
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
มาตรา 212 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 คือ ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ 2560 และยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้นมาก่อน ให้ศาลที่พิจารณาคดีส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
หลักเกณฑ์ รัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง
1. ศาลที่พิจารณาคดีจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นบังคับแก่คดี
2. ศาลที่พิจารณาคดีเห็นเองหรือคู่ความโต้เเย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 คือขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
3. ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น
4. ให้ศาลที่พิจารณาคดีส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
5. ในระหว่างนั้น ให้ศาลที่พิจารณาคดีดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ เเต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
การขอให้ศาลที่พิจารณาคดีส่งข้อโต้แย้งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง นั้นจะต้องเป็นกรณีมีปัญหาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับแก่คดีนั้นขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ 2560 เมื่อคดีนี้ถึงที่สุดแล้วและไม่ปรากฏว่าคดีได้กลับมาสู่การพิจารณาของศาลอีกจึงไม่มีกรณีที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมาบังคับใช้แก่คดีนี้ จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น ศาลที่พิจารณาจึงไม่มีหน้าที่ส่งข้อโต้แย้งของคู่ความไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2561 คดีนี้ ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นกรณีที่ศาลจังหวัดลำปางส่งคำโต้แย้งของนักโทษเด็ดขาดชายหวนหรือหวลหรือสงวนหรือสวน อิ่นคำแก้ว ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีหมายแดงที่ 824/2548 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557) มาตรา 4 และขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 29 และมาตรา 279 วรรคสอง หรือไม่ คดีมีข้อพิจารณาเบื้องต้นก่อนว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 8 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจังหวัดลำปางจะใช้บังคับแก่คดี หรือไม่ อันเป็นหลักเกณฑ์ในการรับไว้พิจารณาวินิจฉัยตตามมาตรา 212 เห็นว่า กรณีตามคำร้อง ศาลจังหวัดลำปางได้พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) มาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษประหารชีวิต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและให้การในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกตลอดชีวิตซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตไปยังศาลอุทธรณ์ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษานั้น และคำพิพากษาเช่นว่านี้จะยังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษายืน” และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน คดีนี้จึงถึงที่สุดแล้วโดยผลของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง อีกทั้งไม่มีข้อเท็จจริงว่านักโทษเด็ดขาดชายหวนหรือหวลหรือสงวนหรือสวน อิ่นคำแก้ว ได้ยื่นคำร้องอื่นใด นอกจากคำร้องขอให้ศาลจังหวัดลำปางส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 จึงเป็นกรณีที่ไม่มีคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดลำปางในอันที่จะนำพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 มาใช้บังคับแก่คดีนี้อีกต่อไป จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ ทั้งนี้ในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามคำร้องนี้ รัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติให้สิทธิในการยื่นคำร้องโดยการใช้สิทธิทางผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 231 (1) ไว้อีกช่องทางหนึ่งแล้ว อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย