คลังเก็บหมวดหมู่: ค้ำประกัน จำนอง จำนำ

เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันเกินหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้เช่าชื้อผิดนัด ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนร่วมกับผู้เช่าซื้อ หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่5372/2562 

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อนับแต่วันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับแล้ว โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา แต่ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่กรณีพระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น และมาตรา 19 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกัน ให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้” ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติไว้ว่า “เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด…และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง” สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่ง โดยผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าชื้อให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อเป็นรายงวดตามจำนวนที่ตกลงกัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งหนี้ที่เช่าชื้อให้ผู้เช่าซื้อหากไม่มีการกำหนดทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้แก่กันแล้วสัญญาเช่าซื้อย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ จึงนับว่าทรัพย์สินที่เช่าซื้อเป็นหนี้ประธานในการก่อให้เกิดสัญญาเช่าซื้อ เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้การส่งมอบรถยนต์กระบะดังกล่าวคืนหรือใช้ราคาแทนจึงเป็นหนี้ประธานแห่งสัญญามิใช่อุปกรณ์แห่งหนี้ในสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น การที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายบังคับไว้โดยมีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ผิดนัด ก็หาเป็นผลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลุดพ้นจากการต้องร่วมชำระหนี้ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนแก่โจทก์ภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ 

 หลอกลวงเจ้าของที่ดินให้โอนที่ดิน แล้วนำที่ดินไปจำนองแก่บุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองไว้โดยสุจริต ต่อมาในคดีอาญา ศาลพิพากษาลงโทษผู้หลอกลวงฐานฉ้อโกงให้จดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้แก่เจ้าของ ดังนี้ เจ้าของที่ดินจะขอให้เพิกถอนการจำนองและผู้รับจำนองต้องคืนโฉนดที่ดินแก่เจ้าของหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 3022/2562 

จำเลยที่ 1 โดยทุจริตหลอกลวงให้โจทก์โอนที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจะใช้โฉนดที่ดินดังกล่าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อนำเงินมาลงทุนทำธุรกิจโดยจะไม่นำที่ดินดังกล่าวไปก่อภาระผูกพันใด ๆ เมื่อธนาคารอนุมัติเงินแล้วจะโอนที่ดินคืนแก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดินกับจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าทำให้โจทก์ซึ่งพักอาศัยอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวเสียหาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341 และขอให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์โดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 91 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระผูกพันใด ๆ 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ต้องคืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องและคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวง การแสดงเจตนาทำนิติกรรมดังกล่าวของโจทก์เกิดขึ้นเพราะถูกกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 อันเป็นโมฆียะกรรม แต่นิติกรรมดังกล่าวซึ่งเป็นโมฆียะกรรมนั้นยัง 

มีผลสมบูรณ์ใช้ได้จนกว่าจะถูกบอกล้างโดยชอบ ขณะที่จำเลยที่ 1 จำนองที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1 ยังมีชื่อเป็นเจ้าของ จึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย แม้ที่ดินพิพาทจะได้โอนกลับไปเป็นของโจทก์ในภายหลังจากการจำนองนั้นแล้ว นิติกรรมจำนองที่จำเลยที่ 1 ก่อไว้ย่อมตกติดมาด้วย โจทก์ไม่อาจยกเอาเหตุโมฆียะที่โจทก์บอกล้างนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้นแล้วขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ตาม 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 ประกอบมาตรา 1329 โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 2 รับจำนองไว้ (จำเลยที่ 2 มีสิทธิยึดถือต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทได้จนกว่าจะมีการไถ่ถอนจำนอง) 

ผู้รับจํานองมีหนังสืบอกกล่าวบังคับจํานองโดยกําหนดเวลาให้ชําระหนี้น้อยกว่าหกสิบวัน จะนําระยะเวลาดังกล่าวไปรวมกับระยะเวลาหลังจากนั้นจนถึงวันฟ้องว่าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันแล้ว จึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจํานองโดยชอบแล้ว ได้หรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 5702/2562 

