอบอำนาจ ได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2359/2561 

การมอบอำนาจให้บุคคลใดเป็นผู้แทนตนในคดีต้องทำหนังสือตามนัยแห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 60 วรรคสอง และมาตรา 801 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. บัญญัติว่า ถ้าตัวแทนได้มอบอำนาจทั่วไป ท่านว่าจะทำกิจใด ๆ ในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่างและวรรคสองบัญญัติว่า แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่คือ …(5) ยื่นฟ้องต่อศาล…อันเป็นบทกฎหมายจำกัดอำนาจของตัวแทนทั่วไปที่ว่าไม่มีอำนาจยื่นฟ้องคดีต่อศาล เว้นแต่จะได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจากตัวการส่วนหนึ่ง 

โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจและคำแปล ซึ่งเมื่อพิจารณาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ระบุข้อความในการมอบอำนาจแต่เพียงว่า บ. มีสิทธิในการลงนามเอกสารดำเนินการทั้งหมดของบริษัทสาขาทั้งภายในและภายนอกอันมีลักษณะเป็นการมอบอำนาจโดยไม่ระบุกิจการ โดยมิได้ระบุให้ บ. มีอำนาจยื่นฟ้องต่อศาล จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปตามป.พ.พ. มาตรา 801 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะมี บ.มาเบิกความยืนยันว่าตามหนังสือมอบอำนาจพยานมีสิทธิดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ ก็เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขพยานเอกสาร ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94(ข)