คลังเก็บหมวดหมู่: มรดก

การบรรยายเนติฯ กลุ่มแพ่งและพาณิชย์ วิชามรดก ข้อ 8 ครั้งแรก ท่านอาจารย์กีรติ กาญจนรินทร์ ได้พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้

.

เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยผลของกฎหมาย กล่าวคือบุคคลนั้นศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 หากบุคคลนั้นมีคู่สมรส โดยหลักแล้วการสมรสระหว่างบุคคลนั้นกับคู่สมรสยังไม่สิ้นสุดลง แต่เป็นเพียงเหตุหย่า ตามป.พ.พ. มาตรา 1516(5) เท่านั้น ดังนั้น เมื่อการสมรสยังไม่สิ้นสุดลง หากคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ทรัพย์สินใดๆมาภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนสาบสูญ ทรัพย์สินนั้นจะเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ??

.

กรณีนี้ไม่มีกฎหมายบทบัญญัติไว้โดยชัดเจน จึงต้องนำ มาตรา 1492 ป.พ.พ. มาปรับใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ดังนั้นทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนสาบสูญแล้ว จึงต้องถือว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่

.

ป.พ.พ. มาตรา 1492 วรรคหนึ่ง เมื่อได้แยกสินสมรสตามมาตรา 1484 วรรคสอง มาตรา 1491 หรือมาตรา 1598/17 วรรคสอง แล้ว ให้ส่วนที่แยกออกตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยา และบรรดาทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาในภายหลังไม่ให้ถือเป็นสินสมรส แต่ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น และสินสมรสที่คู่สมรสได้มาโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือตามมาตรา 1474 (2) ในภายหลัง ให้ตกเป็นสินส่วนตัวของสามีและภริยาฝ่ายละครึ่ง

.

วรรคสอง ดอกผลของสินส่วนตัวที่ได้มาหลังจากที่ได้แยกสินสมรสแล้วให้เป็นสินส่วนตัว

.

มาตรา 4 วรรคหนึ่ง กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ

.

วรรคสอง เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

ลูกหนี้ตามคำพิพากษาสละมรดกโดยไม่มีทรัพย์สินอื่นที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกได้หรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 10810/2559 ส.สละมรดกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เมื่อ ส.สละมรดกในขณะที่เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาโดย ส. ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับคดีได้ จึงเป็นการสละมรดกโดยรู้อยู่ว่าจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ กรณีมีเหตุเพิกถอนนิติกรรมสละมรดกที่ดินในส่วนของ ส.
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินระหว่าง ส.กับจำเลยที่ 2 อันหมายถึง ขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของ ส.โดยอ้างว่า ส. สละมรดกที่ดินโดยรู้อยู่ว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ การกระทำของ ส. จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อ ส.ถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737

ผู้จัดการมรดกมีอำนาจฟ้องทายาทที่ครอบครองที่ดินมรดกให้ส่งมอบที่ดินกลับเข้าสู่กองมรดก ได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ

การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดก ถือว่าทายาทคนนั้นเป็นเจ้าของรวมมีสิทธิใช้ทรัพย์สินนั้นได้ ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้ทายาทส่งมอบหรือให้ออกไปจากที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 423/2562 คำฟ้องของโจทก์อ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งไม่ได้ทำพินัยกรรมยกให้ผู้ใด แต่หากที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายย่อมมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทและมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินมีสิทธิใช้ทรัพย์สินในฐานะเจ้าของรวมและการอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยต่อมาหลักจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะอยู่ได้ในฐานะที่เป็นทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายและในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง ซึ่งเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 เมื่อยังไม่มีการแบ่งการครอบครองเป็นสัดส่วน โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยส่งมอบหรือออกไปจากที่ดินพิพาท

อ่านเพิ่มเติม

กรณีลูกหนี้ตายก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระหรือก่อนเงื่อนไขสำเร็จ เจ้าหนี้ฟ้องทายาทของลูกหนี้ให้ชำระหนี้ทันทีได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1754 วรรคสาม วางหลักว่า  ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

มาตรา 1754 วรรคท้าย วางหลักว่า แต่ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

หลักเกณฑ์
1. ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 193/27
2. สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดก (ลูกหนี้) มีกำหนดอายุความยาวกว่า 1 ปี
3. มิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องทายาทหรือผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก (ลูกหนี้)
3.1.เมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก (ลูกหนี้) หรือ
3.2.เมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่เจ้ามรดก (ลูกหนี้) ถึงแก่ความตาย

การที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำสัญญากู้เงิน และกำหนดชำระเงินเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนสำเร็จ ต่อมาลูกหนี้ถึงแก่ความตาย โดยเงื่อนไขบังคับก่อนยังไม่เสร็จนั้น ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อทายาทของลูกหนี้ย่อมเกิดขึ้นทันทีเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย และเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ลูกหนี้ถึงแก่ความตายตามป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ โดยไม่ต้องรอให้เงื่อนไขของสัญญาสำเร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2655/2561 เจ้าหนี้ของเจ้ามรดกจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย แม้สัญญากู้เงินที่ ว. เจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์จะมีข้อตกลงว่า “ผู้กู้ตกลงชำระคืนเงินกู้ เมื่อโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนชีวมวลของบริษัท ท. เริ่มมีกำไรและสามารถจ่ายเงินปันผลได้ ผู้กู้จะนำเงินที่ได้รับจากเงินปันผลมาชำระ…” และปรากฏว่า บริษัทดังกล่าวยังไม่เคยจ่ายเงินปันผลให้แก่ ว.และว.ถึงแก่ความตายเสียก่อน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงตกอยู่ภายในบังคับมาตรา 1754 วรรคสาม โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์ได้รู้ถึงความตายของ ว. โดยไม่ต้องรอการบังคับชำระหนี้จนกว่าเงื่อนไขของสัญญากู้เงินดังกล่าวจะสำเร็จ เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นทันทีเมื่อ ว.ถึงแก่ความตาย หากรอจนเงื่อนไขสำเร็จอายุความ 1 ปี อาจล่วงพ้นไปแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของ ว.เจ้ามรดกชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3994/2540 วินิจฉัยไว้แนวเดียวกัน

ทำนองเดียวกัน กรณีลูกหนี้ตายก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้ทายาทของลูกหนี้ชำระหนี้ได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้หนี้ถึงกำหนดชำระก่อน เพราะเจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีภายในอายุความตามป.พ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3994/2540 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754วรรคสาม เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายหากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ 1 ปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจจะล่วงพ้นไปแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

บุตรของเจ้ามรดกให้ถ้อยคำต่อ จพง.ที่ดินว่า “… ไม่มีความประสงค์ขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาท ยินยอมให้ ส. เป็นผู้รับโอนมรดก ขอให้จพง.ที่ดินสั่งการโอนมรดกให้ผู้ขอ” เป็นการสละมรดกหรือไม่

ป.พ.พ. มาตรา 1613 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า  การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้

หลักเกณฑ์มาตรา 1613 วรรคหนึ่ง 1. การสละมรดกจะทำเพียงบางส่วนไม่ได้ 2. การสละมรดกจะทำโดยมีเงื่อนไขไม่ได้ 3. การสละมรดกจะทำโดยมีเงื่อนเวลาไม่ได้

การที่โจทก์และจำเลยให้ถ้อยคำต่อ จพง.ที่ดินว่า “… ไม่มีความประสงค์ขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาท ยินยอมให้ ส. เป็นผู้รับโอนมรดก ขอให้จพง.ที่ดินสั่งการโอนมรดกให้ผู้ขอ” มิใช่เป็นการสละมรดกเพราะบันทึกถ้อยคำดังกล่าวทำโดยมีเงื่อนไข ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1613 ซึ่งการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด ดังนี้ บันทึกถ้อยคำดังกล่าวจึงไม่เป็นการสละมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6948/2560 ตามบันทึกถ้อยคำไม่ขอรับมรดกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่บุตรของเจ้ามรดกมีสิทธิรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวด้วยในฐานะทายาทโดยธรรม ได้ทราบการขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทตามประกาศของสำนักงานที่ดินแล้ว ไม่มีความประสงค์ขอรับโอนมรดกดังกล่าวยินยอมให้ ส. เป็นผู้รับโอนมรดกดังกล่าว ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสั่งการโอนมรดกให้ผู้ขอ บันทึกถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นการสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 และ 1613 เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด และยังมีทรัพย์มรดกส่วนอื่นอีกที่มิได้มีการสละด้วย แต่เป็นกรณีที่ทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันโดยสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง ประกอบมาตรา 850

อ่านเพิ่มเติม

ผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกจนเสร็จสิ้นแล้ว แต่ปรากฏในภายหลังว่าได้จัดการไปโดยมีเจตนาทุจริต ปกปิดทายาท ผู้มีส่วนได้เสียจะมีสิทธิร้องขอเพิกถอนผู้จัดการมรดกหรือไม่

ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง

หลักเกณฑ์มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
1. ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก
2. เพราะผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือ
3. เพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควร
4. ระยะเวลาร้องขอ คือ ก่อนการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้น

การที่ผู้จัดการมรดกมีเจตนาทุจริต ปกปิดทายาท เเละได้โอนทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ที่ไม่มีสิทธิ ย่อมเป็นการกรณีที่ผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ โดยหลักแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนผู้จัดการมรดกได้

แต่ทั้งนี้ การยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกต้องยื่นก่อนการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้น เมื่อปรากฏว่าผู้มีส่วนได้เสียมายื่นหลังจากผู้จัดการมรดกได้จัดการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วซึ่งล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงหมดสิทธิยื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2150/2561 การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องได้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้วโดยไม่มีทรัพย์มรดกของผู้ตายหลงเหลือให้จัดการอีกต่อไป จึงถือได้ว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว

แม้ผู้คัดค้านจะอ้างเหตุว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยมีเจตนาทุจริตปกปิดผู้คัดค้านและบุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ทั้งได้โอนทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ หรือมีเหตุอื่นตามกฎหมายอันอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าการปันมรดกรายดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม

บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพจากผู้ทำละเมิดให้บุตรถึงแก่ความตายหรือไม่

ป.พ.พ. มาตรา 1649 วางหลักว่า ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ

มาตรา 1563 วางหลักว่า บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา โดยบุตรเเละบิดามารดานั้นต้องเป็นบุตรเเละบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น  

เมื่อบุตรผู้ถูกทำละเมิดให้ถึงแก่ความตายมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเเล้ว บุตรจึงไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดาตามมาตรา 1563 บิดาจึงไม่อาจฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้ทำละเมิดให้บุตรของตนถึงแก่ความตายได้

อีกทั้งเมื่อเป็นเพียงบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งบุตรผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมตั้งเป็นผู้จัดการมรดกหรือผู้จัดการทำศพ เเละบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 (2) จึงไม่เป็นผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด บิดาจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพผู้ตายตามมาตรา 1649 ดังนั้น บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่อาจฟ้องเรียกค่าปลงศพจากผู้ทำละเมิดให้บุตรถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7116/2560 โจทก์ที่ 1 เป็นเพียงบิดาของผู้ตายโดยพฤตินัย มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 ไม่อาจยกเรื่องธรรมเนียมความเชื่อในท้องถิ่นมาเป็นข้อยกเว้นบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะโจทก์ที่ 1ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกหรือผู้จัดการทำศพ รวมทั้งโจทก์ที่ 1 มิใช่เป็นผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมจากผู้ตายเป็นจำนวนมากที่สุด โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำศพผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649