คลังเก็บหมวดหมู่: แรงงาน

ประเด็น : ลูกจ้างได้รับค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมแล้ว ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2546/2560 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กับ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 กำหนดการเยียวยาแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไว้แตกต่างกันและเป็นกฎหมายคนละฉบับ กล่าวคือถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวมทั้งเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับนายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวได้ ตามมาตรา 123 และมาตรา 124 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าการเลิกจ้างของนายจ้างนั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 และมาตรา 123 หรือไม่ เพราะหากการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมด้วยก็ไม่ตัดสิทธิลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงานสัมพันธ์เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 124 และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจวินิจฉัยออกคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหายหรือให้นายจ้างปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควรตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 125 และมาตรา 41(4) ทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมายอื่น ดังนั้น การที่ลูกจ้างทั้งสิบของโจทก์นำเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันไปร้องทั้งต่อพนักงานตรวจแรงงานและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จึงไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อน ทั้งยังไม่อาจถือได้ว่าลูกล้างทั้งสิบสละสิทธิหรือไม่ถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของจำเลย

ประเด็น : ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเพราะเกี่ยวข้องกับการแจ้งข้อเรียกร้อง หรือเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน หรือเป็นสมาชิกสหภาพ ถ้าได้รับค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมอีก

คำพิพากษาฎีกาที่ 4094/2561 การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม หรือจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น แม้บทบัญญัติของพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 จะกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้แตกต่างกันและเป็นกฎหมายต่างฉบับกันก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างในการได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยผู้เป็นนายจ้างเช่นเดียวกัน สำหรับกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือศาลแรงงานกลางไม่เห็นสมควรให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานอีก เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการที่จำเลยกระทำการอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121(2) และภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลาง จำเลยได้วางเงินเพื่อชำระค่าเสียหายให้โจทก์รับไปแล้วซึ่งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยเป็นคดีนี้ก็เป็นค่าเสียหายที่มาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างของจำเลยในคราวเดียวกันเมื่อโจทก์เข้ารับเอาเงินแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายในคดีนี้อีก

——————————

สอบถาม/สมัครเรียนได้ที่…
LINE Official : @Smartlawtutor
หรือคลิ้ก https://lin.ee/C7fWn1q
โทร.086-987-5678 (09.00-24.00 น. ทุกวัน)

ประเด็น : ลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน แม้จะได้รับเงินจากการประกันภัย ลูกจ้างยังคงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง/สนง.ประกันสังคมด้วย

ฎ.5788/2530 บริษัท ส. นายจ้างเดิมของ พ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันบริษัทจำเลยที่ 2 นายจ้างคนใหม่ของ พ.ได้เอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลให้แก่ พ.กรมธรรม์ประกันภัยมิได้มีข้อความกำหนดว่าต้องเป็นอุบัติเหตุอัน เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างแต่เพียงประการเดียวแม้ลูกจ้างผู้เอาประกันภัยจะประสบอันตรายโดยมิได้เกิด ขึ้นจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างบริษัทประกันภัยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาแม้บริษัท ส.จะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันก็เป็นเพียงการให้สวัสดิการเพื่อบำรุงขวัญและเป็นกำลังใจในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของ พ. เท่านั้นค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ พ.ได้รับจากบริษัทประกันภัยจึงมิใช่เป็นเงินทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของบริษัทจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง

.

กรณีที่นายจ้างได้เอาประกันการจ่ายเงินทดแทนไว้กับบริษัทประกันภัยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประเภท ขนาดของกิจการและท้องที่ที่ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ฉบับที่ 13 ข้อ 4 นั้น เป็นกรณีที่นายจ้างได้เอาประกันไว้แล้วไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนสำหรับลูกจ้างที่เอาประกันไว้เท่านั้น หาได้กำหนดว่าเงินที่เอาประกันภัยเป็นเงินทดแทนไม่

…………………

ฎ.1964/2547 โจทก์เป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตาม พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ และในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ประสบภัยจากรถจึงเป็นผู้รับประโยชน์ที่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ส่วนบริษัท ศ. ซึ่งเป็นนายจ้างโจทก์จะมีสิทธิขอรับเงินทดแทนต่อจำเลยได้ก็แต่เฉพาะที่ได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนไปก่อน แล้วขอรับเงินทดแทนที่ได้ทดรองจ่ายไปนั้นคืนจากจำเลยตาม พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ มาตรา 25 เท่านั้น และแม้บริษัท ศ. จะเป็นผู้เอาประกันภัยรถโดยสารและประสบอุบัติเหตุ แต่บริษัทดังกล่าวก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ เพราะมิใช่ผู้ประสบภัยจากรถ การที่บริษัท ศ. จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนแล้วมาขอรับเงินที่จ่ายไปคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัยนั้น เป็นการทดรองจ่ายแทนบริษัทผู้รับประกันภัยในฐานะผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่ทดรองจ่ายแทนจำเลยในฐานะนายจ้าง ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ มาตรา 25 จึงไม่มีสิทธิมาขอรับเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลย กับเมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายเงินคืนให้แก่บริษัท ศ. ไปแล้วย่อมทำให้สิทธิที่จะเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวของบริษัท ศ. ระงับสิ้นลงแล้วไม่อาจสละสิทธิในเงินจำนวนดังกล่าวนี้ได้ ประกอบกับ พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ มาตรา 7 บัญญัติว่า การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตาม พ.ร.บ. นี้ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมายอื่น ดังนี้ แม้บริษัท ศ. จะทำหนังสือสละสิทธิไปยังจำเลยก็ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิที่โจทก์จะพึงได้รับในฐานะผู้ประสบอันตรายตาม พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ แต่ประการใด

ประเด็น : ลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานจนถึงแก่ความตาย บุตรของลูกจ้างที่มีอายุ 21 ปี ไม่มีสิทธิรับเงินทดแทน

พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537

มาตรา 20 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(3) บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนต่อไปจนกว่าจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี

(3/1) บุตรมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไปที่อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจนกว่าจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี (แก้ไขเพิ่มเติมปี 2561)

(4) บุตรมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีและทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย

*ฎ.3595/2561 ขณะลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตาย บุตรลูกจ้างอายุ 21 ปี จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน

ประเด็น : นายจ้างใช้ลูกจ้างไปส่งเอกสาร ลูกจ้างส่งเอกสารเสร็จแล้วแต่ประสบอันตรายระหว่างเดินทางกลับบ้าน แม้ยังอยู่ในเวลาทำงาน ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน

*ฎ.3880/2560 ลูกจ้างเป็นพนักงานรับส่งเอกสาร แม้ขณะเกิดเหตุอยู่ในช่วงระยะเวลาทำงานก็ตาม แต่เมื่อลูกจ้างได้ไปรับหนังสือรับรองภาษีฯ ซึ่งเป็นงานชิ้นสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว ถือได้ว่าการทำงานในหน้าที่ของลูกจ้างให้แก่นายจ้างเสร็จสิ้นลงทันที การเดินทางกลับบ้านภายหลังจากเสร็จสิ้นการทำงานไม่ได้อยู่ภายใต้คำสั่งหรือการควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้างอีก จึงถือไม่ได้ว่าการตายของลูกจ้างเกิดเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง

ประเด็น !!! กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานหรือสูญหายในระหว่างการทำงาน “บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ของลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทน (พ.ร.บ.เงินทดแทน มาตรา 20

1. บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนต่อไปจนกว่าจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี
2. บุตรมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไปที่อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจนกว่าจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี
3.บุตรมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีและทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย
4.บุตรของลูกจ้างซึ่งเกิดภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือวันที่เกิดเหตุสูญหายมีสิทธิได้รับเงินทดแทนนับแต่วันคลอด —-
คำพิพากษาฎีกาที่ 11837-11838/2556 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างคือ (3) บุตร…. (4) บุตร…. เป็นบทบัญญัติที่ถือเอาอายุ การศึกษา และความทุพพลภาพเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน โดยไม่ได้บัญญัติว่าต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) (4) จึงต้องถือเอาความเป็นบุตรตามความเป็นจริง

การบรรยายเนติฯ วิชากฎหมายแรงงาน ข้อ 8 ครั้งแรก ท่านอาจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ ได้พูดถึงประเด็นและคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจไว้ดังนี้

ข้อตกลงใดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่ตกลงขัดกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อตกลงนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ทั้งนี้หากเป็นการตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างภายหลังสัญญาจ้างได้สิ้นสุดลงแล้ว ถึงแม้ว่าข้อตกลงจะขัดกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ข้อตกลงนั้นก็ไม่เป็นโมฆะ

.

คำพิพากษาฎีกาที่ 1977/2557 แม้สิทธิเรียกร้องค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุด และค่าทำงานเกินเวลาในวันหยุด เป็นสิทธิเรียกร้องที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม เมื่อนายจ้างและลูกจ้างทำข้อตกลงเกี่ยวกับเงินดังกล่าวและบังคับข้อตกลงเกิดขึ้นหลังจากลูกจ้างออกจากงานพ้นจากการเป็นลูกจ้างของนายจ้างแล้ว ลูกจ้างย่อมมีอิสระแก่ตนพ้นพันธกรณีและอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างโดยสิ้นเชิง การสละสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ไม่เป็นโมฆะ…

การบรรยายเนติฯ วิชากฎหมายแรงงาน ครั้งที่ 2 ท่านอาจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ ได้พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 “สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี”

ซึ่งมีคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจดังนี้

.

