เดิมศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า การที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด แม้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยด้วยความสมัครใจโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ผู้กู้จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วคืน ตามมาตรา 407 และมาตรา 411 อีกทั้งไม่สามารถนำมาหักกับเงินต้นได้ (ฎ.99/2515, 1759/2545)
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันศาลฎีกาตัดสินว่า การที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย เรียกคืนไม่ได้ ตาม ม.411 และถึงแม้ผู้ให้กู้จะไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย แต่กรณีนี้ก็มิใช่การชำระหนี้โดยตามอำเภอใจโดยผู้กู้รู้ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ เพราะยังมีเงินต้นค้างชำระอยู่ จึงต้องนำดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วมาหักกับเงินต้น
ฎีกาที่ 5376/2560 จำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ซึ่งตกเป็นโมฆะ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจจะเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ และจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงิน
ฎีกาที่ 2131/2560 โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด
1. กรณีที่ไม่มีการกำหนดไว้ว่าการกู้ยืมเงินนั้นต้องเสียดอกเบี้ย
(รวมถึงกรณีตกลงให้คิดดอกเบี้ย แต่ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้เพราะกำหนดดอกเบี้ยเกินอัตราที่ป.พ.พ. มาตรา 654 กำหนดไว้)
ผลคือการกู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่หากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้จะต้องเสียดอกเบี้ยเพราะเหตุผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่งตอนต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2548 ขณะทำสัญญากู้เงิน ธนาคารโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าเงินกู้รายย่อยระยะยาวในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราตามประกาศของโจทก์ ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เพียงร้อยละ 12.25 ต่อปี ข้อตกลงในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับเอาดอกเบี้ยตามสัญญาจากจำเลย
2. กรณีที่คู่สัญญาได้ตกลงกันให้ผู้กู้ต้องเสียดอกเบี้ย แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ หรือ กำหนดให้เสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
ผลคือการกู้ยืมเงินดังกล่าวต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 แต่หากผู้กู้ผิดนัด ต้องเสียดอกเบี้ยอัตราเดิม คือ ร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่งตอนต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5482/2549 ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ระบุว่า ผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราตามที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาน่าน กำหนดให้ในวงเงินเบิกเกินบัญชี เป็นเพียงตกลงกันว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน แต่มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้งในสัญญา เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาน่าน กำหนดให้ในวงเงินเบิกเกินบัญชีไม่แน่นอนย่อมขึ้นลงได้ตามประกาศธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด จึงต้องใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่กำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ที่จะตกเป็นโมฆะไปทั้งหมด และโจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ได้อีก
3. กรณีที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ว่าในการกู้ยืมเงินนั้นผู้กู้ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่แน่นอน
ผลคือย่อมเป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่อย่างไรก็ดี แม้มาตรา 654 จะกำหนดว่าหากคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ให้ลดอัตราดอกเบี้ยมาเหลืออัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่ในความเป็นจริงแล้วผลในทางกฎหมายไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 บัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา มิฉะนั้น ต้องรับโทษระวางโทษจำคุกหรือโทษปรับ ด้วยเหตุนี้ การที่คู่สัญญาตกลงกันกำหนดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อตกลงเรื่องการคิดดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ตามป.พ.พ. มาตรา 150 เสมือนว่าไม่มีข้อตกลงกำหนดเรื่องการคิดดอกเบี้ยไว้เลย แต่ข้อตกลงในส่วนอื่นๆ รวมทั้งสัญญากู้ยังคงสมบูรณ์อยู่ ตามมาตรา 173 และสามารถฟ้องร้องบังคับกันตามสัญญากู้ได้ ผู้กู้จึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ ทำให้บทบัญญัติในมาตรา 654 ที่ว่าถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้ลดลงมาเหลืออัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เสมือนถูกยกเลิกไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2064/2544 หนังสือสัญญากู้เงินมีข้อความว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยงวดหนึ่งงวดใด ผู้กู้ยินยอมให้ถือว่าผู้กู้ผิดนัดทุกงวด และให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดไว้ตามประกาศของธนาคารที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้คืนจนครบถ้วนและตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองมีข้อความว่าถ้าผู้จำนองผิดนัดชำระหนี้ ผู้จำนองยอมให้ผู้รับจำนองคำนวณดอกเบี้ยที่ผิดนัดได้ในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่กำหนดไว้ตามประกาศของผู้รับจำนอง ดังนี้ เมื่อจำเลยผิดนัดชำระหนี้ การที่ธนาคารโจทก์คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีตามประกาศของโจทก์จึงเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญากู้และสัญญาจำนอง และเมื่อในขณะนั้นประกาศของโจทก์ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้ไม่เกินร้อยละ 18 ต่อปีตามที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้อำนาจไว้ ข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะทำให้ตกเป็นโมฆะ