เรื่องเด่น

รวมบทบรรณาธิการเนติ by อ.เป้ อ.ตูน

อัปเดตบทบรรณาธิการ เนติฯ

เรื่องเด่น

รับสมาชิก Line Square ฎีกาใหม่ by อ.เป้ อ.ตูน

อยากได้มั้ย #ฎีกาใหม่ ดีๆ จาก อ.เป้ อ.ตูน ในทุกๆวัน ถ้าอยากได้ มาเป็นสมาชิก #LineSquare ฎีกาใหม่ by อ.เป้ อ.ตูน ด่วน !!! สมาชิก 1,000 คนแรก สมัครฟรี ! กดเข้าร่วมร่วมที่นี่  https://line.me/ti/g2/ZOZQB3Y1HF

อ่านเพิ่มเติม
เรื่องเด่น

ยินดีต้อนรับนักกฎหมายทุกท่าน

 

อาจารย์เป้ อาจารย์ตูน และทีมวิชาการสมาร์ทลอว์ติวเตอร์ ได้จัดทำเว็บไซท์นี้ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรวมคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษากฎหมายทุกท่านครับ

ท่านที่สนใจสมัครเรียนกับอ.เป้ อ.ตูน สามารถสอบถามรายละเอียดและโปรโมชั่นได้ที่ Line @smartlawtutor  หรือโทร 086-987-5678 คอร์สที่เปิดสอนมีดังนี้

  • คอร์สทนายความ ภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ (ตั๋วรุ่น) ผู้ฝึกงาน 1 ปี (ตั๋วปี) ปากเปล่า
  • คอร์สเนติ 4 กลุ่มวิชา ได้แก่ อาญา แพ่ง วิอาญา วิแพ่ง และปากเปล่า
  • คอร์สกฎหมายรายวิชาสำหรับป.ตรี
  • คอร์สกฎหมายรายวิชาสำหรับเตรียมสอบผู้ช่วย
  • คอร์สสอนเทคนิคการเรียน เช่น การท่องตัวบท การอ่านหนังสือให้จำได้ การเขียนตอบข้อสอบ
  • คอร์สพัฒนาชีวิต สอนการสร้างความสำเร็จ การเงิน การลงทุน
  • คอร์สภาษาอังกฤษ Basic English Grammar, Toeic

ประเด็น การดำเนินกิจการขององค์การทางศาสนา ฟ้องศาลปกครองไม่ได้ ex คำสั่งตั้งหรือปลดเจ้าคณะตำบล, การจับสึกพระ, คำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งอิหม่าม

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 281/2548 คำสั่งแต่งตั้งเจ้าคณะตำบลเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์เป็นคำสั่งในกิจการปกครองคณะสงฆ์เป็นการใช้อำนาจทางกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ มิใช่การใช้อำนาจทางปกครองในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สวนการที่มาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 กำหนดให้เจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญานั้น เป็นการกำหนดเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอาญา ไม่ได้ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1/2545 และ 4/2545 วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เป็นกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการปกครองสงฆ์ ด้านการดำเนินกิจการขององค์กรศาสนาที่มีการวางแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมทางการปกครองไว้ต่างหากแล้ว จึงมิใช่ข้อพิพาทอันเนื่องมาจากกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิใช่การปฏิบัติราชการทางปกครอง

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 803/2547 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งอิหม่ามประจำมัสยิดเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา มิใช่เป็นการดำเนินกิจการทางปกครองในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด

ประเด็น : ภริยาทำสัญญาค้ำประกันกับธนาคาร สามีไม่รู้เห็นหรือยินยอม สามีฟ้องเพิกถอนสัญญาค้ำประกันนั้นไม่ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1476 ว.1 (8)

คำพิพากษาฎีกาที่ 4046/2535 การที่ น. ภริยาโจทก์ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของ ส. โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม มิใช่เป็นการจัดการสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476,1477 ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เกิดจากข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างไว้ในฟ้อง และจากทางนำสืบของโจทก์จึงเป็นข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบ แม้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น จำเลยก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้ และศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

ประเด็น : บุตรนอกกฎหมายที่บิดาไม่รับรองมีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งให้บิดารับเป็นบุตรได้ แม้บิดาจะตายไปแล้ว ถ้าศาลมีคำสั่งให้ บุตรมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้

คำพิพากษาฎีหาที่ 2698/2536 ผู้ตายได้ทำบันทึกมีข้อความระบุว่า ผู้ร้องยินยอมรับเงินจำนวน15,000 บาท เป็นค่าทดแทนกรณีที่ผู้ร้องมีบุตรกับผู้ตาย โดยผู้ร้องลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้สัญญา ส่วนผู้ตายลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับสัญญา บันทึกดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเอกสารของผู้ตายที่ยอมรับว่าเด็กหญิง ม. เป็นบุตรของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1555(3) แล้ว

ประเด็น : การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะเหตุอื่นนอกจากการสมรสซ้อน ถ้ายังไม่มีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีผลผูกพันอยู่ สามารถรับมรดกของอีกคนหนึ่งได้

ฎ.3898/2548 บุคคลที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1458 (ไม่ยินยอม) ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ได้แก่ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรส หรืออัยการ เมื่อผู้คัดค้าน (น้องร่วมบิดามารดา) ไม่ใช่บุคคลดังกล่าวจึงไม่อาจขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะได้
.
ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับผู้ตาย (โดยไม่ยินยอม = โมฆะ ม.1458,1495) ผู้ร้องย่อมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย หากการสมรสไม่ถูกต้องตามกฎหมายคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 เมื่อยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องและศาลไม่มีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายเป็นโมฆะ การสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายจึงยังคงมีอยู่ ผู้ร้องจึงยังเป็นคู่สมรสของผู้ตาย เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ประเด็น : คดีฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะไม่มีอายุความแต่การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพและค่าทดแทน มีอายุความ 2 ปี (ป.พ.พ. ม.1499 ว.4)

คำพิพากษาฎีกาที่ 3423/2549 การกล่าวอ้างความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมนั้น กฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาหรืออายุความไว้ ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยกความเป็นโมฆะของการสมรสซ้อนขึ้นกล่าวอ้างเมื่อใดก็ได้ไม่อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกินกำหนด 10 ปี แล้ว คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

ประเด็น : ใช้ถุงพลาสติกไม่มีช่องอากาศครอบศีรษะแล้วใช้เทปกาวพันรอบถุงบริเวณลำคอผู้ตาย จำเลยย่อมเห็นผลได้ว่าจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจถึงแก่ความตายได้ ถือว่ามีเจตนาฆ่า จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288

คำพิพากษาฎีกาที่ 5332/2560
จำเลยใช้ถุงพลาสติกซึ่งไม่มีช่องอากาศครอบศีรษะผู้ตาย แล้วใช้เทปกาวพันรอบถุงบริเวณลำคอผู้ตาย
…..แม้จำเลยจะอ้างว่าไม่มีเจตนาฆ่า เพราะถ้าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายจริงจำเลยก็คงเอามีดแทงหรือบีบคอผู้ตายให้ถึงแก่ความตายไปแล้ว คงไม่ต้องลำบากหาถุงพลาสติกมาครอบศรีษะจำเลยนั้น
เห็นได้ว่าแม้จำเลยจะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย คงเพียงแต่จะทรมานผู้ตายเท่านั้น แต่จำเลยย่อมเห็นผลได้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้ จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายแล้ว
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288
การที่จำเลยจะอ้างว่าการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะได้นั้นต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเสียก่อน และต้องเป็นการกระทำความผิดในขณะที่ถูกผู้ตายข่มเหงด้วย
ก่อนเกิดเหตุจำเลยกับผู้ตายมีปากเสียงทะเลาะกันในขณะที่จำเลยขับรถยนต์มากับผู้ตาย แม้จำเลยอ้างว่าผู้ตายทุบตีและถีบจำเลยจนทำให้รถยนต์เสียหลักไปชนกับขอบทางด่วน แต่สาเหตุที่ผู้ตายกระทำต่อจำเลยนั้น เกิดจากการที่จำเลยหลอกลวงให้ผู้ตายไปพบเพื่อดูรถยนต์ที่จำเลยจะนำมาตีใช้หนี้ให้แก่ผู้ตาย ซึ่งถือว่าจำเลยมีส่วนผิดอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อจำเลยใช้เข็มขัดพลาสติกรัดสายไฟมัดมือมัดเท้า ใช้เทปปิดปากผู้ตายและถอดเสื้อผ้าของผู้ตายออกทิ้งไปแล้ว ผู้ตายย่อมไม่อาจกระทำการอันเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมต่อไปได้
การที่จำเลยยังคงใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะผู้ตายและใช้เทปมัดถุงพลาสติกรัดคอผู้ตายจนแน่น โดยอ้างว่ายังคงได้ยินเสียงผู้ตายด่าทอและขู่จะทำร้ายภรรยาและบุตรของจำเลย จนทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมานั้น ย่อมไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในขณะที่ถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ

ประเด็น : คดีที่เอกชนฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำละเมิดในระหว่างควบคุมผู้ต้องหา เป็นคดีที่เกิดจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม

คําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 22/2547 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดทําละเมิดโดยไม่ใส่กุญแจห้องควบคุมผู้ต้องหาจนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาอื่นเข้าไปรุมทําร้ายบุตรผู้ฟ้องคดีภายในห้องควบคุมคดีอาญาจนถึงแก่ความตาย เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องขังในคดีอาญาเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมายเพื่อนําตัวผู้กระทําความผิดอาญาไปลงโทษและได้ดําเนินการตามที่ป.วิ.อาญากําหนดไว้เป็นการเฉพาะ คดีนี้จึงมิใช่การกระทําละเมิดจากการใช้อํานาจทางปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดอันสืบเนื่องจากการใช้อํานาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงอยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรม

คําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 34/2558 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมดําเนินคดีอาญาและถูกควบคุมในห้องขังสถานีตำรวจภูธร เจ้าหน้าที่สิบเวรผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมและเก็บรักษากุญแจห้องขังพบเหตุเพลิงไหม้สถานีตำรวจ ตามหน้าที่ต้องเปิดประตูห้องขังนําตัวผู้ต้องหาออกมาให้พ้นจากอันตราย แต่กลับแจ้งเหตุและรอคำสั่งผู้บังคับบัญชาแล้วจึงช่วยเหลือผู้ต้องหาในห้องขังทําให้เพลิงไหม้ห้องขังและผู้ต้องหาถูกไฟคลอกเสียชีวิตนั้นเกิดจากการกระทําละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชําระค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินพร้อมดอกเบี้ย.เห็นว่ามูลความแห่งคดีสืบเนื่องมาจากพนักงานสอบสวนจับกุมผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดอาญาและถูกควบคุมตัวระหว่างสอบสวนเพื่อดําเนินคดีอาญาจนถึงแก่ความตายขณะอยู่ในอํานาจควบคุมของเจ้าหน้าที่ ป.วิ.อาญา มาตรา 84/1 บัญญัติให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทําการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาไปยังศาล ถ้าไม่อาจส่งไปได้ในขณะนั้นเนื่องจากเป็นเวลาที่ศาลปิด หรือใกล้จะปิดทําการให้พนักงานสอบสวนที่รับตัวผู้ถูกจับไว้มีอํานาจปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาศาลเปิดทําการ อันเป็นขั้นตอนการดําเนินการที่กําหนดให้อํานาจพนักงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะโดยตรงเพื่อนำไปสู่การฟ้องคดีและลงโทษผู้กระทําความผิดทางอาญา และตามมาตรา 2 (1) ก็บัญญัติว่า “ศาล” หมายความถึงศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาซึ่งมีอํานาจเกี่ยวกับคดีอาญา ดังนั้นศาลที่มีอํานาจในการควบคุมตรวจสอบการสอบสวนของพนักงานสอบสวน คือ ศาลยุติธรรมซึ่งมีอํานาจเกี่ยวกับคดีอาญา.แม้ผู้ฟ้องจะบรรยายฟ้องในทำนองว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นเรื่องการสอบสวนเพื่อนําตัวผู้กระทําความผิดไปลงโทษทางอาญา เมื่อมีความเสียหายหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดของเจ้าหน้าที่เกิดขึ้น ศาลยุติธรรมย่อมมีอํานาจในการตรวจสอบขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดอันสืบเนื่องจากการใช้อํานาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงอยู่ในอํานาจศาลยุติธรรม

คําวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 19/2545 การที่ตำรวจเข้าตรวจค้น จับกุมบุคคลถือได้ว่าเป็นขั้นตอนการดําเนินการของเจ้าพนักงานตามที่ป.วิ.อาญากําหนดให้อํานาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง มิใช่เป็นการกระทําทางปกครอง เมื่อมีความเสียหายหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นจึงอยู่ในอํานาจการตรวจสอบของศาลยุติธรรม

ประเด็น : จดทะเบียนหย่ากันหลอกๆ ตกเป็นโมฆะ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 5690/2552 โจทก์จําเลยจดทะเบียนหย่ากันโดยแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างกัน ทําขึ้นเพื่อประโยชน์ในการลดจํานวนภาษีย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155

ประเด็น : เมื่อชายตกลงให้สินสอดแล้วต้องผูกพัน หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันเพราะความผิดของชาย บิดามารดาหญิงสามารถฟ้องบังคับให้ส่งมอบหรือโอนสินสอดที่ตกลงไว้ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 6385/2551 เมื่อจำเลยทั้งสองตกลงว่าจะให้สินสอดแก่โจทก์ที่ 1 เพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ที่ 2 ยอมสมรสด้วย แต่การสมรสระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกสินสอดจากจำเลยทั้งสองได้

ประเด็น : สามีเป็นคนต่างด้าวได้ที่ดินมาระหว่างสมรสโดยให้ใส่ชื่อภริยาไว้เพียงคนเดียว ที่ดินเป็นสินสมรส

คำพิพากษาฎีกาที่ 7533/2560 แม้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จะระบุชื่อของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างจำเลยกับโจทก์สมรสกัน จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาระหว่างสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474 (1)

เงินที่ซื้อที่ดินพร้อมบ้านเป็นเงินของโจทก์ แต่การที่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านก็เพื่อใช้อยู่ร่วมกันกับจำเลยเวลามาพักที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดินทางมาเยี่ยมบิดามารดาของจำเลย แต่โจทก์ใส่ชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ได้เนื่องจากโจทก์เป็นคนต่างด้าว ไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ พนักงานขายและเพื่อนโจทก์และเจ้าพนักงานที่ดินให้คำแนะนำว่าให้ใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์แทน ดังนั้นในการดำเนินการซื้อขายที่ดินและบ้านดังกล่าว โจทก์ย่อมต้องให้คำรับรองต่อ เจ้าพนักงานที่ดินว่าเงินที่นำมาซื้อที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว มิใช่สินสมรสหรือทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน มิฉะนั้นเจ้าพนักงานที่ดินคงไม่ดำเนินการให้ เมื่อได้โฉนดที่ดินมาแล้ว ต้นฉบับโฉนดที่ดินโจทก์เป็นคนเก็บรักษาไว้ หากโจทก์ยกที่ดินพร้อมบ้านให้จำเลยเป็นสินส่วนตัว โจทก์ก็น่าจะมอบโฉนดที่ดินให้จำเลย การที่โจทก์เก็บโฉนดที่ดินไว้และโจทก์ต้องการซื้อบ้านเพื่อใช้อยู่ร่วมกันกับจำเลยที่จังหวัดเชียงใหม่ แสดงว่าโจทก์มิได้ยกให้เป็นสินส่วนตัวของจำเลย แต่โจทก์ต้องการให้ที่ดินและบ้านเป็นสินสมรสซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474 วรรคท้ายบัญญัติว่า ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวเป็นสินสมรส โจทก์กับจำเลยมีส่วนในที่ดินและบ้านพิพาทเท่ากัน