 ฎ.7810/2560 ข้อตกลงอันเป็นลักษณะข้อห้ามของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างก็เพื่อปกป้องข้อมูลความลับและธุรกิจการค้าของโจทก์ให้อยู่รอดดำเนินการต่อไปได้ มุ่งเฉพาะสิ่งที่เป็นการแข่งขันในการประกอบธุรกิจการค้าในลักษณะประเภทเดียวกับโจทก์และมีกำหนดระยะเวลา มิใช่ห้ามตลอดไป เป็นข้อตกลงหรือสัญญาที่กระทำได้โดยชอบ แต่จำเลย (ลูกจ้าง) มีตำแหน่งเพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 13,000 บาท การที่โจทก์กำหนดระยะเวลาห้ามไว้ถึง 2 ปี เป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระมากกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงให้มีผลบังคับได้เพียง 1 ปี เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1

 ฎ.3580/2561 สัญญาจ้างที่จำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของจำเลย (ลูกจ้าง) ที่เป็นการแข่งขันกับโจทก์ (นายจ้าง) เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่จำเลยซึ่งเป็นเพียงพนักงานธุรการประสานงานขายพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์นั้น นับว่าทำให้จำเลยผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงเห็นสมควรให้มีผลบังคับได้เพียง 1 ปี เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี

บริษัททำสัญญาจ้างโจทก์ให้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับลูกค้าชาวต่างชาติในโครงการหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าต้องเริ่มทำงานเวลาใดถึงเวลาใด สามารถสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่โครงการอื่นได้ โจทก์หยุดงานได้ตามอำเภอใจไม่ได้ ได้รับเงินเป็นรายเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานในจำนวนเท่ากันทุกเดือน ได้รับสิทธิ สวัสดิการอื่นเหมือนลูกจ้างคนอื่นของจำเลย ถือว่าเป็นนายจ้างลูกจ้างกันตามสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่

พระราชบัญญัติคุ้มครองเเรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 5 วางหลักว่า
“นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง
(1) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง
(2) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย
“ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

“สัญญาจ้าง” หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

ประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์

มาตรา 575 วางหลักว่า อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

การที่โจทก์ได้รับมอบหมายจากจำเลยให้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับลูกค้าของจำเลยซึ่งเป็นชาวต่างชาติ เเม้ไม่ปรากฏว่าต้องเริ่มงานเวลาใดถึงเวลาใดก็ตาม เเต่จำเลยก็มีอำนาจสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่โครงการอื่นได้ ไม่เฉพาะติดต่อกับชาวต่างชาติคนนั้นเท่านั้น เเละโจทก์ยังไม่อาจหยุดงานได้ตามอำเภอใจ เเต่ต้องเเจ้งให้กรรมการจำเลยทราบก่อน ย่อมเห็นได้ว่า โจทก์ต้องทำงานอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลย ไม่ได้มีอิสระในการทำงานเเต่อย่างใด

อีกทั้งจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นรายเดือน ซึ่งเป็นเงินจำนวนเเน่นอนเท่ากันทุกเดือนเพื่อตอบการทำงาน โดยไม่ได้คำนึงถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ นอกจากนั้นโจทก์ยังมีสิทธิได้รับสิทธิเเละสวัสดิการต่างๆจากจำเลย

เห็นได้ว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้นเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์ มาตรา 575 และดังนั้น โจทก์เเละจำเลยจึงเป็นนายจ้างลูกจ้างกันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

คำพิพากษาฎีกาที่ 1468/2562 โจทก์ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับลูกค้าชาวต่างชาติชื่อนายดาเร็น แม้ไม่ปรากฎว่าต้องเริ่มทำงานเวลาใดถึงเวลาใด แต่ทางปฏิบัติเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์ต้องมาดูแลและอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา และจำเลยยังอาจสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่โครงการอื่นได้ ไม่เฉพาะแต่งานก่อสร้างรายนายดาเร็นเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากโจทก์เริ่มทำงานกับจำเลยในโครงการชื่ออินฟินิตี้ก่อนที่จะมีการสร้างบ้านนายดาเร็น แม้บ้านนายดาเร็นจะสร้างเสร็จแล้ว โจทก์ก็ยังคงทำงานอยู่ต่อ ส่วนการลาหยุดได้ความว่า กรณีโจทก์ป่วย โจทก์ต้องโทรศัพท์แจ้งให้กรรมการของจำเลยทราบก่อน โดยโจทก์ไม่อาจหยุดงานได้ตามอำเภอ ทั้งจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นรายเดือนมีจำนวนแน่นอนเท่ากันทุกเดือน มีลักษณะเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน ไม่ได้คำนึงถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ และจ่ายให้ตลอดระยะเวลาที่โจทก์ทำงาน ทั้งโจทก์ได้รับสิทธิ สวัสดิการต่างๆ เหมือนพนักงานลูกจ้างคนอื่นของจำเลย เท่ากับโจทก์ปฏิบัติงานไม่เป็นอิสระแต่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลย จำเลยมีอำนาจสั่งให้โจทก์ไปทำงานที่โครงการอื่นของจำเลยได้ แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างเคร่งครัด แต่การที่โจทก์จะหยุดงานต้องแจ้งให้กรรมการของจำเลยทราบก่อน เช่นนี้ โจทก์จึงไม่ได้มีอิสระในการทำงาน สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5