คลังเก็บหมวดหมู่: ละเมิด

ประเด็น : จำเลยนำรถมาจอดทิ้งไว้ที่ศูนย์บริการหลายปี ทั้งที่คาดหมายได้ว่าโจทก์จะไม่ดำเนินการซ่อมให้อย่างแน่นอน ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ในการที่จะใช้ประโยชน์สถานที่ซึ่งจอดรถทิ้งไว้ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ (ฎ.2730/2560)

ฎีกาที่ 2730/2560 การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมไปรับรถยนต์พิพาทคืนทั้งที่อยู่ในวิสัยที่คาดหมายได้ว่า โจทก์ไม่ดำเนินการซ่อมระบบเบรกรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองอย่างแน่นอน โดยยังคงจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้บริเวณศูนย์บริการของโจทก์มาเป็นเวลาหลายปี ย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการที่จะใช้ประโยชน์ในสถานที่ที่จำเลยทั้งสองจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้ การที่โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับรถยนต์พิพาทกลับคืนไปและชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง (โจทก์เพียงแค่ผิดสัญญาจ้างทำของที่ไม่ซ่อมรถให้ตามสัญญา แต่ไม่ได้ทำให้รถของจำเลยเสียหายแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ได้ทำละเมิดต่อจำเลย)

ประเด็น : ผู้เช่าที่ดินเพื่อนำมาบริหารจัดการเป็นที่จอดรถและจัดเก็บค่าบริการ เมื่อเข้าฤดูฝนเกิดมีพายุทำให้ต้นไม้ในบริเวณที่จอดรถหักลงมาทับรถเสียหาย ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามป.พ.พ. มาตรา 434

ป.พ.พ. มาตรา 434 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย

ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 3840/2563 จำเลยทำสัญญาเช่าพื้นที่จอดรถในโรงพยาบาลซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุเพื่อบริหารจัดการและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าบริการจอดรถไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลค้ำจุนหรือตัดแต่งต้นไม้ในลานจอดรถให้มีสภาพมั่นคงเพียงพอที่จะต้านทานพายุที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลซึ่งหาได้เป็นเหตุสุดวิสัยไม่ จำเลยในฐานะผู้ครองต้นไม้ที่หักล้มลงมาทับรถยนต์ที่ ณ. ผู้เอาประกันภัยนำไปจอดไว้ได้รับความเสียหาย จึงเป็นผู้กระทำละเมิดจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434 แก่ ณ. ผู้เอาประกันภัย เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์แทนผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันซึ่งมีต่อจำเลยตามจำนวนเงินที่ชดใช้ไปนั้น

เทศบาลว่าจ้างบุคคลอื่นให้ดำเนินการเก็บขยะมูลฝอยในนามของเทศบาล หากลูกจ้างของผู้รับจ้างนั้นไปทำละเมิดในทางการที่จ้าง เทศบาลต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดหรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 
วางหลักว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 425  วางหลักว่า นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

ลูกจ้างของผู้ดำเนินการเก็บขนขยะมูลฝอย มีหน้าที่ขับรถบรรทุกเก็บขนขยะมูลฝอยของเทศบาลตามคำสั่งของเทศบาล การขับรถเก็บขนขยะของลูกจ้างจึงเป็นการทำไปตามหน้าที่ในภารกิจของเทศบาล แม้ว่าเทศบาลกับผู้ดำเนินการเก็บขนขยะมูลฝอยจะมีสัญญาหรือข้อตกลงกันอย่างไร ก็เป็นเรื่องบังคับกันในคู่สัญญาเท่านั้น ดังนี้ การที่เทศบาลว่าจ้างผู้ดำเนินการเก็บขนขยะมูลฝอย ดำเนินการเก็บขนขยะในนามของเทศบาล ย่อมถือได้ว่าเทศบาลเป็นนายจ้างของลูกจ้างด้วย เมื่อลูกจ้างขับรถบรรทุกของเทศบาลไปในทางการที่จ้างและกระทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เทศบาลจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างกระทำด้วยตามมาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2561 โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มี ช. เป็นนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช และเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุ ร. ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อปฏิบัติหน้าที่เก็บขนถ่ายขยะตามคำสั่งของจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวในคำฟ้องว่า ที่ข้างรถบรรทุกคันเกิดเหตุมีข้อความว่า เทศบาลนครนครศรีธรรมราช แต่จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการเก็บขนขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครศรีธรรมราชแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 รับว่า ร. ทำหน้าที่ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อเก็บขนขยะในนามของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เมื่อการเก็บขนขยะเป็นภารกิจของเทศบาล การขับรถเก็บขนขยะของ ร. จึงเป็นการทำไปตามหน้าที่ในภารกิจของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นการแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปว่า ร. เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และรถบรรทุกคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดำเนินการเก็บขนขยะในนามของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของ ร. ด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีสัญญาหรือข้อตกลงกับจำเลยที่ 2 อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะบังคับกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น หาได้มีผลผูกพันกับบุคคลภายนอกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสามด้วยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ร. ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสองและกระทำละเมิด จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกับ ร. รับผิดในผลแห่งละเมิดที่ ร. กระทำด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 425

