คลังเก็บหมวดหมู่: วิแพ่ง ภาค 1

การยื่นคําร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอ้างว่าการส่ง หมายนัดฟังคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นหลังศาลมีคําพิพากษาแล้ว ต้องยื่นไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น หรือไม่

คําพิพากษาฎีกที่ 3391/2562 

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อมีการดําเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลมีอํานาจยกขึ้นพิจารณาได้เอง หรือคู่ความฝ่ายที่เสียหายมีอํานาจยื่นคําร้องขอให้เพิกถอน เสียได้ ส่วนระยะเวลาในการยื่นคําร้องนั้นบทบัญญัติดังกล่าววรรคสอง กําหนดให้คู่ความฝ่ายที่ เสียหายต้องยื่นไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้าง นั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดําเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ ซึ่งระยะเวลาที่กฎหมายกําหนดไว้นี้ใช้บังคับแก่การยื่นคําร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทุกกรณี ไม่ว่าจะอยู่ในระหว่าง พิจารณาหรือหลังจากศาลมีคําพิพากษาแล้ว ไม่ใช่ว่าใช้บังคับเฉพาะกรณีขอให้เพิกถอน กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบก่อนมีคําพิพากษา 

โจทก์ทราบผลคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 เมื่อเจ้าพนักงานเดินหมายส่งคําบังคับ ให้โจทก์ทราบ แสดงว่าโจทก์ทราบแล้วว่าศาลชั้นต้นอ่านคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แล้ว (พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจําเลย) จึงมีการออก คําบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 โจทก์ชอบที่จะตรวจสอบและทราบ ข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างที่ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตามคําร้องได้นับแต่นั้น และโจทก์นําเงินค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนอีกฝ่ายหนึ่งตาม คําพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 มาวางศาล ถือได้ว่าโจทก์ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็น มูลแห่งข้ออ้างในเรื่องผิดระเบียบตั้งแต่โจทก์ได้รับคําบังคับหรืออย่างช้าภายในวันที่โจทก์นําเงิน มาวางศาล แต่โจทก์ยื่นคําร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ล่วงเลยเวลาที่ กฎหมายกําหนดโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะยื่นคําร้องได้ คําร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนกระบวน พิจารณาที่ผิดระเบียบจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง 

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จําเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ภายหลังจากโจทก์จําเลยแถลงหมดพยานแล้ว ศาลสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่พิพาท ปรากฏว่าทางพิพาทบางส่วนอยู่ในที่ดินโฉนดอื่นของจําเลยด้วย ดังนี้ โจทก์จะขอแก้ไขคําฟ้อง ว่าทางพิพาทบางส่วนอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่นอกจากที่ระบุในคําฟ้องเดิมได้หรือไม่ และบุคคลภายนอกที่ใช้ทางพิพาทเป็นเส้นทางเดียวกับที่โจทก์ใช้ผ่านที่ดินจําเลยจะร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 5244 – 5245/2562 

โจทก์ยื่นคําฟ้องโดยเข้าใจว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7665 ของจําเลย แต่เพียงแปลงเดียว แต่เมื่อโจทก์จําเลยแถลงหมดพยานแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปัตตานี ทำแผนที่พิพาท ปรากฏว่านอกจากทางพิพาทซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในที่ดิน จําเลยโฉนดเลขที่ 7665 แล้ว ยังมีทางพิพาทบางส่วนอยู่ในที่ดินของจําเลยโฉนดเลขที่ 7666 และโฉนดเลขที่ 7667 ด้วย โจทก์จึงยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องว่าทางพิพาทบางส่วนอยู่ในที่ดินของจําเลยโฉนดเลขที่ 7666 และ 7667 ด้วยเพื่อให้ตรงกับความเป็นจริง และหลังจากนั้นศาลชั้นต้นยังได้สืบพยานเจ้าพนักงานที่ดินผู้ทําแผนที่พิพาท อีกปากหนึ่ง ดังนี้เห็นได้ว่า โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าทางพิพาทบางส่วนอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7666 และโฉนดเลขที่ 7667 ด้วย จึงเป็นกรณีที่มีเหตุสมควรที่โจทก์ไม่อาจยื่นคําร้อง ได้ก่อนนั้น เมื่อมีการขอแก้คําฟ้องในระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา โจทก์จึงขอแก้ไขคําฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 

