
ประมวลกฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์
มาตรา 1077 วางหลักว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก คือ
(1) ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้น และ
(2) ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวน
มาตรา 1095 ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้
แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้เพียงจำนวนดังนี้ คือ
(1) จำนวนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่าที่ยังค้างส่งแก่ห้างหุ้นส่วน
(2) จำนวนลงหุ้นเท่าที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน (3) จำนวนเงินปันผลและดอกเบี้ยซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับไปแล้วโดยทุจริตและฝ่าฝืนต่อบทมาตรา 1084
มาตรา 1068 วางหลักว่า ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียง 2 ปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน
มาตรา 1080 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย
โดยหลักแล้วหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ย่อมมีความผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดตามป.พ.พ. มาตรา 1077 (1) และในระหว่างที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามมาตรา 1095 วรรคหนึ่ง กรณีนี้จึงนำมาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแก่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้ ดังนั้น หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดที่ออกจากห้างฯแล้วไปแล้วจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯที่เกิดขึ้นขณะที่ตนเป็นหุ้นส่วน แม้ยังอยู่ภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ออกจากห้างฯก็ตาม
คำพิพากษาฎีกาที่ 251/2562 ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เดิมโจทก์มีหุ้นส่วน 2 คน คือ จำเลยเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและนายสมนึกเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้นายสมนึกเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและจำเลยเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดและต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้บริษัทบ้านตาลโฮลดิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแทนจำเลยที่ออกจากการเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ ในระหว่างที่จำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของโจทก์ โจทก์โดยจำเลยและนายสมนึกขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ให้แก่นายสำราญ โจทก์ชำระภาษีแล้ว ต่อมากรมสรรพากรแจ้งโจทก์ว่าชำระภาษีไม่ถูกต้องให้ชำระภาษีที่ยังขาด เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงท้องที่ 1,407,548.25 บาท โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรครบถ้วนแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระของโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2554 ในขณะนั้นจำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของโจทก์ โจทก์และจำเลยยังไม่ทราบเรื่องที่มีการเสียภาษีไม่ถูกต้อง ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2558 (ที่ถูก 2556) โจทก์จดทะเบียนให้จำเลยออกจากการเป็นหุ้นส่วนของโจทก์โดยมีการคืนจำนวนลงหุ้นแก่จำเลย 28,000,000 บาท หากโจทก์และจำเลยทราบเรื่องที่เสียภาษีไม่ถูกต้องเสียก่อน จำเลยก็จะได้รับจำนวนลงหุ้นคืนน้อยกว่าจำนวนดังกล่าว เมื่อหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระในฐานะหุ้นส่วนของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1051 โจทก์ชอบที่จะไล่เบี้ยเรียกเอาเงินที่ชำระแทนไปก่อน 703,774 บาท จากจำเลยได้นั้น เห็นว่าเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้วย่อมมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 1015 ทรัพย์สินและหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมมิใช่ทรัพย์สินและหนี้สินของผู้เป็นหุ้นส่วนโดยตรง ส่วนการที่ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วจะยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1051 นั้น เป็นกรณีที่บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายจะใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อขึ้นเพราะจัดการไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น แตกต่างจากผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ซึ่งจะมีความผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดตามมาตรา 1077 (1) และในระหว่างที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามมาตรา 1095 วรรคหนึ่ง แต่หากห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกันแล้ว ความรับผิดชอบของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดต่อเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมจำกัดอยู่เพียงจำนวน ลงหุ้นที่ยังค้างส่งหรือได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดกับเงินปันผลซึ่งได้รับไปแล้วโดยทุจริตและฝ่าฝืนต่อข้อห้ามที่มิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยนอกจากผลกำไรซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดทำมาค้าได้ตาม มาตรา 1095 วรรคสอง (1) (2) และ (3) เท่านั้น กรณีจึงไม่อาจนำมาตรา 1051 มาใช้บังคับแก่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ตามมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง แม้หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระของโจทก์จะเกิดขึ้นในระหว่างที่จำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของโจทก์ก็ถือมิได้ว่าเป็นหนี้สินของจำเลย เมื่อจำเลยออกจากการเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ไปแล้วโดยมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้บริษัทบ้านตาลโฮลดิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแทนจำเลยในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันย่อมต้องถือว่าความเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของจำเลยได้ถูกแทนที่โดยบริษัทบ้านตาลโฮลดิ้ง จำกัด แล้ว แม้จำเลยจะได้รับเงินจากการถอนหุ้นด้วย แต่ก็เป็นเพียงการจ่ายเงินเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์และนายสมนึก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 167/2556 ของศาลชั้นต้นและได้ความตามคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนว่าจำนวนลงหุ้นของจำเลยถูกแทนที่ด้วยจำนวนลงหุ้นของบริษัทบ้านตาล โฮลดิ้ง จำกัด เช่นกัน หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระที่โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรไปนั้น จึงเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ที่จะต้องนำไปคิดคำนวณกำไรขาดทุนในระหว่างผู้ที่ยังคงเป็นหุ้นส่วนกันต่อไปตามสัญญาหุ้นส่วน โจทก์จะนำหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระดังกล่าวมาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยไม่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระ ของโจทก์
ความรับผิดของหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนประเภทต่างๆ
1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ
ป.พ.พ. มาตรา 1051 ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป
ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากห้างหุ้นส่วนไปแล้ว ต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1051 แม้หนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระภายหลังออกจากห้างหุ้นส่วนไปแล้วก็ตาม โดยต้องรับผิดไปจนกว่าหนี้นั้นจะระงับหรือขาดอายุความ เพราะกฎหมายมิได้จำกัดระยะเวลาที่ต้องรับผิดไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 482/2485 ทำสัญญาเช่าในฐานะเป็นหุ้นส่วน แม้สัญญานั้นจะถึงกำหนดชำระ เมื่อออกจากหุ้นส่วนแล้ว ก็ยังต้องรับผิด
คำพิพากษาฎีกาที่ 5949/2534, 1378/2555 วินิจฉัยแนวเดียวกัน
2. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
ป.พ.พ. มาตรา 1068 ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน
ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯที่เกิดขึ้นก่อนตนออกจากการเป็นหุ้นส่วน โดยมีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันออกจากห้างฯ โดยกำหนดระยะเวลา 2 ปีนั้นนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียน มิใช่วันที่ทำสัญญา หรือวันที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2537 จำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม2527 และนำไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2528 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. 2528 และโจทก์ไม่ได้แจ้งการประเมินภาษีอากรให้จำเลยที่ 2 ทราบคงแจ้งไปยังจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้น ดังนั้น การที่โจทก์มีหนังสือเตือนไปยังจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2529 และวันที่ 2 เม.ย. 2530 เพื่อให้ชำระเงินภาษีที่ค้างอยู่โดยหนังสือเตือนดังกล่าวไม่ปรากฏว่าได้ระบุแจ้งผลการประเมินตามรายการอากรสำแดง หรือมีรายการแยกแยะเป็นรายละเอียดภาษีอากรที่จะชำระเอาไว้แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่า เป็นการแจ้งการประเมินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร แต่เป็นเพียงหนังสือทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามปกติดังเช่นหนี้ทั่วไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2530 อันเป็นเวลาภายหลัง2 ปี นับแต่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ล้มละลายได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 5011/2547 วินิจฉัยแนวเดียวกัน
3.ห้างหุ้นส่วนจำกัด
3.1 หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด
ป.พ.พ. มาตรา 1080 วรรคหนึ่ง บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1068 ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน
หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดที่ออกจากห้างหุ้นส่วนไปแล้ว ยังต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้ออกจากห้าง เป็นเวลา 2 ปีนับแต่ตนได้ออกจากห้าง ตามมาตรา 1068 ซึ่งนำมาใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วยโดยอนุโลมตามมาตรา 1080 (ดู )
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 735/2561 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2547 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2556 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่วนผู้จัดการ ระหว่างวันที่ 24 กันยายน 2556 ถึงปัจจุบันมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้นทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์รับว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าสินค้าและดอกเบี้ย 157,441.36 บาท ตกลงชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 102,510 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยผ่อนชำระเงินงวดๆละเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 2,500 บาทภายในวันที่ 25 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดส่วนที่ยังคงค้างชำระทั้งหมดและยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความตั้งแต่งวดที่ 2 ซึ่งครบกำหนดชำระวันที่ 25 สิงหาคม 2556 โจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์อีก 7,500 บาท
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ขณะโจทก์ยื่นฟ้องจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น
เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1087 บัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ ฉะนั้นเมื่อขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์ แม้หนี้ดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 3 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนก็ตาม ตามมาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1077 (2) และมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้และออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 18 พ.ย. 2556 ยังอยู่ในเวลาสองปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.10206/2546, ฎ.2778/2552 วินิจฉัยแนวเดียวกัน
3.2 หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด
หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ย่อมมีความผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดตามมาตรา 1077 (1) และในระหว่างที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามมาตรา 1095 วรรคหนึ่ง กรณีจึงไม่อาจนำมาตรา 1051 มาใช้บังคับแก่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ตามมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้หนี้นั้นจะเกิดขึ้นในระหว่างที่หุ้นส่วนนั้นยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างฯอยู่ ก็ถือมิได้ว่าเป็นหนี้สินของหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจึงซึ่งออกไปจากห้างหุ้นส่วนไปแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่หุ้นส่วนนั้นได้ออกจากหุ้นส่วน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 251/2562)