อ่านเพิ่มเติม

แพทย์ตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ของหญิงเเล้วไม่พบความพิการของทารกในครรภ์ เเต่เมื่อทารกคลอดออกมากลับมีร่างกายพิการอย่างรุนเเรงจนเป็นเหตุกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจหญิง ถือว่าแพทย์กระทำละเมิดต่อหญิงหรือไม่ ?

ประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์
มาตรา 420 วางหลักว่า ผู้ใดประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่อนามัย ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

หลักเกณฑ์มาตรา 420
1. ผู้ใดกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
2. กระทำต่อบุคคลอื่น
3. การกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมาย
4. เป็นเหตุให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
5. ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

การที่แพทย์ตรวจไม่พบความพิการจึงไม่ได้เเจ้งให้มารดาทราบถึงความพิการอย่างรุนเเรงของทารกในครรภ์ ทำให้มารดาเข้าใจผิดและคาดหวังว่าทารกในครรภ์จะมีสภาพร่างกายปกติเช่นคนทั่วไป ต่อมามารดาคลอดบุตร พบว่าบุตรพิการ การที่มารดาทราบถึงความพิการของบุตรอย่างกะทันหันเป็นเหตุให้ได้รับความกระทบกระเทือนต่อจิตใจของมารดาอย่างรุนเเรง ซึ่งหากมารดาทราบถึงความพิการนั้นก่อน ย่อมมีโอกาสในการตัดสินว่าจะแก้ไขเยียวยาหรือจะทำใจยอมรับกับเหตุการณ์ดังกล่าว การกระทำของแพทย์จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้มารดาได้รับความเสียหายทางด้านจิตใจซึ่งเป็นความเสียหายแก่อนามัย อันเป็นการกระทำละเมิดตามป.พ.พ. มาตรา 420 แพทย์ผู้ทำละเมิดจึงจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9042/2560 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นแพทย์ร่วมกันตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ไม่พบความพิการของโจทก์ที่ 2 และไม่ได้แจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนด้วยภาษาที่โจทก์ที่ 1 จะเข้าใจได้ ทั้ง ๆ ที่สภาพร่างกายทารกในครรภ์ของโจทก์ที่ 1 มีความพิการอย่างรุนเเรงย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 เข้าใจผิดและคาดหวังว่าทารกในครรภ์มีสภาพร่างกายปกติเช่นคนทั่วไป ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 เสียโอกาสในการตัดสินใจว่าจะหาทางแก้ไข เยียวยา หรือดำเนินการเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และหากโจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนจากจำเลยที่ 3 เสียแต่แรกและทราบว่าความพิการของทารกไม่อาจแก้ไขได้ โจทก์ที่ 1 ก็ย่อมมีโอกาสเตรียมใจยอมรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนการคลอดโจทก์ที่ 2 อันจะเกิดผลดีแก่สภาพจิตใจของโจทก์ที่ 1 มากกว่าจะรู้ถึงความพิการของโจทก์ที่ 2 โดยกะทันหันอันเป็นเหตุให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจโจทก์ที่ 1 อย่างรุนแรง จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายทางด้านจิตใจ ซึ่งเป็นความเสียหายแก่อนามัย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 แพทย์เจ้าของไข้ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมอบหมายให้จำเลยที่ 3 ร่วมในการตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ที่ 1 ด้วย

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจัยว่าแพทย์กระทำโดยประมาทเลินเล่อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15067/2557

แม้อาการป่วยของโจทก์จะเกิดขึ้นจากความผิดปกติในร่างกายของโจทก์เอง โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นหรือกระทำการใด ๆ ให้โจทก์เกิดโรคมะเร็งก็ตาม แต่การแจ้งผลการตรวจผิดพลาดทำให้อาการโรคมะเร็งไตของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ อีกโดยตามใบมรณบัตรยังระบุว่าโรคมะเร็งของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังสมองเป็นเหตุให้โจทก์ถึงแก่ความตายในที่สุด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชน จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2549 โจทก์ไปรับบริการการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของโจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองส่งผลการตรวจตามรายงานการตรวจสุขภาพ ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นแพทย์ผู้ตรวจ ระบุผลการตรวจเอกซเรย์ ในข้อที่ 4 ว่า ตรวจเอกซเรย์ช่องท้องส่วนบน U/S upper Abdomen เพื่อตรวจดูตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน ม้าม ไตทั้งสองข้างปกติ ครั้นต่อมาประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2550 โจทก์มีอาการปวดท้องและท้องอืด จึงไปตรวจรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลธนบุรี 1 โรงพยาบาลธนบุรี 2 และโรงพยาบาลราชวิถี กลับตรวจพบว่า โจทก์มีก้อนเนื้อมะเร็งที่บริเวณไตข้างขวา จึงเข้ารับการรักษาโดยผ่าตัดไตข้างขวาออก คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า นอกจากมรณบัตรที่แสดงสาเหตุความตายของโจทก์จะเป็นเอกสารประกอบการยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ มิใช่พยานหลักฐานในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 จะนำมากล่าวอ้างในฎีกาได้แล้ว แม้หากจะรับฟังถึงสาเหตุการตายของโจทก์ตามมรณบัตรฉบับนี้ก็ยังเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่า ผลแห่งการระบุในรายงานการตรวจสุขภาพ ทำให้โรคมะเร็งไตของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังสมองเป็นเหตุให้ในที่สุดโจทก์ถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็งสมองนั่นเองเพราะปรากฏตามบทความทางวิชาการ ด้วยว่าอาการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ มะเร็งไตอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ อันได้แก่ปอด กระดูก หรือสมองก็ได้ จึงยิ่งเป็นเหตุผลสนับสนุนให้เห็นถึงการร่วมกันทำละเมิดของจำเลยทั้งสองต่อโจทก์ให้มีน้ำหนักเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นว่าจำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552

จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามด้วยตนเอง แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามอาการและประวัติการรักษาของโจทก์จากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้แก่โจทก์เพื่อทำการรักษาก็ตาม ก็หาใช่วิสัยของบุคคลผู้มีอาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำไม่ ทั้งห้องเวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร ตามพฤติการณ์ก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเองแต่อย่างใด ถือว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ เมื่อพยาบาลฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการ ทำให้โจทก์เกิดอาการแพ้ยา อันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษา แม้เป็นการแสดงออกให้จำเลยที่ 3 กระทำต่อร่างกายของโจทก์ก็ตาม แต่หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่

ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์นั้น ถือได้ว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 โดยไม่คำนึงว่าโจทก์ประกอบอาชีพหรือไม่ แพทย์ซึ่งเป็นพยานจำเลยก็เบิกความว่า อาการแพ้ยาของโจทก์อาจถึงขั้นเสียชีวิต กระจกตาดำข้างซ้ายของโจทก์เป็นแผลเปื่อยอักเสบบางลงอาจเป็นสาเหตุให้กระจกตาทะลุ ทำให้มองเห็นไม่ชัด ต้องเปลี่ยนกระจกตาดำจึงจะกลับมามองเห็นได้ ประกอบกับขณะเกิดเหตุโจทก์ตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน ต้องใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือน ย่อมเป็นความทุกข์ทรมานที่โจทก์รู้สึกได้ตลอดเวลาที่อยู่ระหว่างการรักษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินคือ ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย 400,000 บาท ค่าเสียหายสมรรถภาพในการมองเห็น 800,000 บาท และค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์ 800,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 2,000,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292/2542

จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์และเป็นผู้ชำนาญพิเศษ ในแขนงสาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่งจากประเทศญี่ปุ่น จำเลยที่ 2 กระทำการผ่าตัดหน้าอกโจทก์ ที่มีขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลงตามสภาพปกติที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 หลังผ่าตัดแล้วจำเลยที่ 2 นัดให้โจทก์ไปผ่าตัดแก้ไขที่คลีนิกจำเลยที่ 2 อีก 3 ครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น โจทก์จึงให้แพทย์อื่น ทำการรักษาต่อโดยเดิมจำเลยที่ 2 ทำการผ่าตัดหน้าอกในวันที่ 12 เมษายน 2537 รักษาตัว ที่โรงพยาบาล 1 วัน วันที่ 13 เมษายน 2537 จำเลยที่ 2 อนุญาตให้โจทก์กลับบ้าน วันที่ 15 เมษายน 2537 จำเลยที่ 2 เปิดแผลพบมีน้ำเหลืองไหลบริเวณปากแผลทรวงอกไม่มีร่องอก มีก้อนเนื้ออยู่บริเวณ รักแร้ด้านขวา เต้านมด้านซ้ายมีขนาดใหญ่กว่าด้านขวา และส่วนที่เป็นหัวนมจะมีบาดแผลที่คล้ายเกิดจากการถูกไฟไหม้ จำเลยที่ 2 รับว่าเกิดจากการผิดพลาดในการผ่าตัดแล้วแจ้งว่าจะดำเนินการแก้ไขให้ จำเลยที่ 2นัดให้โจทก์ไปทำแผลดูดน้ำเหลืองออกจากบริเวณทรวงอก และได้มีการผ่าตัดแก้ไขทรวงอกอีก 3 ครั้งแต่โจทก์เห็นว่าทรวงอกไม่มีสภาพดีขึ้น ประกอบกับระยะเวลาล่วงเลยมานานจึงเปลี่ยนแพทย์ใหม่ และแพทย์ที่ทำการรักษาต่อจากจำเลยที่ 2 ได้ทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขทรวงอก 3 ครั้ง จนมีสภาพทรวงอกดีขึ้นกว่าเดิม การที่แพทย์ต้องทำการผ่าตัดแก้ไขอีก 3 ครั้ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 ผ่าตัดมามีข้อบกพร่องต้องแก้ไขยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแพทย์เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมด้านเลเซอร์ผ่าตัด แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เป็นพิเศษ การที่จำเลยที่ 2 ผ่าตัดโจทก์เป็นเหตุให้ต้องผ่าตัดโจทก์เพื่อแก้ไขถึง 3 ครั้ง ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังในการผ่าตัดและไม่แจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงขั้นตอนการรักษาระยะเวลาและกรรมวิธีในการดำเนินการรักษาจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นับว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจัยว่าแพทย์มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5018/2550

จำเลยที่ 3 เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาล ส. และเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ที่ 1 มีอาการเจ็บครรภ์ได้เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ส. มีจำเลยที่ 3 เป็นแพทย์ผู้ตรวจรักษาโดยวิธีผ่าตัดทำคลอดแต่ทารกในครรภ์ได้ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจรักษาโจทก์ที่ 1 ตามความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพแพทย์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ 3 สังกัด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง

บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพจากผู้ทำละเมิดให้บุตรถึงแก่ความตายหรือไม่

ป.พ.พ. มาตรา 1649 วางหลักว่า ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ

มาตรา 1563 วางหลักว่า บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา โดยบุตรเเละบิดามารดานั้นต้องเป็นบุตรเเละบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น  

เมื่อบุตรผู้ถูกทำละเมิดให้ถึงแก่ความตายมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเเล้ว บุตรจึงไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดาตามมาตรา 1563 บิดาจึงไม่อาจฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้ทำละเมิดให้บุตรของตนถึงแก่ความตายได้

อีกทั้งเมื่อเป็นเพียงบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งบุตรผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมตั้งเป็นผู้จัดการมรดกหรือผู้จัดการทำศพ เเละบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 (2) จึงไม่เป็นผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด บิดาจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพผู้ตายตามมาตรา 1649 ดังนั้น บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่อาจฟ้องเรียกค่าปลงศพจากผู้ทำละเมิดให้บุตรถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7116/2560 โจทก์ที่ 1 เป็นเพียงบิดาของผู้ตายโดยพฤตินัย มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 ไม่อาจยกเรื่องธรรมเนียมความเชื่อในท้องถิ่นมาเป็นข้อยกเว้นบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะโจทก์ที่ 1ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกหรือผู้จัดการทำศพ รวมทั้งโจทก์ที่ 1 มิใช่เป็นผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมจากผู้ตายเป็นจำนวนมากที่สุด โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำศพผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649