ผู้ร้องยื่นคําร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7670, และโฉนดเลขที่ 7671 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 7669  ไปทางทิศตะวันออก โดยผู้ร้องซื้อที่ดินดังกล่าว มาจาก ส. และ ส. ได้ใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินจําเลยในโฉนดเลขที่ 7665 ออกสู่ถนน สาธารณะสายปากน้ำเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนา เป็นเจ้าของทางมาตั้งแต่ปี 2518 จนกระทั่ง ส. ขายให้ผู้ร้อง และเมื่อผู้ร้องซื้อที่ดินดังกล่าวมาแล้วก็ได้ใช้ทางพิพาทสืบสิทธิจากเจ้าของเดิมเรื่อยมาโดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของทางเช่นกัน โดยทางพิพาทเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางที่โจทก์ใช้ผ่านที่ดินจําเลย ทั้งทางพิพาทต้นทางส่วนที่ติดกับถนนสายปากน้ำถึงที่ดินผู้ร้อง ทับซ้อนกับทางพิพาทที่โจทก์อ้างว่าได้ภาระจำยอมโดยอายุความอยู่ด้วย ดังนี้ ตามคําร้องของผู้ร้องดังกล่าวแปลได้ว่าผู้ร้องสมัครใจเข้ามาในคดีเพราะเห็นว่าเป็นความจําเป็นเพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่เช่นเดียวกับโจทก์ และเกี่ยวเนื่องด้วยกับการบังคับคดีตามคําพิพากษา ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีได้ 

คดีนี้จําเลยได้นําพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างข้ออ้างของผู้ร้องได้อย่างเต็มที่ ไม่ได้ทำให้ฝ่ายจําเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด ส่วนทางพิพาทที่ผู้ร้องใช้ทับซ้อนกับทางพิพาทที่โจทก์ ใช้นั้นหากในอนาคตผู้ร้องไม่ได้เข้ามาในคดีอาจจะมีข้อพิพาทกับโจทก์ในการใช้ทางพิพาทได้ ผู้ร้องมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีได้ 

กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำกัดยักยอกทรัพย์ของบริษัท (คดีความผิดต่อส่วนตัว) ผู้ถือหุ้นในฐานะกรรมการคนหนึ่งไปแจ้งความร้องทุกข์ แต่ต่อมาได้ไปถอนคำร้องทุกข์ ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของบริษัทจำกัดระงับไปหรือไม่

ฎ.115/2535 กรณีความผิดที่ได้กระทำต่อนิติบุคคลซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (3) บัญญัติให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลเป็นผู้ฟ้องคดีแทนนั้น ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ เหล่านั้นกลับเป็นผู้กระทำผิดต่อนิติบุคคลนั้นเสียเองก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าผู้กระทำผิดจะไม่ฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเพื่อกล่าวหาตนเอง เมื่อเป็นดังนี้ บรรดาผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นซึ่งมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหาย ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 ก็บัญญัติไว้ว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดี ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งฟ้องคดีได้ ดังนี้ โดยนิตินัยย่อมถือว่า ป. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ เป็นผู้เสียหายจึงมีสิทธิฟ้องคดีอาญาหรือแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (2), 123 ประกอบด้วยมาตรา 2 (4) เมื่อ ป. ในฐานะกรรมการของโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันยักยอกทรัพย์ของโจทก์แต่ต่อมา ป. ได้ถอนคำร้องทุกข์นั้นแล้ว ดังนั้นไม่ว่า ป.จะดำเนินการดังกล่าวทั้งหมดในฐานะกระทำการแทนโจทก์หรือในฐานะผู้ถือหุ้น สิทธิที่โจทก์จะนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) (คำพิพากษาฎีกาที่ 1680/2520 วินิจฉัยเช่นกัน) 

คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่า หากโจทก์ยึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ดังนี้ คู่ความจะตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันใหม่ว่า หากยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน และขอให้ศาลพิพากษาตามยอม ได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกที่ 2628/2558 

การทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลนั้น คู่ความจะตกลงกันเป็นประการใดก็ได้ แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะไม่ได้ระบุว่าหากโจทก์ยึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยืดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนก็ตาม คู่ความก็สามารถที่จะตกลงกันใหม่ได้ว่าหากยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาตัดสินคดีเกินคำขอท้ายฟ้อง 

คำพิพากษาฎีกที่ 5478/2553 

แม้ตามคำฟ้องในคดีแพ่งโจทกจะฟ้องขอให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง หากยดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ยอมให้ยรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดได้ก็ตาม แต่เมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความกลับระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 6 ว่า หากจำเลยทั้งสามผิดนัดชำระหนี้ข้อ 2 และข้อ 3 งวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีตามข้อ 1 และให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องได้ทันทีและระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 ว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามยินยอมตามข้อ อถึงข้อ 6 ทุกประการ โดยไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นใดอีก โดยไม่ปรากฏข้อความในสัญญาประนี้ประนอมยอมความว่า หากบังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้โจทกก็ห้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ด้วย ดังนี้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามประสงค์จะบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองตามฟ้อง (สามแปลง) เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ หนี้ของจำเลยทั้งสามตามคำพิพากษาโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามได้อีกโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง 

เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินกับจำเลยซึ่งตกเป็นภาระจำยอม หากการบังคับคดีมีปัญหาอันเนื่องจากโจทก์และจำเลยแปลความคำพิพากษาแตกต่างกันจะร้องสอดเข้าเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกที่ 3726/2553 

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านในคดีนี้หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดที่ 33998 เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการบังคับคดีและคำสั่งของศาลชั้นต้น ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ 

เห็นว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินซึ่งตเป็นภาระจำยอมและถูกบังคับคดีในคดีนี้ เมื่อการบังคับคดีมีปัญหาอันเนื่องจากโจทก์และจำเลยแปลความคำพิพากษาแตกต่างกันจำเลยและผู้ร้องเห็นว่าการบังคับคดีไม่ถูกต้องตามคำพิพากษา ทำให้จำเลยและผู้ร้องเสียหายผู้ร้องย่อมใช้สิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) 

คดีแพ่งสามัญ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าสินค้าตามสัญญาซื้อขายซึ่งโจทก์จำเลยได้ตกลงกำหนดราคาสินค้ากันไว้แล้ว มีข้อตกลงชำระค่าสินค้าเป็นงวด แต่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินค้าบางส่วน จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลให้โจทก์ส่งพยานเอกสารโดยมิได้ให้โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบ ดังนี้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชอบหรือไม่

คำพิพากษาฎีกที่ 3514/2550 

จำเลยฎีกาประการแรกว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์ส่งพยานเอกสารโดยมิได้นำพยานหลักฐานมาสืบ จึงถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล ศาลชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียนั้น 

เห็นว่า ตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าสินค้าตามสัญญาซื้อขายซึ่งโจทก์จำเลยได้ตกลงกำหนดราคาสินค้ากันไว้แล้วเป็นเงินจำนวน 1,320,930 บาท ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินค้าจำนวน 971,497.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดคำนวณถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 1,033,836.87 บาท จึงเป็นกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (1) ดังนั้น แม้การซื้อขายดังกล่าวจะมีข้อตกลงชำระค่าสินค้าเป็นงวดและโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่สินค้าไม่ครบจำนวนตามสัญญาเนื่องจากจำเลยชำระค่าสินค้าบางส่วนแก่โจทก์และโจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าสินค้าก็ไม่เป็นเหตุให้คดีของโจทก์กลับกลายเป็นคดีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน การที่โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ศาลชอบที่จะรับฟังพยานเอกสารของโจทก์ดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ 

ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม โจทก์จะฎีกาว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฉ้อฉลโจทก์เพราะทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้กระทำได้ ได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 4658/2562 

โจทก์ฎีกาว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ฉ้อฉลโจทก์เพราะทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้กระทำได้ สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้ออ้างของโจทก์เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง (2)  

การตีความหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์มีสิทธิฎีกาได้ เมื่อผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่มีอำนาจ สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันโจทก์ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ชอบ  

โจทก์อุทธรณ์และฎีกาขอให้พิพากษาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะและขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ ต้องเสียขึ้นศาลชั้นอุทรรณ์และชั้นฎีกาชั้นละ 200 บาท 

ผู้ร้องยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคําสั่งให้ส่งสําเนาคําร้องขอและประกาศแจ้งวันนัดไต่สวนโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ทั้งที่ผู้ตายมีผู้จัดการมรดกตามกฎหมายและทราบที่อยู่ของผู้จัดการมรดก ดังนี้ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และคดีดังกล่าวถือเป็นคดีเกี่ยวเนื่องกับสิทธิแห่งสภาพบุคคลสิทธิในครอบครัวหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 730/2562 

 ผู้ร้องยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้จะเป็นการเริ่มต้นแบบคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 แต่คําร้องขอของผู้ร้องมีเจตนาเพื่อใช้สิทธิทางศาลเพื่อยังให้ได้รับการรับรองคุ้มครองในสิทธิของตนตามที่บัญญัติในมาตรา 55 คําร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นคําคู่ความ ตามความหมายมาตรา 1 (5) อันเป็นการโต้แย้งกับสิทธิหรือส่วนได้เสียของบุคคลที่สาม นอกจากนี้ คําร้องขอของผู้ร้องดังกล่าว ยังเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิแห่งสภาพบุคคลสิทธิในครอบครัว และสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาประกอบกับคําร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่กล่าวว่า การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องกระทบกระเทือนต่อส่วนได้เสียหรือสิทธิในการรับมรดกผู้ตายในส่วนของผู้คัดค้านและทายาทอื่นด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงตามคําร้องขอของผู้ร้องได้ 