แม้โจทก์และจําเลยทั้งสามจดทะเบียนจํานองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเมื่อ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ก่อนพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ คือ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ผู้รับจํานองประสงค์จะบังคับจํานองนับจากนั้น โจทก์ก็ต้องปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อจะบังคับจํานองนั้น ผู้รับจํานองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชําระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคําบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจํานองและให้ขายทอดตลาดก็ได้” โดยโจทก์ผู้รับจํานองต้องมีหนังสือบอกกล่าว บังคับจํานองไปยังจําเลยทั้งสามลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชําระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งต้อง ไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่จําเลยทั้งสามลูกหนี้ได้รับคําบอกกล่าวบังคับจํานองนั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจํานองลงวันที่ 13 กันยายน 2559 ซึ่งกําหนดระยะเวลาให้จําเลยทั้งสามชําระหนี้และไถ่ถอนจํานองให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจํานองดังกล่าว จําเลยทั้งสามได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจํานองเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 อันเป็นการกําหนดระยะเวลาน้อยกว่าหกสิบวันซึ่งเป็นกําหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ชัดเจนแน่นอนแล้ว จึงนําระยะเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าวบังคับจํานองไปรวมกับระยะเวลาหลังจากนั้นจนถึงวันฟ้องว่าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันแล้วหาได้ไม่ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจําเลยทั้งสามลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้อง 

เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันเกินกําหนด 60 วัน นับแต่วันที่ ลูกหนี้ผิดนัดมีผลต่อความรับผิดของผู้ค้ำประกันอย่างไร

คําพิพากษาฎีกาที่ 3847/2562 

หนังสือบอกกล่าวที่โจทก์ส่งไปยังจําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกันระบุว่าจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นมียอดหนี้จํานวนเงินค้างชําระและยังมิได้ชําระหนี้ ขอให้ไปชําระหนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวซึ่งมีข้อความที่แจ้งว่าลูกหนี้ผิดชําระหนี้ เข้าลักษณะเป็นหนังสือบอกกล่าวตามความมุ่งหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ซึ่งกฎหมายไม่ได้กําหนดรูปแบบข้อความหนังสือบอกกล่าวไว้อย่างชัดเจน 

จําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้รับหนังสือบอกกล่าวที่โจทก์ส่งให้จําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จําเลยที่ 1 ผิดนัด จําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อม หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกําหนดเวลาแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคสอง โจทก์คงเรียกให้จําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชําระต้นเงินและ ดอกเบี้ยที่คิดได้เพียง 60 วัน นับแต่วันที่จําเลยที่ 1 ผิดนัด 

คําพิพากษาฎีกาที่ 3263/2562 หนังสือบอกกล่าวของโจทก์ได้ไปถึงจําเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันภายหลังเวลาที่พ้นกําหนด 60 วัน นับแต่จําเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง จําเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกําหนดเวลา 60 วัน ตามมาตรา 686 วรรคสอง จําเลยที่ 2 ต้องรับผิดในดอกเบี้ยต้นเงินจํากัดเฉพาะช่วงเวลา 60 วัน นับแต่จําเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัด 

ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง โดยซื้อทรัพย์สินซึ่งจำนองจากการขายทอดตลาดจะต้องผูกพันตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่ยกเว้นให้ผู้จำนองต้องรับผิดชำระหนี้ของลูกหนี้เกินกว่าทรัพย์สินที่จำนอง หรือไม่ และผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจะขอไถ่ถอนจำนอง จะต้องไถ่ถอนในวงเงินเท่าใด



คําพิพากษาฎีกาที่3259/2562 

ข้อตกลงต่อทำหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันที่ยกเว้นให้ผู้จำนองต้องรับผิดชำระหนี้ของลูกหนี้เกินกว่าทรัพย์ที่จำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 มีผลผูกพันและบังคับได้ระหว่างโจทก์กับผู้จำนองที่เป็นคู่สัญญาระหว่างกันอันเป็นบุคคลสิทธิ มิใช่เป็นการก่อตั้งทรัพยสิทธิอันจะตกติดไปกับทรัพย์สินที่จำนอง จำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์สินซึ่งจำนองจากการขายทอดตลาดซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาโดยมิได้เป็น 

ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 736 และมาตรา 738 หาใช่ต้องรับผิดในหนี้ของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเต็มจำนวนอันเกินกว่าราคาของทรัพย์สินที่จำนองไม่ 

จำเลยเป็นผู้โอนทรัพย์สินซึ่งจำนองมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ทั้งไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้ โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทนผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิโจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โจทก์ไม่อาจอ้างข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันที่ยกเว้นให้ผู้จำนองต้องรับผิดชำระหนี้ของลูกหนี้เกินกว่าทรัพย์ที่จำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 มาบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองได้ 

แม้จำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนองและหากประสงค์จะไถ่ถอนจำนองยังมีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจำนองนับแต่มีการผิดนัดของลูกหนี้ชั้นต้นหรือผู้จำนอง โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาจำนองแต่โจทก์จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้ไว้ไม่ได้ 

คําพิพากษาฎีกาที่5568/2562  

จำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกหนี้ชั้นต้นและมิใช่คู่สัญญาจำนองแก่โจทก์แต่เป็นเพียงบุคคลภายนอกผู้รับโอนทรัพย์สินที่ติดจำนองมา จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่เพียงปลดเปลื้องภาระจำนองด้วยการไถ่ถอนจำนองเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์ขอไถ่ถอนจำนองในวงเงิน 500,000 บาท โดยหนังสือแจ้งความประสงค์ดังกล่าวมีเอกสารแนบท้ายประกอบด้วยสำเนาสัญญาจำนอง สำเนาโฉนดที่ดินซึ่งระบุตำแหน่ง ลักษณะของทรัพย์สินที่จำนองชื่อเจ้าของเดิม ชื่อและภูมิลำเนาของผู้รับโอน วันที่รับโอนกรรมสิทธิ์รวมทั้งได้แจ้งความประสงค์จะไถ่ถอนจำนองให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว หนังสือแจ้งขอไถ่ถอนจำนองของจำเลยที่ 2 จึงมีรายละเอียดครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 738 แล้ว การที่โจทก์มีหนังสือปฏิเสธไม่รับชำระหนี้โดยมิได้ฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 มีคำเสนอเพื่อให้ศาลสั่งขายทอดตลาดทรัพย์ซึ่งจำนอง ถือว่าโจทก์ยอมรับคำเสนอขอไถ่จำนองของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวโดยปริยายตามมาตรา 739, 741 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิไถ่จำนองได้ในวงเงิน 500,000 บาท 

จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์นัดวันเวลา สถานที่ชำระเงินเพื่อไถ่จำนองและโจทก์มิได้ไปตามนัดหมายก็ตาม แต่สัญญาจำนองจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ใช้เงินแก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 2 เสนอขอไถ่ถอน กรณีแม้โจทก์ไม่ไปตามนัด จำเลยที่ 2 ยังสามารถไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการวางเงินตามจำนวนที่เสนอขอไถ่ถอนต่อสำนักงานวางทรัพย์ ตามมาตรา 741 ประกอบมาตรา 331 เมื่อจำเลยที่ 2 ยังมิได้ไถ่ถอนจำนอง สัญญาจำนองจึงยังไม่ระงับสิ้นไป 

ป.พ.พ. มาตรา 701,727 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องสิทธิหน้าที่ของผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนอง แต่จำเลยที่ 2 เป็นเพียงบุคคลภายนอกผู้รับโอนทรัพย์สินโดยติดจำนอง ซึ่งสิทธิหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินโดยติดจำนองนั้นมีบทบัญญัติโดยเฉพาะ ตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 12 หมวด 5 จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างได้ว่าสัญญาจำนองระงับสิ้นไปเพราะผู้จำนองหลุดพ้น ตามมาตรา 701, 727 ประกอบมาตรา 744 (3) เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองแก่จำเลยที่ 2 แล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉย จำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือบอกกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 ได้ และมีสิทธิได้ดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224