คลังเก็บหมวดหมู่: ครอบครัว

ประเด็น : ภริยาทำสัญญาค้ำประกันกับธนาคาร สามีไม่รู้เห็นหรือยินยอม สามีฟ้องเพิกถอนสัญญาค้ำประกันนั้นไม่ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1476 ว.1 (8)

คำพิพากษาฎีกาที่ 4046/2535 การที่ น. ภริยาโจทก์ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของ ส. โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม มิใช่เป็นการจัดการสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476,1477 ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เกิดจากข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างไว้ในฟ้อง และจากทางนำสืบของโจทก์จึงเป็นข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบ แม้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น จำเลยก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้ และศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

ประเด็น : บุตรนอกกฎหมายที่บิดาไม่รับรองมีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งให้บิดารับเป็นบุตรได้ แม้บิดาจะตายไปแล้ว ถ้าศาลมีคำสั่งให้ บุตรมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้

คำพิพากษาฎีหาที่ 2698/2536 ผู้ตายได้ทำบันทึกมีข้อความระบุว่า ผู้ร้องยินยอมรับเงินจำนวน15,000 บาท เป็นค่าทดแทนกรณีที่ผู้ร้องมีบุตรกับผู้ตาย โดยผู้ร้องลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้สัญญา ส่วนผู้ตายลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับสัญญา บันทึกดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเอกสารของผู้ตายที่ยอมรับว่าเด็กหญิง ม. เป็นบุตรของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1555(3) แล้ว

ประเด็น : การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะเหตุอื่นนอกจากการสมรสซ้อน ถ้ายังไม่มีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีผลผูกพันอยู่ สามารถรับมรดกของอีกคนหนึ่งได้

ฎ.3898/2548 บุคคลที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1458 (ไม่ยินยอม) ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ได้แก่ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรส หรืออัยการ เมื่อผู้คัดค้าน (น้องร่วมบิดามารดา) ไม่ใช่บุคคลดังกล่าวจึงไม่อาจขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะได้
.
ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับผู้ตาย (โดยไม่ยินยอม = โมฆะ ม.1458,1495) ผู้ร้องย่อมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย หากการสมรสไม่ถูกต้องตามกฎหมายคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 เมื่อยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องและศาลไม่มีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายเป็นโมฆะ การสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายจึงยังคงมีอยู่ ผู้ร้องจึงยังเป็นคู่สมรสของผู้ตาย เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ประเด็น : คดีฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะไม่มีอายุความแต่การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพและค่าทดแทน มีอายุความ 2 ปี (ป.พ.พ. ม.1499 ว.4)

คำพิพากษาฎีกาที่ 3423/2549 การกล่าวอ้างความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมนั้น กฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาหรืออายุความไว้ ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยกความเป็นโมฆะของการสมรสซ้อนขึ้นกล่าวอ้างเมื่อใดก็ได้ไม่อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกินกำหนด 10 ปี แล้ว คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

ประเด็น : จดทะเบียนหย่ากันหลอกๆ ตกเป็นโมฆะ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 5690/2552 โจทก์จําเลยจดทะเบียนหย่ากันโดยแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างกัน ทําขึ้นเพื่อประโยชน์ในการลดจํานวนภาษีย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155

ประเด็น : เมื่อชายตกลงให้สินสอดแล้วต้องผูกพัน หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันเพราะความผิดของชาย บิดามารดาหญิงสามารถฟ้องบังคับให้ส่งมอบหรือโอนสินสอดที่ตกลงไว้ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 6385/2551 เมื่อจำเลยทั้งสองตกลงว่าจะให้สินสอดแก่โจทก์ที่ 1 เพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ที่ 2 ยอมสมรสด้วย แต่การสมรสระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกสินสอดจากจำเลยทั้งสองได้

ประเด็น : สามีเป็นคนต่างด้าวได้ที่ดินมาระหว่างสมรสโดยให้ใส่ชื่อภริยาไว้เพียงคนเดียว ที่ดินเป็นสินสมรส

คำพิพากษาฎีกาที่ 7533/2560 แม้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จะระบุชื่อของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างจำเลยกับโจทก์สมรสกัน จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาระหว่างสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474 (1)

เงินที่ซื้อที่ดินพร้อมบ้านเป็นเงินของโจทก์ แต่การที่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านก็เพื่อใช้อยู่ร่วมกันกับจำเลยเวลามาพักที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดินทางมาเยี่ยมบิดามารดาของจำเลย แต่โจทก์ใส่ชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ได้เนื่องจากโจทก์เป็นคนต่างด้าว ไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ พนักงานขายและเพื่อนโจทก์และเจ้าพนักงานที่ดินให้คำแนะนำว่าให้ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์แทน ดังนั้นในการดำเนินการซื้อขายที่ดินและบ้านดังกล่าว โจทก์ย่อมต้องให้คำรับรองต่อ เจ้าพนักงานที่ดินว่าเงินที่นำมาซื้อที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว มิใช่สินสมรสหรือทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน มิฉะนั้นเจ้าพนักงานที่ดินคงไม่ดำเนินการให้ เมื่อได้โฉนดที่ดินมาแล้ว ต้นฉบับโฉนดที่ดินโจทก์เป็นคนเก็บรักษาไว้ หากโจทก์ยกที่ดินพร้อมบ้านให้จำเลยเป็นสินส่วนตัว โจทก์ก็น่าจะมอบโฉนดที่ดินให้จำเลย การที่โจทก์เก็บโฉนดที่ดินไว้และโจทก์ต้องการซื้อบ้านเพื่อใช้อยู่ร่วมกันกับจำเลยที่จังหวัดเชียงใหม่ แสดงว่าโจทก์มิได้ยกให้เป็นสินส่วนตัวของจำเลย แต่โจทก์ต้องการให้ที่ดินและบ้านเป็นสินสมรสซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474 วรรคท้ายบัญญัติว่า ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวเป็นสินสมรส โจทก์กับจำเลยมีส่วนในที่ดินและบ้านพิพาทเท่ากัน

ประเด็น : ชายมอบทองแก่หญิงและมอบเงินแก่มารดาหญิงเพื่ออยู่กินร่วมกัน ต่อมาหญิงหนีออกจากบ้าน ไม่ถือว่าหญิงผิดสัญญาหมั้น เพราะไม่มีเจตนาจดทะเบียนสมรสกันแต่แรก ชายไม่มีสิทธิได้เงินและทองคืนและไม่มีสิทธิ์เรียกค่าทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6943/2562 โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะทำการสมรสโดยการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 ทรัพย์สินที่โจทก์ทั้งสองมอบให้จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่ของหมั้นเพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์ทั้่งสองมอบให้จำเลยทั้งสอง เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและประกันว่าโจทก์ที่ 2 จะสมรสกับจำเลยที่ 1 และไม่ใช่สินสอดเพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 2 มารดาของจำเลยที่ 1 เพื่อตอบแทนการที่จำเลยที่ 1 ยอมสมรสตามมาตรา 1437

ประเด็น : บุตรที่บิดารับรองโดยพฤติการณ์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรเป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องย่าซึ่งเป็นผู้บุพการีได้ ไม่เป็นคดีอุทลุม

คําพิพากษาฎีกาที่ 1378/2564 ป.พ.พ. มาตรา 1562 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญานั้น เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิ จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดซึ่งต้องหมายความว่า เป็นการห้ามเฉพาะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้ว แต่ผู้ตายกับมารดาของโจทก์ทั้งสามมิได้จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์ทั้งสามจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ก็ต่อเมื่อผู้ตายและมารดาของโจทก์ทั้งสามได้สมรสกันในภายหลังหรือผู้ตายได้จดทะเบียนว่าโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1547 บัญญัติไว้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฎว่าได้มีการดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์ทั้งสามจึงมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 เป็นย่าของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามก็ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้

ประเด็น!!! หนี้ร่วมของสามีภริยา แม้จะหย่ากันในภายหลังก็ยังต้องร่วมกันรับผิด ถูกยึดได้ทั้งสินสมรสและสินส่วนตัว ฎีกา 4913/2554

คำพิพากษาฎีกาที่ 4913/2554 หนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ที่จำเลยกู้ยืมเงินไปทำไร่อ้อยร่วมกับผู้ร้อง เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการงานซึ่งสามีภรรยาทำด้วยกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1490(3) จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง แม้ต่อมาจำเลยกับผู้ร้องจะได้หย่าขาดและแบ่งทรัพย์สิน แบ่งความรับผิดในหนี้สิ้นต่อกันแล้ว แต่ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าหนี้ในอันที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากสินสมรสและสินส่วนตัวของจำเลยกับผู้ร้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 1489 หรือบังคับชำระหนี้เอาจากคนใดคนหนึ่งโดยสิ้นเชิงแล้วแต่จะเลือกตาม ป.พ.พ.มาตรา 291 โจทก์จึงมีสิทธิยึดทรัพย์พิพาทเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้