ผู้ร้องทราบก่อนยื่นคําร้องขอแล้วว่า ผู้ตายมีผู้จัดการมรดกตามกฎหมายและทราบที่อยู่ของทายาทที่เป็นผู้จัดการมรดกด้วย จึงอยู่ในวิสัยและเงื่อนไขที่ผู้ร้องสามารถส่งสําเนาคําร้องขอและแจ้งวันนัดไต่สวนด้วยการส่งหมายนัดและสําเนาคําร้องขอโดยวิธีธรรมดาให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 72 ได้ ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะส่งคําคู่ความโดยวิธีอื่นตาม มาตรา 79 การที่ศาลชั้นต้นมีคําสั่งให้ส่งสําเนาคําร้องขอและแจ้งวันนัดไต่สวนโดยวิธีการ ประกาศหนังสือพิมพ์ย่อมทําให้ผู้คัดค้านและทายาทของ ก. ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคําร้องขอของผู้ร้องก่อนตามมาตรา 21 (2) ถือว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในการส่งคําคู่ความ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 6 

เงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ผู้อุทธรณ์หรือฎีกาต้องนำมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์หรือฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 229 หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความด้วยหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 4659/2562 

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง  โดยกำหนดค่าทนายความรวมเป็นเงิน 10,000 บาท  เมื่อโจทก์ฎีกาโจทก์จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่จำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2  ดังกล่าวมาวางศาลพร้อมกับฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 229ประกอบมาตรา 247(เดิม) แต่โจทก์ยื่นฎีกาโดยวางเงิน 10,000 บาท ซึ่งคงถือได้เป็นเพียงค่าธรรมเนียมในส่วนค่าทนายความที่ต้องแทนจำเลยทั้งสองเท่านั้น   ส่วนค่าธรรมเนียมอื่นที่ต้องใช้แทนจำเลยทั้งสอง คือค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์  20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความชั้นอุทธรณ์ 500 บาท  โจทก์ไม่นำมาวางศาลพร้อมกับฎีกาด้วยเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ครบถ้วน  จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับฎีกาได้ทันที  เพราะมิใช่กรณีโจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาไม่ครบถ้วนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 18 วรรคสอง  ที่ศาลชั้นต้นซึ่งมีหน้าที่ตรวจคำคู่ความจะต้องมีคำสั่งให้โจทก์ชำระให้ครบถ้วนเสียก่อนที่จะรับหรือไม่รับคำคู่ความ 

คดีก่อนกับคดีหลังมีคู่ความรายเดียวกัน ประเด็นข้อพิพาทเช่นเดียวกัน ต่อมาศาลชั้นต้นในคดีก่อนมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้ว ศาลชั้นต้นในคดีหลังจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้หรือไม่ การนำคดีมาฟ้องโดยมีประเด็นข้อพิพาทเป็นประเด็นเดียวกับประเด็นในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว แต่คดียังไม่ถึงที่สุด เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 9011/2560 

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทหลักเช่นเดียวกันกับคดีก่อนและมีคู่ความรายเดียวกัน แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ศาลชั้นต้นในคดีก่อนยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่ทำให้การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ก็ตาม แต่ต่อมาศาลชั้นต้นในคดีก่อนมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้ว ศาลชั้นต้นในคดีนี้ย่อมไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ เพราะจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และต้องมีคำสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาคดีนี้ต่อไปจนกว่าคำพิพากษาคดีก่อนจะถึงที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 39 วรรคหนึ่ง มิใช่พิพากษายกฟ้อง เพราะการฟ้องคดีของโจทก์มิใช่กระบวนพิจารณาที่ต้องห้ามตามกฎหมายเมื่อต่อมาคดีก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า จำเลยทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทคืนให้แก่จำเลยมิใช่เป็นการแสดงเจตนาลวง คำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีก่อนมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เท่ากับว่า สัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทคืนระหว่างโจทก์จำเลยมีผลสมบูรณ์ มิใช่นิติกรรมอำพราง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง 

คำพิพากษาฎีกาที่ 8898/2561 

คดีนี้กับคดีแพ่งของศาลชั้นต้น ต่างมีประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่ แล้วในคดีนี้จึงวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยบุกรุกและทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งเมื่อคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงต้องห้ามมิให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวซ้ำอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์ในคดีนี้และการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามบทมาตราดังกล่าว และเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีประเด็นข้อพิพาทเป็นประเด็นเดียวกันกับประเด็นในคดีดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว จึงเป็นกรณีที่เห็นได้ว่าการจะชี้ขาดตัดสินคดีนี้จำต้องอาศัยคำชี้ขาดตัดสินคดีดังกล่าวซึ่งจะต้องกระทำเสียก่อน ดังนั้น ถ้าศาลชั้นต้นได้เลื่อนการพิจารณาคดีนี้ไปจนกว่าคดีดังกล่าวจะถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 39 วรรคหนึ่ง ก็ย่อมทำให้ความยุติธรรมดำเนินไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม แม้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้มา แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่า คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นสารณะประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน คำพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยจะยกเรื่องที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินสาธารณะประโยชน์ขึ้นต่อสู้โจทก์อีกไม่ได้ และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท